The silent forest: ไม่มีใครควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

18 ตุลาคม 2564

Amnesty International Thailand

เขียนโดย ชญาภา ปรีชาญานพานิช

ผลงานจากโครงการ Writers that Matter: นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก 

ในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนผ่านมุมมองของฉัน

       เมื่อการพูดเป็นสิ่งที่สำคัญของมนุษย์ในการแสดงออก หรือโต้ตอบการผู้อื่นเพื่อให้ผู้สื่อสารรู้ความหมายอย่างชัดเจน การส่งเสียงเท่ากับการมีตัวตน อย่างไรก็ตามเสียงบางเสียงก็ไม่ได้รับความสนใจทำให้เจ้าของเสียงนั้นรู้สึก “ไร้ค่า ไร้ตัวตน” ในสังคมปัจจุบันมีคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง (leave behind) จำนวนมาก เพียงเพราะเขาคือคนส่วนน้อยในสังคม หรือ คนที่สังคมส่วนมากไม่ได้ให้ความสนใจอย่างเพียงพอ

       ภาพยนตร์เรื่อง The Silent forest หรือในชื่อภาษาไทยว่า กรีดร้องไร้เสียง สะท้อนปัญหาสังคมโลกที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทิ้งคนกลุ่มเปราะบางไว้ข้างหลัง วัฒนธรรมการข่มขืน วัฒนธรรมอาวุโส และ การกลั่นแกล้งผู้อื่นซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น หากใครที่ได้ดูหนังเรื่องนี้คงต้องสะเทือนใจและเห็นใจตัวละครที่ได้รับผลกระทบ ทั้งย้อนกลับมาดูสังคมรอบตัวว่าคุณมองข้ามหรือไม่สนใจปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับกลุ่นคนเปราะบางนี้หรือเปล่า

สังคมไม่ดี หรือตัวเราที่ไร้ค่า

“ทุกครั้งที่เขารังแกหนู หนูตะโกนเสียงดังแต่พวกเขาไม่ได้ยิน หนูบอกให้พวกเขาหยุดแต่พวกเขาก็ยังทำแบบนั้นต่อ”

       ภาพยนตร์เริ่มต้นมาที่ตัวละคร เฉิง เด็กหนุ่มผู้พิการทางการได้ยินได้เข้ามาในโรงเรียนสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ทำให้เขารู้จัก เพ่ยเพ่ย เพื่อนสาวคนแรกในโรงเรียนนี้ ทว่า เฉิง ได้ค้นพบว่าเพื่อนสาวของเขานั้นถูกข่มขืนจากเพื่อนผู้ชายกลุ่มหนึ่ง จึงพยายามช่วยเพื่อนสาวของตนด้วยการไปบอกครู แต่เพ่ยเพ่ยกลับห้ามเพราะเธอกลัวว่าจะไม่มีใครเล่นด้วย และบอกว่าเธอกับเพื่อนผู้ชายเหล่านั้นแค่ “เล่นกัน” แสดงให้เห็นลักษณะการกดทับทางสังคมเป็นทอด ๆ นี้ กล่าวคือ การกดทับจากสังคมข้างนอกที่ไม่สามารถทำให้ผู้พิการทางการได้ยินเรียนร่วมกับเด็กที่มีความสามารถในการได้ยินปกติได้เสมือนโดนกีดกันทางสังคม อีกทั้งการกดทับนั้นได้เปลี่ยนเป็นความรุนแรงในโรงเรียนที่ ผู้หญิง มีแนวโน้มจะเป็นเหยื่อเสมอ พูดอย่างง่ายว่า มนุษย์ทุกคนอยากมีตัวตนในสังคม อยากมีเพื่อน และที่สำคัญอยากเหนือกว่าผู้อื่น บางคนจึงระบายความอัดอั้นนี้ในการรังแกผู้อื่น และคนที่โดนรังแกก็ไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จึงจำใจยอมทนต่อสถานการณ์

โรงเรียนเป็นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ขัดแย้งกับระบบอาวุโสในโรงเรียน

“ครูจะไม่ช่วยหนูใช่ไหมคะ” เพ่ยเพ่ยถาม

“ครูจะช่วยเธอได้ยังไง พวกเธอแค่เล่นกันไม่ใช่เหรอ พวกเขาไม่ได้รังแกเธอสักหน่อย” ครูท่านหนึ่งตอบ

       โรงเรียนเป็นสถานที่ให้การศึกษาและหล่อหลอมพลเมือง สภาพแวดล้อม การให้ความใส่ใจของบุคลากรของโรงเรียนเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลกระทบต่อนักเรียน หากครูไม่สนใจ ไม่ใส่ใจความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน หรือในกรณีที่แย่ที่สุด คือ ครูเป็นอาชญากรแอบแฝงในโรงเรียนเสียเองแล้ว โรงเรียนก็ไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัยอีกต่อไป

       การสืบสวนนักเรียนในโรงเรียนเริ่มขึ้นเมื่อ ครูหวัง รู้เรื่องที่นักเรียนของเขาถูกข่มขืน ปรากฏว่าการข่มขืนนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ไม่ได้มีเพียงแค่เด็กผู้หญิงที่ถูกข่มขืน แต่เด็กผู้ชายก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ มีนักเรียนทั้งหมด 127 คน ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน วัฒนธรรมการข่มขืนนี้ได้รับการสืบทอดมาจากรุ่นพี่ส่งต่อมาถึงรุ่นน้อง โดยเด็กนักเรียนให้นิยามวัฒนธรรมนี้ว่า “การเล่นกัน” บางคนถูกรุ่นพี่ล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่ชั้นประถมสี่ วัฒนธรรมการข่มขืนนี้จึงเป็นลักษณะ conformism ที่หล่อเลี้ยงระบบอุปถัมภ์ และระบบอาวุโส หากใครไม่ทำตามก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

       เมื่อครูหวังสอบสวนจึงรู้ว่ามีครูหลายคนที่รับรู้เหตุการณ์ที่นักเรียนถูกข่มขืน โดยเฉพาะกรณีของเพ่ยเพ่ย เขาจึงรับไม่ได้ที่นักเรียนหลายคนต้องทนกับสภาพเช่นนี้ จึงปรึกษากับผู้อำนวยการโรงเรียน แต่กลับไม่ได้การช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหา ทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนยังมีท่าทีเลือกปกป้องชื่อเสียงของโรงเรียนมากกว่าปกป้องนักเรียน โดยไม่สนใจความรุนแรงที่มีนักเรียนเป็นเหยื่อ

สถาบันครอบครัวสำคัญที่สุด

“แม่เอาแต่คิดว่าผมผิดปกติ สู้คนอื่นไม่ได้ แม่เอาแต่เปรียบเทียบ” เฉิงแสดงท่าทางแทนการพูด

       ครอบครัวคือที่พึ่งพิงทางจิตใจ ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือและสนับสนุนให้คนกลุ่มเปราะบางมีกำลังใจ และเชื่อมั่นในตัวเอง แต่จะเป็นอย่างไรหากคนในครอบครัวไม่เพียงด้อยค่า แต่หากยังคิดว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเผชิญโลกภายนอก คำถามที่เกิดขึ้นคือ “มีเพียงแค่คนที่สมบูรณ์แบบสามารถดำรงอยู่ในโลกใบนี้ได้หรือ ในเมื่อเราทุกคนล้วนไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์แบบกันทั้งนั้น” สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ทุกคนเกิดมาย่อมควรได้รับการยอมรับบนพื้นฐานหลักการความเท่าเทียม ความเคารพ ความมีศักดิ์ศรี ความยุติธรรม และความมีอิสระ 

       การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้พิการ หรือคนกลุ่มเปราะบางว่าพวกเขามีสิทธิในการทำสิ่งต่าง ๆ เหมือนคนอื่น ๆ เพื่อรณรงค์ความเท่าเทียมและต่อต้านการเลือกปฏิบัติเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนในสังคมสามารถทำได้ โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่มีความใกล้ชิดกับคนกลุ่มนี้มากที่สุด

