ประวัติศาสตร์บาดแผล: 31 ปี รำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมิน 1989

4 มิถุนายน 2563

Amnesty International Thailand

บทความโดย กนิฎฐ์อาภา อารมย์ดี

ภาพถ่ายโดย ยศธร ไตรยศ

“เพื่อนนักข่าวซ่อนฟิล์มภาพที่ผมถ่ายไว้ใต้กางเกงและพยายามปั่นจักรยานมุ่งหน้าไปยังสำนักงานใหญ่ AP ขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่จีน 5 นายกำลังยืนสูบบุหรี่และหัวเราะกันอยู่ โดยที่พวกเขาไม่รู้เลยว่าหนึ่งในรูปภาพที่โด่งดังที่สุดในโลก กำลังผ่านหน้าเขาไป” 

เจฟฟ์ ไวด์เนอร์ ช่างภาพสำนักงานข่าว AP เจ้าของภาพแทงค์แมนกล่าวในงาน Let’s do the rights thing จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

หากปราศจากความกล้าหาญและโชคช่วยเล็กน้อยในวันนั้น ปัจจุบันคงไม่มีหลักฐานหลงเหลือไว้เป็นความทรงจำสำหรับคนรุ่นหลัง ว่าครั้งหนึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ เคยเกิดการประท้วงนำโดยนักศึกษาที่ก่อให้เกิดแรงต่อต้านมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคคอมมิวนิสต์ของจีน

 

ประวัติศาสตร์บาดแผล: 31 ปี รำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมิน 1989

 

กว่า 3 ทศวรรษแล้วที่ชาวจีนถูกจำกัดการรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2532 ไม่ใช่แค่เพียงคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่มีความทรงจำอันเลือนรางต่อเหตุการณ์นองเลือดดังกล่าว ประชากรจีนยุคหลังปี 1989 ทั้งหมดก็เช่นกัน พวกเขาไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์การเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญในจีนประชากรจำนวนไม่น้อยจำต้องทนอยู่ในสภาวะ ‘ความจำเสื่อม’ และถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น หรือแม้แต่ต้อง ‘โกหก’ เพื่อให้ตนเองและครอบครัวอยู่รอด วันที่ 4 มิถุนายนของทุกๆ ปี จึงเปรียบเสมือนช่วงเวลาแห่งการ ‘หลงลืม’ มากเสียกว่าช่วงเวลาที่ควรค่าแก่การ ‘จดจำ’

 

เมื่อ 31 ปีที่แล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวนำโดยนักศึกษาก่อตั้งการชุมนุมประท้วงต่อต้านการคอร์รัปชั่น เรียกร้องการปฎิรูปการเมือง ความโปร่งใส และที่สำคัญประชาธิปไตย กลุ่มผู้ชุมนุมร่วมแสดงพลังปักหลัก ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินใจกลางกรุงปักกิ่งเป็นเวลาหลายสัปดาห์ สถานการณ์การชุมนุมยกระดับขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังการอดอาหารประท้วง และการเจรจาต่อรองหลายครั้งที่ไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งเมื่อทางการจีนพิจารณาใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อขับไล่ผู้ชุมนุม และยุติ ‘ความวุ่นวาย’ ในเมืองหลวง ช่วงค่ำวันที่ 3 มิถุนายน กองกำลังทหารจำนวนมากพร้อมรถถังและรถหุ้มเกราะเริ่มเข้าทวงคืนพื้นที่ ทหารบางหน่วยเริ่มใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองปลอดอาวุธ และใช้กระสุนจริง ส่งผลให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุมสูงถึง 10,000 ราย ต่างจากตัวเลขรายงานของทางการจีน ในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนของปี 1989 ว่ามีผู้เสียชีวิตจาก ‘เหตุปราบจลาจลต่อต้านการปฎิวัติ’ เพียงไม่กี่ร้อยคน เป็นพลเรือนราว 200 คนและทหารอีกจำนวนหนึ่ง

 

มิถุนายน วันต้องห้ามสำหรับรัฐบาลจีน

TOS06509.jpg

การทำลายความทรงจำประชาชนถูกบงการโดยรัฐบาลจีนด้วยข้ออ้างเรื่องสถานภาพประเทศและความมั่นคง ในขณะที่รัฐบาลจีนเองปฏิเสธความรุนแรง และการกระทำในเชิงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้น

 

“เหตุการณ์นั้นเป็นความวุ่นวายทางการเมือง และรัฐบาลกลางได้ดำเนินนโยบายที่ถูกต้องแล้วในการยุติความวุ่นวาย” 

 

