บทวิเคราะห์ภาพยนตร์ The Purge Social Injustice Is Indirect People's Purging

29 มิถุนายน 2563

Amnesty International Thailand

บทความโดย ณัฐวุฒิ คงเจริญ          

ภาพ The Purge

 กระแส #BlackLivesMatter เป็นกระแสที่เริ่มต้นจากการลุกขึ้นเพื่อต่อต้านการปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกกล่าวหา โดยตำรวจอย่างรุนแรงจนทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเสียชีวิต จนเกิดเป็นข้อกังขาในสังคมถึงการปฏิบัติระหว่างคนผิวขาวและคนผิวสีอย่างไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกที่มาจากเชื้อชาติและสีผิวจนนำไปสู่การปฏิบัติกันอย่างไม่เป็นธรรมของคนในสังคม ทำให้เกิดการประท้วงในหลายพื้นที่และบางรัฐของสหรัฐฯ บานปลายจนเกิดเป็นการจลาจลและการปล้นร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งทำให้หลาย ๆ คนนึกถึงภาพยนตร์ที่เล่าถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในสหรัฐฯ อย่าง The Purge

 

The Purge เป็นภาพยนตร์แนวสยองขวัญ เข้าฉายภาคแรกในปี ค.ศ.2013 ก่อนจะได้รับความนิยมด้วยเนื้อเรื่องที่มีการผูกปมปัญหาให้ตื่นเต้นสยองขวัญ และมีการหักมุมในเรื่อง จนทำให้มีการทำภาคต่ออีก 3 ภาคและยังมีการทำเป็นละครชุดทางโทรทัศน์อีกด้วย

 

ภาพยนตร์ The  Purge จะเล่าเรื่องผ่านครอบครัวแซนดินที่ต้องผ่านเหตุการณ์คืนอำมหิต  นั่นคือเทศกาล The Purge ประจำปี ที่รัฐบาลกลางประกาศให้อาชญากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 12 ชั่วโมงนี้ของทุกรัฐ เกือบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นการฆาตกรรม  การทำร้ายร่างกาย  การข่มขืน  การปล้นร้านค้า  การทำลายทรัพย์สิน ให้ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ตำรวจ รถดับเพลิง รถฉุกเฉินทางการแพทย์ งดการให้บริการ จุดเริ่มต้นของเทศกาลนี้มาจากการที่รัฐบาลเชื่อว่าเทศกาลนี้คือการชำระล้างบาปในใจมนุษย์ อีกทั้งยังทำให้ตัวเลขอาชญากรรม ตัวเลขการว่างงานและเศรษฐกิจนั้นดีขึ้น จึงทำให้รัฐบาลเลือกที่จะประกาศให้มีการชำระล้างบาปเป็นเทศกาลประจำทุกปี โดยมีชนชั้นนำ ปัญญาชน และชนชั้นกลางให้การสนับสนุนหรือจำเป็นต้องให้การสนับสนุนตามกระแสหลักในสังคมและเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตน แต่กลับกันกับคนทั่วไป ชนชั้นล่าง คนไร้บ้าน หรือคนผิวสี กลับไม่ให้การสนับสนุนเพราะมักจะเป็นที่ผู้ที่ง่ายต่อการเป็นเหยื่อของการชำระล้างบาป โดยภาพยนตร์เล่าถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมในหลากหลายมิติ

 

ความเป็นธรรมในสังคม คือความเสมอภาคกันของคนในสังคม ไม่ใช่เพียงแค่ในด้านกฎหมาย แต่ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านการปฏิบัติต่อกันในสังคมอย่างยุติธรรม กล่าวก็คือคนในสังคมต้องเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างยุติธรรรม คนในสังคมต้องถูกปฏิบัติต่อกันอย่างเป็นเพื่อนมนุษย์โดยยุติธรรมตามหลักการของสิทธิมนุษยชน และคนในสังคมยังเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย โดยในภาพยนตร์ชุด  The Purge  ตั้งแต่ภาคแรก  ได้เล่าถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมในหลาย ๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความไม่เป็นธรรมในเชิงของกฎหมาย จากที่จะเห็นในภาพยนตร์ ว่าประเพณีชำระล้างบาปนั้นเกิดขึ้นโดยทั่วไป แต่จะงดเว้นข้าราชการการเมืองระดับสูง ก็คือผู้ใดจะทำร้ายในช่วงเวลาที่มีการชำระล้างบาปก็ถือว่ายังมีความผิดเช่นปกติ แต่หากผู้ใดทำร้ายใครก็ตามทีไม่ได้เป็นข้าราชการทางการเมืองระดับสูงที่ประกาศงดเว้นไว้ ก็ไม่ถือเป็นความผิด แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายที่เป็นการคุ้มครองและเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นนำในสังคม และประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคม ที่ชนชั้นนำทางสังคม ข้าราชการการเมืองระดับสูง เมื่อกระทำผิดกลับไม่ได้รับผลของการกระทำนั้นตามกระบวนการยุติธรรม เป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่สามารถพบได้

