แอมเนสตี้-ICJ เรียกร้องดีเอสไอนำตัวผู้สังหาร "บิลลี่" มาลงโทษ

4 กันยายน 2562

ภาพโดย Thai News Pix

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ออกแถลงการณ์ร่วมหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) การแถลงว่าได้ค้นพบชิ้นส่วนร่างกายของร่างกายของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง ทำให้การเฝ้ารอบนความไม่แน่นอนมาเป็นเวลาหลายปีของครอบครัวเขาจบลงด้วยความเศร้าโศก ความคืบหน้านี้ควรนำไปสู่ความพยายามที่จะหาตัวผู้ที่อยู่เบื้องหลังการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งเป็นอาชญากรรมร้ายแรงและนำตัวผู้เกี่ยวข้องที่กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

 

ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม แถลงว่าเจ้าหน้าที่ได้พบชิ้นส่วนกระดูกซึ่งจากการตรวจสอบแล้วน่าเชื่อว่าเป็นของบิลลี่ โดยพบอยู่ในถังน้ำมันที่จมน้ำบริเวณสะพานแขวนในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

 

นายเฟรเดอริก รอว์สกี ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ICJ ย้ำว่า ดีเอสไอควรเพิ่มความพยายามมากขึ้นเพื่อระบุตัวผู้ที่กระทำการสังหารบิลลี่และนำตัวพวกเขามาสู่กระบวนการยุติธรรม

"ถ้าประเมินพยานหลักฐานและพบว่าบิลลี่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย ผู้กระทำความผิด รวมทั้งผู้ที่มีหน้าที่ในการบังคับบัญชาบุคคลดังกล่าว ควรถูกดำเนินคดีในข้อหาที่เหมาะสมและร้ายแรงโดยสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ มิใช่การตั้งข้อหาตามความผิดอาญาที่เบากว่าและไม่สะท้อนความร้ายแรงของความผิดที่เกิดขึ้น”

 

บิลลี่ถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 

 

นายนิโคลัส เบเคลัง รักษาการผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า คดีนี้สะท้อนให้เห็นความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต้องเผชิญ ทั้งการถูกทำร้าย ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย และการสังหาร

 

“คดีนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ถูกเพิกเฉยมาอย่างยาวนาน รัฐบาลไทยต้องกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายในประเทศ หากไม่ทำเช่นนั้น ย่อมส่งผลให้ขาดกลไกที่เป็นอิสระ เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพในการที่จะสอบสวนคดีเหล่านี้ ทั้งยังทำให้บรรยากาศการลอยนวลพ้นผิดเลวร้ายลง”

 

อนึ่ง ดีเอสไอระบุว่าชิ้นส่วนกระดูกที่ค้นพบมีสารพันธุกรรมตรงกับแม่ของบิลลี่ ซึ่งหมายถึงว่าเป็นกระดูกที่มาจากผู้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับเธอ อย่างไรก็ดี ดีเอสไอปฏิเสธที่จะระบุชื่อผู้ต้องสงสัย และขอเวลาเพิ่มเติมในการสอบสวนคดีนี้และการตรวจสอบเศษชิ้นส่วนที่ค้นพบต่อไป

 

ข้อมูลพื้นาน

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced  or Involuntary Disappearance -WGEID) ได้เผยแพร่รายงานประจำปี 2562 ต่อที่ประชุมใหญ่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ระบุจำนวนผู้ถูกบังคับให้สูญหายในไทย 86 คน (เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประมาณเกือบ 40 ราย สถานการณ์ภาคใต้ประมาณ 31 การปราบปรามยาเสพติดในภาคอีสาน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ทางเหนือ ประมาณ 10 กว่าราย ในกรุงเทพฯ มีกรณีสมชาย นีละไพจิตร ทนง โพธิ์อ่าน และผู้สูญหายจากความขัดแย้งทางการเมือง) ซึ่ง ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีผู้ถูกบังคับสูญหายเป็นลำดับ 3 ในอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

 

