มาเลเซีย : ชาวโรฮิงญาที่แสวงหาความปลอดภัยทางเรือหลายร้อยคน เสี่ยงอย่างยิ่งที่จะติดไวรัสโคโรนา

9 เมษายน 2563

Amnesty International Malaysia

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มาเลเซียเรียกร้องทางการมาเลเซียควรให้การประกันว่าชาวโรฮิงญา 202 คนที่ถูกพบอยู่บนเรือนอกชายฝั่งของประเทศ จะไม่ต้องเสี่ยงต่อการระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัสโคโรนาระหว่างอยู่ในสถานที่ควบคุมตัว ปัจจุบันทางกลุ่มถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 

 

ปรีธี บาร์ดวัจ รักษาการผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มาเลเซียเผยว่า รัฐบาลต้องประกันให้มีการคุ้มครองอย่างเพียงพอต่อชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ พวกเขาจำเป็นที่จะต้องได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยจากทั้งการถูกประหัตประหารและโรคร้าย

 

“สืบเนื่องจากความเสี่ยงต่อการระบาดที่เพิ่มขึ้นในสถานที่ควบคุมตัว ทางการจึงควรปล่อยตัวพวกเขาหลังการกักตัว และให้ความคุ้มครองที่จำเป็นตามกฎหมายระหว่างประเทศ การควบคุมตัวบุคคลที่มากขึ้นในช่วงเวลาเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดความเสียหายด้านสุขภาพต่อคนจำนวนมาก และยิ่งทำให้วิกฤติการระบาดของโรคในปัจจุบันเลวร้ายลง”

 

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2563 กองบังคับการตำรวจน้ำของมาเลเซียจับเรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญากว่า 200 คน ที่มีเด็กรวมอยู่ด้วย ได้ที่นอกชายฝั่งเกาะลังกาวี ทางการมาเลเซียระบุว่าไต้ก๋งเรือซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการค้ามนุษย์ ได้หลบหนีไประหว่างอยู่กลางทะเล 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มาเลเซียทราบว่า ปัจจุบันทางกลุ่มโรฮิงญาทั้งหมดได้ถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วันแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อโควิด-19 และอาจถูกส่งตัวไปยังสถานกักตัวคนต่างด้าว ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในมาเลเซียมักถูกควบคุมตัวโดยไม่มีกำหนดเวลาในสถานที่เหล่านี้

 

งานวิจัยก่อนหน้านี้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่าสภาพในสถานกักตัวคนต่างด้าว ในมาเลเซียมีลักษณะของการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี และมีความแออัดยัดเยียดเป็นอย่างยิ่ง ขาดแคลนอาหาร น้ำและสุขอนามัยที่เพียงพอ 

 

“ทางการต้องรับประกันว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้ซึ่งได้พบเจอกับประสบการณ์ที่เจ็บปวดอย่างยิ่งมาแล้ว ต้องมีพื้นที่มากเพียงพอเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม ต้องมีน้ำและสุขาภิบาลอย่างเพียงพอ รวมทั้งมีการเข้าถึงการดูแลด้านสุขภาพและอุปกรณ์เพื่อสุขอนามัย ทั้งระหว่างที่ถูกกักตัวและหลังจากนั้น” 

“เรายังเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองบุคคลที่อยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าว รวมทั้งให้ปล่อยผู้ถูกกักตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งให้ดำเนินการอื่น ๆ เพื่อป้องกันสภาพที่แออัดยัดเยียด และประกันให้พวกเขามีสิทธิเข้าถึงการดูแลสุขภาพอย่างเพียงพอ”

ปรีธี บาร์ดวัจกล่าว  

 

ข้อมูลพื้นฐาน

ยังคงมีการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างต่อเนื่องต่อชาวโรฮิงญาประมาณ 600,000 คนที่ยังคงอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมาพวกเขาถูกบีบให้ต้องละทิ้งถิ่นฐาน แต่ยังมีประชากรอีกหลายแสนคน ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ซึ่งยังคงถูกกักบริเวณให้อยู่ในที่พักพิงชั่วคราวที่มีสภาพเลวร้ายในรัฐยะไข่และในบังกลาเทศที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อความอยู่รอด  

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบเรือที่บรรทุกประชาชนที่ยากไร้หลายพันคนซึ่งหลบหนีมาจากทั้งรัฐยะไข่และบังกลาเทศลอยลำอยู่กลางทะเลเพื่อขอลี้ภัยในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้รัฐมีพันธกรณีต้องปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยที่เดินมาถึงชายฝั่งประเทศตน

ตามหลักการไม่ส่งกลับ รัฐมีพันธกรณีต้องไม่ส่งบุคคลกลับไปยังดินแดนที่เสี่ยงจะถูกประหัตประหารหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง หลักการนี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการคุ้มครองผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ และเป็นข้อห้ามอย่างเบ็ดเสร็จเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี 

มาเลเซียไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 อย่างไรก็ดี หลักการไม่ส่งกลับนี้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ต่อทุกประเทศ และในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียนยังคุ้มครองสิทธิ “ที่จะขอลี้ภัยและรับการลี้ภัย” ด้วย