ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาได้ออก คำสั่งของฝ่ายบริหารเพื่อคว่ำบาตรศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และคาริม ข่าน อัยการสูงสุด คำสั่งของฝ่ายบริหารนี้มีจุดประสงค์เพื่อขัดขวางไม่ให้ศาลอาญาระหว่างประเทศปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ ทั้งยังเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อศาลอาญาระหว่างประเทศและเจ้าหน้าที่ศาล ผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติได้ประณามอย่างรุนแรงต่อมาตรการครั้งนี้ โดยเรียกว่าเป็น “การโจมตีหลักนิติธรรมระดับโลก” ซึ่งบั่นทอนความยุติธรรมระหว่างประเทศ
คำสั่งของฝ่ายบริหารนี้ คล้ายคลึงกับคำสั่งก่อนหน้านี้ของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ประกาศใช้ช่วงปลายการดำรงตำแหน่งสมัยแรกเมื่อปี 2563 และต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยประธานาธิบดีไบเดน คำสั่งใหม่ของทรัมป์เป็นการตอบโต้โดยตรงต่อความพยายามของศาลอาญาระหว่างประเทศที่จะเอาผิดกับพลเมืองอิสราเอลตามข้อกล่าวหาอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในปาเลสไตน์ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ศาลได้ออกหมายจับ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล และโยอาฟ กัลแลนต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม รวมทั้งโมฮัมเหม็ด ดิอาบ อิบราฮิม อัล-มาสรี ผู้บัญชาการกองกำลังอัลกัสซัม ในข้อหาอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
การประกาศคว่ำบาตรศาลอาญาระหว่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์ได้บั่นทอนความพยายามที่จะมอบความยุติธรรม ไม่เพียงต่อชาวปาเลสไตน์ แต่ส่งผลต่อเหยื่อของอาชญากรรมร้ายแรงในที่อื่นๆ ด้วย รวมถึงประชาชนในอัฟกานิสถาน บุรุนดี โกตดิวัวร์ ดาร์ฟูร์ (ซูดาน) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ลิเบีย มาลี เมียนมา ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ ยูเครน และเวเนซุเอลา ซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศกำลังสอบสวนหรือได้ออกหมายจับแล้ว
คำสั่งของฝ่ายบริหารมีเนื้อหาอะไรบ้าง
คำสั่งของฝ่ายบริหารฉบับนี้กำหนดว่าบุคคลหรือหน่วยงานใดที่ไม่ใช่สัญชาติอเมริกันอาจถูกคว่ำบาตรได้หากมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินงานของศาลอาญาระหว่างประเทศในการสอบสวน จับกุม ควบคุมตัว หรือฟ้องคดีต่อ ‘ผู้ได้รับการคุ้มครอง’ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากประเทศแห่งสัญชาติของบุคคลนั้น ทั้งยังอาจมีการคว่ำบาตรต่อบุคคลใดที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน วัตถุ หรือเทคโนโลยีอย่างมีสาระสำคัญในการดำเนินงานของศาล การคว่ำบาตรครั้งนี้ยังรวมถึงการสั่งอายัดทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา และคำสั่งห้ามไม่ให้บุคคลและครอบครัวของบุคคลที่ถูกคว่ำบาตรเข้าประเทศสหรัฐฯ
‘ผู้ได้รับการคุ้มครอง’ ได้รับการนิยามว่าหมายถึงพลเมืองสัญชาติอเมริกัน และเจ้าหน้าที่ทหารอเมริกัน รวมทั้งบุคคลใดๆ ซึ่งเป็นพลเมืองหรือเป็นผู้มีถิ่นพำนักอาศัยโดยชอบด้วยกฎหมายในประเทศพันธมิตรที่เป็นสมาชิกนาโต้ หรือ ‘ประเทศพันธมิตรหลักซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต้’ ของสหรัฐฯ ซึ่งมีการประกาศอย่างเป็นทางการในกฎหมายสหรัฐฯ ประเทศดังกล่าวได้แก่อิสราเอล ฟิลิปปินส์ และอีก 17 ประเทศ
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม คาริม ข่าน อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ เป็นเพียงบุคคลเดียวที่เป็นเป้าหมายตามการคว่ำบาตรของคำสั่งนี้ แม้ว่าอาจมีการเพิ่มชื่อบุคคลอื่นได้ในอนาคต
ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นกลไกยุติธรรมระหว่างประเทศที่เป็นอิสระ เป็นที่พึ่งสุดท้ายซึ่งต้องสามารถดำเนินงานโดยปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองหรือการบีบบังคับ เพื่อประกันว่าผู้เสียหายซึ่งไม่สามารถเข้าถึงช่องทางอื่น จะได้รับความยุติธรรมสำหรับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นกับพวกเขา อย่างไรก็ดี การคว่ำบาตรเหล่านี้บั่นทอนความเป็นอิสระของศาล และขัดขวางการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความยุติธรรมที่เป็นผลและเป็นกลาง ทั้งยังทำให้บุคคลและบริษัทไม่ประสงค์ที่จะทำงานและร่วมมือกับศาลและเจ้าหน้าที่ของศาล
ศาลอาญาระหว่างประเทศคืออะไร
ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นศาลถาวรระหว่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่สอบสวนและสั่งฟ้องคดีต่อบุคคลที่ต้องสงสัยว่าได้ก่ออาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรืออาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กรณีที่ศาลระดับประเทศไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ ธรรมนูญกรุงโรมซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่นำไปสู่การก่อตั้งศาลแห่งนี้ มีรัฐภาคี 125 ประเทศ
นอกจากการออกหมายจับเบนจามิน เนทันยาฮู, โยอาฟ กัลแลนต์ และโมฮัมเหม็ด ดิอาบ อิบราฮิม อัล-มาสรี ศาลอาญาระหว่างประเทศยังได้ออกหมายจับผู้นำทหารและพลเรือนระดับสูง รวมทั้ง:
- วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียในปี 2566 ในข้อหาอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครน
- โรดริโก ดูเตอร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นระหว่าง ‘สงครามปราบปรามยาเสพติด’ ภายใต้รัฐบาลของเขา ซึ่งในเดือนมีนาคม 2568 ทางการฟิลิปปินส์ได้ส่งตัวเขาไปยังศาลเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว
- โอมาร์ อัล-บาเชียร์ อดีตประธานาธิบดีซูดานในข้อหาอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาร์ฟูร์
- โจเซฟ โคนี ผู้บัญชาการกองกำลังต่อต้านของพระเจ้า ในข้อหาอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในยูกันดา
ศาลอาญาระหว่างประเทศได้รับการก่อตั้งขึ้นมาในฐานะเป็น ‘ศาลที่พึ่งสุดท้าย’ โดยดำเนินงานเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสถานการณ์ที่รัฐต่างๆ ไม่สามารถหรือไม่ประสงค์ที่จะสอบสวนหรือสั่งฟ้องคดีต่อบุคคลอย่างจริงจัง โดยในหลายสถานการณ์ หากไม่มีการแทรกแซงของศาลอาญาระหว่างประเทศ มีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงอาจลอยนวลพ้นผิดไปตลอดกาล ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเจตจำนงที่จะยืนหยัดเป็นแสงแห่งความหวังเพื่อให้เกิดความรับผิด และเป็นกลไกที่เข้มแข็งเพื่อยับยั้งการใช้อำนาจอย่างมิชอบ และเพื่อนำผู้มีอำนาจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เหตุใดรัฐบาลทรัมป์จึงประกาศการคว่ำบาตรนี้
หน่วยงานของสหรัฐฯ ประกาศการคว่ำบาตรไม่กี่วันก่อนที่เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลจะเดินทางมาเยือนทำเนียบขาวเป็นครั้งแรกนับแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ รัฐบาลทรัมป์เคยประกาศใช้การคว่ำบาตรแบบเดียวกันเมื่อปี 2563 ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในวาระแรก
