แอมเนสตี้เปิดข้อมูลโทษประหารปี 63 พบแม้มีการระบาดของโรคโควิด-19 หลายประเทศยังคงเดินหน้าตัดสินโทษประหารชีวิตและทำการประหารชีวิต 

21 เมษายน 2564

Amnesty International Thailand

  • อียิปต์มีจำนวนการประหารชีวิตต่อปีเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า 

  • จีนมุ่งใช้โทษประหารชีวิตเพื่อปราบปรามความผิดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19

  • รัฐบาลชุดก่อนของสหรัฐฯ ประหารชีวิตประชาชนมากถึง 10 คนในช่วงเวลาไม่ถึงหกเดือนของปี 2563 

  • จำนวนการประหารชีวิตที่บันทึกได้ต่ำสุดในรอบทศวรรษเป็นปีที่สามติดต่อกัน 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2563 พบว่า ปัญหาท้าทายที่ไม่คาดคิดของโรคโควิด-19 ยังไม่รุนแรงพอที่จะขัดขวาง 18 ประเทศจากการประหารชีวิต ในปี 2563 แม้แนวโน้มโดยรวมจะลดลง แต่บางประเทศยังคงประหารชีวิตเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นการไม่คำนึงถึงชีวิตมนุษย์ ในขณะที่ทั้งโลกให้ความสนใจกับการปกป้องผู้คนจากเชื้อไวรัสที่ร้ายแรง   

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ได้บันทึกการประหารชีวิตในปี 2563 พบว่า มีการประหารชีวิตใน 18 ประเทศอย่างน้อย 483 ครั้ง ลดลงจากปี 2562 ที่มีการประหารชีวิต 657 ครั้ง โดยยอดการประหารชีวิตในปี 2563 ถือว่าต่ำที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมาตามตัวเลขที่แอมเนสตี้ได้บันทึกไว้ 

การประหารชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศจีน อิหร่าน อิรัก อียิปต์ และซาอุดีอาระเบีย ตามลำดับ 

จีนยังคงเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในโลก แต่ตัวเลขที่แท้จริงยังไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องจากทางการจีนถือว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางราชการ ในขณะตัวเลขการประหารชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 483 ครั้ง โดยไม่นับการประหารชีวิตอีกหลายพันครั้งที่เชื่อว่าเกิดขึ้นในประเทศจีน 

นอกจากประเทศจีนแล้ว 88% ของการประหารชีวิตทั่วโลกเกิดขึ้นในประเทศอิหร่าน อียิปต์ อิรัก และซาอุดีอาระเบีย 

ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศที่มีการประหารชีวิตในปี 2563 ได้แก่ อียิปต์ ที่มีตัวเลขการประหารชีวิตต่อปีเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่จีนประกาศปราบปรามการกระทำความผิดที่กระทบต่อมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตและถูกประหารชีวิตแล้วอย่างน้อยหนึ่งราย ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลทรัมป์ได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตของรัฐบาลกลาง หลังงดเว้นมานานถึง 17 ปี ทำให้มีการประหารชาย 10 คนในเวลาเพียงไม่ถึงหกเดือน ส่วนอินเดีย โอมาน กาตาร์ และไต้หวันได้นำการประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้งเช่นกัน  

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ในขณะที่ทั้งโลกกำลังค้นหาวิธีการปกป้องชีวิตผู้คนจากโรคโควิด-19 รัฐบาลหลายประเทศกลับแสดงความมุ่งมั่นที่จะใช้โทษประหารชีวิตและประหารประชาชน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นใด 

“โทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่น่ารังเกียจ และการมุ่งประหารชีวิตประชาชนท่ามกลางการระบาดของโรค ยิ่งเน้นให้เห็นธรรมชาติที่ทารุณโหดร้าย การต่อสู้เพื่อคัดค้านการประหารชีวิต เป็นเรื่องที่ยากลำบากแม้อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม การระบาดของโรคส่งผลให้นักโทษประหารชีวิตจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าถึงทนายความแบบตัวต่อตัวได้ ส่วนผู้คนจำนวนมากที่ต้องการให้การสนับสนุนพวกเขา ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างมาก แม้จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ก็ตาม การใช้โทษประหารชีวิตในสภาพการณ์เช่นนี้ จึงถือเป็นการโจมตีสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้าย”   

DP2020_KeyMessages_covid_final.png

มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบที่น่ากังวล ในแง่ของการเข้าถึงทนายความ และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมในหลายประเทศ รวมทั้งในสหรัฐฯ ซึ่งทนายจำเลยระบุว่าไม่สามารถทำหน้าที่สอบปากคำที่สำคัญ หรือไม่สามารถเข้าพบลูกความของพวกเขาได้แบบตัวต่อตัว  

