เหตุใดยังเกิดความรุนแรงทางดิจิทัลต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในไทยและไต้หวัน แม้มีการสมรสเท่าเทียมแล้ว? 

คำเตือนเกี่ยวกับเนื้อหา: บทความนี้มีเนื้อหากล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งอาจกระทบกระเทือนจิตใจได้ เราเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้เพื่อเป็นพยานต่อประสบการณ์ของผู้เสียหาย และเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง  

ไทยและไต้หวันมักได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในเอเชีย เนื่องจากเป็นเพียงสองชาติในภูมิภาคที่รับรองการสมรสของเพศเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ชัยชนะในการต่อสู้เพื่อสิทธิ ทำให้ผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถสมรสกันได้อย่างเท่าเทียม แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยในโลกออนไลน์ ความรุนแรงทางดิจิทัลยังคงเป็นภัยคุกคามที่บ่อนทำลายสิทธิมนุษยชนและความก้าวหน้าที่ได้มา รัฐบาลไทยและไต้หวันจึงต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน 

ไทยและไต้หวันประสบความสำเร็จด้านการสมรสเท่าเทียมเมื่อใด? 

ไต้หวันเป็นชาติแรกในเอเชียที่ผ่านกฎหมายรับรองการสมรสของเพศเดียวกันในปี 2562 นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ ในเวลาต่อมา ความสำเร็จนี้นำไปสู่การปฏิรูปหลายด้าน เช่น การอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันที่มีสัญชาติต่างกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ และสิทธิในการรับบุตรบุญธรรม จากผลสำรวจทางโทรศัพท์โดยคณะกรรมการความเท่าเทียมระหว่างเพศ พบว่า การสนับสนุนสมรสเท่าเทียมในหมู่ประชาชนเพิ่มขึ้นจาก 52.5% ในปี 2563 เป็น 69.1% ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ได้ให้การคุ้มครองจากความรุนแรงในโลกดิจิทัล 

ไทยผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 โดยถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญด้านสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จนี้ไม่ใช่จุดสิ้นสุด นักกิจกรรมยังต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในประเด็นอื่นๆ ต่อไป เช่น การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และการขาดการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย 

ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรงทางดิจิทัลอย่างไรบ้าง? 

รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล “อันตรายเกินไปที่จะเป็นตัวเอง” ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 รวบรวมข้อมูลของความรุนแรงทางดิจิทัลในหลายรูปแบบ โดยมีเป้าหมายเป็นนักกิจกรรมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ผู้ที่แสดงออกเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชน มักตกเป็นเป้าความรุนแรงจากการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน โดยการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบนอินเทอร์เน็ต (doxing) การขู่จะใช้ความรุนแรง และการใช้วาจาสร้างความเกลียดชังและต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ  

การโจมตีในลักษณะนี้ไม่ได้ยุติลงหลังการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ตรงกันข้าม ความรุนแรงบางส่วนกลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูลว่า มีกรณีที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รณรงค์ส่งเสริมให้ไทยมีการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และสนับสนุนการไม่เลือกปฏิบัติ แต่พวกเขาก็ยังคงต้องเผชิญกับการคุกคาม ผ่านเฟซบุ๊ก X และติ๊กต็อก  

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมชาวไทยที่เป็นเควียร์กล่าวว่า “เวลาที่โพสต์เรียกร้องกฎหมายให้คนสามารถเลือกคำนำหน้านามได้ ก็มักจะมีคนเข้ามาโจมตีแบบเหยียดเรา นอกจากนั้นก็ยังได้รับข้อความที่ส่งมาเพื่อขู่ เช่น ‘พวกมึงมันได้คืบจะเอาศอก หุบปากซะ แล้วอยู่เงียบ ๆ เถอะ อย่าให้กูเจอมึงนะ” 

