เปิดตัวคณะกรรมการชุดใหม่ของแอมเนสตี้ ประเทศไทย

13 กรกฎาคม 2563

Amnesty International Thailand

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีเพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานที่ผ่านมา และร่วมกันกำหนดทิศทางการทำงานขององค์การในอนาคตให้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเลือกตั้งประธาน กรรมการ และกรรมการเยาวชนอย่างละ 1 ตำแหน่ง แทนกรรมการที่หมดวาระลง โดยมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมกว่า 80 คน

 

IMG_3324-01.JPG

 

คณะกรรมการชุดล่าสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (จากซ้ายไปขวา) ประกอบไปด้วย

ศศวัชร์ คมนียวนิช เหรัญญิก

วศิน พงษ์เก่า กรรมการ

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ

นาซานีน ยากะจิ กรรมการเยาวชน

ณพัทธ์ นรังศิยา กรรมการ

 

ด้านฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการคนใหม่เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยว่า อยากเห็นขบวนการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยกลายเป็นเรื่องธรรมดา ที่ใครๆ ก็พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องซีเรียส หรือดูไกลตัวจนเกินไป เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยม ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ต้องเชื่อมโยงให้เห็นว่า สิทธิมนุษยชนอยู่ในทุกเรื่องราว อยู่ในการใช้ชีวิตประจำวัน อยู่ในละครที่เราดู อยู่ในศิลปะที่เราเสพ อยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ระหว่างคนรัก ระหว่างครอบครัว ถ้าเราสามารถทำให้คนในสังคมเห็นได้ว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวขนาดนี้ แอมเนสตี้ ประเทศไทยก็น่าจะเข้าถึงคนได้มากขึ้น

 IMG_3352-01.JPG

 

“ในฐานะที่ทำงานด้านการศึกษาอยู่แล้ว อยากจะเชื่อมเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ากับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมากขึ้น ซึ่งหลายวิชาที่เรียน หลายกิจกรรมของนักศึกษาก็เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว อีกประเด็นคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี ที่เข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตเรา ซึ่งการคุ้มครองสิทธิหรือการละเมิดสิทธิเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในระบบของดิจิทัล การใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องสำหรับการคุ้มครองหรือรณรงค์เรื่องสิทธิก็น่าจะทำให้เราพาวิธีคิดหรือขบวนการด้านสิทธิมนุษยชนไปข้างหน้าและไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้” ประธานกรรมการคนใหม่กล่าว

 

ปิดท้ายด้วยสมาชิกและผู้สนับสนุนร่วมกิจกรรม #saveวันเฉลิม โดยร่วมกันลงชื่อซึ่งมีข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีฮุนเซน แห่งประเทศกัมพูชาว่าขอเรียกร้องให้ดำเนินงานตามมาตรการทั้งปวงที่จำเป็น คือ

1. ประกันให้มีการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งด่วน รอบด้าน และโปร่งใสต่อข้อกล่าวหาว่ามีการลักพาตัววันเฉลิม และแจ้งให้ครอบครัวของเขาทราบถึงการดำเนินการทั้งหมดเพื่อพิสูจน์ทราบว่าเขาอยู่ที่ไหน

2.ให้นำตัวผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมครั้งนี้ เข้าสู่การพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยศาลพลเรือนแบบปรกติ และไม่ให้ใช้โทษประหารกับพวกเขา

3.ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกัมพูชาเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฯดังกล่าว และต้องไม่ส่งตัววันเฉลิมกลับระเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของท่านที่จะต้องไม่เข้าร่วมในการบังคับส่งกลับบุคคลไปยังสถานที่ที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

 IMG_3305-01.JPG