แอมเนสตี้เกาหลีใต้ มอบรางวัลพิเศษเพื่อเป็นเกียรติแก่ ‘คิม บก-ดอง’ อดีตหญิงบำเรอและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน

20 พฤษภาคม 2563

Amnesty International

Photo : My name is KIM Bok-dong

 

แอมเนสตี้ เกาหลีใต้ มอบรางวัลพิเศษเพื่อเป็นเกียรติแก่ ‘คิม บก-ดอง’ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนหญิงชาวเกาหลีใต้ ผู้ถูกพรากจากหมู่บ้านและถูกบังคับให้เป็น‘หญิงบำเรอ’ โดยกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

 

"คิม บก-ดอง ไม่เคยยอมแพ้ต่อความพยายามที่จะทำให้มั่นใจว่า ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานที่เธอเคยได้รับ จะต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำกับคนอื่นๆ อีก จนถึงวันที่เธอจากโลกนี้ไป"

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ เกาหลีใต้ กล่าว

 

คิม บก-ดอง เสียชีวิตในวัย 93 ปี เมื่อเดือนมกราคม 2562 เราขอชวนอ่านบทสัมภาษณ์ของเธอในปี 2555 เพื่อทำความรู้จักกับเธอ แรงบันดาลใจ และการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของเธอให้มากขึ้น

 

Screen Shot 2563-05-20 at 14.46.18.png

ถึงผู้หญิงทั้งหลายบนโลกนี้ จงเข้มแข็ง!

 

ฉันอายุ 14 ปีตอนที่ถูกบังคับให้เป็นทาสกามารมณ์โดยรัฐบาลญี่ปุ่น พวกเขาบอกว่าจะจ้างฉันเป็นพนักงานโรงงาน แต่พวกเขากลับบังคับเราไปไต้หวัน ฮ่องกง จีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ฉันอยู่กับกองบัญชาการกองทัพบกจึงไปกับพวกเขาแทบทุกที่ ไม่มีคำใดจะบรรยายสิ่งที่พวกทหารทำกับฉัน ตั้งแต่เที่ยงจนถึงห้าโมงเย็นวันเสาร์ และแปดโมงเช้าถึงสองทุ่มวันอาทิตย์ พอสิ้นวัน ฉันไม่สามารถแม้แต่จะนั่งลงได้ หลังจากแปดปีแห่งความทรมาน พวกเขาให้ฉันทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลทหาร จุดประสงค์ของพวกเขาคือปกปิดหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับ ‘หญิงบำเรอ’ 

 

ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสงครามจบลงเมื่อไหร่ พอกลับมาบ้าน ฉันอายุ 22 ปี ฉันจะบอกคนอื่นได้อย่างไรว่าเกิดอะไรขึ้นกับฉัน พ่อแม่คอยพูดตลอดว่าให้ฉันแต่งงาน แต่ฉันทำไม่ได้ สุดท้ายฉันจึงต้องบอกพวกท่าน ในตอนแรกพวกท่านไม่เชื่อ และบอกว่าฉันโชคดีมากที่มีชีวิตรอดทั้งหมดนั่นมาได้ เวลาผ่านมาหลายทศวรรษนับตั้งแต่สงครามยุติ แต่ยังไม่มีการตอบสนองที่ชัดเจนจากญี่ปุ่น หากรัฐบาลไม่พยายามแก้ไขปัญหานี้ พวกเราจะพึ่ง ใครได้? นี่จึงเป็นเหตุผลที่เรายังต่อสู้ทุกวันนี้

 

ฉันเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวสำหรับ ‘หญิงบำเรอ’ ทันทีที่ขบวนการเริ่มต้นขึ้น ซึ่งก็คือ 20 ปีที่แล้ว วันหนึ่ง พวกเขาประกาศตามหาเรื่องราวของ ‘หญิงบำเรอ’ ผู้รอดชีวิต ฉันจึงโทรหาพวกเขา ผู้คนมาตามหาฉัน และแม้กระทั่งบริษัทกระจายเสียงก็มาหาฉันเช่นกัน ฉันจำวันที่ที่แน่นอนไม่ได้ แต่สภาเกาหลีสำหรับหญิงที่ถูกเกณฑ์เป็นทาสกามารมณ์ทหาร (Korean Council for Women Drafted for Military Sexual Slavery) ติดต่อมาหาฉันและฉันก็ร่วมมือกับพวกเขานับแต่นั้นมา ช่วงแรกมันยากมาก แต่ฉันไม่สามารถนั่งอยู่เฉย ๆ ได้ในขณะที่ผู้คนออกมาประท้วงให้พวกเราทุกวันพุธ ทุกวันนี้ฉันก็ไปประท้วงนอกสถานทูตทุกวันพุธเช่นกัน เราตะโกนเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกมายอมรับผิดและสร้างสายสัมพันธ์กันผ่านช่วงเวลานี้

 

ตอนที่ฉันได้ไปเวียนนาเพื่อเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี 1993 ผู้หญิงมากมายทั่วโลกร้องไห้ไปกับพวกเรา เพื่อพวกเรา ฉันรู้สึกขอบคุณการสนับสนุนของประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างยิ่ง พวกเขาพูดกับพวกเราเหมือนพวกเขาพร้อมจะทำงานกับเราทันที อย่างไรก็ตาม ฉันเชื่อว่าพวกเขาต้องกดดันญี่ปุ่นมากกว่านี้หากต้องการช่วยเหลือพวกเราอย่างแท้จริง นอกจากนี้ พวกเขาดูเหมือนจะไม่ทราบว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดกับหญิงชาวเกาหลีเท่านั้น ประเทศทั้งหลายที่ผู้หญิงต้องทนทรมานควรร่วมมือประท้วงการปฏิเสธของรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างกระตือรือร้นมากกว่านี้ เป็นไปได้มากว่าประเทศเหล่านั้นรับรู้ถึงอาชญากรรมเหล่านี้และรู้ว่ามันผิดศีลธรรม พวกเขาควรให้ความร่วมมือและกระตุ้นให้ญี่ปุ่นออกมายอมรับข้อแนะนำและทำให้กระบวนการ UPR (UN Universal Periodic Review Process) ครั้งล่าสุดมีความหมาย ฉันหวังว่าจะมีการลงมือทำมากกว่าคำพูดที่จะช่วยกดดันญี่ปุ่น

 

ถึงแม้ว่าเวลาได้ผ่านไปหลายทศวรรษ กลับไม่มีอะไรได้รับการแก้ไขเลย เวลาฉันได้ยินเกี่ยวกับผู้สนับสนุนจากทั่วโลก ฉันเพียงแต่รู้สึกขอบคุณและมีหวังว่าการต่อสู้นี้จะจบลงในไม่ช้านี้ ฉันหวังว่าผู้คนจะออกเสียงเรียกร้องการแก้ปัญหานี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องยืนหยัดและไม่ยอมแพ้ นอกจากนี้ ฉันขอเรียกร้องให้หญิงสาวและนักเรียนนักศึกษาร่วมต่อสู้เพื่อความยุติธรรมนี้ด้วยกัน – เสียงและการกระทำของพวกเธอจะได้รับความชื่นชมอย่างมาก

 

ตอนนี้ฉันอายุ 90 ปี แน่นอนว่าเรื่องนี้น่าเหน็ดเหนื่อย แต่ฉันอยากได้รับคำขอโทษจากรัฐบาลด้วยตนเอง ฉันไม่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อเงิน ฉันเพียงแต่อยากให้รัฐบาลญี่ปุ่นรู้สึกผิดต่อการกระทำของพวกเขา ยอมรับผิดต่อพวกเราทุกคนและเคารพสิทธิมนุษยชนของพวกเรา

 

ถึงผู้หญิงทั้งหลายบนโลกนี้ จงเข้มแข็ง ต่อต้านสงคราม และต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง

 

Screen Shot 2563-05-20 at 14.45.32.png