ดาวโหลดแถลงการณ์ฉบับเต็ม

อ่านเพิ่มเติม

ความเป็นมา

ประเทศไทยเป็นประเทศภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ CAT) โดยความเป็นอิสระจากการถูกบังคับให้สูญหายนั้นได้รับการคุ้มครองโดยอนุสัญญาทั้งสองนี้ และเนื่องจากการบังคับให้สูญหายมักจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิอื่น ๆ เพิ่มเติมเสมอ ได้แก่ สิทธิในชีวิต อิสระจากการถูกทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี สิทธิในเสรีภาพ และสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังเป็นการละเมิดสิทธิของสมาชิกในครอบครัวของผู้สูญหายที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานที่กระทำต่อเขาโดยเจตนาผ่านการทำให้พวกเขานั้นจำต้องอยู่กับความไม่แน่นอนด้วยไม่ทราบชะตากรรมและถิ่นที่อยู่ของบุคคลอันเป็นที่รัก

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ลงนาม แต่ยังมิได้ให้สัตยาบัน ต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED) อนุสัญญาดังกล่าวได้ยืนยันถึงสิทธิอันเด็ดขาดที่บุคคลจะไม่ถูกบังคับให้สูญหาย อีกทั้งกำหนดให้รัฐมีพันธกรณีในการสืบสวนสอบสวนกรณีการบังคับให้สูญหาย และกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาและมีบทลงโทษที่เหมาะสมโดยต้องพิจารณาถึง “ความร้ายแรงอย่างมาก” ของการกระทำผิด และให้มีการดำเนินการที่จำเป็นใด ๆ เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

 

รัฐบาลได้กล่าวว่าจะไม่ทำการภาคยานุวัติอนุสัญญาจนกว่าบทบัญญัติต่าง ๆ ของอนุสัญญาจะถูกบรรจุในกฎหมายภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (‘ร่าง พ.ร.บ.’) กลับหยุดชะงักไปหลังจากไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนการเลือกตั้งในปีพ.ศ. 2562 ร่าง พ.ร.บ.ในปัจจุบันนั้นยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของประธานรัฐสภา ทั้งนี้ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสนธิสัญญา ในฐานะผู้ลงนามใน ICPPED ประเทศไทยยังคงมีข้อผูกพันที่จะไม่ทำการอันขัดต่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายของสนธิสัญญาดังกล่าว

 

ประเทศไทยมีพันธกรณีระหว่างประเทศซึ่งผูกพันให้ต้องทำการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตโดยมิชอบด้วยกฎหมายและการบังคับให้สูญหายอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ละอียดถี่ถ้วน อิสระ เป็นกลาง และโปร่งใส

 

จากบทบัญญัติของ ICPPED และพิธีสารมินนิโซต้าซึ่งถูกปรับปรุงแก้ไขในปี พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) โดยระบุถึงมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตโดยมิชอบด้วยกฎหมายและการบังคับให้สูญหาย และได้มีการเปิดตัวพิธีสารดังกล่าวร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ประเทศไทย เมื่อพฤษภาคม พ.ศ. 2560 ได้กำหนดว่าการสืบสวนสอบสวน “ต้องพยายามระบุไม่เพียงแต่ผู้กระทำความผิดโดยตรงเท่านั้น แต่รวมถึงบุคคลอื่นๆ ทั้งหมดที่รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตนั้น ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ในสายบังคับบัญชาซึ่งสมรู้ร่วมคิดกับการเสียชีวิตดังกล่าว” (วรรค 26)

 

อ่านเพิ่มเติม

Thailand: special investigation into apparent enforced disappearance of “Billy” welcome, but much more is needed

Thailand: ICJ submits recommendations on draft law on torture and enforced disappearance amendments

Justice for Billy: Time for Thailand to Account for Activist’s Disappearance

 

ติดต่อ

สำหรับ ICJ: นายเฟรเดอริก รอว์สกี ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ICJ โทร.: +66 64 478 1121 อีเมล์: frederick.rawski(a)icj.org

สำหรับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล: นิโคลัส เบเคลัง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก โทร.: +852 9805 9120 อีเมล์: nicholas.bequelin(a)amnesty.org