14 องค์กรสิทธิกดดัน “บริษัททุ่งคำ” หยุดฟ้อง “ไทยพีบีเอส”
กรณีเหมืองทองคำ จ.เลย

15 พฤศจิกายน 2559

 

แอมเนสตี้และองค์กรสิทธิรวม 14 แห่ง ออกแถลงการณ์ร่วมกดดันบริษัททุ่งคำให้เพิกถอนการดำเนินคดีอาญาต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พร้อมเรียกร้องรัฐบาลไทยให้คุ้มครองเสรีภาพสื่อ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมหน่วยงานและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศรวม 14 แห่ง ออกแถลงการณ์กดดันให้ “บริษัท ทุ่งคำ จำกัด” ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เพิกถอนการดำเนินคดีอาญาต่อองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท) หรือ “สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” และสื่อมวลชนสี่คนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาในหลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Right)

 

บริษัททุ่งคำอ้างว่าสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสสร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของบริษัท หลังจากที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากเหมืองทองคำแบบเปิดของบริษัทในจังหวัดเลย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและสื่อมวลชนทั้งสี่อาจถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 รวมทั้งคดีแพ่งซึ่งเรียกค่าสินไหมทดแทนรวม 50 ล้านบาท ตลอดจนข้อหาอื่นๆ และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของสถานีชั่วคราวด้วย

 

ศาลอาญามีกำหนดจะอ่านคำสั่งหลังการไต่สวนในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 โดยหากศาลรับพิจารณาคดี สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและสื่อมวลชนทั้งสี่คนจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการสืบพยานต่อไป โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจะส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การอ่านคำสั่งดังกล่าวด้วย

 

บริษัททุ่งคำได้ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาในลักษณะเดียวกันต่อต่อสมาชิกของ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านรอบเหมืองทองคำดังกล่าวที่รวมกันเพื่อรณรงค์ปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วย

 

นอกจากนี้ 14 องค์กรสื่อยังขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลไทยให้คุ้มครองเสรีภาพสื่อ ยกเลิกการเอาผิดทางอาญาสำหรับข้อหาหมิ่นประมาท และปรับปรุงแก้ไขให้เนื้อหาของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลด้วย

 

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ประเทศไทยได้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเหมืองแร่ทองคำและชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งอาสาสมัครและนักกิจกรรมลงพื้นที่เมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา เพื่อเรียนรู้ปัญหา ตลอดจนหาทางออกภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนสากลร่วมกัน

 

12496428_1251237931569963_7602637473573562970_o.jpg

 

ร่วมลงนามในแถลงการณ์โดย:

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)
อาร์ติเคิล 19 (Article 19)
โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists)
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH - International Federation for Human Rights)
องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights)
ลอว์เยอร์ไรท์วอทช์แคนาดา (Lawyers’ Rights Watch Canada)
องค์กรโพรเทกชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (Protection International)
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders)
สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Alliance)
โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม