เอาสมองของเราคืนมา

17 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

เขียนโดย ชิตาพัณณ์ ภูรินันทพาณิชย์

ผลงานจากโครงการ Writers that Matters: นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก 

ในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนผ่านมุมมองของฉัน

 

เวลาสองปีมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงหรือสร้างโอกาสให้ชีวิตมนุษย์ได้หรือไม่? สองปีมากพอที่จะสร้างมหาบัณฑิตสักคน มากพอที่ครูผู้ช่วยคนหนึ่งจะได้เลื่อนขั้นเป็นครู คศ.1 และเลื่อนขั้นเงินเดือนถึงสี่รอบ มากพอที่เด็กคนหนึ่งจะหัดพูดหรือหัดเดินได้  หรือบางทีสองปีก็พรากโอกาสในชีวิตของใครบางคนและมันสมองของประเทศไปเสียดื้อ ๆ พรากดอกไม้ที่พร้อมจะเบ่งบานสู่สังคมไปกักขังไว้ในห้องที่ไร้แสง ไร้น้ำ มากพอที่จะพรากตัวตนของใครบางคน มากพอที่จะสร้างการสูญเสียตัวตน ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่มันคือทั้งชีวิต...

คำว่า “ต้องพ้นพันธะทางทหาร” ในใบสมัครงานมันเจ็บปวดเหลือเกินสำหรับบัณฑิตจบใหม่ไฟแรงที่เลือดเนื้อในอกเต้นเร่า ๆ อยากท่องทะยานสู่โลกกว้างเพื่อหาประสบการณ์อันจะเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศในการก่อร่างสร้างอนาคต แต่ไอ้คำที่ว่านั่นมันกลับทิ่มแทงเขาก่อนที่จะได้จับใบดำใบแดงเสี่ยงโชคนั่นเสียอีก น่าเสียดายที่มือที่สามารถสร้างคุณค่ามหาศาลจากการจับเม้าส์ จับปากกา ต้องมาจับเครื่องตัดหญ้า ปากนั้นได้แต่พร่ำพูดว่า ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน กระบวนการคิดถูกชัตดาวน์จากการฝึกตั้งแต่ตีห้าถึงสามทุ่มทุกวัน เสียดาย... เสียดายสิ่งที่ร่ำเรียนมา แต่ที่น่าเสียดายมากกว่าคือโอกาสและประสบการณ์ทางสายงานที่สามารถต่อยอดได้ในอนาคต

ไม่ต่างจากการเอาสมองของประเทศยัดใส่หม้อดินแล้วเอาผ้ายันต์สีแดงผูกปิดฝาหม้อแล้วถ่วงทิ้งลงน้ำ สองปีของเขาและเขาอีกนับพันในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เปราะบาง เคว้งคว้าง เช่นเดียวกับนักเรียน ม.6 ที่กำลังรอผล
แอดมิชชัน จะมีประโยชน์อะไรจากการที่บัณฑิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ไฟแรงจะต้องคอยเดินเอกสารหรือไปตัดหญ้านับสิบไร่ นอกจากการที่ได้สนามโล่งเตียนด้านหนึ่งในขณะที่อีกด้านหนึ่งกลับมาชูยอดยาวอีกครั้ง ตัดวนไปเรื่อย  ๆ วนซ้ำย่ำอยู่กลางแดดที่แผดเผา เขาว่าตัดไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องรีบ ไม่มีใครคาดหวังประสิทธิภาพของงาน เขาคาดหวังให้ทำตามคำสั่งเท่านั้น คอมพิวเตอร์ที่เขารักกลายเป็นสิ่งที่ถูกพรากหายเป็นอย่างแรก ตามมาด้วยความรู้สึกนึกคิด หัวจิตหัวใจ ตัวตน... 

