หญิงเอลชาวเอลซัลวาดอร์
ได้รับการอภัยโทษหลังถูกจำคุกจากการแท้งลูก

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่าถือเป็นชัยชนะของความยุติธรรม หลังจากรัฐสภาของเอลซัลวาดอร์ลงมติอภัยโทษให้กับเด็กสาว ซึ่งถูกจำคุกหลังจากที่เธอต้องทรมานจากการแท้งลูก และเป็นการจุดประกายความหวังให้กับผู้หญิงอีก 15 คนที่ต้องทนทรมานอยู่ในคุกจากข้อหาที่คล้ายกันนี้

 

ในปี 2550 กัวตาลูเป้ ถูกตัดสินจำคุก 30 ปี หลังจากที่ทางการตั้งข้อสงสัยอย่างผิดๆ ว่าเธอทำแท้ง โดยในขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 18 ปี

 

เอริก้า กูวารา โรซาส ผู้อำนวยการภูมิภาคอเมริกาของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การตัดสินใจของทางการครั้งนี้ถือเป็นการแก้ไขความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น แต่กัวตาลูเป้ก็ไม่ควรถูกจำคุกตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตามการปล่อยตัวกัวตาลูเป้ก็ถือเป็นชัยชนะของความยุติธรรม และเป็นผลจากการทำงานที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในเอลซัลวาดอร์

 

“การตัดสินใจครั้งนี้ต้องเป็นจุดเปลี่ยนของกฎหมายเอลซาวาดอร์ที่ล้าหลัง ซึ่งมีการลงโทษผู้หญิงรวมถึงเด็กที่ประสบปัญหาระหว่างที่เธอตั้งครรภ์ มันถึงเวลาแล้วที่ทางการควรจะพิจารณาและแก้ไขคำตัดสินของผู้หญิงซึ่งถูกจำคุกในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านการตั้งครรภ์ และยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง รวมทั้งกฎหมายการทำแท้งที่ไม่เป็นธรรมด้วย”

 

เอลซัลวาดอร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายการทำแท้งที่รุนแรงที่สุดในโลก โดยการทำแท้งในทุกกรณีถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ว่าการตั้งครรภ์นั้นจะเป็นอันตรายเพราะปัญหาสุขภาพ หรือเกิดจากการข่มขืนก็ตาม ผู้หญิงรวมถึงเด็กที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าทำแท้งมักจะโดนข้อหา “ฆ่าคนตายโดยเจตนา” ดังเช่นกรณีของกัวตาลูเป้

 

ขณะนี้คดีของผู้หญิงอีก 15 คน ที่ถูกจำคุกหลังจากต้องทุกข์ทรมานจากปัญหาด้านการตั้งครรภ์ กำลังได้รับการพิจารณาอภัยโทษ และเราจะได้รู้การตัดสินใจของทางการเอลซาวาดอร์ในอีกหนึ่งเดือนที่จะถึงนี้

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้พยายามรณรงค์ยุติการควบคุมและเลือกปฏิบัติทางเพศ รวมทั้งสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์จากทั้งรัฐบาลและคนทั่วไป ภายใต้โครงการรณรงค์ ‘My Body My Rights’ หรือ ‘ร่างกายของฉัน สิทธิของฉัน’ โดยการรณรงค์นี้เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทั่วโลก และนับตั้งแต่ปี 2557-2558 การรณรงค์ของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลได้เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนในหลายประเทศ โดยหนึ่งในนั้นคือเอลซัลวาดอร์ การรณรงค์นี้มีจุดประสงค์ที่จะย้ำเตือนผู้นำทั่วโลกให้ตระหนักถึงพันธะในการเคารพ และปกป้องสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์