ประชาคมโลกต้องใช้โอลิมปิกฤดูหนาวเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสิทธิมนุษยชนในจีน

3 กุมภาพันธ์ 2565

Amnesty International Thailand

ภาพถ่ายจาก: © Getty Images

 

  • มหกรรมกีฬาจะเริ่มขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้าย 

  • ประชาคมโลกต้องไม่ให้ความร่วมมือจากการใช้กีฬาในการฟอกตัวเองเช่นนี้ 

  • ไอโอซีควรคุ้มครองสิทธิของนักกีฬาให้ดีขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์กรณีของเผิง ฉ่วย  

 

แอมเนสตี้เรียกร้องประชาคมโลกต้องใช้โอลิมปิกฤดูหนาวและพาราลิมปิกเป็นโอกาสในการกดดันให้มีการปรับปรุงสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน ซึ่งมหกรรมกีฬานี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-20 กุมภาพันธ์นี้  ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน 

 

เมืองหลวงของจีนจะได้ต้อนรับทัพนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และนักการทูตจากทั่วโลก ในการแข่งขันที่จะเริ่มขึ้นวันที่ 4 กุมภาพันธ์ แต่มหกรรมกีฬานี้จะเกิดขึ้นท่ามกลางการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องหลายประการในประเทศจีน 

 

อัลคัน อาคาด นักวิจัยเกี่ยวกับประเทศจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “แม้มีความคาดหวังว่าการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งจะเป็นมหกรรมกีฬาในความทรงจำ แต่คนที่เฝ้ารอดูไม่ควรเพิกเฉยต่อปัญหาซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ของจีน นักกฎหมายและนักกิจกรรมต้องถูกจำคุกเพียงเพราะทำงานของตนอย่างสงบ เหยื่อผู้ถูกละเมิดทางเพศต้องเผชิญกับบทลงโทษเพียงเพราะกล้าออกมาเปิดโปง มีการคาดการณ์ว่าในแต่ละปีมีผู้ถูกประหารชีวิตหลายพันคน กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมจำนวนมากต้องเผชิญกับการถูกกักขัง ถูกทรมานและประหัตประหารอย่างเป็นระบบในค่ายกักกัน”  

“การแข่งขันครั้งนี้ไม่ควรถูกใช้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากสถิติด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงของจีน ในทางตรงกันข้าม ควรถูกใช้เป็นโอกาสเพื่อกดดันให้จีนแก้ปัญหาเหล่านี้”  

 

ไอโอซีควรประกันให้มีการทำตามสัญญา 

รัฐบาลจีนให้หลักประกันหลายประการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ก่อนที่จะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว รวมทั้งการเคารพเสรีภาพสื่อ สิทธิด้านแรงงาน  “การพลัดถิ่นฐาน” และประกันโอกาสอย่างแท้จริงที่จะให้มีการเดินขบวนโดยสงบระหว่างการแข่งขันครั้งนี้ 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ดำเนินการอย่างเต็มที่และให้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและการปฏิบัติเพื่อตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนต่อสาธารณะ ก่อนและระหว่างการแข่งขันครั้งนี้ 

“สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกถูกละเมิดอย่างเป็นระบบในประเทศจีน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ไอโอซีและคณะกรรมการโอลิมปิกของชาติต่าง ๆ ในการแข่งขันครั้งนี้ ต้องเคารพความต้องการของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ด้านกีฬาที่ต้องการพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน รวมทั้งประเด็นที่ถูกมองว่า “ละเอียดอ่อน” สำหรับทางการจีน”  

“ไอโอซียังต้องยืนยันว่า รัฐบาลจีนปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะประกันให้เกิดเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ถูกปิดกั้นทั้งสำหรับนักข่าวชาวจีนและนักข่าวต่างประเทศ และให้การประกันว่าผู้ที่ต้องการชุมนุมประท้วงโดยสงบในระหว่างการแข่งขันครั้งนี้จะสามารถกระทำการเช่นนั้นได้”  อัลคัน อาคาดกล่าว

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ตัวแทนรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมทั้งผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชน และจัดให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระสำคัญสุดในการหารือกับทางการจีน  

อัลคัน อาคาดกล่าวเสริมว่า “โลกต้องเรียนรู้จากบทเรียนของโอลิมปิกเมื่อปี 2551 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่งเช่นเดียวกัน ตอนนั้นรัฐบาลจีนได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะปรับปรุงสิทธิมนุษยชน แต่การปรับปรุงดังกล่าวกลับไม่เคยเกิดขึ้นจริงอย่างที่เคยสัญญาไว้” 

“โอลิมปิกฤดูหนาวซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่งในปีนี้ จะต้องไม่กลายเป็นเพียงโอกาสของการใช้กีฬาในการฟอกตนเองของทางการจีน และประชาคมโลกต้องไม่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมเพื่อโฆษณาชวนเชื่อในครั้งนี้ด้วย” 

  

 

นักกิจกรรมถูกควบคุมตัวในจีน

ก่อนการแข่งขันครั้งนี้จะเริ่มขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดตัวการรณรงค์ “ปล่อยตัวบุคคลทั้งห้า” (‘Free the Five’) เพื่อเน้นให้เห็นชะตากรรมของนักกิจกรรมชาวจีนทั้งห้าคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบุคคลจำนวนมากที่ถูกควบคุมตัวเพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ได้แก่ จาง จ่าน นักข่าวพลเมือง อิลฮัม โทห์ทิ ศาสตราจารย์ชาวอุยกูร์ หลี่ เชี่ยวฉู่ นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน กาว จื้อเซิ่ง ทนายความสิทธิมนุษยชน และรินเชน  จูลทริม บล็อกเกอร์ชาวทิเบต

“การคุมขังโดยไม่เป็นธรรมต่อนักกิจกรรมทั้งห้าคน สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับความเห็นต่างของรัฐบาลจีน อีกทั้งยังสะท้อนความพยายามที่จะลงโทษผู้เห็นต่างอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” 

“ถ้ารัฐบาลจีนต้องการใช้โอลิมปิกเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างภาพสักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ทางการจีนก็ควรเริ่มจากการปล่อยตัวผู้ที่ถูกดำเนินคดีหรือถูกควบคุมตัวเพียงเพราะการใช้สิทธิมนุษยชนของตน” อัลคัน อาคาดกล่าว

 

นักกีฬาต้องได้รับอนุญาตให้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี 

ในโครงการ “กีฬาปลอดภัย” ไอโอซีสัญญาว่าจะสนับสนุนสิทธิของนักกีฬาและปกป้องพวกเขาจากการถูกคุกคามและการปฏิบัติที่มิชอบ “ทั้งในและนอกสนาม” อย่างไรก็ดี มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวดในรูปของการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (bubble) ของมหกรรมกีฬา ณ กรุงปักกิ่งปี 2565 นี้ เป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของนักกีฬาอย่างรุนแรง ทำให้เกิดปัญหามากขึ้นต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบอย่างเสรี 

เมื่อปลายปีที่แล้ว เผิง ฉ่วย นักเทนนิสที่ได้ร่วมแข่งขันในโอลิมปิกถึงสามครั้ง ได้ออกมากล่าวหาว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยระบุว่าผู้กระทำเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรีของจีน เธอได้ประกาศเรื่องนี้ผ่านการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งถูกเซ็นเซอร์อย่างรวดเร็วในจีน ต่อมามีการลบข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเธอออกจากอินเตอร์เน็ต และเธอได้หายตัวไปจากพื้นที่สาธารณะโดยสิ้นเชิง เพื่อนนักเทนนิสและสมาคมเทนนิสหญิงได้แสดงความหวาดกลัวต่อชะตากรรมของเผิง เกือบสามสัปดาห์หลังมีการเซ็นเซอร์ข้อความของเธอ ไอโอซีได้จัดให้มีการพูดคุยกับเผิงผ่านวีดิโอคอล เพื่อผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพและชะตากรรมของเธอ  

“ไอโอซียอมรับการรับรองสวัสดิภาพของเผิง ฉ่วย โดยไม่มีการสืบหาพยานหลักฐานเลยว่า เธอได้ถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการเดินทาง และสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือไม่ ทำให้เกิดความเสี่ยงว่าเป็นการฟอกขาวให้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับเผิง ฉ่วย” 

หลังถูกวิจารณ์อย่างหนัก ในเดือนธันวาคมไอโอซียอมรับว่า “เราไม่สามารถให้การรับรอง และไม่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด” พวกเขายืนยันว่า “กำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับฝ่ายจีนเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ในทุกแง่มุมต่อกรณีนี้” และกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นต่อไปภายหลังมหกรรมกีฬานี้ 

อัลคัน อาคาดกล่าวทิ้งท้ายว่า “ท่ามกลางข้อจำกัดอย่างเข้มงวดในมหกรรมกีฬาที่จะจัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่งในครั้งนี้ ทางไอโอซีต้องทำงานอย่างหนักเพื่อจะที่จะรักษาคำมั่นสัญญาที่จะปกป้องสิทธิในการแสดงความเห็นของนักกีฬา และเหนือสิ่งอื่นใดต้องให้การประกันว่าจะไม่ร่วมมือในการละเมิดสิทธิใดๆ ของนักกีฬาอีกด้วย”