สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 22 เมษายน - 28 เมษายน 2566

2 พฤษภาคม 2566

Amnesty International

 

เมียนมา : อาเซียนต้องระบุแนวทางแก้ไขวิกฤตในเมียนมาที่ล้มเหลว ภายหลังการทำรัฐประหาร 

24 เมษายน 2566

 

วันที่ 24 เมษายน 2566 เป็นวันครบรอบสองปีนับตั้งแต่อาเซียนให้ความเห็นชอบต่อฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาภายหลังการทำรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งกองทัพเมียนมาเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของประชาคมโลกให้ยุติความรุนแรง นอกจากนั้น นับตั้งแต่การทำรัฐประหาร กองทัพเมียนมาได้ก่ออาชญากรรมสงคราม และอาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ผู้นำอาเซียนต้องดำเนินการมากขึ้นและแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมาโดยไม่ล่าช้าอีกต่อไป 

ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ประเมินฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน โดยพิจารณาจากหลักฐานที่เป็นรูปธรรมซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นความล้มเหลว ดังนี้

  1. จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด
  2. การเจรจาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มต้นขึ้นเพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อประโยชน์ของประชาชน
  3. ผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านเมียนมาต้องอำนวยความสะดวกโดยเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาพร้อมความช่วยเหลือจากเลขาธิการอาเซียน
  4. อาเซียนต้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA)
  5. ผู้แทนพิเศษและตัวแทนต้องเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/442SucS 

 

-----

 

 

ซูดาน : ความขัดแย้งระลอกใหม่ทวีความทุกข์ทรมานให้พลเรือนดาร์ฟูร์ที่มีมานานนับ 2 ทศวรรษ 

25 เมษายน 2566

 

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ท่ามกลางการสู้รบระหว่างกองทัพซูดาน (SAF) และกองกำลังกึ่งทหารติดอาวุธ (RSF) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในซูดาน ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พลเรือนในดาร์ฟูร์ต้องทนทุกข์ทรมานจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐล้มเหลวในการคุ้มครองความปลอดภัย และไม่สามารถรับประกันความยุติธรรมและแสดงความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงคราม และการละเมิดอื่นๆ หลังสงครามดาร์ฟูร์ปะทุขึ้น 

ความขัดแย้งในดาร์ฟูร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2546 เมื่อขบวนการปลดปล่อยซูดานโจมตีกองทัพซูดานที่สนามบินอัล-ฟาชีร์ ทางตอนเหนือของดาร์ฟูร์ ส่งผลให้ประชาชนหลายแสนคนถูกสังหาร และอีกหลายล้านคนต้องพลัดถิ่นเรื่อยมา

การลอยนวลพ้นผิดที่ยาวนานทำให้ผู้ที่ถูกต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากรสงครามในดาร์ฟูร์ยังคงดำรงตำแหน่งผู้นำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงเฉกเช่นในทุกพื้นที่ในซูดาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทุกฝ่ายรับประกันความปลอดภัยของพลเรือนและอนุญาตให้มีการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างทั่วถึง

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3Hmh9iK 

 

-----

 

 

โลก : การเคลื่อนไหวของสาธารณชนเนื่องใน “วันคุ้มครองโลก” ตอกย้ำความเร่งด่วนในการร่วมกันแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

21 เมษายน 2566

 

มาร์ต้า ชาฟ ผู้อำนวยการ โครงการสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ และความยุติธรรมทางสังคม และความรับผิดชอบขององค์กร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเนื่องในโอกาสวันคุ้มครองโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี ว่า 

“คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกจัดกิจกรรมมากมาย เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวระดับโลกเนื่องในโอกาสวันคุ้มครองโลกในปีนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้น อันมีพื้นฐานมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของเรา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันส่งเสริมการคุ้มครองโลกและสิทธิมนุษยชนของเรา”

“ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน – หลายประเทศที่มีส่วนร่วมต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพียงเล็กน้อยต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่มีอยู่ ซึ่งในภาพรวมแล้วมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง รวมถึงผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชาติพันธุ์และคนชายขอบ ฉะนั้นหากประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณะมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสในการจำกัดและแก้ไขความเสียหายมากขึ้นเท่านั้น”  

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/40NP3UL 

 

-----

 

 

เลบานอน : ทางการต้องยุติการเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวซีเรียอย่างผิดกฎหมาย

24 เมษายน 2566

 

เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ทางการเลบานอนต้องยุติการเนรเทศผู้ลี้ภัยกลับซีเรียในทันที เนื่องจากความวิตกกังวลว่า บุคคลเหล่านี้อาจเสี่ยงต่อการถูกทรมานหรือกดขี่ข่มเหงโดยรัฐบาลซีเรียเมื่อเดินทางกลับมา 

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว กองทัพเลบานอนบุกค้นบ้านของครอบครัวชาวซีเรียในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ เมือง Bourj Hammoud ในกรุงเบรุต และเนรเทศผู้ลี้ภัยหลายสิบคนที่เดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย หรือถือบัตรประจำตัวผู้พำนักที่หมดอายุกลับไปยังซีเรีย  

โมฮัมเหม็ด น้องชายของผู้ลี้ภัยรายหนึ่งที่ถูกกองทัพเลบานอนเนรเทศ เผยกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า เขาสามารถติดต่อพี่ชายของเขาได้แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้พี่ชายเคยบอกเขาว่า กองทัพเลบานอนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัยไปยังชายแดน และส่งมอบพวกเขาให้กับกองทัพซีเรียโดยตรง เขากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ผู้ลี้ภัยหลายคนได้ลงทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3NgxBVL 

 

-----

 

สโลวาเกีย : สานต่อการรับรองเพศภาวะทางกฎหมายให้ถูกกฎหมายในสโลวาเกียต่อไป

 

ปัญหาคืออะไร? 

 

ในสโลวาเกีย ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเข้าถึงการรับรองเพศภาวะทางกฎหมายมายาวนานกว่า 40 ปี อย่างไรก็ตาม รัฐสภาสโลวาเกียกำลังอยู่ระหว่างการเสนอให้มีการแก้ไขข้อกฎหมาย และทำให้การรองรับเพศภาวะทางกฎหมายเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งพวกเขาจะลงมติกันในเดือนพฤษภาคม 2023 ที่กำลังจะถึงนี้

ปัจจุบัน กฎหมายของสโลวาเกียอนุญาตให้มีการรับรองเพศภาวะทางกฎหมายภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด ฉะนั้นหากมีการรับรองกฎหมายฉบับใหม่ ผู้มีความหลากหลายทางเพศจะต้องพิสูจน์ว่าตนมีชุดโครโมโซมที่ “ถูกต้อง” จึงจะได้รับการรับรองเพศภาวะทางกฎหมายอย่างถูกต้อง ซึ่งในความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากผู้มีความหลากหลายทางเพศส่วนใหญ่ไม่มีโครโมโซมที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของพวกตน ทั้งยังขัดต่อสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตนและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

การไม่รับรองเพศภาวะทางกฎหมายอาจกระทบต่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างหนัก พวกเขาอาจถูกบังคับให้เปิดเผยเพศตามกำเนิดของตนในระหว่างการนัดหมายพบแพทย์ ระหว่างการเดินทาง หรือเมื่อเซ็นรับพัสดุทุกครั้ง นอกจากนี้ยังจะเพิ่มความเสี่ยงของการถูกกลั่นแกล้ง การเลือกปฏิบัติ หรือความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของพวกเขา 

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/44dmiDC 

 

-----

 

สิงคโปร์ : การประหารชีวิตโดยพลการและไม่ชอบด้วยกฎหมายในความผิดด้านยาเสพติด สะท้อนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน

26 เมษายน 2566

 

สืบเนื่องจากการประหารชีวิตด้วยการแขวนคอของตังการาจู ซุปเปียห์ ชาวสิงคโปร์เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมาในความผิดฐานพยายามลักลอบค้ากัญชาประมาณ 1 กิโลกรัม ซึ่งนับเป็นการละเมิดกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

