แถลงการณ์ร่วม 110 องค์กรภาคประชาสังคม: การใช้เทคโนโลยีสอดแนมข้อมูลดิจิทัลของรัฐเพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัส โควิด -19ในวงกว้าง ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน

3 เมษายน 2563

Amnesty International

การระบาดในวงกว้างของโรคโควิด-19 เป็นภัยฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลก ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขด้วยความร่วมมือในวงกว้างของรัฐบาลทั่วโลก อย่างไรก็ดี ความพยายามของรัฐในการควบคุมไวรัส ต้องไม่เอาไปถูกใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการปกปิดการผลักดันให้เข้าสู่ยุคใหม่ ของระบบการสอดแนมข้อมูลดิจิทัลที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางหลังจากนี้

 

พวกเราซึ่งเป็นองค์กรตามรายชื่อที่มีรายชื่อด้านล่าง ขอกระตุ้นรัฐบาลให้แสดงความเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาการระบาดในวงกว้าง โดยให้การประกันว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อตรวจสอบและติดตามบุคคลและประชากร จะเกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด 

 

เทคโนโลยีมีความสามารถ และควรมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานเพื่อช่วยชีวิตคน ทั้งการเผยแพร่ข้อมูลด้านสาธารณสุข การส่งเสริมการเข้าถึงการดูแลด้านสุขภาพ อย่างไรก็ดี การเพิ่มอำนาจของรัฐในการสอดแนมข้อมูลดิจิทัล อย่างเช่น การเข้าถึงข้อมูลตำแหน่งของโทรศัพท์มือถือ คุกคามความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการสมาคม ในลักษณะที่อาจละเมิดต่อสิทธิ และลดทอนความไว้วางใจที่มีต่อหน่วยงานของรัฐ ทำลายประสิทธิภาพของมาตรการด้านสาธารณสุขใด ๆ มาตรการเช่นนี้ ยังเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อชุมชนที่อยู่ชายขอบอยู่แล้ว 

 

แม้ในช่วงเวลาที่ไม่ปรกติ แต่กฎหมายสิทธิมนุษยชนก็ยังต้องมีผลบังคับใช้ แท้ที่จริงแล้ว กรอบสิทธิมนุษยชนได้รับการออกแบบมาเพื่อประกันการถ่วงดุลสิทธิต่างๆ อย่างระมัดระวัง ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองบุคคลและสังคมในวงกว้าง รัฐจึงไม่สามารถเพิกเฉยต่อสิทธิเหล่านี้ ทั้งความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออก โดยอ้างว่าต้องรับมือกับวิกฤติสาธารณสุข ในทางตรงข้าม การปกป้องสิทธิมนุษยชนยังเป็นการส่งเสริมสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ รัฐบาลต้องรับประกันอย่างเข้มแข็งว่า การจำกัดสิทธิใด ๆ ต้องสอดคล้องกับหลักประกันที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน 

 

วิกฤติครั้งนี้ยังเป็นโอกาสที่จะแสดงความเป็นมนุษยชาติร่วมกันของเรา เราสามารถดำเนินงานเป็นพิเศษเพื่อต่อสู้กับการระบาดในวงกว้าง อย่างสอดคล้องตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม การตัดสินใจใด ๆ ของรัฐบาลเพื่อเผชิญหน้ากับการระบาดในวงกว้างในขณะนี้ ย่อมส่งผลต่อโครงสร้างของโลกในอนาคต

 

เราเรียกร้องทุกรัฐบาลให้หาทางรับมือกับการระบาดในวงกว้างของโรคโควิด-19 โดยต้องไม่เพิ่มการสอดแนมข้อมูลดิจิทัล เว้นแต่จะสอดคล้องตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ 

 
1. มาตรการสอดแนมที่นำมาใช้รับมือกับการระบาดในวงกว้าง ต้องชอบด้วยกฎหมาย จำเป็น และได้สัดส่วน ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ต้องมีความชอบธรรมเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ตามการกำหนดของหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง และต้องได้สัดส่วนกับความจำเป็นเหล่านี้ รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการอย่างโปร่งใส ทั้งนี้เพื่อเปิดให้มีการตรวจสอบ และอาจมีการดัดแปลง ยกเลิก หรือเปลี่ยนทิศทางการดำเนินงานได้ตามความเหมาะสม เราไม่อาจปล่อยให้การระบาดในวงกว้างของโรคโควิด-19 กลายเป็นข้ออ้างให้เกิดการสอดแนมข้อมูลอย่างเลือกปฏิบัติในวงกว้างได้ 
 