ภายในสิ้นปี 2563 มี 108 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี รวมเป็น 144 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว 

สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ  ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่ 

สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 55 ประเทศทั่วโลกที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ในขณะที่แนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต ในปี 2563 มีบันทึกการตัดสินประหารชีวิตอย่างน้อย 35 ครั้ง และจากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ณ วันที่ 23 มีนาคม 2564 มีนักโทษประหารชีวิตอยู่ 254 คน โดยกว่าครึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อย่างไรก็ตามนับเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ไม่มีการประหารชีวิตในประเทศไทย 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือผู้บริสุทธิ์ หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม 

 Top-5-Final-2020.png

 

5 ประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในปี 2563

จีนกำหนดให้ข้อมูลจำนวนการประหารชีวิตและโทษประหารชีวิต เป็นความลับของทางราชการ และขัดขวางไม่ให้มีการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ ด้วยเหตุดังกล่าว ตัวเลขการประหารชีวิตที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทราบจึงไม่รวมการประหารชีวิตในจีน อย่างไรก็ดี ในแต่ละปีเชื่อว่าจีนประหารชีวิตประชาชนหลายพันคน ทำให้เป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดอีกครั้ง แซงหน้าอิหร่าน (246+) อียิปต์ (107+) อิรัก (45+) และซาอุดีอาระเบีย (27) อิหร่าน อียิปต์ อิรัก และซาอุดีอาระเบีย มีสัดส่วนการประหารชีวิตคิดเป็น 88% ของการประหารชีวิตเท่าที่มีข้อมูลในปี 2563 

อียิปต์มีจำนวนการประหารชีวิตต่อปีเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า และกลายเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากเป็นอันดับสามของโลกในปี 2563 ศาลกำหนดโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 23 ครั้งในคดีเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมือง หลังจากการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม และเต็มไปด้วยข้อกล่าวหาว่ามีการบังคับให้รับ “สารภาพ” และการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่น ๆ รวมทั้งการทรมานและการบังคับให้สูญหาย การประหารชีวิตพุ่งสูงขึ้นในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนจากการที่ทางการอียิปต์ประหารชีวิตประชาชนอย่างน้อย 57 คน เป็นชาย 53 คนและเป็นผู้หญิงสี่คน 

แม้ว่าจำนวนการประหารชีวิตที่บันทึกได้ของอิหร่านจะลดลงกว่าปีที่แล้ว แต่ประเทศนี้ใช้โทษประหารชีวิตเป็นเครื่องมือเพื่อปราบปรามทางการเมืองมากขึ้นต่อผู้เห็นต่าง ผู้ชุมนุมประท้วง และสมาชิกชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ซึ่งถือว่าขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ  

หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยังคงละเมิดกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งห้ามการใช้โทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาที่ไม่ใช่การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา แต่ยังคงมีการกำหนดโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติด ทั้งในจีน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม และสำหรับคดีทุจริตในจีนและเวียดนาม และสำหรับคดีหมิ่นศาสดาในปากีสถาน ในบังกลาเทศและปากีสถานศาลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายพิเศษกำหนดโทษประหารชีวิต ซึ่งมักเป็นผลมาจากกระบวนการยุติธรรมที่แตกต่างจากศาลปรกติ ในมัลดีฟส์ยังคงมีผู้ต้องโทษประหารชีวิตห้าคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ขณะที่กระทำความผิด 

สหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ยังการประหารชีวิตในปี 2663 โดยในเดือนกรกฎาคม รัฐบาลทรัมป์สั่งให้มีการประหารชีวิตของรัฐบาลกลางเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี และอีกห้ารัฐได้ประหารชีวิตประชาชนรวมกันเจ็ดคน 

 

จำนวนการประหารชีวิตต่ำสุดในรอบทศวรรษ 

จากข้อมูลทั่วโลก พบว่ามีการประหารชีวิตอย่างน้อย 483 คนในปี 2563 (ไม่รวมประเทศที่เก็บข้อมูลโทษประหารชีวิตเป็นความลับทางราชการ หรือมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งได้แก่ จีน เกาหลีเหนือ ซีเรีย และเวียดนาม) ถึงแม้ตัวเลขนี้จะน่าตกใจ แต่ถือเป็นจำนวนการประหารชีวิตที่ต่ำที่สุดในรอบทศวรรษที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถบันทึกได้ โดยลดลง 26% เมื่อเทียบกับปี 2562 และลดลง 70% เมื่อเทียบกับการประหารชีวิตสูงสุดจำนวน 1,634 ครั้งในปี 2558 