พล.อ.เว่ย เฟิ่งเหอ กล่าวตอบโต้ในการประชุมด้านความมั่นคงที่สิงคโปร์ ทั้งเสริมอีกว่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา จีนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นเพราะมาตรการในตอนนั้นทำให้จีนพัฒนาและมีความมั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน ภายหลังเหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน 1989 เจ้าหน้าที่จีนไม่ออกมาแสดงความรับผิดชอบ หรือยอมรับความผิดพลาดในการใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมอีกเลย 

 

รัฐบาลจีนสั่งห้ามไม่ให้ประชาชนถกเถียงประเด็น 4 มิถุนายน 1989 ในพื้นที่สาธารณะ และการรำลึกถึงเหตุการณ์ในทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบันเหล่านักข่าว กลุ่มนักกิจกรรม นักเรียนนักศึกษา และนักวิชาการพยายามสื่อสารกันด้วยรหัสลับ และสร้างคำศัพท์ทางเลือกในการพูดคุย เพื่อต่อต้านการตรวจสอบจากรัฐบาลโดยหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำสุ่มเสี่ยง เช่นคำว่า 4 มิถุนา จะแทนด้วย ‘35 พฤษภา’ ‘65 เมษา’ หรือ ‘8 คูณ 8’ อย่างไรก็ตามพวกเขายังคงถูกควบคุมอย่างเข้มงวดผ่านระบบข่าวกรองที่ซับซ้อนของจีน

 

เมื่อบัญชีผู้ใช้ของพวกเขาเป็นที่น่าสงสัยและโดนลบ นั่นหมายถึงเวลาที่ต้องเสียไปในการสร้างบัญชีและเครือข่ายติดต่อขึ้นใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้กลุ่มผู้ต่อต้านไม่ควรสูญเสียพลังไปกับการต่อสู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด จินตนาการและความเฉลียวฉลาดในการสื่อสารของพวกเขาเหล่านั้น ควรนำไปใช้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่ใช่แค่ทำให้เสียงของตัวเองได้ยิน เพราะสิทธิในการแสดงออกคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี

 

มิถุนายน 2020

TOS06884.jpg

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และเตรียมรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สถานการณ์โรคระบาดส่งผลกระทบต่อประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในประเทศจีน และการรำลึกเหตุการณ์ชุมนุมจตุรัสเทียนอันเหมินภายนอกประเทศ

 

จากรายงานพบว่าสถิติการค้นหาข้อมูลภายนอกประเทศในช่วงวิกฤตโควิด 19 พุ่งสูงขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีน ประชากรจีนมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงมาตรการสะกัดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดการติดต่อสื่อสารกันระหว่างนักกิจกรรมและชาวจีนแผ่นดินใหญ่ สนับสนุนการเติบโตของเครือข่ายรำลึกเหตุการณ์จตุรัสเทียนอันเหมินออนไลน์ เหตุการณ์ของนายแพทย์หลี่ เหวินเหลียง แพทย์ชาวอู่ฮั่นที่พยายามเตือนเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่า แต่กลับถูกจำคุกและเสียชีวิตในท้ายที่สุด แสดงให้เห็นความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกที่ปราศจากการตรวจสอบล่วงหน้า การปิดกั้น และการจำกัดด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โจชัว โรเซนวิว กล่าวว่า

 

  

“เจ้าหน้าที่ฮ่องกงควรช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดงานรำลึกเหตุการณ์จตุรัสเทียนอันเหมินอย่างมีระยะห่างทางสังคม มากกว่าที่จะสั่งห้ามโดยสิ้นเชิง โรคระบาดโควิด 19 ไม่ใช่ข้ออ้างลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน” 

 

ในฮ่องกง ถึงแม้กฎหมายความมั่นคงจากทางการปักกิ่งไม่ได้ระบุข้อห้ามจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์จตุรัสเทียนอันเหมิน แต่ตำรวจอ้างความกังวลด้านสุขภาพจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในการสั่งห้ามจัดงานร่วมจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ ณ สวนสาธารณะวิกตอเรีย พาร์คเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ทั้งนี้กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกงยังยืนยันจัดงานรำลึกวันครบรอบ 4 มิถุนายนแบบส่วนตัวทางออนไลน์ โดยไม่ละเมิดข้อบังคับช่วงโควิด 19 โดยหัวข้อหลักในปีนี้ได้แก่ ความจริง ชีวิต เสรีภาพ และการต่อต้าน ภายใต้#6431Truth พร้อมตะโกนร้องเพื่อให้ยุติ ‘เผด็จการพรรคการเมืองเดียว’ต่อไปท่ามกลางการประท้วงต่อต้านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของจีน

 