การสมรสเท่าเทียมไม่ได้ทำให้ปัญหาการถูกผลักอยู่ชายขอบยุติลง โดยเฉพาะสำหรับบุคคลที่ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัตจากอัตลักษณ์ทับซ้อน ในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิม เยาวชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นมุสลิมยังคงถูกบังคับให้เข้าเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนสำหรับนักเรียนชายล้วน ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของ “การบำบัดแก้เพศวิถี” หลายคนต้องถูกลงโทษทางกายโดยสมาชิกในชุมชนของคนศาสนาเดียวกัน เช่น การจับโกนผมประจาน และการทุบตีในที่สาธารณะ เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย ทำให้นักกิจกรรมหลีกเลี่ยงที่จะพูดในที่สาธารณะเกี่ยวกับสิทธิของตนเอง รวมทั้งในพื้นที่ออนไลน์  

ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในไต้หวันตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรงทางดิจิทัลอย่างไร? 

รูปแบบความรุนแรงอย่างเดียวกันยังเกิดขึ้นในประเทศไต้หวัน จากการสำรวจความเห็นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในไต้หวันเกี่ยวกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยี ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อปี 2567 ชี้ว่า ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมักตกเป็นเป้าหมายการปฏิบัติมิชอบออนไลน์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไต้หวัน ยังเก็บข้อมูลกรณีของลิสเบทและแอบบี้ หญิงข้ามเพศที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงสองคน ซึ่งตกเป็นเป้าหมายการคุกคามออนไลน์ การใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบนอินเทอร์เน็ต (doxing) และการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับเพศสภาพของพวกเธอ เโดยการใช้ความรุนแรงดังกล่าวเป็นการตอบโต้ที่พวกเธอได้ออกมารณรงค์เพื่อให้ไต้หวันมีกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ 

ลิสเบทชนะคดีในศาลปกครองกลางกรุงไทเปในเดือนสิงหาคม 2567 ทำให้เธอมีสิทธิเปลี่ยนคำนำหน้าเพศตามกฎหมายโดยไม่ต้องผ่าตัด อย่างไรก็ตาม เธอกลับตกเป็นเป้าของการ doxing และการเผยแพร่ข้อมูลที่มุ่งร้ายอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำเอกสารหรือข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลที่จำแนกถึงตัวบุคคลไปเปิดเผยทางออนไลน์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าว โดยส่วนใหญ่มักมีเจตนาร้าย ลิสเบทยังตกเป็นเป้าหมายการด่าทอทางออนไลน์ เช่น มีการเรียกว่าเธอเป็นพวก “นักข่มขืนเพศชายที่มีจู๋” ในช่วงเวลาเดียวกัน แอบบี้ได้กลายเป็นคนข้ามเพศคนแรกที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2567 ทำให้เธอตกเป็นเป้าหมายการโจมตีเพิ่มขึ้นอย่างมากผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่ต่อต้านคนข้ามเพศ ได้ประสานงานกันและดำเนินปฏิบัติการรุมโจมตีเธอด้วยเนื้อหาและถ้อยคำอันเต็มไปด้วยความเกลียดชังง 

ความรุนแรงทางดิจิทัลส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างไร? 

หลายคนมองว่าความรุนแรงทางดิจิทัล “อันตรายน้อยกว่า” ความรุนแรงทางกายภาพ แต่ในความเป็นจริง ความรุนแรงทางดิจิทัลสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพจิต และกลายเป็นเครื่องมือคุกคามเพื่อปิดปากผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า หลังจากตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีในโลกดิจิทัล นักกิจกรรมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากต้องเผชิญกับภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และอาการตื่นตัวมากเกินไป 

“พวกเราถูกเลือกปฏิบัติและด่าทอในชีวิตจริงอยู่แล้ว เลยต้องหันมาพึ่งพื้นที่ออนไลน์ แต่สุดท้ายก็กลับถูกคุกคามหนักกว่าเดิม มันยิ่งทำให้เราเจ็บปวดทางจิตใจเข้าไปอีก” อาทิตยา อาษา ผู้ประสานงานเครือข่ายทอม ผู้ชายข้ามเพศ นอนไบนารี่ เพื่อความเท่าเทียม ( #TransEqual ) ในประเทศไทยกล่าว  