 

ประเด็นหนึ่งที่ถือว่าเป็นประเด็นที่ใช้ในการดำเนินเรื่อง คือ การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยรัฐบาล สังเกตได้จากการที่รัฐบาลกลางประกาศให้อาชญากรรมไม่มีความผิดในช่วงเวลาของเทศกาลชำระล้างบาป ซึ่งนอกจากจะขัดกับหลักของกฎหมายแล้วว่ากฎหมายจะต้องใช้ได้ตลอดระยะเวลาที่ประกาศใช้ จะงดเว้นไม่ได้ ยังเป็นการขัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการมีชีวิตรอด สิทธิการที่จะรักษาทรัพย์สินของตน และยังขัดกับหลักการขั้นพื้นฐานในความคิดของมนุษย์ทุกคนว่า ฆ่าคนตายเป็นความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย หรือแม้แต่ประเด็นของการลักพาตัวหรือบังคับให้หายของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ที่สังเกตได้ในภาพยนตร์ The Purge: Election Year ที่เข้าฉายในปี ค.ศ.2016 เล่าถึง ชาร์ลี โรน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้ประกาศนโยบายหลักที่ใช้หาเสียง คือ การที่ต้องการยกเลิกประเพณีชำระล้างบาป ทำให้เธอถูกหมายหัวจากฝ่ายรัฐบาลขณะนั้น และต้องการจะสังหารเธอในคืนที่มีการชำระล้างบาปเพื่อกำจัดเสี้ยนหนามทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสะเทือนใจแต่พบได้จริง จากการที่นักกิจกรรมทางการเมืองหรือฝ่ายตรงข้ามของผู้มีอำนาจ ถูกทำร้ายหรือถูกอุ้มหายหลายต่อหลายคน แต่ไม่สามารถนำผู้ที่กระทำการและผู้สั่งการมารับผิดได้

 

ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรขั้นพื้นฐานก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึง สังเกตได้ตั้งแต่ภาคแรกว่าครอบครัวแซนดินเป็นครอบครัวชนชั้นกลางที่มีฐานะ สามารถจะเข้าถึงระบบรักษาความปลอดภัยในการคุ้มครองดูแลชีวิตและทรัพย์สินของคนในครอบครัวของตนได้ แตกต่างกับชนชั้นล่างได้หรือคนไร้บ้านที่จะต้องดูแลทรัพย์สินและชีวิตของตนเอง อย่างอยากลำบาก เพราะ ประกันและระบบรักษาความปลอดภัยมีราคาสูงเกินกว่าที่จะเข้าถึงได้ หนำซ้ำยังเป็นที่เพ่งเล็งและมักจะเป็นเหยื่อมากที่สุดในการชำระล้างบาปทุกครั้ง ในขณะที่รัฐบาลกลาง ปัญญาชน ชนชั้นนำทางสังคมที่มีการศึกษากลับเป็นผู้สนับสนุนเทศกาลนี้เพราะเป็นผู้ได้ประโยชน์ทั้งในเชิงธุรกิจ หรือรัฐบาลที่สนใจแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของผู้คนที่มีปากมีเสียงและเป็นผู้สนับสนุนของรัฐบาล แต่ไม่สนใจความเป็นอยู่ของประชาชนระดับรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อย่างเช่นกรณีที่รัฐบาลไทยมีความพยายามหลายครั้งในการพิจารณาเข้าร่วม CPTPP ทั้งที่มีเพียงแค่นายทุนและรัฐบาลเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

 

ภาพยนตร์ชุด The Purge ทั้งภาคแรกและภาคอื่น ๆ นอกจากจะเป็นภาพยนตร์สยองขวัญ ที่ให้ความตื่นเต้นแล้ว ยังเล่าให้เข้าถึงจิตใจของมนุษย์ ที่มีอารมณ์ ความรู้สึก มีความเหี้ยมโหด ความต้องการ ความอิจฉาริษยา และก็มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีความเสียใจรู้สึกผิดต่อการกระทำของตน เป็นภาพยนตร์ที่ดีที่เล่าถึงความเป็นธรรมและไม่เป็นธรรมของสังคมในหลายมิติ ควรที่จะชมเพื่อให้เข้าใจจิตใจมนุษย์ สังคม และโลกที่เราอยู่นี้มากขึ้น

  

 

เว็บไซต์ที่ใช้อ้างอิงประกอบการเขียน :

https://en.wikipedia.org/wiki/The_Purge

https://www.sfcinemacity.com/news-activity/news-1415