สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 17 มิถุนายน - 23 มิถุนายน 2566

26 มิถุนายน 2566

Amnesty International

 

ไทย : องค์กรภาคประชาสังคมย้ำผู้ลี้ภัยทั่วโลกต้องได้รับการเคารพและสนับสนุนตามหลักมนุษยธรรม 

21 มิถุนายน 2566

 

6 องค์กรภาคประชาสังคมผนึกกำลังจัดงาน ‘วันผู้ลี้ภัยโลก’ เผย ไทยมีผู้ลี้ภัยกว่า 9 หมื่นคน อยู่ในค่ายพักพิง 9 แห่ง ที่อยู่ในสภาพที่แออัด ขาดแคลน ยากลำบาก พร้อมเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลชุดใหม่ ให้ผลักดันนโยบาย กฎหมาย ส่งเสริมอาชีพ - รายได้ - การศึกษา เพื่อที่ผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงชายแดนไทย – เมียนมา จะไม่ถูกส่งกลับไปยังประเทศที่เสี่ยงอันตราย 

องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้ทุกวันที่ 20 มิถุนายน เป็น “วันผู้ลี้ภัยโลก” (World Refugees Day) มีเป้าหมายจุดประกายให้ทุกคนระลึกถึงความเข้มแข็ง ความกล้าหาญของคนที่อาจถูกบังคับหรือยอมจำนน ให้ต้องหนีหรือย้ายไปจากประเทศของตัวเอง จากปัญหาความขัดแย้ง การประหัตประหารในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง เพื่อให้ได้มีชีวิต อิสรภาพ ได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จากประเทศที่พร้อมจะเป็นที่พักพิง โอบอุ้มคนเหล่านี้ในสภาวะเดือดร้อน ยากลำบากในชีวิต

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 6 องค์กร ได้ร่วมกันจัดงานฉายภาพยนตร์สั้นและเสวนาในหัวข้อ “ถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง (Time for A Change) วันผู้ลี้ภัยโลกประจำปี 2566” โดยเน้นย้ำเรื่องความท้าทายที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ วิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศเมียนมา เป็นเครื่องเตือนใจและย้ำเตือนว่าผู้ลี้ภัยทั่วโลกต้องได้รับการเคารพและสนับสนุนตามหลักมนุษยธรรมและตามหลักการไม่ทำอันตราย

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1137/ 

 

-----

 

 

ไทย : แอมเนสตี้ชี้การศึกษาคือ “สิทธิมนุษยชน” ที่เด็กทุกคนต้องได้รับ 

21 มิถุนายน 2566

 

นักวิจัยระดับภูมิภาคแอมเนสตี้ชี้การศึกษาคือ “สิทธิมนุษยชน” ที่เด็กทุกคนต้องได้รับ แนะโรงเรียนทบทวนกฎระเบียบเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณี ‘หยก’ เยาวชนอายุ 15 ปีที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิทางการศึกษา และสิทธิในเนื้อตัว ร่างกายของเด็กนักเรียน โดยระบุว่า การตัดสถานภาพความเป็นนักเรียนของหยกโดยโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ซึ่งกระทำบนพื้นฐานของกฎระเบียบข้อบังคับให้มีผู้ปกครองรับรองการมอบตัวนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิด้านการศึกษาของเด็ก พร้อมเรียกร้องให้โรงเรียนและหน่วยงานภาครัฐต่างๆที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการทันทีเพื่อคืนสถานะความเป็นนักเรียนและรับรองสิทธิด้านการศึกษาของหยก

“การตัดสิทธิเข้ารับการศึกษาในกรณีของหยก เพียงเพราะไม่มีผู้ปกครองที่โรงเรียนรับรองมามอบตัว อิงอยู่บนกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ และไม่สอดคล้องกับทั้งกฎหมายไทยว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1136/ 

 

-----

 

 

ซูดาน: พลเรือนตกอยู่ในความเสี่ยงร้ายแรงท่ามกลางความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในรัฐดาร์ฟูร์ตะวันตก

19 มิถุนายน 2566

 

