ความเหลื่อมล้ำในปี 2018 : ผู้หญิงคือผู้แบกรับความเหลื่อมล้ำมากที่สุด

11 กุมภาพันธ์ 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 

ภาพ AFP/Getty Images

เดือนมกราคมที่แล้วสภาเศรษฐกิจโลกประกาศให้ปี 2018 เป็น “ปีเพื่อความรุ่งเรื่องของผู้หญิง” โดยทางสภาได้กระตุ้นให้รัฐบาลต่างๆเพิ่มการมีส่วนร่วมของเพศหญิงในภาคแรงงานที่ส่วนใหญ่เป็นชาย

 

แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017 ทางสภาเคยประกาศไว้ว่าโลกจะต้องใช้เวลาถึง 217 ปีในการทำให้ฐานเงินเดือนระหว่างเพศเท่าเทียมกัน แถมย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 หลังจากการเคลื่อนไหวหลายครั้งโดยกลุ่มเพื่อสตรี การพัฒนา และสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม รัฐบาลต่างออกมาประกาศที่จะมึความมุ่งมั่นในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติภายในปี 2030

 

มันช่างเป็นความขัดแย้งที่แจ่มแจ้ง ระหว่างความพยายามที่จะสร้างความเท่าเทียมทางเพศ - รวมไปถึงสิทธิสตรีในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ - ภายในสิบสองปี กับการทำนายที่คาดการว่าเป้าหมายดังกล่าวจะต้องใช้เวลาถึงสองศตวรรษ

 

ความเหลื่อมล้ำทางเพศของฐานเงินเดือนในปัจจุบันอยู่ที่ 23%

 94c41ed8d036e7990ee5ba986a6986a016223226.jpg

 

สิ่งที่กีดขวางผู้หญิงไม่ให้เข้าถึงสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม

 

สิ่งที่กีดขวางผู้หญิงไม่ให้เข้าถึงสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมนั้นมีหลักฐานรวบรวมไว้มากมาย สหประชาชาติระบุว่าผู้หญิงเป็นผู้ถือครองที่ดินเกษตรกรรมทั้งหมดบนโลกแค่ 12.8% ความไร้ซึ่งความปลอดภัยในการถือครองที่ดินคือปัญหาสำคัญของสิทธิสตรีในการเข้าถึงอาหาร ที่อยู่ และอาชีพทั้งในเขตเมืองและชนบท อคติทางเพศในการส่งมอบมรดก และกฎหมายด้านทรัพย์สินและที่ดินเป็นสิ่งกีดกันไม่ให้ผู้หญิงถือครอง เช่า หรือจดทะเบียนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ได้

 

รายงานของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นเนลในปี 2018 เกี่ยวกับประเทศเอสวาตินี หรือสวาซีแลนด์ในอดีต ได้แสดงให้เห็นถึงการที่ประเพณีการส่งทอดที่ดินโดยหัวหน้าเผ่าที่จะส่งต่อให้เพศชายนั้น เป็นผลกระทบต่อผู้หญิงอย่างร้ายแรงมาก โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งถูกทางการใช้กำลังขับไล่ออกจากบ้านของเธอก่อนที่จะทำลายอาคารดังกล่าว โดยเธอกล่าวว่าหากไม่มีเพศชายในบ้าน คุณก็จะไม่มีทั้งที่ดิน หรือสิทธิที่จะโต้แย้งใดๆ

 

เป็นเวลาหลายสิบปีที่ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล เรียกร้องให้ทุกรัฐบาลรับรองความปลอดภัยในการถือครองที่ดินให้แก่ทุกๆคน โดยต้องรวมไปถึงการคุ้มครองจากการขับไล่ด้วยความรุนแรง การข่มขู่ แลพภัยในรูปแบบอื่นๆ ทว่า หลายๆรัฐบาลยังคงทำการเวนคืนที่ดินเพื่อโปรเจคขนาดใหญ่หลายๆแห่งด้วยวิธีที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างไร้ยางอาย ซึ่งมักจะจบลงที่การขับไล่ออกจากพื้นที่

