เผยนักปกป้องสิทธิฯ ทั่วโลกถูกสังหารเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

8 ธันวาคม 2560

 

แอมเนสตี้เผยสถิติการสังหารและอุ้มหายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องใน "วันสิทธิมนุษยชน" 10 ธันวาคม ระบุคนทำงานด้านสิทธิถูกสังหารเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวช่วงปี 2558-59 ส่วนรัฐบาลทั่วโลกต่างล้มเหลวในการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัย

 

เนื่องในโอกาส "วันสิทธิมนุษยชนสากล" ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงานเรื่อง "Deadly but Preventable Attacks: Killings and Enforced Disappearances of Those who Defend Human Rights" หรือ "การโจมตีที่รุนแรงแต่สามารถป้องกันได้: การสังหารและการบังคับสูญหายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน" โดยพบว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 281 คนทั่วโลกถูกสังหารตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2558

 

แอมเนสตี้พบว่าประมาณ 49% ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารเป็นผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อม ที่เหลือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ เช่น สิทธิสตรี สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ พนักงานบริการ (sex workers) สหภาพแรงงาน ชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ ทนายความ นักข่าว ไปจนถึงชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งหรือถูกควบคุมโดยกลุ่มติดอาวุธ และอื่นๆ

 

537.png

 

เมื่อย้อนดูสถิตินับตั้งแต่ปี 2541 จะพบว่ามีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารไปแล้วประมาณ 3,500 คน ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงคาดว่าจะสูงกว่านี้มาก เนื่องจากมีหลายคนที่ถูกอุ้มหายจนไม่ทราบชะตากรรมที่ชัดเจน โดยทวีปอเมริกาเป็นพื้นที่มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกสังหารมากที่สุดในโลก

 

รายงานดังกล่าวได้มาจากการรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติและการสัมภาษณ์สมาชิกครอบครัว เพื่อน และผู้ร่วมงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารหรืออุ้มหาย ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ออกมาทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนของตนเองและผู้อื่นจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากภาครัฐและเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เรายังพบว่าวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด ซึ่งผู้ก่อเหตุสังหารหรืออุ้มหายไม่ถูกดำเนินคดี ยังเสริมให้การทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วทุกมุมโลกอันตรายมากขึ้นไปอีก

 

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือคนธรรมดาๆ ที่กล้าหาญและเสียสละในการทำงานเพื่อพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของรัฐในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกทางหนึ่ง แอมเนสตี้จึงเรียกร้องให้ทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย ยอมรับและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการและจริงใจ ภาครัฐควรมีมาตรการป้องกันไม่ให้พวกเขาถูกคุกคามหรือทำร้ายจากการทำงาน ตลอดจนควรนำตัวผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการตุกคามทำร้ายต่างๆ มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

 

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ยังเรียกร้องให้ทุกประเทศเร่งสอบสวนต่อการสังหารและการอุ้มหายที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อให้ความจริงปรากฏต่อสังคมโดยเร็วด้วย