ภายใต้รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สนับสนุนการสอบสวนของศาลอาญาระหว่างประเทศในยูเครน และการออกหมายจับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลและกองทัพรัสเซีย รวมทั้งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน อย่างไรก็ดี สหรัฐอเมริกาไม่เคยเป็นรัฐภาคีของศาลแห่งนี้ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลไบเดนได้วิพากษ์วิจารณ์ศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างรุนแรง ในกรณีการสอบสวนเนทันยาฮูและกัลแลนต์ ถึงกับยังยอมให้กัลแลนต์เข้าประเทศได้ แม้จะมีการออกหมายจับเขาแล้วก็ตาม
สหรัฐอเมริกามีประวัติของการต่อต้านการใช้อำนาจหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศในการสั่งฟ้องคดีบุคคลจากประเทศซึ่งไม่ได้เป็นรัฐภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ แม้ว่าความผิดตามข้อกล่าวหาจะเกิดขึ้นในประเทศซึ่งเป็นรัฐภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐฯ แสดงการต่อต้านอย่างยาวนานต่อการสอบสวนของศาลในอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นการสอบสวนความผิดของเจ้าหน้าที่ของกองทัพและสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ และในปาเลสไตน์
อย่างไรก็ดี การคว่ำบาตรครั้งนี้เช่นเดียวกับเมื่อปี 2563 เป็นการแสดงการต่อต้านที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของสหรัฐฯ ต่อการใช้อำนาจของศาล
การคว่ำบาตรนี้จะขัดขวางความยุติธรรมสำหรับเหยื่อทุกคนในอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองอย่างไรบ้าง
การคว่ำบาตรเหล่านี้จะขัดขวางความยุติธรรมสำหรับเหยื่อทุกคนที่เห็นว่าศาลแห่งนี้เป็นที่พึ่งสุดท้าย อัยการที่ถูกคว่ำบาตรมีภารกิจในการดำเนินคดีกับโมฮัมเหม็ด ดิอาบ อิบราฮิม อัล-มาสรี, เบนจามิน เนทันยาฮู และโยอาฟ กัลแลนต์ อย่างไรก็ดี การคว่ำบาตรจะส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวปาเลสไตน์ที่มุ่งแสวงหาความยุติธรรม เพราะเป็นการคว่ำบาตรที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป้าประสงค์ดังกล่าว การคว่ำบาตรเหล่านี้มุ่งสร้างแรงกดดันต่อศาล ทำให้ไม่สามารถอำนวยให้เกิดความยุติธรรมได้อย่างเป็นกลางและอย่างเป็นอิสระ หรือต้องเผชิญกับการลงโทษในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน
ปัจจุบัน ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นกลไกระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียวในการเอาผิดผู้ที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งที่เกิดขึ้นในอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง อย่างไรก็ดี ศาลต้องพึ่งพาความร่วมมือจากรัฐภาคีในการสอบสวนและการสั่งฟ้องคดี รวมทั้งการจับกุมบุคคลตามหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ การคว่ำบาตรของรัฐบาลทรัมป์อาจทำให้หลายประเทศ รวมทั้งบุคคลและบริษัท ไม่ให้ความช่วยเหลือศาล ทำให้เกิดความยากลำบากมากขึ้นในการนำตัวผู้ต้องสงสัยจากอิสราเอลและประเทศอื่นๆ มาเข้ารับการพิจารณาคดี
ศาลอาญาระหว่างประเทศยังต้องพึ่งพาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย รวมทั้งนักวิจัย นักกฎหมาย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนผู้เสียหายและพยาน เพื่อหาหลักฐานสนับสนุนการพิจารณาคดี การคว่ำบาตรเหล่านี้จะทำให้ศาลประสบความยากลำบากมากขึ้นในการทำงาน ทำให้ยากที่จะเกิดความยุติธรรม หากบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระและปราศจากการบีบบังคับได้
การคว่ำบาตรนี้จะส่งผลกระทบต่อการสอบสวนอื่นๆ ของศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างไร