มิง ยู ฮาห์ รองผู้อำนวย สำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า

“การประหารชีวิตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งถึงความล้มเหลวในการยุติการประหารชีวิตของสิงคโปร์ ซึ่งมีข้อบกพร่องมากมายในการพิจารณาคดี ตั้งแต่การไม่สามารถเข้าถึงที่ปรึกษาทางกฎหมาย การชี้แจงสาเหตุของการจับกุม ไปจนถึงการไม่เปิดเผยหลักฐานสำคัญของการดำเนินคดี และการพึ่งพาโทษประหารชีวิตสถานเดียวอย่างต่อเนื่อง ทำให้การประหารชีวิตนี้เป็นไปโดยพลการภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”  

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3HhuJ71 

 

-----

 

สหภาพยุโรป : สหภาพยุโรปต้องปกป้องสิทธิมนุษยชนในการลงคะแนนเสียงร่างพระราชบัญญัติปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น 

26 เมษายน 2566

 

ก่อนการลงมติของรัฐสภายุโรปว่าด้วยการร่างพระราชบัญญัติปัญญาประดิษฐ์ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุในจดหมายเปิดผนึกถึงกรรมาธิการระดับสูงของสมาชิกรัฐสภาว่า สหภาพยุโรปมีโอกาสสำคัญในการควบคุมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน“การร่างพระราชบัญญัติปัญญาประดิษฐ์เปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรปยุติการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิ” 

เมอร์ ฮาโกเบียน ที่ปรึกษาด้านกฎหมายว่าด้วยการควบคุมปัญญาประดิษฐ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว 

“สภาพยุโรปต้องสั่งห้ามการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนชายขอบอย่างไม่ได้สัดส่วน อาทิ ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสร้างประวัติของผู้คนและชุมชน โดยอ้างว่าเพื่อ ‘คาดการณ์’ อาชญากรรม หรือ ‘ระบุ’ บุคคลที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกปฏิเสธสิทธิในการแสวงหาที่ลี้ภัย ฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรปจะต้องใช้โอกาสนี้ในการห้ามการใช้แนวทางปฏิบัติบางอย่างของปัญญาประดิษฐ์ และปกป้องสิทธิของผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยจากแง่มุมที่เป็นอันตรายของปัญญาประดิษฐ์” 

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/41Ngwah 

 

-----

 

ตุรเคีย : ผู้พิการถูกละเลยในการตอบสนองด้านมนุษยธรรมในเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 

27 เมษายน 2566

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุในรายงานฉบับใหม่ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมาว่า ผู้พิการที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรเคียกำลังถูกมองข้ามจากการตอบสนองด้านมนุษยธรรม

ในรายงาน ‘We all need dignity’: The exclusion of persons with disabilities in Türkiye’s earthquake response บันทึกว่า ผู้พิการอาศัยอยู่ในที่พักพิงที่ไม่เพียงพออย่างไร ท่ามกลางการตอบสนองต่อภัยพิบัติของทางการและเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม ซึ่งบั่นทอนศักดิ์ศรีและสิทธิด้านสุขภาพของพวกเขา

จากการประเมินร่วมกันระหว่างรัฐบาลตุรเคียและสหประชาชาติ ชี้ให้เห็นว่า มีผู้เสียชีวิตกว่า 50,000 คนและผู้บาดเจ็บอีกกว่า 100,000 คน – หลายคนสูญเสียแขนขาและได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ – ในช่วงที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ตุรเคียในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 มีประชาชนราว 3.3 ล้านคนต้องพลัดถิ่น ซึ่งขณะนี้กว่า 2.3 ล้านคนพักอาศัยอยู่ในเต็นท์พักแรมและตู้คอนเทนเนอร์ นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์เพิ่มเติมว่า ผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวที่ได้รับบาดเจ็บมากถึงร้อยละ 70 มีความเสี่ยงที่จะพิการ  


อ่านต่อ: https://bit.ly/3ncebqs