ไต้หวันเรียกร้องจีนออกมาแสดงความขอโทษต่อเหตุการณ์จตุรัสเทีอนอันเหมิน 1989 พร้อมแถลงการณ์เนื่องในโอกาสวันครบรอบเหตุการณ์ให้จีนเผชิญหน้ากับความคาดหวังในสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยของคนในประเทศและนอกประเทศ และเริ่มปฏิรูปการเมือง 

 

“ทางการจีนควรเผยแพร่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ 4 มิถุนายนและกล่าวขอโทษจากใจจริง ไต้หวันเชื่อว่าผู้ดำรงตำแหน่งทั้งหลายควรกล้าที่จะแก้ไขในสิ่งที่ผิด ริเริ่มการปฎิรูปประเทศทันที และคืนอำนาจให้กับประชาชน” 

สำนักงานกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ของไต้หวันกล่าว

 TOS06585.jpg

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มมนุษยชาติไร้พรมแดน (Humanity Beyond Borders) ประเทศไทย นำโดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล จัดกิจกรรมแจกคุ้กกี้รสชานม สื่อนัยยะถึง ‘พันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance)’ หรือกลุ่มไม่เป็นทางการในอินเตอร์เน็ตของประชาชนชาวไทย ไต้หวัน และฮ่องกงผู้ต่อต้านการครอบงำของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 31 ปี จตุรัสเทียนอันเหมิน และแสดงความไม่พอใจต่อการคุกคามแม่น้ำโขงและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การรังแกชาวทิเบต และชาวอุยกูร์ รวมถึงการทำลายเสรีภาพของชาวฮ่องกง อย่างไรก็ตามภายหลังการยื่นจดหมายขอความอนุเคราะห์ไปยังสถานีตำรวจ เนติวิทย์กลับไม่ได้รับอนุญาตให้ถือป้ายสื่อความหมายต่อต้านการครอบงำจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ บริเวณหน้าสถานทูตประเทศจีน และถูกสั่งห้ามจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์จตุรัสเทียนอันเหมินด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยทางสุขภาพในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด19  

 

“การถูกปฎิเสธครั้งนี้นับว่าแปลก เพราะผมและเพื่อนๆ ได้มารำลึกเทียนอันเหมินติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว และได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ทำไมปีนี้ถึงไม่ได้ ทั้งที่เราบอกจะมากันแค่ 10 คนเท่านั้น และยืนห่างกัน 2 เมตร ข้ออ้างโควิดจึงฟังไม่ขึ้นเลย ถ้าเทียบกับปริมาณคนบนรถไฟฟ้าในตอนนี้” 

เนติวิทย์กล่าวพร้อมแสดงจุดยืน ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ’

 

ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ร่วมรำลึกในโอกาสครบรอบ 31 ปี เหตุการณ์นองเลือดจตุรัสเทียนอันเหมินด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความเสียสละ และความสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมยืนหยัดเคียงข้างนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศจีนและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งนี้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนปฏิบัติตามข้อแนะนำเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้กล้าทั้งหลาย และสร้างความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน 1989 ให้เกิดแก่ประชาชนชาวจีนโดยทั่วไป

  • ให้ความรู้แก่สาธารณะชนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุมจตุรัสเทีอนอันเหมิน 1989
  • จัดตั้งกระบวนการสอบสวนที่โปร่งใสและเป็นอิสระจากภาครัฐ และเอาผิดผู้กระทำละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • ชดเชยให้กับเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อจากเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุม1989  
  • ยุติการล่วงละเมิดและการดำเนินคดีต่อกลุ่มคนผู้รำลึกถึงเหตุการณ์และกล่าวถึงการชุมนุมประท้วงจตุรัสเทียนอันเหมิน 1989 รวมทั้งต่อกลุ่มบุคคลทั่วไปผู้แสดงออกซึ่งสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการการชุมนุมอย่างสันติ

 

การจดจำ’ ไม่เพียงทำหน้าที่ป้องกันการกระทำละเมิดสิทธิที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ยังช่วยทวงคืนความเป็นมนุษย์ของเหยื่อ ในฐานะปัจเจกชนที่เท่าเทียมและทัดเทียมเบื้องหน้าหลักสิทธิมนุษยชนสากล

 

 

ศึกษาประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศจีนและการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกเพิ่มเติมได้ที่

 

 

อ้างอิง

https://www.bbc.com/thai/international-48489932

https://www.bbc.com/thai/international-42470822

https://www.scmp.com/news/china/politics/article/3087226/why-chinese-activists-are-fighting-keep-tiananmen-square

https://www.bangkokpost.com/world/1928820/taiwan-calls-on-china-to-apologise-for-tiananmen-massacre