3 ภาพยนตร์สิทธิมนุษยชนผู้ท้าชิงรางวัลออสการ์

23 กุมภาพันธ์ 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

แปลโดย Smiling Sun

ก่อนจะเข้าสู่อีเวนท์วงการบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดของปี เราจะมาร่วมสำรวจภาพยนตร์ผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ที่จับเอาประเด็นทางสิทธิมนุษยชนมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ในประเด็นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 ดูวีดีโอรีวิวของเราได้ที่นี่เลย

 

 

Vice

จากอดีตซีอีโอ สู่เบื้องหลังความโหดเหี้ยมของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

“ไวซ์” ได้นำพระเอกชื่อดังคริสเตียน เบล มาแปลงโฉมจากอดีตซุปเปอร์ฮีโร่มาสวมบทบาทเป็นดิ๊ก เชนีย์ อดีตซีอีโอบริษัทน้ำมันในสหรัฐอเมริกา ผู้ผันตัวลงมาเล่นการเมืองจนกระทั่งได้ขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยของจอร์จ ดับเบิลยู บุช

 

เชนีย์คือผู้อยู่เบื้องหลังการอนุมัติปฏิบัติการเบื้องหลังมากมายของอเมริกาเพื่อสนับสนุน “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ที่ประธานาธิบดีบุชได้ประกาศไว้ โดยที่แม้เขาจะรู้ดีถึงความโหดเหี้ยมสามานย์ผิดมนุษย์ที่ปฏิบัติการเหล่านี้ได้ทำจริงและผิดต่อกฎหมายทั้งระดับนานาชาติและรัฐธรรมนูญของอเมริกาเอง แต่เขาก็สามารถปฏิเศษต่ออำนาจของกฎหมายเหล่านั้นได้ว่าพวกมัน “ขึ้นอยู่กับการตีความ” ของผู้บังคับใช้นั่นเอง

 

โดยผลงานสำคัญที่เชนีย์ได้ส่งผลให้เกิดขึ้นได้แก่การทำสงครามในอีรักที่ทำให้มีอาวุธสงครามหลั่งไหลเข้าสู่ตะวันออกกลางอย่างมหาศาล โดยที่อาวุธจำนวนมากหายไปจากบัญชีและตกทอดไปสู่มือผู้ก่อการร้ายอื่นๆเช่นไอซิส ทำให้ความรุนแรงกระจายไปทุกหย่อมหญ้า อีกหนึ่งผลงานสำคัญก็คือการตั้งคุกกวนตานาโมที่โด่งดังในฐานะที่คุมขังนักโทษที่จับกุมมาอย่างผิดกฎหมาย เพื่อการสอบสวนทรมานอย่างโหดเหี้ยมจนนักโทษมากมายเสียสติ พิกลพิการ หรือเสียชีวิต

 

Black Panther

เมื่อคนผิวสีคือผู้มีอารยธรรม 

หนึ่งในหนังซุปเปอร์ฮีโร่ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล รวมถึงเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องแรกที่นักแสดงส่วนใหญ่เป็นผิวสี แบล็คแพนเธอร์เป็นภาพยนตร์ที่ใจความสำคัญคือการต่อต้านการเหยียดเผ่าพันธุ์,การกดขี่,และการล่าอาณานิคม

 

โดยภาพยนตร์นี้ดำเนินเนื้อเรื่องในประเทศในจินตนาการชื่อวากานดา ซึ่งเป็นแหล่งขุดแร่สำคัญที่เรียกว่าไวเบรเนี่ยม โดยวากานดาได้อาศัยเทคโนโลยีพิเศษเพื่อปิดบังตัวตนจากโลกภายนอก โดยหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่ทำให้วากานดาสามารถซ่อนประเทศได้ก็คือความเหยียดชาติของชาวตะวันตกและอคติต่อชาวแอฟริกาที่ทำให้ทุกคนมองข้ามทวีปนี้ไป อย่างเช่นเมื่อกษัตริย์ทีชาล่าได้ขึ้นกล่าวต่อสหประชาชาติว่าเขาต้องการที่จะแบ่งปันความรู้และทรัพยากรของวากานดากับชาวโลก ชายผิวขาวในชุดสูทคนหนึ่งได้กล่าวอย่างถือตัวต่อทีชาล่าว่า “แล้ววากานดามีอะไรที่ให้ได้” ซึ่งสะท้อนถึงความดูถูกชาติแอฟริกาของชาวตะวันตก ดั่งเช่นที่ประธานาธิบดีคนหนึ่งที่เรียกชาติแอฟริกาอย่างรวมๆว่า “พวกประเทศเส็งเคร็ง”

 

แม้วากานดาจะเป็นเพียงประเทศในจินตนาการ แต่เมื่อแบล็คแพนเธอร์ออกฉายก็ทำให้เกิดกระแสความภาคภูมิใจในชาวแอฟริกันอย่างมาก ซึ่งเป็นการทำให้ชาวผิวสีมีการตื่นตัวที่จะออกมาทำกิจกรรมและการรณรงค์มากขึ้นเพื่ออนาคตที่ดียิ่งกว่า โดยนอกเหนือจากในภาพยนตร์แล้ว บุคคลผิวสีที่ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนก็มีอยู่จริงมากมายเช่นกัน เช่นโคลิน โคเปอร์นิคผู้ได้รับตำแหน่งฑูตแห่งมโนธรรมสำนึกจากการต่อต้านความรุนแรงโดยตำรวจ และชาวบราซิลในตอนนี้ที่กำลังต่อสู้กับการเหยียดชาติ

 

Isle of Dogs

แผนร้ายกำจัดน้องหมา

ปิดรายการสุดท้ายด้วยภาพยนตร์สตอปโมชันกับเรื่องราวที่วางมาอย่างเหนือความคาดหมาย ในเมืองญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่ไข้หวัดหมาระบาด ทำให้นักการเมืองคนหนึ่งที่หาเสียงด้วยการสร้างความกลัวหมาในประชาชนจนกระทั่งเขาชนะการเลือกตั้ง และสั่งให้จับหมาทั้งหมดไปทิ้งไว้บนเกาะขยะใกล้เคียง หนังเรื่องนี้จะเป็นการเดินเนื้อเรื่องสลับไปมาระหว่างเด็กชายที่แอบลักลอบเข้าไปที่เกาะหมาเพื่อตามหาหมาของเขา และนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ตามสืบแผนการสมคบคิดกำจัดหมาที่นำไปสู่การเปิดโปงกลุ่มทาสแมวที่อยู่เบื้องหลังและนำไปสู่การปลดแอกหมาๆได้ในที่สุด

 

ป.ล. ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีการกล่าวร้ายน้องแมวแต่อย่างใด เพียงแต่มีการพาดพึงถึงคนคลั่งไคล้แมวที่เกลียดหมาเท่านั้น