แอมเนสตี้ ประเทศไทยเปิดตัวหนังสือ "คู่มือสิทธิมนุษยชนฉบับนักการศึกษา: สิทธิมนุษยชนศึกษา การมีส่วนร่วมของครู"

8 ธันวาคม 2565

Amnesty International Thailand

“สิทธิมนุษยชนศึกษา” ไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ หรือมีรูปแบบที่ตายตัว สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เพียงแค่การท่องจำหลักการ คุณค่า หรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ แต่ต้องเกิดจากการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของผู้เรียน และการสร้างวัฒนธรรมที่เคารพสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนทั้งในและนอกห้องเรียน

ด้วยเหตุนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศอินเดีย จึงได้ผลิต “คู่มือสิทธิมนุษยชนฉบับนักการศึกษา หลักสูตรเบื้องต้น” ที่ออกแบบมาเพื่อนำหลักการและคุณค่าแห่งสิทธิมนุษยชนเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของโรงเรียน โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้แปลและเพิ่มเติมเนื้อหาที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยโดยได้ทำงานร่วมกับ “ก่อการสิทธิเด็ก” หรือ Thai Teachers for Child Rights Association (TTRC) เพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการทั่วประเทศ

คู่มือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งจากความร่วมมือดังกล่าว โดยมีเป้าหมายคือการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาในโรงเรียน ให้เกิดการขับเคลื่อนบนฐานคุณค่าและหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งหมายถึง การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วมและการพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงความปลอดภัยและความเท่าเทียม แนวทางนี้ที่ไม่ได้จำกัดความสำคัญไว้เพียงเฉพาะในห้องเรียน แต่ครอบคลุมทุกมิติ ทุกระดับชั้นการศึกษา และทุกโครงสร้างในโรงเรียน

 

คู่มือเล่มนี้มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนศึกษาในโรงเรียน โดยกำหนดไว้ 3 ระยะ ได้แก่

1. เริ่มต้นกระบวนการด้วยการทำงานโดยตรงกับทางกลุ่มครู

2. สร้างเครือข่ายกับผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อยกระดับหลักสูตร

3. ขยายการแลกเปลี่ยนถกเถียงเกี่ยวกับความสำคัญของสิทธิมนุษยชนศึกษาให้กว้างขวางไปถึงระดับชุมชนนอกโรงเรียน

สิทธิมนุษยชนศึกษาเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม มีเป้าหมายในการเสริมพลังผู้คนด้วยองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ทุกคนนำมาใช้จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีการนี้ สิทธิมนุษยชนจะหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในโรงเรียน

โรงเรียนที่เคารพสิทธิมนุษยชน หมายถึงโรงเรียนที่ดำรงไว้ซึ่งคุณค่าและหลักการสิทธิมนุษยชน เป็นโรงเรียนที่บริหารจัดการศึกษาเพื่อทุกคน ไม่แบ่งแยกหรือกีดกันเด็กที่แปลกแตกต่าง กล่าวคือกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและไม่ลิดรอนโอกาสอันเท่าเทียมของเด็กๆ ทุกคน โดยในคู่มือนี้ได้ยกตัวอย่าง 10 หลักการสากลสำหรับโรงเรียนที่เป็นมิตรด้านสิทธิมนุษยชน (10 Global Principles of a Human Rights Friendly School) หลักสูตรเบื้องต้นนี้ออกแบบขึ้น เพื่อนำคุณค่าและหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของโรงเรียน

 

มีอะไรอยู่ในคู่มือ?

คู่มือ (handbook)” ฉบับนี้ เป็นคู่มือเล่มแรกจากความพยายามที่จะแสวงหาวิธีการที่จะพาครูไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนศึกษาในห้องเรียน และบูรณาการคุณค่าและหลักการสิทธิมนุษยชนเข้าไปในกระบวนการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน

ครูในบริบทของหนังสือเล่มนี้ ยังรวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนในบริบทต่าง ๆ ด้วย

คู่มือเล่มนี้จะชวนให้คุณมองการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ ครูและนักเรียนจะเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์การของความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ แทนที่การแบ่งบทบาทแบบเดิม ๆ ว่าครูคือผู้ให้และนักเรียนคือผู้รับ ที่สำคัญคือทุกคนนั้นเป็นเจ้าของชั้นเรียนร่วมกัน เป้าหมายของการเรียนรู้รูปแบบนี้ จึงไม่มีคำตอบตายตัว แต่อยู่ที่โอกาสของทุกคนในการมีส่วนร่วมและการได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่เท่าเทียม

 

คู่มือเล่มนี้จะช่วยให้คุณได้เข้าใจว่า

• ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) มีอะไรบ้าง และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างไร?

• ในฐานะผู้จัดการเรียนการสอน คุณมีความเกี่ยวของกับแนวคิดเรื่อง ‘สิทธิ’ และ ‘ความรับผิดชอบ’ (Rights and Responsibilities) อย่างไร?

• การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดการเรียนรู้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะต้องเป็นอย่างไร? รวมถึงบทบาทและความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียนนั้นมีอะไรบ้าง?

 

ทำไมการมีส่วนร่วมของคุณจึงสำคัญ

หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษา (The Human Rights Education Programme) เริ่มด้วยความเชื่อว่า สมาชิกทุกคนในโรงเรียนมีสิทธิและความรับผิดชอบของแต่ละคน เนื่องด้วยสิทธิทุกเรื่องสัมพันธ์ถึงความรับผิดชอบอย่างสอดคล้องกัน ทุกคนในโรงเรียนจึงมีทั้งอำนาจและความรับผิดชอบร่วมกันที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในโรงเรียนได้

ด้วยเหตุนี้ การมีส่วนร่วมของคุณจะมีผลอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่เปิดกว้างให้โรงเรียนกลายเป็นสถานที่ที่เคารพและเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสิทธิมนุษยชน ให้สอดคล้องกับแนวคิดพลเมืองโลกตามหลักการสิทธิมนุษยชน

 

ดาวน์โหลดคู่มือได้ที่  คู่มือสิทธิมนุษยชน ฉบับนักการศึกษา 2565 (pdf)

 

ร่วมสนับสนุนสิทธิมนุษยชยศึกษาได้โดย

บัญชีแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ธนาคารกสิกรไทย เลขที่บัญชี 752-2-17178-0

รบกวนส่งหลักฐานการโอนเงินบริจาคมาที่ membership@amnesty.or.th เพื่อออกใบเสร็จรับเงิน