สาวมั่นจากแดนใต้ กับบทบาทนักศึกษาฝึกงานของแอมเนสตี้ ประเทศไทย

16 เมษายน 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

เรื่องและภาพโดย สิทธิศักดิ์ บุญมั่น และวิชัย ตาดไธสงค์

การเลือกเส้นทางสำหรับฝึกงานอาจจะเป็นเรื่องที่หนักใจสำหรับเด็กมหาวิทยาลัยหลายคน เพราะถือเป็นสนามทดสอบขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะลงสนามจริงในชีวิตการทำงาน  สำหรับ นุ่น หรือ มนูญ วงษ์มะเซาะห์ นักศึกษาสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เธอกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชน และใฝ่ฝันอยากเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หลังตัดสินใจมาฝึกงานกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเป็นเวลา 4 เดือนเต็มตามคำบอกเล่าของรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัย 

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนที่บอกเราว่า วันๆ ก็เอาแต่เที่ยวเล่น หันมาสนใจประเด็นทางสังคมและมีมุมมองต่อเพื่อนมนุษย์เปลี่ยนไป ค้นหาคำตอบได้จากบทสัมภาษณ์นี้

 

รู้จักแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้อย่างไร?

รู้จักแอมเนสตี้จากรุ่นพี่ที่สนิท เพราะรุ่นพี่เคยมาฝึกงานกับแอมเนสตี้ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้รายละเอียดว่าจริงๆ แล้วแอมเนสตี้เป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับอะไร เมื่อกลับไปมหาวิทยาลัย จึงได้รู้รายละเอียดมากขึ้น ผ่านการนั่งเรียนในรายวิชาที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งวิชานั้นแอมเนสตี้ ประเทศไทยได้ทำสัญญาบันทึกข้อตกลง (MOU) ไว้กับทางมหาวิทยาลัย จึงได้เห็นบทบาทและรู้จักแอมเนสตี้มากขึ้นเรื่อยๆ 

 

ทำไมถึงเลือกฝึกงานกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย?

เพราะรุ่นพี่แนะนำ และไม่ชอบรูปแบบการทำงานในหน่วยงานราชการ ที่มีกฏระเบียบค่อนข้างเยอะ การเลือกมาฝึกงานกับแอมเนสตี้ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร หรือเอ็นจีโอ (Non-profit organization-NGO) จึงเป็นตัวเลือกที่นุ่นมองว่าน่าสนใจ อีกทั้งการที่เราเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) การไปทำงานในหน่วยงานที่มีกฏระเบียบเยอะอาจจะทำให้ตัวเองรู้สึกอึดอัด และไม่เป็นตัวของตัวเองได้ ซึ่งแอมเนสตี้เองก็เปิดกว้างในเรื่องนี้อยู่แล้ว

 

ความคาดหวังที่มีก่อนเข้ามาเป็นนักศึกษาฝึกงาน

ตอนแรกไม่ได้คาดหวังอะไรเลย เราเข้ามาฝึกเพราะว่ารุ่นพี่แนะนำ แต่เมื่อผ่านการฝึกงานไปสองอาทิตย์ ได้เห็นมุมมองต่างๆ ได้ทำงานที่หลากหลายรูปแบบ ความคิดของเราก็เปลี่ยนไป เริ่มมีความคาดหวังสำหรับการฝึกงานในครั้งนี้แล้ว เพราะนุ่นได้เห็นถึงมุมมองของคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้และไม่เข้าใจมาก่อน การได้เข้าไปช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้นจึงทำให้นุ่นตั้งความหวังไว้ว่าอยากจะทำงานในด้านนี้ และอยากเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

 

สิทธิมนุษยชนเรื่องใดบ้างที่สนใจอยู่ในขณะนี้?

นุ่นเป็นคนหนึ่งที่มีความสนใจเรื่องของสิทธิมนุษยชนค่อนข้างหลากหลาย โดยประเด็นแรกที่มีความสนใจคือเรื่องของสิทธิเด็ก เพราะจากที่ได้ทำงานมามีเด็กถูกดำเนินคดีมากขึ้น และมากไปกว่านั้นมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหาที่รุนแรง คือ มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ็บปวดมากสำหรับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่ต้องเห็นเด็กถูกดำเนินคดีเช่นนี้

ประเด็นถัดมาคือ สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ประเทศของเรามีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง กลุ่มคนเหล่านี้ยังคงถูกลิดรอนสิทธิอยู่ในหลายๆ ด้าน แม้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจะเป็นกลุ่มคนที่สร้างรายได้ในด้านการท่องเที่ยวได้อย่างดี เช่น นางโชว์ที่พัทยา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านท่องเที่ยว แต่สิทธิทางความเท่าเทียมก็ยังถูกมองข้ามและยังถูกสังคมบางสังคมตีตราในอัตลักษณ์ทางเพศของเขาอยู่

และในประเด็นสุดท้ายคือเรื่องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เพราะประเทศไทยขึ้นชื่อว่า เป็นประเทศที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2475 แล้ว แต่ในปัจจุบันก็ยังคงมีการลิดรอนสิทธิ และใช้กฎหมายเพื่อปิดปากผู้ที่เห็นต่างอยู่ นุ่นจึงมีความสนใจและอยากรณรงค์ประเด็นนี้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง 

 

ในแต่ละวันเราต้องทำงานอะไรบ้าง?