โอกาสในชีวิตนั้นยากที่จะประเมินค่า ใครจะรับผิดชอบต่อความเสียหายอย่างใหญ่หลวงนี้ การเยียวยาด้วยเงินเดือนที่ไม่ถึงเกณฑ์เงินเดือนต่ำที่ประชาชนควรได้รับนั้นจะช่วยได้จริงหรือ เสื้อผ้า สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม ผงซักฟอก หรือแม้แต่อาหารรสชาติยอดแย่จืดชืดจนต้องไปแอบเด็ดพริกกินหลังห้องน้ำเป็นสิ่งที่ถูกหักจากเงินเดือนอันน้อยนิด สวัสดิการใด ๆ จะช่วยเยียวยาในเมื่อแม้แต่กางเกงในที่ถูกหักจากเงินเดือนไปซื้อนั้นก็ใช้ไม่ได้จริง “กางเกงในบาดไข่” คุณภาพและราคาต่างกันลิบลับ แต่มันต้องอยู่ อยู่เหมือนชดใช้กรรม บางวันได้คุยกันเล่นกันบ้างก็พอเป็นความสุข ความสุขโดยขมขื่น

มันไม่ใช่การขโมยสมอง แต่มันคือการยึดเอาสมองไปแล้วใส่สมองที่ถูกล็อกโปรแกรมทำให้เชื่องมาแทนที่ เขายอมรับว่ากระบวนการพัฒนาทักษะนั้นทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจอยู่ไม่น้อย ร่างกายเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ขณะที่ใจจริงก็แสนทรมานกับสิ่งที่เขาไม่ได้เลือกที่จะเป็น สุขอนามัยกลายเป็นเรื่องไกลตัว เมื่อต้องฝึกฝนให้มีระเบียบวินัย เร่งรีบ อาบน้ำให้เร็วที่สุด กินให้เร็วที่สุด พร้อมรบ แต่ตอนนี้เราจะรบกับใคร? มีความจำเป็นเพียงใดที่วิศวกร เภสัชกร เจ้าของธุรกิจที่กำลังดำเนินไปด้วยดีต้องมาจับปืนรบในขณะที่ไม่มีภาวะสงคราม จะเป็นการดีกว่าหรือไม่หากระบบทหารจะถูกพัฒนาให้มีสวัสดิการและค่าตอบแทนที่เหมาะสม ถูกฝึกฝนแต่ยังคงคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม คุณค่าที่มนุษย์คนหนึ่งไม่ควรสูญเสียไปจากชีวิต 

หลังจากหลุดพ้นจากพันธะสู่อิสรภาพ เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเขาเองเป็นใคร คอมพิวเตอร์คู่ใจกลับกลายเป็นสิ่งแปลกหน้า เขาสูญเสียความสามารถในการตัดสินใจไปอย่างถาวรเมื่อได้แต่ทำตามคำสั่งจนเคยชิน สายตาที่มองโลกนั้นแปลกไปโดยสิ้นเชิง เขาหวาดกลัว หวาดระแวง การเริ่มต้นทำงานในสิ่งที่รักกลายเป็นสิ่งที่ยากเย็น แค่เริ่มต้นก็ช้าไปแล้ว บางคนอาจคิดว่าเริ่มต้นช้าก็ไม่เห็นเป็นไร “แต่กูกำหนดวันตายไม่ได้ไงครับ” เขาว่าอย่างนั้น วัฒนธรรมการกดขี่และความรุนแรงทำให้กลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชคนหนึ่ง เหลือเพียงแค่บัณฑิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่จบมาแล้วสองปี ไม่มีประสบการณ์ทำงาน และมีอาการทางจิต!

แปลก... ทหารนั้นเป็นอาชีพที่มีเกียรติ คือผู้สร้างความมั่นคง ความปลอดภัยให้แก่ประชาชนตาดำ ๆ แต่กระบวนการฝึกกลับสืบทอดวัฒนธรรมการทำร้ายกันไม่จบสิ้น ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย และไม่สามารถเรียกร้องสิ่งใดได้แม้กระทั่งกางเกงในที่ไม่บาดไข่ เขาเป็นคนไม่ใช่หรือ? เขาเป็นเพื่อนร่วมโลกของเราไม่ใช่หรือ? มีเหตุผลอะไรที่เราจะเอามันสมองที่มีคุณค่าเหล่านี้มาใส่ถุงดำแล้วขยำให้เละ วันนั้นเขาก้าวเข้าไปอย่างคนหนุ่มผู้ที่เปี่ยมไปด้วยไฟที่พร้อมจะ
เฉิดฉายอนาคต สองปีผ่านไป ไร้การสู้รบ ไร้สงคราม ภายในรั้วแห่งความเป็นชายชาติทหารได้มีผู้รับใช้นับร้อยนับพัน


แต่สังคมภายนอกรั้วนั้นกลับได้เพียงเถ้าถ่านที่เหลือเพียงเปลวควัน แสงไฟในวันพิพากษาหล่นหาย

มีใครมองเห็นมันหรือเปล่า?