วันสตรีสากล 2020 : ผู้หญิงทั่วโลกยังต้องเผชิญกับอคติทางเพศ และยังต้องสู้ต่อไป

8 มีนาคม 2563

Amnesty International 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จะเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 8 มีนาคมพร้อมกับขบวนการสตรี เพื่อต่อสู้ให้เกิดการคุ้มครองและการส่งเสริมสิทธิสตรีอย่างต่อเนื่อง 

 

เนื่องจากคำพูดเหยียดเพศที่มาจากปากของนักการเมืองและผู้นำศาสนาบางคนในปัจจุบันทั่วโลก และนโยบายและการปฏิบัติที่แสดงอคติทางเพศและกดขี่ทางเพศที่เพิ่มขึ้น ผู้หญิงทั่วโลกจึงร่วมมือกันปกป้องและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่ต่อสู้มาได้จนปัจจุบัน ขบวนการสตรีมุ่งประกันให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป ในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในหลายมุมโลก ต่อต้านการจำกัดสิทธิ ผู้หญิงหลายล้านคนท้าทายวาทกรรมที่สร้างภาพอันเลวร้ายกับตนเอง และความพยายามที่จะทำลายขบวนการสตรีนิยม รวมทั้งผู้ทำงานสนับสนุนสิทธิสตรี ความเท่าเทียมทางเพศ และการให้ความรู้ทางเพศ 

 

วาทกรรมที่ปกป้องค่านิยมตามจารีตประเพณี และนิยามเกี่ยวกับครอบครัวบางประการ เริ่มเป็นที่ยอมรับ และส่งเสริมแนวทางที่ปฏิเสธความเท่าเทียมเกี่ยวกับสิทธิสตรี ปฏิเสธความจำเป็นที่จะปฏิบัติตามนโยบายบางประการเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ ปฏิเสธสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง และอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ จุดยืนในเชิงปฏิกิริยาเช่นนี้ยังมีเป้าหมายเป็นนักปกป้องและนักกิจกรรม โดยมุ่งโจมตีสถานะที่พวกเขาเป็น และงานที่พวกเขาทำ เป็นวาทกรรมที่ตรงข้ามกับความตกลงระหว่างประเทศ อันเป็นที่ยอมรับขององค์การสหประชาชาติ ในที่ประชุมโลกว่าด้วยสตรีปี 2538 ที่กรุงปักกิ่ง และปีนี้เป็นโอกาสครบ 25 ปีของการประชุมดังกล่าว รวมทั้งหลายประเทศได้ให้สัตยาบันรับรองความตกลงเหล่านี้  

 

"เรากังวลว่าวาทกรรมเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวาระทางการเมือง ซึ่งกำลังกลายเป็นยุทธศาสตร์ระดับโลกเพื่อต่อต้านสิทธิสตรี ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มีการสื่อสารข้อความแบบเดียวกัน เพื่อต่อต้านความหลากหลาย หรือปฏิเสธการมีอยู่ของความรุนแรงต่อผู้หญิง ดังที่ปรากฏในเยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ชิลี โคลอมเบีย หรือเคนยา ส่งผลให้ผู้หญิงต้องมีปฏิกิริยาที่เข้มแข็งกว่าเดิม ขบวนการสตรีนิยมจึงเข้มแข็งขึ้น และคนรุ่นใหม่มีบทบาทมากขึ้นในการต่อสู้”

อานา รีโบลลาร์ รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สเปน

 

ความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ไร้ชื่อ 

 