ในประเทศไทย มีกรณีของนักกิจกรรมหญิงข้ามเพศที่เป็นมุสลิมรายหนึ่งพยายามฆ่าตัวตาย หลังถูกขู่ฆ่าเนื่องจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของตน 

ในทำนองเดียวกัน แจ็กกี้ นักกิจกรรมนอนไบนารี่ในไต้หวัน ซึ่งได้เห็นเพื่อนนักกิจกรรมคนข้ามเพศตกเป็นเป้าของการโจมตีออนไลน์ด้วยความเกลียดชัง กล่าวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “ทุกวันนี้ พวกเรา [ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ] ต่างต้องสร้างเกราะคุ้มกันในใจ ไม่ว่าเราจะโพสต์ คอมเมนต์ หรือแชร์อะไร เราต้องคิดให้รอบคอบก่อน เพราะเผลอโพสต์อะไร [ที่อาจไม่ระวังตัว] นิดหน่อย ก็อาจทำให้เราตกเป็นเป้าการ บูลลี่หรือการคุกคามออนไลน์ได้”   

ประเทศไทยและไต้หวันมีกฎหมายคุ้มครองจากความรุนแรงทางดิจิทัลหรือไม่? 

แม้ทั้งประเทศไทยและไต้หวันจะมีกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองบุคคลจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ แต่กฎหมายเหล่านี้ยังไม่สามารถป้องกันความรุนแรงทางดิจิทัลต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้อย่างเพียงพอ 

พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ อย่างไรก็ตาม มาตรา 17 (2) ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการไม่รับคำร้องเรียนได้ โดยอ้างเหตุผลที่คลุมเครือ เช่น “หลักการทางศาสนา” หรือ “ความมั่นคงของประเทศ” ข้อจำกัดนี้ทำให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางดิจิทัลไม่สามารถยื่นร้องเรียนได้ และในปัจจุบันก็ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่คุ้มครองจากการคุกคามออนไลน์ doxing หรือการเผยแพร่ภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต 

กฎหมายที่มีอยู่ในไต้หวัน เช่น พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดทางเพศ และพระราชบัญญัติป้องกันการสะกดรอยตามและการคุกคาม มีบทบัญญัติคุ้มครองบุคคลจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ รวมถึงการสั่งลบคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกฎหมายที่ห้ามการรณรงค์ปลุกปั่นความเกลียดชัง ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ 

เดือนพฤษภาคม 2567 ไต้หวันได้เสนอร่างกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นองค์รวม แต่การพิจารณาในสภายังไม่มีความคืบหน้า และเนื่องจากยังไม่มีกฎหมายเฉพาะด้าน ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจึงมีโอกาสน้อยที่จะได้รับการเยียวยาหากตกเป็นเหยื่อของการโจมตีทางดิจิทัล 

ผู้เสียหายจากความรุนแรงทางดิจิทัลได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอหรือไม่? 

ผู้เสียหายที่แจ้งความกับตำรวจในคดีความรุนแรงทางดิจิทัล มักพบว่าเจ้าหน้าที่ไม่ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง และไม่ได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังขาดความเข้าใจด้านเพศสภาพและอัตลักษณ์ทางเพศ ส่งผลให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากลังเลหรือไม่ประสงค์ที่จะแจ้งความเมื่อเผชิญกับความรุนแรงทางออนไลน์ 

งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในไทยมักไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาความรุนแรงทางดิจิทัลที่เกิดกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และมักผลักภาระการพิสูจน์ให้กับผู้เสียหาย แม้ว่าคดีลักษณะนี้จะมีข้อจำกัดด้านเทคนิค เช่น ความยากลำบากในการสืบหาพยานหลักฐาน หรือการที่ผู้ก่อเหตุใช้นามแฝงหรือไม่เปิดเผยตัวตน และระบบยุติธรรมทางอาญาที่ไม่ตอบสนองต่อปัญหาอย่างเหมาะสม เป็นต้น ดังนั้น ข้อท้าทายเหล่านี้ จึงยิ่งซ้ำเติมความเจ็บปวดของผู้เสียหาย และส่งผลให้ผู้กระทำผิดกลับไม่ต้องรับโทษและลอยนวลจนสามารถทำการละเมิดต่อไปได้ 

