แอมเนสตี้แถลงหลังนักกิจกรรมถูกจับอีกหนึ่งคน ระหว่างที่มีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วประเทศ

14 สิงหาคม 2563

Amnesty International Thailand

สืบเนื่องจากการจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมในวันนี้ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวดังนี้

 

 “การจับกุมในวันนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการปราบปรามสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมอย่างสงบโดยรัฐ แทนที่จะให้ความคุ้มครองกับผู้ชุมนุมอย่างสงบ ตำรวจกลับใช้กฎหมายเผด็จการเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อปิดปากผู้แสดงความเห็นหรือวิจารณ์รัฐบาลอย่างสงบ 

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้ยกเลิกข้อหาทั้งหมด และให้ปล่อยตัวพริษฐ์ ชิวารักษ์โดยทันที รวมทั้งนักกิจกรรมอีกคู่หนึ่งที่ถูกจับเมื่อวันศุกร์ที่แล้วพร้อมกับผู้ประท้วงคนอื่น ๆ เนื่องจากพวกเขาเพียงแต่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เรายังกระตุ้นทางการให้หาช่องทางสื่อสารในทางเลือก หรือริเริ่มการเจรจากับผู้ชุมนุม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ

“ความถดถอยด้านสิทธิมนุษยชนนับแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้าดำรงตำแหน่ง เป็นปรากฏการณ์ที่น่าตกใจอย่างยิ่ง พื้นที่ของการเคลื่อนไหวและการแสดงออกอย่างสงบ จะยิ่งหดตัวลงมากขึ้น หากประชาคมโลกไม่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยทันที”  

 

ข้อมูลพื้นฐาน

ในวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม ตำรวจได้จับกุมพริษฐ์ ชิวารักษ์ สมาชิกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ขณะที่เขากำลังเดินทางไปเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่จังหวัดนนทบุรี ใกล้กับกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย

 

พริษฐ์ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการร่วมชุมนุมประท้วงอย่างสงบจำนวนสามกิจกรรม สำหรับคดีแรกเป็นผลจากการร่วมกิจกรรม #Saveวันเฉลิม เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ในข้อหาละเมิดพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ สำหรับคดีที่สองกรณีมีส่วร่วมในกิจกรรมรำลึกสยามอภิวัฒน์ 2475 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ในข้อหาละเมิดพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง โปรยใบปลิวโดยไม่ได้รับอนุญาต และตั้งวางสิ่งของในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มาตรา 10 และ 39 ตามลำดับ และสำหรับคดีที่สามกรณีร่วมการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ในข้อหายงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้าย ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ และใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 368, 385 และ 391 ตามลำดับ ละเมิดพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะเป็นความผิดตามมาตรา 114 พระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 19 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง

 

ในวันที่ 7 สิงหาคม 2563 แกนนำอีกสองคนได้แก่ อานนท์ นำภาและภานุพงศ์ จาดนอก ได้ถูกจับกุม และถูกนำตัวไปสถานีตำรวจ จากนั้นมีการนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพ ด้วยข้อหาคล้ายกันจากการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563

 

นับแต่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เจ้าหน้าที่ทำการควบคุมตัวและแจ้งข้อหาอาญาอย่างต่อเนื่องต่อบุคคลที่เข้าร่วมการประท้วงและกิจกรรมอย่างสงบ ผู้ประท้วงยังต้องเผชิญการข่มขู่คุกคามจากตำรวจในหลายกรณี เพียงเพราะเข้าร่วมการประท้วงอย่างสงบ โดยเป็นการชุมนุมอย่างสงบที่มีแกนนำเป็นนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งเรียกร้องให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ให้รัฐบาลลาออก และให้ยุติการคุกคามของตำรวจ