การวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมที่จำกัดด้านสิทธิมนุษยชน

สืบเนื่องจากรายงานข่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามคำร้องขอให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ แคทเธอรีน เกอร์สัน  เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า คำวินิจฉัยครั้งนี้เน้นให้เห็นว่าทางการไทยใช้อำนาจตามกระบวนการศาลอย่างมิชอบ เพื่อจำกัดเสรีภาพในการสมาคมอย่างสงบ และเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มตรงข้ามทางการเมือง มาตรการที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางนี้ก่อให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออกอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้ง

 “เราเรียกร้องให้รัฐบาลทหารและผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนยึดมั่นต่อการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในระหว่างการเลือกตั้ง และให้รัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการปฏิรูปอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้มาตรการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนอ่อนแอลงมากกว่านี้

ข้อมูลพื้นฐาน

วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ กรณีที่มีการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีเป็นผู้รับสมัครลงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ ‘เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ และละเมิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ทั้งยังสั่งให้เพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี

ก่อนจะถึงการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้จัดทำวาระสิทธิมนุษยชน ซึ่งครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญเก้าประการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลชุดใหม่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้รวมถึงสิทธิที่จะปลอดจากการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม และสิทธิความเป็นส่วนตัวในการจัดทำมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

โปรดดูวาระสิทธิมนุษยชนที่นี่

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้