ยอมจำนนต่ออำนาจสะท้อนความล้มเหลวของความยุติธรรมในสังคม

       เสี่ยวกวาง เด็กหนุ่มในโรงเรียนที่ดูเหมือนจะเป็นต้นเรื่องของความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้น ภายนอกเขาดูเป็นคนเงียบ ๆ  มีนิสัยที่สนับสนุนให้คนอื่นใช้ความรุนแรง แต่มีไม่กี่คนที่จะรู้เรื่องราวความเจ็บปวดของเขาได้รับตั้งแต่เด็ก เมื่อเรื่องราววัฒนธรรมการข่มขืนในโรงเรียนถูกเปิดเผยขึ้น ประกอบกับความหลังที่เป็นเสมือนเข็มทิ่มแทงจิตใจของเขาได้หวนกลับมาอีกครั้ง เสี่ยวกวางได้เริ่มทำร้ายตัวเองด้วยการกรีดข้อมือ ในด้านของครูหวังได้รับรู้เรื่องราวของเสี่ยวกวางว่าเขาเคยถูกครูเพศชายล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่ชั้นประถมสาม และถูกกระทำมาเรื่อย ๆ ก็พยายามจะถามความจริงจากนักเรียนของเขา ซึ่งนักเรียนบอกว่าครูทุกคนในโรงเรียนรับรู้ แม้กระทั่งผู้อำนวยการโรงเรียนก็ไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายกับครูคนนั้นได้ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานเป็นคลิปวีดีโอกล้องวงจรปิด เพียงเพราะว่าครูคนนั้นมีผู้มีอิทธิพลหนุนหลัง ทำได้เพียงแค่เชิญครูคนนั้นออก

       ด้วยเหตุผลนี้สะท้อนความอยุติธรรมในสังคมอย่างมากที่คนกระทำความผิดไม่ได้รับการลงโทษที่เหมาะสม เพียงเพราะความเกรงกลัวต่อกลุ่มอำนาจกลุ่มหนึ่ง เหยื่อไม่ได้รับความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหยื่อเป็นผู้พิการทางการพูดและการได้ยิน ตัวแทนในการทวงความยุติธรรมของเด็กคือครูผู้เป็นพยานบุคคล ในทางตรงกันข้าม ครูกลับปล่อยปละละเลย ไม่สนใจ ทำเป็นไม่รับรู้ความไร้มนุษยธรรมที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กที่เป็นเหยื่อถูกพรากสิทธิในการเรียกร้องความยุติธรรมไปเพียงเพราะเขาไม่สามารถพูดได้ กล่าวคือการเข้าสู่วงจรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นำไปสู่การที่เหยื่อด้อยค่าตนเอง คิดว่าตนเองไร้ค่า ไร้ประโยชน์

“ครูคิดว่าผมควรค่าที่จะมีชีวิตอยู่ไหม”

       คำถามจากเสี่ยวกวางที่กำลังหมดความเชื่อมั่นในตนเองได้ถามครูหวังที่เปรียบเสมือนแสงสว่างที่เข้าใจเขาในการเป็นคนตัดสินว่าเขาควรจะมีชีวิตอยู่ต่อหรือไม่ เป็นประโยคที่สะท้อนถึงสภาพจิตใจของตัวผู้พูดที่รู้สึกว่าสังคมที่ไม่เห็นว่าเขามีตัวตน เป็นคนที่สังคมไม่ต้องการ จึงได้เกิดคำถามย้อนกลับมาถามผู้เขียนว่า “ต้องมีอีกกี่คนที่รู้สึกเช่นนี้เพราะเหตุผลที่ถูกละเลยและไม่ได้รับสิทธิที่ควรจะได้รับ”

       Qui ne dit mot consent เป็นวลีภาษาฝรั่งเศส มีความหมายว่า ความเงียบคือการยินยอม ในขณะที่คนบางกลุ่มถูกทำให้เงียบ หรือเสียงของเขาไม่ดังพอให้คนอื่นมาสนใจปัญหา ดังชื่อของภาพยนตร์ “กรีดร้องไร้เสียง” สะท้อนว่าแม้ว่าคนกรีดร้องดังแค่ไหน แต่คนอื่นก็ยังไม่ได้ยิน ไม่เห็นปัญหาของเขา สิ่งที่จะสามารถแก้ปัญหาได้คือการยอมรับคนกลุ่มเปราะบางในสังคม ไม่สร้างความแบ่งแยก พยายามเข้าใจคนกลุ่มเปราะบางให้มีความมั่นใจในการดำรงชีวิตในสังคมโลกอย่างปรกติ ในภาครัฐควรสนับสนุน universal design เพื่อให้คนกลุ่มเปราะบางเข้าถึงทรัพยากร ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันที่สะดวกสบาย นอกจากนี้ควรจัดหาการศึกษา และอาชีพอย่างเท่าเทียมให้คนกลุ่มเปราะบางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน

       สุดท้ายนี้คนกลุ่มเปราะบางไม่ได้มีเพียงผู้พิการ แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนชายฝั่ง กลุ่มความหลากหลายในอัตลักษณ์ทางเพศที่ถูกจำกัดหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่คนในสังคมควรให้ความใส่ใจ “เพราะเราไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง (leave no one behind)”