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลกับเพศหญิงโดยเฉพาะ เพราะการแบ่งแยกทางเพศในสิทธิและกฎหมายที่ดินและทรัพย์สินทำให้ผู้หญิงที่เสียเปรียบต้องจมลงไปในความยากจนยิ่งขึ้น อย่างเช่นกรณีที่หญิงชาวเผ่าเซนเวอในเคนย่าได้เล่าให้ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทราบถึงการไล่ที่จากป่าเอมโบบัดทำให้พวกเธอสูญเสียอิสระทางการเงินไปเพราะไม่สามารถเข้าถึงที่ดิน ป่า และปศุสัตว์ที่เป็นรากฐานความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของพวกเธอได้ หญิงชาวเซนเวอคนหนึ่ง ผู้ซึ่งไม่ได้รับค่าเสียหายใดๆทั้งสิ้น ได้กล่าวว่า

“ฉันต้องอาศัยในบ้านของคนอื่น ฉันไม่มีที่ดิน ไม่มีที่นอน แทบจะไม่มีอาหาร ฉันต้องไปใช้แรงงานในไร่ของคนอื่น ฉันอยู่อย่างไม่มีอะไรเลย”

 

การปกป้องสิทธิการจ้างงานของผู้หญิงอย่างไร้ประสิทธิภาพ

 

ธนาคารโลกได้ระบุไว้ว่า ประเทศบราซิล อิยิปต์ ฝรั่งเศส อินเดีย รัสเซีย และอีก 99 ประเทศยังคงมีกฎหมายที่กันไม่ให้ผู้เข้าทำงานบางประเภท นอกจากนี้ มีเพียง 87 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น ที่ค่าตอบแทนในระดับงานที่เท่ากันระหว่างเพศหญิงและชายจะเท่าเทียมกัน

 

องค์การแรงงานระหว่างประเทศคาดการว่ามีผู้หญิง 740 ล้านคนที่ทำงานนอกระบบเศรษฐกิจ ซึ่งปราศจากการคุ้มครองทางกฎหมายและขาดการเข้าถึงประกันสังคม

 

ลูกจ้างทำงานบ้านเป็นกลุ่มอาชีพที่ถูกเอาเปรียบบ่อยครั้ง การรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศเลบานอน กาตาร์ ฮ่องกง และอินโดนิเซีย ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงของลูกจ้างทำงานบ้านต่อการใช้แรงงานเกินเหตุและการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ เพราะช่องว่างทางกฎหมายและการบังคับใช้ แรงงานหญิงนอกระบบและในกลุ่มผลิตสินค้าส่งออกมักเผชิญกับการกีดขวางทั้งทางกฎหมายและชีวิตจริงในการจะเข้าร่วมสหภาพแรงงานและรวมกลุ่มเพื่ออำนาจการต่อรองราคา

 

ผู้หญิงถือเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในการผลิตสินค้าบางชนิดทั่วโลก เช่นเสื้อผ้าและพืชกรรม แต่มักจะกระจุกรวมกันในตำแหน่งและรายรับที่ต่ำอย่างมาก ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้มีการรณรงค์เกี่ยวกับเครือข่ายการผลิตน้ำมันปาล์มและแร่โคบอลท์ระดับโลกที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของบริษัทที่ร่ำรวยระดับโลกในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในเครือข่ายการผลิตของตัวเอง

 

ความเปลี่ยนแปลงในการจ้างงาน เช่นการกระจายงานออกไปยังหน่วยงานภายนอกและต่างประเทศของสายการผลิตระดับโลก บวกกับอันตรายในที่ทำงานและค่าตอบแทนที่ต่ำ ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเงินเดือนระหว่างเพศแก้ไขได้ยากขึ้น

 