ส่วนตัวแล้วฝึกงานอยู่ฝ่ายรณรงค์ (Campaign)  ซึ่งเราจะต้องมีความแม่นยำในเรื่องของข้อมูล และการสื่อสารให้กับฝ่ายอื่นๆ ได้ทราบ โดยงานส่วนใหญ่ที่เราทำในแต่ละวันคือการเก็บข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ เช่น เราต้องเก็บข้อมูลเรื่องอนุสัญญาสิทธิเด็ก หรือข้อมูลในเรื่องของสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกตามหลักสากล แต่ในบางครั้งเราก็ได้ไปช่วยงานในฝ่ายสื่อสารองค์กรบ้าง เพราะในช่วงนั้นทั้งฝ่ายเขามีเพียงคนเดียว และในบางครั้งก็ได้ทำงานเกี่ยวกับอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุม (MOB Data Thailand) ที่ทางแอมเนสตี้ร่วมมือกับไอลอร์ (iLaw) เพื่อลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุม โดยเก็บข้อมูลจากทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้จัดการชุมนุม ผู้ชุมนุม รวมทั้งบุคคลอื่นๆ ในพื้นที่การชุมนุมด้วย ซึ่งจะมีการบันทึกข้อมูลไว้ผ่านเว็บไซต์ของเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ (Mob Data Thailand)  หากมีชุดข้อมูลที่มีนัยสำคัญที่สามารถนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย จะได้ถูกนำเสนอต่อภาครัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพในการชุมนุมที่ดีขึ้นในประเทศไทยต่อไป

 

ความท้าทายของงานที่เราต้องเจอเป็นอย่างไร?

สำหรับนุ่นความท้าทายที่ต้องเจอมักมาในรูปแบบของการสนทนา เพราะเราต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการอยู่บ่อยๆ ซึ่งจะต้องใช้คำพูดเพื่อโน้มน้าวใจให้เขาตอบกลับจดหมายเราให้เร็วที่สุด และอีกความท้าทายหนึ่งที่เราต้องเจอคือเรื่องของข้อมูล เพราะเราจะต้องใช้ประสบการณ์ที่เรามีมาประกอบการทำข้อมูลด้วย เพื่อให้มันเห็นภาพได้มากที่สุด และต้องทำออกมาในรูปแบบของตัวหนังสือที่มีความกระชับ อ่านแล้วเข้าใจง่าย

 

ประสบการณ์ที่อยากแบ่งปันให้คนอื่น

ประสบการณ์อย่างแรกที่นุ่นต้องการแชร์ให้คนอื่นคือ อยากแนะนำให้คนที่กำลังมองหาที่ฝึกงานว่าอยากให้ลองมาฝึกกับหน่วยงานที่เป็นเอ็นจีโอดูบ้าง เพราะจะได้ลงมือทำงานจริงๆ เช่นตัวนุ่นเองได้ทำงานโปรเจคจบเกี่ยวกับผลกระทบของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 ซึ่งเราต้องเริ่มทำตั้งแต่เลือกประเด็นของโปรเจค เก็บรวบรวมข้อมูล ไปจนหาเคสที่ถูกดำเนินคดี ติดตามการถ่ายทำ ตรวจรับและแก้ไขงาน ซึ่งทำให้ได้ประสบการณ์เพิ่มขึ้นในอีกหลายๆ ด้าน เพราะได้ลงมือทำงานจริง เห็นปัญหาจริง และต้องหาทางแก้ไขปัญหานั้นๆ ด้วย  และอีกสิ่งที่อยากแนะนำคือให้กล้าที่จะตั้งคำถาม เพราะจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้งานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

มีอะไรอยากฝากถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยไหม?

อยากขอบคุณแอมเนสตี้ ประเทศไทยเป็นอย่างมากที่ช่วยสอนให้เราเรียนรู้และรู้จักงานด้านสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เรียนมาตั้งแต่เด็กๆ และอยากจะขอบคุณแอมเนสตี้ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากที่จะเรียนต่อ และอยากที่เป็นหนึ่งในนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defender) บอกตามตรงว่า ก่อนหน้านี้เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้สนใจเรื่องรอบตัวอะไรเลย วันๆ ก็เอาแต่เที่ยวเล่น ต้องขอขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจริงๆ ที่ทำให้มุมมองทางสังคมของเราเปลี่ยนไป