จากข้อมูลในรายงาน ตัวเลขที่ลดลงเกิดจากการประหารชีวิตที่ลดลงในบางประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตอยู่ และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการงดเว้นการประหารชีวิตที่เป็นผลมาจากโรคระบาด 

จำนวนการประหารชีวิตที่บันทึกได้ในซาอุดีอาระเบียลดลง 85% จาก 184 ครั้ง ในปี 2562 เหลือ 27 ครั้งในปี 2563 และในอิรักลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง จาก 100 ครั้ง ในปี 2562 เหลือ 45 ครั้งในปี 2563 และไม่มีการประหารชีวิตที่บันทึกได้ในบาห์เรน เบลารุส ญี่ปุ่น ปากีสถาน สิงคโปร์ และซูดาน ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่เคยมีการประหารชีวิตในปี 2562 

จากข้อมูลทั่วโลก พบว่ามีคำพิพากษาประหารชีวิต (อย่างน้อย 1,477 ครั้ง) ถือว่าลดลง 36% เมื่อเทียบกับปี 2562 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่ามีคำพิพากษาประหารชีวิตลดลงใน 30 ประเทศจาก 54 ประเทศ ซึ่งมีข้อมูลว่ายังมีการใช้โทษประหารชีวิตอยู่ ทั้งนี้เป็นผลมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน รวมถึงการเลื่อนและความล่าช้าในการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม อันเป็นผลมาจากโรคระบาด 

ข้อยกเว้นที่สำคัญคืออินโดนีเซีย ซึ่งมีคำพิพากษาประหารชีวิตในปี 2563 (117) เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับปี 2562 (80) และแซมเบียซึ่งมีคำพิพากษาประหารชีวิตจำนวน 119 ครั้งในปี 2563 มากกว่าปี 2562 จำนวน 18 ครั้ง นับเป็นจำนวนสูงสุดที่บันทึกได้ในแอฟริกาส่วนที่ต่ำกว่าทะเลทรายซาฮารา

 DP2019_SM_HalfOfTheWorld_Final.png

ถึงเวลายกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว

ในปี 2563 ชาดและรัฐโคโลราโดของสหรัฐฯ ยกเลิกโทษประหารชีวิต คาซัคสถานแสดงพันธกิจที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตตามกฎหมายระหว่างประเทศ ส่วนบาร์เบโดสได้ข้อสรุปในการปฏิรูปเพื่อยกเลิกการบังคับใช้โทษประหารชีวิตสถานเดียว (the mandatory death penalty)

ณ เดือนเมษายน 2564 มี 108 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี รวมเป็น 144 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว ถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่ต้องเดินหน้าต่อไป 

“แม้ว่ารัฐบาลบางประเทศยังคงมุ่งหน้าใช้โทษประหารชีวิตต่อไป แต่ภาพรวมของปี 2563 อยู่ในเชิงบวก ชาดและรัฐโคโลราโดของสหรัฐฯ ยกเลิกโทษประหารชีวิต และจำนวนการประหารชีวิตเท่าที่มีข้อมูลยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โลกของเราอยู่ในจุดที่ใกล้จะทำให้การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลายเป็นอดีตไป”  

“มีประเทศต่าง ๆ มากเป็นประวัติการณ์ถึง 123 ประเทศ ที่สนับสนุนมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ให้มีข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิต สร้างแรงกดดันให้ประเทศที่ยังไม่สนับสนุนมตินี้ต้องทำตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐเวอร์จิเนียกลายเป็นรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐฯ แห่งแรกที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ในขณะที่มีการเสนอร่างกฎหมายหลายฉบับเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตในระดับรัฐบาลกลาง และอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ในเส้นทางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลกต่อไป เราขอเรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐฯ สนับสนุนการดำเนินงานด้านนิติบัญญัติเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต

“เราขอเรียกร้องผู้นำประเทศทั่วโลกที่ยังไม่ยกเลิกโทษชนิดนี้ ช่วยกันทำให้ปี 2564 เป็นปีแห่งการยุติ การสังหารโดยรัฐอย่างถูกกฎหมายให้หมดสิ้นไป เราจะยังคงรณรงค์ต่อไปจนกว่าจะมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกที่อย่างถาวร” แอกเนส คาลามาร์ดกล่าว 

 

DP2020_KeyMessages_decrease_final.png