สุดท้ายแล้ว การคว่ำบาตรจะส่งผลร้ายต่อการสอบสวนทุกคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ ไม่เพียงการสอบสวนที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต่อต้าน โดยจะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของเหยื่อทุกคนที่คาดหวังว่าศาลจะมอบความยุติธรรมให้ในทุกประเทศที่อยู่ระหว่างการสอบสวน รวมทั้งการสอบสวนที่สหรัฐอเมริกาให้ความสนับสนุนอย่างชัดเจน เช่น ยูเครน ยูกันดา หรือดาร์ฟูร์
อดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศแสดงความยินดีต่อการที่ศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย และเรียกร้องให้จับกุมตัวเขา การออกหมายจับครั้งนี้เป็นผลมาจากการสอบสวนในยูเครน ซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นภายหลังการรุกรานประเทศอย่างเป็นรูปแบบในปี 2565 แผนงานการให้รางวัลสนับสนุนความยุติธรรมทางอาญาระดับโลกของสหรัฐฯ ยังประกาศให้เงินรางวัลกับบุคคลที่มีข้อมูล ซึ่งนำไปสู่การจับกุมบุคคลที่ถูกสั่งฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ รวมทั้งโจเซฟ โคนี สำหรับอาชญากรรมในยูกันดา และอาห์หมัด ฮารุน ในดาร์ฟูร์
ศาลอาญาระหว่างประเทศยังคงเดินหน้าสอบสวนอาชญากรรมของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานนับแต่กลับมาครองอำนาจเมื่อปี 2564 ในเวเนซุเอลา อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศกำลังสอบสวนอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กระทำต่อฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลประธานาธิบดีมารูโด ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศได้ประกาศพันธกิจในการทำงานที่จะเพิ่มความพยายามเพื่อให้เกิดความยุติธรรมและความรับผิดในกรณีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกตะวันออก
เราจะปกป้องศาลอาญาระหว่างประเทศและความยุติธรรมระหว่างประเทศได้อย่างไร
การคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักนิติธรรมสากล และระบบพหุภาคี แต่ยังมีความหวังอยู่บ้าง
หลายประเทศยังคงให้ความสนับสนุนศาลอาญาระหว่างประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2567 รัฐภาคี 74 ประเทศของศาลอาญาระหว่างประเทศประกาศยืนยันพันธกิจที่จะต่อสู้กับการลอยนวลพ้นผิด หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกคำสั่งของฝ่ายบริหารล่าสุด รัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปก็ได้ประกาศ ‘ยืนยันการสนับสนุน’ ต่อศาล
แต่แค่คำพูดยังไม่เพียงพอ รัฐต่างๆ ต้องเปลี่ยนถ้อยแถลงของพันธกิจและการสนับสนุนเหล่านี้ให้กลายเป็นปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อปกป้องศาลอาญาระหว่างประเทศ ทั้งนี้รวมถึงการประกาศใช้กฎหมายระดับประเทศเพื่อปกป้องบุคคลและบริษัทจากภัยคุกคามของกฎหมายคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ทั้งยังรวมถึงการให้ความร่วมมือกับศาลอย่างเต็มที่ ทั้งการจับกุมและส่งตัวบุคคลตามหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ
การปฏิบัติงานระดับปัจเจกและระดับกลุ่ม จะทำให้รัฐต่างๆ สามารถปกป้องศาลอาญาระหว่างประเทศ และยืนหยัดต่อต้านการโจมตีอย่างรุนแรงของรัฐบาลสหรัฐฯ เครือข่ายผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนระดับโลกของเราได้เรียกร้องอย่างจริงจังให้รัฐบาลต่างๆ สนับสนุนศาลอาญาระหว่างประเทศ และรักษาความยุติธรรมระหว่างประเทศ
เราควรรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไร
การมีปฏิสัมพันธ์และล็อบบี้รัฐบาลและรัฐต่างๆ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน มาร่วมกันเรียนรู้ทักษะเชิงปฏิบัติในการรณรงค์จากผู้เชี่ยวชาญที่มากด้วยประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และเข้าร่วมขบวนการระดับโลกของประชาชน เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง