Mississippi Burning : จะเป็นอย่างไร เมื่อ Black Lives ไม่ Matter?

29 มิถุนายน 2563

Amnesty International Thailand

บทความโดย วรรณนิษฐา ธีรโชตินวนันท์        

ภาพ Mississippi Burning 

หากจะกล่าวถึงประเด็นสำคัญที่กำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียลมีเดียขณะนี้ คงจะหนีไม่พ้น Black Lives Matter หรือ BLM ที่มีจุดเริ่มต้นจากการใช้กำลังเกินเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้าควบคุมตัวชายผิวสี จอร์จ ฟลอยด์ ด้วยการล็อคคอจนทำให้เขาถึงแก่ความตาย การตายของเขาได้ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องในรูปของการประท้วงไปในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อแสดงให้เห็นว่าชีวิตคนผิวสีก็มีความสำคัญ และสมควรถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะจากผู้บังคับใช้กฎหมายที่ควรจะดำรงตนเป็นกลางและไม่ใช้อคติในการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยที่เป็นคนผิวสีอยู่หลายคดี และการรัดคอจนถึงแก่ความตายเช่นนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับคนผิวขาวที่กระทำความผิดที่ใกล้เคียงกันแล้ว การควบคุมตัวของพวกเขานั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดความรุนแรงเช่นนี้ เหตุการณ์นี้ได้จุดประกายให้ผู้ที่เห็นถึงการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อคนผิวสีออกมาร่วมเรียกร้องเพื่อถามหาความยุติธรรม แม้ปัจจุบันกระแสการแบ่งแยกสีผิวไม่ได้รุนแรงเทียบเท่าในอดีตแล้ว แต่อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังทางสีผิวยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ และในหลายครั้งก็รุนแรงถึงชีวิต ทำให้เราสามารถมองเห็นอย่างชัดเจนว่าการเลือกปฏิบัตินั้นไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่ซ่อนตัวอยู่ในสังคมและรอเวลาในการปะทุออกมาเท่านั้นเอง

 

เพื่อตอบรับกระแสกับกระแสที่กำลังถูกพูดถึงและเพื่อเป็นการร่วมเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่คนผิวสี ผู้เขียนจึงได้เลือกหยิบหนังเรื่อง Mississippi Burning ที่ออกฉายในปี 1988 โดยผู้กำกับ Alan Parker ขึ้นมาวิจารณ์ อย่างไรก็ตามทิศทางของหนังนั้นไม่ได้ชูคำว่า Black Lives Matter แต่ล้วนเป็นการแสดงให้เห็นว่า black lives นั้นถูกทำให้ไม่ matter อย่างถึงที่สุดได้เช่นไรบ้าง พวกเขาถูกมองต่ำกว่ามนุษย์ในสายตาคนบางคน และการฆ่าพวกเขาไม่นับว่าเป็นอาชญากรรมแต่อย่างใด ชีวิตของพวกเขาสามารถปลิดปลิวไปได้อย่างง่ายดายจากการตัดสินใจของคนผิวขาว บางกลุ่ม ที่มองว่าพวกตนเป็นกลุ่มที่เหนือกว่าและมีหน้าที่จัดการให้คนผิวสีอยู่ในกรอบที่เหมาะสม

 

