เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เดินหน้ายกระดับข้อเรียกร้องทางสิทธิมนุษยชนอีกครั้ง โดยการเดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านพรรคประชน เพื่อเรียกร้องใบแถลงข่าว

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เดินหน้ายกระดับข้อเรียกร้องทางสิทธิมนุษยชนอีกครั้ง โดยการยื่นจดหมายถึงนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้พรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจต่อปัญหาคดีการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการนำประเด็นนี้เข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจและเร่งผลักดันแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเรียกร้องให้ตรวจสอบการย้ายผู้ต้องขังการเมือง หวั่นเป็นการกลั่นแกล้งและคุกคามชีวิตผู้ต้องหาคดีทางการเมือง
สมยศ พฤกษาเกษมสุข ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เปิดเผยว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันเคยให้สัญญาว่าจะผลักดันให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และผลักดันให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เคยประกาศไว้เช่นกัน อย่างไรก็ตามหลังจากขึ้นสู่อำนาจแล้วกลับพบว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ และยังทำให้เห็นว่าสถานการณ์ของผู้ต้องขังทางการเมืองกลับเลวร้ายลง เพราะพบว่ามีการย้ายผู้ต้องขังทางการเมืองจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ไปยังเรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนักโทษประหารชีวิต จึงตั้งข้อสังเกตว่าการย้ายครั้งนี้อาจเป็นการกลั่นแกล้งให้ผู้ต้องขังได้รับความทุกข์ทรมาน หรืออาจมีเจตนาแฝงที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
“ลักษณะการย้ายผู้ต้องขังแบบนี้ เป็นการกลั่นแกล้งให้ได้รับความทุกทรมานหรือไม่ หรือมีเจตนาแฝงในการฆาตกรรมคนเหล่านี้หรือไม่ อยากจะให้มีการตรวจสอบ เพราะนอกจากไม่แก้ปัญหาความยุติธรรมหรือปกป้องสิทธิเสรีภาพของเขาเหล่านั้น ยังพบว่ามีการดำเนินการให้เกิดความเลวร้ายด้านการทรมานในเรือนจำจนอาจถึงชีวิตได้”
สมยศ ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ระบุว่า อยากให้พรรคฝ่ายค้านนำเรื่องนี้ไปอภิปรายในสภา ว่าสิ่งที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้กลับไม่ดำเนินการ เพราะนอกจากไม่แก้ปัญหาความยุติธรรม ไม่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของพวกเขาแล้ว ยังมีการดำเนินการที่อาจเข้าข่ายเป็นการคุกคามและทรมาน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ทั้งนี้เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนยังเรียกร้องให้ ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลในการย้ายผู้ต้องขังพร้อมตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามคำสัญญาที่เคยให้ไว้ เพื่อคืนความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีทางการเมือง
ด้านตัวแทนฝ่ายค้านยืนยันบรรจุประเด็นนิรโทษกรรมประชาชนในศึกซักฟอกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลสัปดาห์หน้าหลังได้รับจดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน โดยศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน และทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ยืนยันภายหลังรับจดหมายเปิดผนึกว่า ประเด็นนิรโทษกรรมประชาชนจะถูกบรรจุเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสัปดาห์หน้าอย่างแน่นอน พร้อมตั้งคำถามถึงความจริงใจของกระทรวงยุติธรรม กรณีย้ายผู้ต้องหาทางการเมืองออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
“ดิฉันขอยืนยันว่าจะมีการบรรจุเรื่องนี้เป็น 1 หัวข้อในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้” ศศินันท์ กล่าว
นอกจากนี้ยังได้เปิดเผยข้อมูลจากการลงพื้นที่เยี่ยมนักโทษทางการเมืองที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เมื่อสัปดาห์ก่อนว่าได้หารือร่วมกับนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายมานพ ชมชื่น ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ศศินันท์ ระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีแนวคิดย้ายผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีมาอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปรับโครงสร้างเรือนจำ เป็น “เรือนจำระหว่างการพิจารณาคดี” มีเป้าหมายให้ผู้ต้องขังที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีมาถูกคุมขังที่นี่ แต่กลับพบว่ามีการย้ายผู้ต้องหาทางการเมืองออกไปเรือนจำอื่นแทนแต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการย้ายผู้ต้องหาทางการเมืองออกไปยังเรือนจำอื่น ทั้งที่ก่อนหน้านี้พวกเขาได้แสดงเจตจำนงชัดเจนว่าไม่ต้องการถูกย้าย
ศศินันท์ ยืนยันว่าวันนั้นได้อยู่ในเหตุการณ์และเห็นกับตาว่ามีการนำตัวผู้ต้องหาทางการเมืองมาพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทุกคนมีความต้องการชัดเจนว่าไม่ต้องการถูกย้ายออกไปที่อื่น ขออยู่ด้วยกัน เพราะพวกเขาไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นเพียงผู้ต้องขังทางความคิด พร้อมตั้งคำถามว่า เหตุใดรับปากไว้ในวันนั้น แต่สุดท้ายกลับมีการย้ายตัวผู้ต้องขังจริง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิและสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา
“นี่เป็นปัญหาแน่นอน เพราะจะทำให้การติดต่อสื่อสารกับผู้ต้องขังยากขึ้น หรือแม้แต่สิทธิพื้นฐาน เช่น การได้รับจดหมายจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ก็อาจถูกจำกัดมากกว่าเดิม”
นอกจากนี้ ศศินันท์ยังกล่าวถึงแนวทางเยียวยาจิตใจผู้ต้องขัง โดยเน้นว่าการส่งและรับจดหมายหรือที่เรียกว่า Domi Mail เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้พวกเขายังคงเชื่อมต่อกับโลกภายนอก และในส่วนการผลักดัน
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ศศินันท์ยอมรับว่าอาจเป็นเรื่องยาก แต่ในฐานะตัวแทนฝ่ายค้านที่มารับเรื่องในวันนี้ เธอมองว่าสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ทันทีคือ การกำหนดนโยบายเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีให้มีความชัดเจนและเป็นธรรม โดยไม่ต้องรอให้กฎหมายผ่าน หากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา พร้อมทิ้งท้ายด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลลองคิดว่า “ถ้าคนที่อยู่ในเรือนจำเป็นญาติพี่น้องของท่าน ท่านจะย้ายเขาออกไปโดยไม่ฟังเสียงของเขาหรือไม่”
สำหรับวันนี้เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนยื่นขอเรียกร้องให้รัฐบาลและฝ่ายค้านดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน 4 ประเด็น ได้แก่
- ให้สิทธิในการประกันตัวแก่ผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคนตามหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
- ผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ครอบคลุมผู้ต้องหาทางการเมืองรวมถึงคดีมาตรา 112
- ทบทวนบทบัญญัติของมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากล
- ยุติการดำเนินคดีที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นโดยทันที
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเปิดเผยว่า ในกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนตามวาระ (UPR) ครั้งล่าสุดของไทยเมื่อปี 2564 พบหลายประเทศได้เสนอข้อแนะนำให้ไทยแก้ไขมาตรา 112 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ในวาระ 2568-2570 ยิ่งเป็นข้อผูกพันที่รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัด ฉะนั้นการที่ไทยเพิกเฉยต่อปัญหาดังกล่าวซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนระดับสากลจึงอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมไทยในสายตาสังคมโลก
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนได้รวบรวมและยื่นรายชื่อกว่า 35,000 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้พรรคการเมืองดำเนินการแก้ไขปัญหาคดีการเมือง รวมถึงการพิจารณาทบทวนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามในเวทีระดับนานาชาติ ขณะที่ช่วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลพรรคเพื่อไทยเคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะศึกษาแนวทางแก้ไขกฎหมายนี้ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่ายังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายนี้ หลายเหตุกการณ์ในไทยตอนนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ขณะที่รายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนวันที่ 7 มีนาคม 2568 ระบุว่าปัจจุบันยังมีผู้ถูกคุมขังจากการแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 46 คน ในจำนวนนี้มี 29 คนมีสถานะเป็นผู้ต้องหาตามมาตรา 112 ซึ่งหลายคนถูกปฏิเสธสิทธิการประกันตัว ทำให้บางส่วนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ และอีกหลายชีวิตต้องใช้ชีวิตอยู่หลังกรงขังอย่างไร้ความยุติธรรม อย่างเช่นตอนนี้ในเรือนจำมี สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือ ‘ขนุน’ ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 กำลังอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวและรอการนิรโทษกรรมคดีความทางการเมืองอยู่
ปัจจุบันยังพบว่าคดีมาตรา 112 ที่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงเวทีระหว่างประเทศและนานาชาติ เช่น
ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งระบุว่ามาตรา 112 มีบทลงโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ขณะที่สหภาพยุโรปแสดงความกังวลว่าการบังคับใช้มาตรานี้ขัดต่อพันธกรณีของไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และเสนอให้ไทยทบทวนแก้ไขหรือยกเลิกบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าว รวมถึงนิรโทษกรรมผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคนโดยต้องรวมคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย
การยื่นจดหมายเปิดผนึกครั้งนี้เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนขอเน้นย้ำว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่อาจดำรงอยู่ได้ในขณะที่ประชาชนยังถูกจองจำเพียงเพราะใช้สิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน และการที่รัฐบาลเพิกเฉยต่อปัญหานี้จะทำให้ประชาชนต้องถูกกดขี่โดยกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภาครั้งนี้ จึงถึงเวลาที่ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องรับผิดชอบต่อคำมั่นสัญญาของตัวเอง และเร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยทันที
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม:
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน
อีเมล: [email protected]
โทรศัพท์: 02-513-8745