ในเดือนสิงหาคม 2567 ไต้หวันได้จัดตั้งศูนย์ประมวลผลภาพทางเพศ และประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อจัดการกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในเดือนมีนาคม 2568 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกลไกเฉพาะสำหรับการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศโดยตรง 

นักกิจกรรมในไต้หวันยังแทบไม่ได้รับการสนับสนุนจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเมื่อถูกโจมตีทางดิจิทัล นีนี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงข้ามเพศ บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า เธอตกเป็นเป้าหมายของข้อความเลือกปฏิบัติจำนวนมาก โดยเฉพาะผ่านทางกล่องข้อความส่วนตัวในเฟซบุ๊ก ระหว่างการรณรงค์เพื่อผลักดันกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ประสบการณ์ของเธอคล้ายคลึงกับแอบบี้ นักกิจกรรมข้ามเพศซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักบน X ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปปี 2567 แม้ว่าทั้งสองจะแจ้งเหตุการณ์ไปยังแพลตฟอร์ม แต่ก็แทบไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ และแม้แต่กลุ่มประชาสังคมที่เชิญนีนี่ไปบรรยายก็ยังได้รับผลกระทบไปด้วย 

รัฐบาลควรดำเนินการอย่างไรเพื่อคุ้มครองผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ? 

รัฐบาลไทยและไต้หวันควรปฏิรูปรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่มีอยู่ พร้อมทั้งดำเนินแผนปฏิบัติการอย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้เกิดการเคารพ คุ้มครอง และรับรองสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รัฐบาลทั้งสองต้องจัดการกับการคุกคามที่บ่อนทำลายเสรีภาพในการแสดงออกในพื้นที่ดิจิทัลของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลายทางเพศ 

รัฐบาลไทยต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 โดยยกเลิกข้อจำกัดใดๆ ต่อการยื่นคำร้องเกี่ยวกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและการเลือกปฏิบัติ ทั้งยังต้องประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นองค์รวมเพื่อป้องกัน สอบสวน และดำเนินคดีเกี่ยวกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในโลกออนไลน์ และให้การเยียวยาและความสนับสนุนกับผู้เสียหาย 

รัฐบาลไต้หวันควรเร่งรัดการออกกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงจัดการกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ ยังควรดำเนินนโยบายที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนในการจัดการกับการรณรงค์ปลุกปั่นความเกลียดชัง ทั้งในทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยคงไว้ซึ่งความสมดุลกับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก 

การสมรสเท่าเทียมเป็นเพียงหนึ่งในหมุดหมาย แต่ยังไม่ใช่ปลายทาง ตราบใดที่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่สามารถแสดงออกและรณรงค์เพื่อสิทธิของตนเองในพื้นที่ดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องหวาดกลัว การต่อสู้ของเรายังไม่อาจหยุดลงได้ ทางการไทยและไต้หวันไม่อาจอ้างเหตุผลใดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ พวกเขาต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อ #ทำให้เกิดความปลอดภัยออนไลน์สำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 

ปฏิบัติการที่เรียกร้อง: 

เราสามารถร่วมมือกันสร้างสรรค์อนาคตซึ่งทำให้พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน แต่เราจำเป็นต้องเข้าใจถึงสิทธิของตนเอง เพื่อให้สามารถปกป้องสิทธิเหล่านั้นได้ 

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทางออนไลน์ 

ลงชื่อเพื่อเข้าเรียนหลักสูตรออนไลน์ของเรา 

ค้นหาแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางดิจิทัลได้ที่::  https://securitylab.amnesty.org/digital-resources/ 

ปกป้องเสรีภาพการแสดงออก

สิทธิของบุคคลทุกคนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิในระดับสากลที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ

สนับสนุนความเท่าเทียม

เราทุกคนต้องได้รับการปกป้องจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการแสดงออกตามอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศและเพศวิธี ภายใต้หลักการด้านสิทธิมนุษยชน