2. หากรัฐบาลขยายอำนาจการตรวจสอบและสอดแนม ต้องมีการกำหนดระยะเวลาการใช้อำนาจเช่นนี้ด้วย และให้ใช้ได้ต่อไปตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อแก้ไขการระบาดในวงกว้างที่เป็นอยู่ เราไม่อาจปล่อยให้การระบาดในวงกว้างของโรคโควิด-19 กลายเป็นข้ออ้างของการสอดแนมข้อมูลที่ไม่มีจุดสิ้นสุดได้
 

3. รัฐต้องประกันว่า การเพิ่มมาตรการรวบรวม จัดเก็บ และนำข้อมูลส่วนบุคคลมาประกอบกัน รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพ จะต้องถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อตอบสนองต่อการระบาดในวงกว้างของโรคโควิด-19 เท่านั้น ข้อมูลที่รวบรวมมา จัดเก็บ และนำมาประกอบกันเพื่อรับมือกับการระบาดในวงกว้าง ต้องมีขอบเขตจำกัด มีระยะเวลาที่กำหนดสอดคล้องกับปัญหาการระบาดในวงกว้าง และต้องไม่ถูกใช้เพื่อการพาณิชย์หรือวัตถุประสงค์อื่นใด เราไม่อาจปล่อยให้การระบาดในวงกว้างของโรคโควิด-19 กลายเป็นข้ออ้างเพื่อปิดกั้นสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลได้
 

4. ในการดำเนินงานทุกอย่างประการ รัฐบาลต้องคุ้มครองข้อมูลของบุคคล รวมทั้งประกันให้มีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอต่อข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกรวบรวมจากอุปกรณ์ใด ๆ แอพพลิเคชัน เครือข่าย และบริการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวม ส่งต่อ ประมวล และจัดเก็บข้อมูล การอ้างว่าข้อมูลใดเป็นการจัดเก็บโดยไม่ระบุชื่อเจ้าของ ต้องมีหลักฐานยืนยันชัดเจน และมีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันว่า ข้อมูลนั้นถูกเก็บโดยไม่ระบุชื่อเจ้าของข้อมูล เราไม่อาจปล่อยให้ความพยายามแก้ไขปัญหาการระบาดในวงกว้าง ถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อลดทอนความปลอดภัยทางดิจิทัลของบุคคลได้ 
 

5. การใช้เทคโนโลยีสอดแนมข้อมูลดิจิทัลใด ๆ เพื่อรับมือกับโรคโควิด19 รวมทั้งการใช้บิ๊กดาต้าและระบบปัญญาประดิษฐ์ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงว่า เครื่องมือเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และสนับสนุนการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิต่อชนกลุ่มน้อยด้านเชื้อชาติ คนจน และประชากรกลุ่มชายขอบอื่น ๆ ซึ่งในท่ามกลางปริมาณข้อมูลมหาศาล อาจมีการบดบังความต้องการและชีวิตที่แท้จริง หรือมีการแสดงตัวตนที่บิดเบือนของคนกลุ่มเหล่านี้ เราไม่อาจปล่อยให้การระบาดในวงกว้างของโรคโควิด-19 กลายเป็นข้ออ้าง เพื่อสนับสนุนให้เกิดช่องว่างมากขึ้นของการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมได้ 
 

6. หากรัฐบาลจะทำข้อตกลงเพื่อแชร์ข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนอื่นใด ต้องอยู่บนพื้นฐานที่สอดคล้องกับกฎหมาย และต้องเผยแพร่ข้อมูลที่ระบุถึงการมีอยู่ของความตกลงนี้ และข้อมูลที่จำเป็น เพื่อประเมินผลกระทบของข้อตกลงนี้ต่อความเป็นส่วนตัวและสิทธิมนุษยชน โดยให้เผยแพร่ข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร ให้มีบทบัญญัติที่กำหนดวันสิ้นสุดการใช้บังคับในตัวเอง ให้มีการตรวจสอบจากสาธารณะ และให้มีหลักประกันอื่น ๆ เป็นพื้นฐาน หน่วยงานธุรกิจที่ร่วมมือกับรัฐบาลแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ต้องผ่านการตรวจสอบเพื่อประกันว่า เป็นหน่วยงานที่เคารพสิทธิมนุษยชน และประกันว่ามาตรการใด ๆ ที่เกิดขึ้นต้องปลอดจากผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือการพาณิชย์อื่นใด เราไม่อาจปล่อยให้การระบาดในวงกว้างของโรคโควิด-19 กลายเป็นข้ออ้างที่ปกปิดประชาชนจากการรับทราบถึงข้อมูลที่รัฐบาลกำลังรวบรวม และนำไปแชร์ให้กับบุคคลที่สาม 
 