ผู้หญิงต้องเผชิญกับความรุนแรงเพียงเพราะความเป็นผู้หญิง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ ที่สเปนระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2546 ถึง 2 มีนาคม 2563 ผู้หญิง 1,046 คนถูกแฟน/สามี หรืออดีตแฟน/สามีสังหาร แม้หลายปีที่ผ่านมาจะมีฉันทามติทางการเมือง ที่จะดำเนินการต่อต้านภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงวัยเยาว์มากขึ้นก็ตาม แต่พรรคการเมืองบางแห่งกำลังพยายามปกปิดความรุนแรงรูปแบบนี้ ภายใต้แนวคิดความรุนแรงในครอบครัวที่ถูกตีความอย่างกว้างขวาง ทำให้ปิดบังและปฏิเสธการมีอยู่ของความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นรากเหง้าของความรุนแรงต่อผู้หญิง เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแม้มีฉันทามติระหว่างประเทศ ซึ่งยอมรับการมีอยู่ของความรุนแรงบางประเภท ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง (อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี พ.ศ. 2522) ซึ่ง 189 ประเทศให้สัตยาบันรับรอง

 

ที่เม็กซิโก ผู้หญิง 10 คนถูกสังหารในแต่ละวัน ส่งผลให้ผู้หญิงรวมตัวประท้วงต่อต้านความรุนแรง ซึ่งทางสำนักงานอัยการสูงสุดไม่เคยพิจารณาจากมุมมองทางเพศสภาพ และเป็นผลมาจากการสังหารอย่างทารุณต่อผู้หญิงที่ปรากฏเป็นข่าวคราวอย่างต่อเนื่อง 90% ของ อิตถีฆาต (femicide) ในเม็กซิโกเกิดขึ้น โดยไม่มีผู้ถูกนำตัวมาลงโทษ

 

การวีโต้คัดค้านการศึกษาที่เท่าเทียม 

 

อย่างไรก็ดี หนึ่งในประเด็นปัญหาสำคัญในหลายพื้นที่ของโลก คือการให้ความรู้เกี่ยวกับความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการแก้ปัญหาความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาพ จากความเชื่อว่าไม่มีใครมีสิทธิตัดสินใจเรื่องนี้ให้กับลูกของตนเองได้ หลายประเทศ อย่างเช่น ปารากวัย และบราซิล ห้ามสอนวิชาอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ รวมทั้งการใช้สื่อการสอนเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศและการไม่เลือกปฏิบัติ มีกฎหมายที่คล้ายคลึงกันซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาโปแลนด์ ซึ่งอาจส่งผลให้รัฐมีอำนาจควบคุมการศึกษาเช่นนี้ได้ ประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น สเปนต่างเดินหน้าไปในทิศทางนี้ โดยเฉพาะสำหรับหน่วยงานระดับภูมิภาค  

"เสรีภาพของครอบครัวต้องไม่มีน้ำหนักมากกว่าสิทธิของเด็กและเยาวชนที่จะเข้าถึงเครื่องมือ ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถจำแนกและแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นในชีวิตตนเองได้ ไม่ควรปิดกั้นการเรียนรู้และการใช้ชีวิตอย่างเสรี ปราศจากความหวาดกลัวที่จะแสดงอัตลักษณ์ของตนเอง และการหาความรู้เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศของตนเอง ทั้งหมดต้องอยู่บนพื้นฐานการตัดสินใจอย่างเสรีเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง”

 

ประธานาธิบดีปารากวัยลั่นวาจาที่จะเผาหนังสือที่มีเนื้อหาในทำนองนี้ รัฐบาลบราซิล สนับสนุนการรณรงค์ให้งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนโปแลนด์ อาจลงโทษจำคุกไม่เกินสามปีต่อผู้ที่สอนเนื้อหาในทำนองนี้ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี อย่างไรก็ดี ประชาชนในหลายสังคมได้แสดงปฏิกิริยาต่อต้านอย่างชัดเจน นักศึกษาปารากวัยได้รวมตัว เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการสอนวิชาเพศศึกษาอย่างรอบด้าน ในประเทศต่าง ๆ อย่าง เปรู แรงกดดันจากภาคประชาสังคมรวมทั้งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งผลให้ศาลฎีกาฟ้องคดีต่อผู้ที่สอดแทรกเนื้อหาทางเพศสภาพที่ขาดเหตุผลมารองรับในวิชาการที่สอนให้นักศึกษา

 

การควบคุมเหนือร่างกายผู้หญิง 

 

