แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวแคมเปญ "ยุติการทรมาน" อีกครั้ง ชี้สถานการณ์การทรมานทั่วโลกยังวิกฤต

15 พฤษภาคม 2557

Amnesty International Thailand

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุสถานการณ์การทรมานทั่วโลกยังวิกฤต ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายใน 141 ประเทศ พร้อมชี้ผลสำรวจความเห็นระดับโลกซึ่งครอบคลุมประชากรกว่า 21,000 คน ใน 21 ประเทศ จากทุกทวีป เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ให้ข้อมูลระบุว่ากลัวการทรมานหากต้องถูกควบคุมตัว กว่า 80% ต้องการให้มีกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อคุ้มครองไม่ให้บุคคลถูกทรมาน อย่างไรก็ตามกว่า 1 ใน 3 เชื่อว่ามีความชอบธรรมที่จะทำการทรมานในบางกรณี

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิศรี (Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ CAT) ซึ่ง 155 รัฐ ได้แสดงเจตจำนงที่จะยึดมั่นในพันธะกรณีที่จะเคารพ ปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคนไม่ให้ถูกทรมาน

นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้กล่าวไว้ว่า ในเดือนพฤษภาคม 2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวโครงการรณรงค์ระดับโลกเพื่อยุติการทรมาน ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่าบุคคลทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองจากการถูกทรมาน และเพื่อเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาและเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ และกระตุ้นให้ประชาชนเรียกร้องให้มีการยุติการทรมาน

“การรณรงค์ครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการควบคุมตัวของรัฐในประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในระบบยุติธรรมทางอาญาแบบปกติ ซึ่งบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยทหาร ตำรวจ กองกำลังพิเศษ หน่วยงานลับทางราชการ หรือช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ระเบียบหรือข้อบัญญัติ และการควบคุมตัวในที่ลับหรือสถานที่ไม่เป็นทางการ จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการทรมานเพิ่มขึ้นอย่างมาก การรณรงค์ครั้งนี้ไม่ครอบคลุมการทรมานที่ผู้กระทำไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ และการปฏิบัติที่โหดร้ายอันเนื่องมาจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างเช่น การใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมประท้วง แม้ว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะยังคงทำงานอย่างเข้มแข็งต่อการละเมิดสิทธิเหล่านี้เช่นกัน ทั้งนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะทำงานรณรงค์อย่างเข้มข้นโดยจะเน้นในห้าประเทศ ได้แก่ โมร็อกโก อุเบกิสถาน ไนจีเรีย เม็กซิโก และฟิลิปปินส์ เราเชื่อมั่นว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในประเทศเหล่านี้”

สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ มาตั้งแต่ปี 2550 แต่ยังไม่เป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลาย และความเข้าใจในประเด็นนี้ในสาธารณะชนก็ยังอยู่ในวงที่ค่อนข้างจำกัด สาเหตุสำคัญที่ทำให้การปฏิบัติตามพันธะกรณีของไทยเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพคือความบกพร่องของระบบกฎหมายไทยที่ยังไม่มีการกำหนดให้ การทรมานเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา จึงไม่สามารถเอาโทษกับผู้กระทำผิดได้อย่างแท้จริง

“ปัจจุบันไม่มีการกำหนดให้มีข้อหาหรือฐานความผิดเกี่ยวกับการทรมาน อีกทั้งยังไม่มีมาตรการการเยียวยาผู้เสียหายจากการถูกทรมาน และมาตรการการป้องกันการทรมาน แม้จะมีการรณรงค์ยุติการทรมานมาอย่างยาวนาน แต่การทรมานก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้กระทำความผิด ซึ่งในหลายกรณีเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ยังไม่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เนื่องด้วยประเทศไทยยังไม่มีกลไกป้องกันการทรมาน การสืบสวนสอบสวน และการเยียวยาอย่างเป็นระบบ”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ นำกลไกคุ้มครองมาใช้เพื่อป้องกันและลงโทษกรณีที่เกิดการทรมาน เช่น การกำหนดให้การทรมานเป็นความผิดตามกฎหมายในประเทศ การเปิดโอกาสให้หน่วยงานอิสระสามารถตรวจสอบสถานควบคุมตัวได้ การบันทึกวีดิโอในระหว่างการสอบปากคำ การจัดให้มีการตรวจร่างกายอย่างเหมาะสม การให้ผู้ถูกควบคุมตัวเข้าถึงทนายความได้โดยทันที  การให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานอย่างเป็นอิสระและอย่างมีประสิทธิผล การฟ้องคดีต่อผู้ต้องสงสัย และการให้ความเยียวยาอย่างเหมาะสมต่อผู้เสียหาย ซึ่งจะล้วนส่งผลให้มีการทรมานลดน้อยลงในประเทศต่าง ๆ ที่พยายามปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ อย่างจริงจัง