สืบเนื่องจากรายงานความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในดาร์ฟูร์ตะวันตกในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมารวมถึงการโจมตีโดยกองกำลังกึ่งทหารติดอาวุธ (Rapid Support Forces: RSF) และพันธมิตรกองหนุนชาวอาหรับต่อผู้ที่ไม่ใช่ชาวอาหรับในภูมิภาคนี้

ไทเกอ ชากูทาห์ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ กล่าวว่า

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นกังวลอย่างมากกับรายงานเกี่ยวกับการสังหารที่มีเป้าหมายทางชาติพันธุ์ ความรุนแรงทางเพศ การเผาบ้านเรือนเป็นวงกว้าง และการพลัดถิ่นจำนวนมากของผู้อยู่อาศัยที่ไม่ใช่ชาวอาหรับในดาร์ฟูร์ตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน เมือง El Geneina และรอบๆ เมือง โดย RSF และพันธมิตรกองหนุนชาวอาหรับ 

“ความรุนแรงที่กำลังเพิ่มขึ้นนี้มีความคล้ายคลึงกับอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่ได้เกิดขึ้นในดาร์ฟูร์ตั้งแต่ปี 2546 ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่แสวงหาความปลอดภัย”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/06/sudan-civilians-at-grave-risk-amid-escalating-violence-in-west-darfur/ 

 

-----

 

ปากีสถาน: รัฐบาลต้องหยุดคุกคามและจับกุมโดยพลการต่อชาวอัฟกันที่ต้องการลี้ภัย

20 มิถุนายน 2566

 

รัฐบาลปากีสถานต้องยุติการจับกุมโดยพลการและคุกคามผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานอย่างเร่งด่วน โดยที่หลายคนกำลังหลบหนีการประหัตประหารจากกลุ่มตาลีบัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมาเนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวอัฟกันจำนวนมากที่ใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อการประหัตประหารหลังจากกลุ่มตาลีบันที่เข้ายึดครองอัฟกานิสถานในเดือนสิงหาคม 2564 ต่างได้หลบหนีไปยังปากีสถาน ซึ่งพวกเขาถูกคุมขังโดยพลการ จับกุมและการขู่ว่าจะถูกเนรเทศ

เนื่องจากมีความล่าช้าอย่างมากในกระบวนการลงทะเบียน ทำให้ส่วนใหญ่ไม่มีบัตรหลักฐานการลงทะเบียน (PoR) ซึ่งเป็นเอกสารประจำตัวที่มอบสิทธิ์ให้ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานสามารถอยู่ในปากีสถานได้อย่างเป็นปกติ หลายคนมาถึงปากีสถานด้วยวีซ่าปกติซึ่งตอนนี้หมดอายุแล้ว

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/06/pakistan-government-must-stop-harassing-and-arbitrarily-arresting-afghans-seeking-refuge/ 

 

-----

 

โลก: การประชุมสุดยอดด้านการเงินที่ปารีสต้องให้การช่วยเหลือเร่งด่วนแก่รัฐที่ประสบปัญหาหนี้สินและวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ

21 มิถุนายน 2566

 

ผู้นำโลกที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ต้องรับประกันว่าประเทศที่ร่ำรวยกว่าจะมุ่งมั่นในการผ่อนผันหนี้อย่างครอบคลุมให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่า รวมถึงการยกเลิกเงินกู้และการเพิ่มความช่วยเหลือระหว่างประเทศให้กับรัฐที่เปราะบาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้การประชุมสุดยอดข้อตกลงทางการเงินระดับโลกฉบับใหม่ (Summit for a New Global Financing Pact: PACT) มีการรับประกันว่าประเทศที่ร่ำรวยกว่าจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาทางการเงินที่ยังทำไม่สำเร็จและให้คำสัญญาใหม่ที่รับประกันสิทธิของประชาชนในประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่า 

สิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม และการประกันสังคมที่ได้รับการบัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2491 ตลอดจนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR) ซึ่งได้รับการรับรองจากประเทศกว่า 170 ประเทศ


อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/06/global-paris-finance-summit-must-deliver-urgent-assistance-to-states-struggling-with-debt-and-climate-crises/