รัฐบาลจะต้องรีบแก้ไขระบบสิทธิแรงงานและลักษณะการจ้างงานโดยด่วนที่สุด เพื่อปิดช่องว่างความปลอดภัยในการจ้างงานและค่าตอบแทนของแรงงานหญิง เหล่าบริษัทจะต้องค้นหาและแก้ไขความเสี่ยงต่อการใช้แรงงานและสิทธิมนุษยชนในเครือข่ายงานของตนทั้งในและต่างประเทศ รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนแนวทางการทำงานกับภาคเอกชนด้านความรับผิดชอบทางกฎหมาย และต้องมั่นใจว่าผู้เสียหายทุกฝ่ายจะได้รับการเยียวยา

 

หน้าที่การดูแลโดยไม่มีค่าตอบแทนของผู้หญิง

 

งานด้านการดูแลโดยไม่มีค่าตอบแทนส่วนใหญ่ในโลกยังคงทำโดยผู้หญิง อิงจากข้อมูลของสหประชาชาติที่รวบรวมใน 83 ประเทศ ผู้หญิงทำงานบ้านและการดูแลโดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นสองเท่าของเพศชาย ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวจำกัดการเข้าถึงการศึกษาและอาชีพที่มีผลตอบแทน และนำไปสู่ผลกระทบอย่างมากต่อรายได้ของพวกเธอ องค์การแรงงานระหว่างประเทศให้ข้อมูลว่า แม้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างชายและหญิงจะน้อยลง แต่ช่องว่างระหว่างรายได้ก็ยังคงห่างอย่างน่าแปลกใจ

 

ความเหลื่อมล้ำทางเพศในที่ทำงานและภาระโดยไม่มีค่าตอบแทนของผู้หญิงส่งผลให้เกิดช่องว่างในการคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้หญิง นอกจากนี้ ผู้หญิงยังเป็น 65% ของผู้สูงอายุที่ไม่มีบำนาญ ผู้หญิงมากกว่า 750 ล้านคนไม่มีสิทธิในการรับเงินเดือนระหว่างลาคลอด มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่รัฐบาลต้องเข้ามาลดภาระของผู้หญิงด้วยการพัฒนาการบริการสาธารณะและพื้นที่รับเลี้ยงผู้ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

 

ความเหลื่อมล้ำชนิดนี้ยิ่งสาหัสยิ่งขึ้นเมื่อมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลตัดงบประมาณจากบริการสาธารณะที่สำคัญในประเทศ เช่นในประเทศสเปน ความล่าช้าในการออกนโยบายควบคุมการดูแลระยะยาวส่งผลกระทบกับผู้ดูแลนอกระบบอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง สถานการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นในประเทศชาดในแอฟริกา เมื่อมาตรการรัดเข็มขัดส่งผลร้ายแรงต่องานสาธารณสุขและบ่อนทำลายการเข้าถึงการแพทย์ของเด็กและผู้หญิง ซึ่งผู้ที่รับผลกระทบก็คือผู้หญิงและเด็กยากจนที่อาศัยในชนบท หญิงตั้งครรภ์วัย 29 ปีคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ห่างจากศูนย์การแพทย์ไป 12 กิโลเมตร กล่าวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนลว่า “ก่อนหน้านี้ฉันไม่ได้มาฝากครรภ์เลยเพราะไม่มีเงิน ไม่มีจะซื้อเม็ดธาตุเหล็ก หรือคู่มือด้วยซ้ำ”

 

รัฐบาลต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ

 

แม้จะมีมากกว่าร้อยรัฐบาลที่มีการปันส่วนงบประมาณเพื่อการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ แต่รัฐบาลจะต้องลงมือทำมากกว่านั้นเพื่อประเมิน พัฒนา และบังคับใช้นโยบายทั้งทางปฏิบัติและทางการเงินเพื่อสร้างความเท่าเทียม ซึ่งรวมไปถึงการเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การสอบสวนการเลี่ยงภาษีและเงินที่ผิดกฎหมายเพื่อให้มีทรัพยากรที่มากขึ้นในการทำให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิมนุษยชนได้

 

ถ้าต้องการความเท่าเทียมทางเพศ รัฐบาลต้องแก้ไขช่องว่างทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และงบประมาณของประเทศ คุณจะให้ผู้หญิงมารออีก 200 ปีไม่ได้