Photo - Engin Akyurt

ตัวแทนสื่อมวลชนชี้ เสรีภาพสื่อไทยลดลงช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

21 พฤษภาคม 2559

 

ตัวแทนสื่อหลายคนทั้งไทยและต่างประเทศเห็นตรงกันว่าเสรีภาพสื่อไทยลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมระบุว่าขณะที่นักข่าวพลเมืองมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในงานเสวนาโดย กสทช. แอมเนสตี้ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

 

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยจัดงานล้อมวงสนทนาในหัวข้อ “สื่อสมัยนี้ เสรีภาพสมัยไหน” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) ซึ่งคือวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม และประชาชนเข้าร่วมมากกว่า 130 คน

 

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวเปิดงานโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งถูกจุดประกายขึ้นในวันเดียวกันนี้เมื่อ 24 ปีก่อน ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยในครั้งนั้น สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงพลังในการแสดงออกของประชาชน

 

วงสนทนาเริ่มต้นจากประสบการณ์สื่อท้องถิ่น นวลน้อย ธรรมเสถียร สื่อมวลชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตนักข่าว BBC ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางในเชิงโครงสร้างของการสื่อสารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหลังเหตุการณ์รัฐประหารแม้เสรีภาพในการแสดงออกโดยรวมจะยังค่อนข้างทรงตัว แต่การพูดคุยในประเด็นทางการเมืองทำได้ยากขึ้น ส่งผลเสียต่อความพยายามในการผลักดันกระบวนการสันติภาพ นวลน้อยระบุว่ารัฐควรต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ต้องอาศัยการพูดคุยทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น ความท้าทายสำคัญคือทุกฝ่ายจะผลักดันกระบวนการพูดคุยทางการเมืองได้อย่างไรในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยสื่อไม่มีเสรีภาพ

 

ส่วนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ชุติมา สีดาเสถียร จากสำนักข่าวภูเก็ตหวาน กล่าวว่าการทำงานของสื่อท้องถิ่นมักจะขึ้นอยู่กับนายทุนหรือกลุ่มอำนาจในพื้นที่เป็นสำคัญ ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดมากมายในการรายงานข่าว หลายครั้งสื่อถูกกดดันจากนายทุนและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทั้งในรูปแบบของการข่มขู่ ฟ้องร้องดำเนินคดี ตัดการสนับสนุนทางการเงิน จนไม่สามารถนำเสนอข่าวได้อย่างตรงไปตรงมา

 

สมเกียรติ จันทสีมา ผู้อำนวยการสำนักสื่อเครือข่ายสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เห็นว่าในบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ปกติ สื่อพลเมืองมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของสื่อกระแสหลัก แต่การตื่นตัวของสื่อพลเมืองส่งผลให้นักข่าวพลเมืองต้องปะทะกับรัฐมากขึ้นตามไปด้วย หลายคนถูกคุกคาม ฟ้องร้องดำเนินคดี และปรับทัศนคติ ส่วนนักต่อสู้ในพื้นที่หลายคนก็ถูกใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย หรือแม้กระทั่งถูกอุ้มหาย

 

ทางด้านสื่อกระแสหลัก ยุวดี ธัญญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ สะท้อนประสบการณ์การทำงานกับทั้งรัฐบาลทหารและพลเรือนมายาวนานกว่า 40 ปี โดยชี้ว่าไม่ว่าจะอยู่ภายรัฐบาลแบบใด สื่อก็ยังควรมีหน้าที่ชัดเจนในการนำเสนอข้อเท็จจริงต่อประชาชน ยืนหยัดอยู่บนผลประโยชน์ของส่วนรวม และไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ในประเด็นเสรีภาพสื่อ ทั้งนี้ ยุวดีชี้ว่าสื่อเองก็มักขาดการกลั่นกรองข้อมูล และไม่ค่อยเลือกนำเสนอปัญหาทางสังคมอย่างลึกซึ้ง จะเห็นได้จากในระยะหลังที่มีจำนวนข่าวสอบสวนแบบเข้มข้นน้อยลงอย่างมาก

 

ในขณะที่สื่อที่ถูกมองว่าอยู่ในความขัดแย้งอย่าง พรรณิการ์ วานิช ผู้ดำเนินรายการของ Voice TV แสดงความคิดเห็นว่าการมีกลไกกำกับดูแลเป็นเรื่องที่ดี ทว่าการภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติ กลไกเหล่านี้มักจะกลายเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของรัฐบาลเผด็จการ ยิ่งไปกว่านั้น ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นในวุฒิภาวะของประชาชนด้วย ความท้าทายสำคัญในช่วงเวลานี้คือการที่ไม่มีใครทราบว่าการนำเสนอข่าวที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร เพราะขอบเขตของข้อกฎหมายและการบังคับใช้ที่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ ส่งผลให้สื่อจำนวนมากเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censorship)

 

ทางด้าน สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ บรรณาธิการข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น กล่าวว่าในอดีตที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจต่างก็มีความพยายามในการควบคุมสื่อทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือมาจากการเลือกตั้งก็ตาม แต่ด้วยการเติบโตของสื่อใหม่ในปัจจุบัน กลไกที่มีอยู่ไม่สามารถควบคุมได้เบ็ดเสร็จอีกต่อไป จึงมีความพยายามสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว และขยายอำนาจในการควบคุม ไม่ใช่แค่เพียงควบคุมสื่อเท่านั้น แต่รวมไปถึงการจำกัดการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอีกด้วย

 

ในมุมมองจากสื่อต่างประเทศ สตีเฟน เฮอร์แมน ตัวแทนสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ชี้ว่าสื่อต่างชาติจำนวนมากเลือกที่จะตั้งสำนักงานกรุงเทพฯ ด้วยปัจจัยที่เอื้ออำนวยหลายอย่าง ตลอดจนบรรยากาศทางการเมืองเมืองในอดีตที่ค่อนข้างเปิดกว้างกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทว่าสถานการณ์หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด ทำให้สื่อมวลชนต่างชาติต้องระมัดระวังมากขึ้น และอาจส่งผลให้สื่อบางสำนักพิจารณาย้ายไปประเทศข้างเคียงได้ สตีฟแนะนำว่าอยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการเป็นศูนย์กลางทางด้านสื่อมวลชนของภูมิภาค ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อวงการสื่อเท่านั้น แต่ต่อภาคธุรกิจและวิชาการของประเทศไทยด้วย

 

ผู้ร่วมสนทนาคนสุดท้าย สุปัน รักเชื้อ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เชื่อว่าพลังที่จะสร้างความเข้มแข็งให้สื่อมากที่สุดคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการนำเสนอข่าวเพื่อสะท้อนความต้องการของตนเอง อาทิ ในรูปแบบผู้สื่อข่าวพลเมือง และสุดท้าย สุบันชี้ว่าเราควรจับตากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ พ.ร.บ. ปฏิรูปสื่อ พ.ร.บ. กสทช. พร้อมกับประกาศเรียกร้องให้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ขัดกับหลักเสรีภาพในการแสดงออกทั้งหมดด้วย