หนังเริ่มด้วยการหายตัวไปของเด็กหนุ่มนักสิทธิพลเมือง (Civil Right Workers) ทั้ง 3 คน ซึ่งเป็นคนผิวขาว 2 และผิวสี 1 คน ที่ถูกเรียกให้หยุดรถในยามค่ำคืนบนถนนเปลี่ยวโดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พยายามขับรถจี้ตาม พวกเขาได้แสดงถ้อยคำหยามเหยียดชายผิวขาวทั้ง 2 ที่คบหากับคนผิวสี เหตุการณ์เริ่มรุนแรงเมื่อตำรวจนายหนึ่งได้ชักอาวุธปืนขึ้นมาโดยไม่มีเหตุจำเป็นแต่อย่างใด และร่วมกันสังหารเด็กหนุ่มทั้งสามในที่สุด หลังเกิดเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ FBI ได้ถูกส่งตัวมาสืบสวนในเมือง Jessup County รัฐ Mississippi เนื่องจากพวกเขาสืบทราบมาว่าคดีที่ถูกทำให้เป็น ‘คดีคนหาย’ นี้อาจมีเบื้องหลังบางอย่างที่รุนแรงกว่านั้น การสืบคดีของพวกเขาต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ทั้งจากนายอำเภอและผู้ช่วยที่นอกจากจะไม่ให้ความร่วมมือแล้วยังมีส่วนพัวพันในคดีที่เกิดขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ประชาชนในเมืองก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด คนผิวขาวมองว่าเด็กหนุ่มที่หายไปสมควรพบเจอเหตุการณ์เช่นนั้นแล้ว ในขณะที่คนผิวสีเลือกปิดปากเงียบเพื่อปกป้องชีวิตของตน ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่ม Ku Klux Klan หรือ KKK กลุ่มคลั่งความเป็นชาตินิยมผิวขาวซึ่งมีอิทธิพลในเมืองและได้รับการสนับสนุนจากนายอำเภอได้ออกข่มขู่ ทำร้าย เข่นฆ่าคนผิวสีที่ถูกพบว่าให้ข้อมูลกับ FBI รวมถึงคนผิวสีธรรมดาที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเพียงแค่พวกเขาต้องการจะฆ่าเท่านั้น ยิ่งเจ้าหน้าที่พยายามสืบหาสาเหตุการหายตัวไปและเข้าใกล้ความจริงมากเท่าไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนผิวสีในแต่ละค่ำคืนยิ่งโหดร้ายทารุณมากขึ้นเท่านั้น โดยไม่มีใครสามารถหยุดพวกเขาได้เลย

 

เหตุการณ์ในเรื่องคือช่วงปี 1964 ขณะนั้นความเท่าเทียมทางสีผิวได้เกิดขึ้นในหลายรัฐทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่ในทางตอนใต้กลับเป็นตรงกันข้าม ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะ Mississippi ประเด็นความไม่เท่าเทียมทางสีผิวยังมีความรุนแรงอยู่มาก แม้เราไม่สามารถทราบได้ว่าความเท่าเทียมที่นับว่าเกิดขึ้นแล้วในทางตอนเหนือนั้นเป็นความเท่าเทียมในรูปแบบใด แต่ที่แน่นอนคือชีวิตคนผิวสีที่นั่นคงจะไม่ถูกคนผิวขาวพรากไปอย่างง่ายดายโดยไร้ซึ่งความผิดดังเช่นทางตอนใต้ จุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมดนั้นมาจากการที่คนผิวขาวเคยชินกับการมีอภิสิทธิ์เหนือกลุ่มคนผิวสีทั้งในทางปฏิบัติและในทางกฎหมายมาโดยตลอด พวกเขาเคยชินกับความเป็นอยู่เช่นนี้มานับร้อยปี คนผิวขาวส่วนใหญ่จึงรับไม่ได้ที่จะต้องให้สิทธิพลเมืองที่เท่าเทียมแก่คนผิวสี การใช้พื้นที่สาธาณะร่วมกัน หรือการยอมให้คนพวกนี้มีสิทธิ์เลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องที่น่าขยะแขยงเกินไปสำหรับพวกเขา สามารถกล่าวได้ว่าความรุนแรงและการต่อต้านที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายเปลี่ยนไวเกินกว่าความเข้าใจของผู้คนจะตามทันนั่นเอง แม้หนังจะชวนให้เราตั้งคำถามว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้แท้จริงเป็นชนวนเหตุของความรุนแรงหรือไม่ แต่ทว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถปล่อยผ่านไม่ให้เกิดขึ้นได้ คนผิวสีถูกกระทำอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ในอดีต และจะถูกกระทำเช่นนี้ต่อไปในอนาคตหากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้เหตุการณ์นี้จะช่วยโหมไฟให้ยิ่งรุนแรงขึ้น แต่สามารถมองได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดเพื่อหยุดยั้งสิ่งที่รุนแรงยิ่งกว่า เพราะความเท่าเทียมนั้นยากที่จะเกิดขึ้นโดยการยินยอมของผู้เสียประโยชน์ การบังคับให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมจึงจำเป็นในบางกรณี ถึงมันจะดูขัดแย้งในตัวเองก็ตาม

 

การดำเนินเรื่องของหนังค่อยๆดึงให้เรามีความรู้สึกร่วมไปกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมทั้งความโหดร้าย ความเศร้าสลด และความกรุ่นโกรธที่เสมือนเรากำลังเป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ที่ไม่มีความยุติธรรมและริดรอนความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุด โดยที่ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย ประโยคหนึ่งที่สำคัญของหนังคือ “ความเกลียดคือสิ่งที่คุณไม่ได้เกิดมากับมัน แต่เป็นสิ่งที่ถูกเสี้ยมสอน” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราทุกคนเกิดมาด้วยใจที่บริสุทธิ์ แต่ความเกลียดที่ส่งผลให้เรากระทำรุนแรงต่อคนอีกกลุ่มนั้นเกิดจากสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมเราให้มีความคิดและกระทำการเช่นนั้นโดยไม่เห็นว่าเป็นความผิด ดังเช่นที่คนผิวขาวในเรื่องมองว่าความรุนแรงที่พวกเขากระทำต่อคนผิวสีนั้นไม่ใช่อาชญากรรมแต่อย่างใด และนี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะในพื้นที่ที่การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้เป็นไปอย่างยุติธรรมดังเช่นในหนังแล้ว การไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีหรือหลงคิดว่าสิ่งผิดที่ทำนั้นถูกสามารถนำไปสู่เหตุการณ์ที่แย่ที่สุดเกินกว่าจะจินตนาการได้

 

แม้หนังเรื่องนี้จะถูกสร้างขึ้นมาให้เห็นถึงความโหดร้ายทารุณที่คนผิวสีถูกกระทำ แต่กลับไม่ได้นำเสนอผ่านมุมมองคนผิวสีอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่ม FBI ที่แม้จะตั้งใจมาคลี่คลายคดี แต่ยังคงใช้มุมมองคนนอกในการจี้ให้ตอบคำถามโดยไม่สนใจบริบทแวดล้อมว่าทำไมคนผิวสีถึงเลือกจะปิดปากเงียบ ความกลัวชนิดใดที่ครอบงำชีวิตพวกเขาอยู่ หรือการพูดออกไปจะส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาอย่างไรบ้าง ตลอดทั้งเรื่องเราแทบจะไม่ได้รับฟังหรือเข้าใจในความรู้สึกของคนผิวสีผ่านทางคำพูดเลย บทพูดของพวกเขามีใจความสำคัญแค่ว่า หากพวกเขานิ่งเฉย สักวันหนึ่งอีกฝ่ายก็จะหยุดการกระทำรุนแรงไปเอง แต่แน่นอนว่าผู้ชมนั้นรู้ดีว่าจากบริบทของเรื่องแล้ว วันนั้นคงจะไม่มีทางมาถึง อย่างไรก็ตามนี่อาจเป็นวิธีทำเสนอในรูปแบบที่ว่าสุดท้ายแล้วความคิดของคนผิวสีก็ไม่เคยถูกให้ความสำคัญไม่ว่าในแง่มุมใด และผู้คนจะฟังพวกเขาเมื่อต้องการที่จะฟังเท่านั้น

 

โดยสรุปแล้วหนังเรื่องนี้ควรค่าต่อการชมในแง่ของการทำความเข้าใจบริบทความรุนแรงที่คนผิวสีต้องเผชิญตั้งแต่ในอดีต และเพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นที่เราจะต้องยืนหยัดเคียงข้างและปกป้องพวกเขาจากความรุนแรงที่ไม่มีใครสมควรได้รับสุดท้ายขอยกอีกหนึ่งคำพูดจากหนังที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้ นั่นคือ “ทุกคนที่รู้เรื่องแต่ทำเฉยล้วนมีความผิด ไม่ต่างจากคนที่เหนี่ยวไกปืน” กล่าวคือในช่วงเวลาที่ความอยุติธรรมเกิดขึ้น การที่เรานิ่งเฉยก็เปรียบเสมือนการฆ่าคนเหล่านั้นทางอ้อม ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องไม่ปล่อยผ่านความการเลือกปฏิบัติเหล่านี้ และร่วมเรียกร้องให้คนผิวสีได้รับสิทธิ์ที่พวกเขาสมควรจะได้ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้มีความแตกต่างใดๆจากมนุษย์คนอื่นเลย เพราะชีวิตของพวกเขาเองก็มีค่าเช่นเดียวกัน ไม่ต่างอะไรจากชีวิตของพวกเรา