7. มาตรการรับมือใด ๆ ต้องมีเงื่อนไขคุ้มครองให้มีการตรวจสอบและรับผิดชอบ และมีหลักประกันป้องกันการปฏิบัติมิชอบ การเพิ่มการสอดแนมเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 ไม่ควรเป็นภารกิจของหน่วยงานความมั่นคงหรือหน่วยข่าวกรอง และต้องอยู่ใต้การกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพจากองค์กรอิสระที่เหมาะสม นอกจากนั้น บุคคลยังต้องมีโอกาสทราบข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการรับมือโรคโควิด-19และสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อคัดค้านมาตรการนั้นได้ ทั้งมาตรการรวบรวม ประกอบและจัดเก็บ และการใช้ข้อมูลนั้น บุคคลซึ่งตกเป็นเป้าหมายการสอดแนมข้อมูล ต้องสามารถเข้าถึงกลไกเยียวยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

8. มาตรการรับมือโรคโควิด-19 ที่รวมถึงการรวบรวมข้อมูล ควรมีช่องทางให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างเข้มแข็ง และอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญจากภาคสาธารณสุข และกลุ่มประชากรที่อยู่ชายขอบสุด  

 

องค์กรที่ลงนาม 

7amleh – Arab Center for Social Media Advancement 

Access Now 

African Declaration on Internet Rights and Freedoms Coalition 

AI Now 

Algorithm Watch 

Alternatif Bilisim 

Amnesty International 

ApTI 

ARTICLE 19 

Asociación para una Ciudadanía Participativa, ACI Participa 

Association for Progressive Communications (APC) 

ASUTIC, Senegal 

Athan - Freedom of Expression Activist Organization 

Australian Privacy Foundation Barracón Digital 

Big Brother Watch 

Bits of Freedom 

Center for Advancement of Rights and Democracy (CARD) 

Center for Digital Democracy 

Center for Economic Justice 

Centro De Estudios Constitucionales y de Derechos Humanos de Rosario 

Chaos Computer Club - CCC 

Citizen D / Državljan D 

CIVICUS 

Civil Liberties Union for Europe 

CódigoSur 

Coding Rights 

Coletivo Brasil de Comunicação Social 

Collaboration on International ICT Policy for East and Southern Africa (CIPESA) 

Comité por la Libre Expresión (C-Libre) 

Committee to Protect Journalists 

Consumer Action 

Consumer Federation of America 

Cooperativa Tierra Común 

Creative Commons Uruguay 

D3 - Defesa dos Direitos Digitais 

Data Privacy Brasil 

Democratic Transition and Human Rights Support Center "DAAM" 

Derechos Digitales 

Digital Rights Lawyers Initiative (DRLI) 

Digital Rights Watch Digital Security Lab Ukraine 

Digitalcourage 

EPIC 

epicenter.works 

European Digital Rights - EDRi 

Fitug 

Foundation for Information Policy Research 

Foundation for Media Alternatives 

Fundación Acceso (Centroamérica) 

Fundación Ciudadanía y Desarrollo, Ecuador 

Fundación Datos Protegidos 

Fundación Internet Bolivia 

Fundación Taigüey, República Dominicana 

Fundación Vía Libre 

Hermes Center 

Hiperderecho 

Homo Digitalis 

Human Rights Watch 

Hungarian Civil Liberties Union 

ImpACT International for Human Rights Policies 

Index on Censorship 

Initiative für Netzfreiheit 

Innovation for Change - Middle East and North Africa 

International Commission of Jurists 

International Service for Human Rights (ISHR) 

Intervozes - Coletivo Brasil de Comunicação Social 

Ipandetec 

IPPF 

Irish Council for Civil Liberties (ICCL) 

IT-Political Association of Denmark 

Iuridicum Remedium z.s. (IURE) 

Karisma 

La Quadrature du Net 

Liberia Information Technology Student Union 

Liberty 

Luchadoras 

Majal.org 

Masaar "Community for Technology and Law" 

Media Rights Agenda (Nigeria) 

MENA Rights Group 

Metamorphosis Foundation 

New America's Open Technology Institute 

Observacom 

Open Data Institute 

Open Rights Group 

OpenMedia 

OutRight Action International 

Pangea 

Panoptykon Foundation 

Paradigm Initiative (PIN) 

PEN International 

Privacy International 

Public Citizen 

Public Knowledge 

R3D: Red en Defensa de los Derechos Digitales 

RedesAyuda 

SHARE Foundation 

Skyline International for Human Rights 

Sursiendo 

Swedish Consumers’ Association 

Tahrir Institute for Middle East Policy (TIMEP) 

Tech Inquiry 

TechHerNG 

TEDIC 

The Bachchao Project 

Unwanted Witness, Uganda 

Usuarios Digitales WITNESS 

World Wide Web Foundation