มีความพยายามจำกัดการสอนวิชาอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศให้กับผู้เยาว์ รวมทั้งในประเทศที่มีอัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นสูง มีกฎหมายจำคุกผู้หญิงไม่เกิน 10 ปี อย่างเช่น ในฮอนดูรัส หรือจำคุกเป็นเวลาหลาย 10 ปีในประเทศต่าง ๆ อย่าง เอลซัลวาดอร์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเอเวอลีน แฮร์นันเดซ ซึ่งถูกศาลสั่งจำคุก 30 ปีเนื่องจากแท้งลูก แม้ต่อมาศาลจะเห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ฝ่ายอัยการได้อุทธรณ์บทลงโทษ 

 

หน่วยงานต่าง ๆ อย่างเช่น Open Democracy รายงานว่าในบางประเทศ รวมทั้ง เม็กซิโก เอกวาดอร์ หรือคอสตาริกา ซึ่งอนุญาตให้มีการยุติการตั้งครรภ์โดยสมัครใจในบางกรณี แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกำลังเผยแพร่ข้อมูล “เท็จและบิดเบือน” ให้กับผู้หญิงซึ่งพยายามยุติการตั้งครรภ์ มีการขู่ผู้หญิงด้วยข้อมูลเท็จว่า การทำแท้งจะทำให้เป็นมะเร็ง มีการอ้างอย่างผิด ๆ ว่า จะทำให้แฟน/สามีของตนกลายเป็นเกย์ หรือการทำแท้งจะยิ่งทำให้แม่มีแนวโน้มทำร้ายลูกตัวเองมากขึ้น 

 

จากข้อมูลเหล่านี้ ในประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น สโลวาเกียที่เผชิญกับแรงกดดันทางสังคม ส่งผลให้รัฐสภาออกเสียงโหวตคัดค้านการบังคับให้ผู้หญิงต้องดูภาพอัลตราซาวด์ของลูกในครรภ์ตนเอง ก่อนจะยอมให้ทำแท้งได้ มาตรการนี้ถือเป็นความพยายามที่จะขัดขวางการใช้สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง และทำลายความเป็นส่วนตัวและการตัดสินใจด้วยตนเองของผู้หญิง

 

การคุกคามนักกิจกรรมและนักการเมือง 

 

นักปกป้องสิทธิสตรีมักตกเป็นเหยื่อของแนวโน้มของอคติทางเพศ ในทุกพื้นที่ทั่วโลก ผู้ซึ่งแสดงความเห็นคัดค้านยังคงตกเป็นเป้าหมายของความก้าวร้าว การข่มขู่ การกดดัน การเอาผิดทางอาญา หรือแม้กระทั่งการสังหารต่อไปเช่นเดิม พวกเขาตกเป็นเหยื่อการใส่ร้ายป้ายสีอย่างเป็นระบบ ถูกดูถูกเหยียดหยาม มีการตั้งคำถามต่อวิถีชีวิตของพวกเขา และแม้แต่การแต่งกายของพวกเขา 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงประณามกรณีต่าง ๆ อย่างเช่น เอ็บติแซม เอล แซ จากกลุ่ม Salam for Democracy and Human Rights ในบาห์เรน เธอตกเป็นเหยื่อการทำร้ายทางเพศ และถูกทุบตีอย่างทารุณจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในอิหร่าน ยาสมัน อารยานี และโมนิเรฮ์ อาหรับชาชี แม่ของเธอ ถูกศาลจำคุก 9 ปีและ 7 เดือน จากการเดินแจกดอกไม้ให้กับผู้หญิง เพื่อส่งเสริมการสวมผ้าคลุมหน้าแบบไม่บังคับ นาสริน โซทูเดฮ์ ทนายความชาวอิหร่าน ซึ่งว่าความปกป้องสิทธิผู้หญิงเหล่านี้ ถูกศาลจำคุก 38 ปี และถูกสั่งเฆี่ยน 148 ครั้ง ทั้งหมดต่างถูกกล่าวหาว่า “ก่อความวุ่นวายต่อสาธารณะ” “กระทำการอันเป็นบาปโดยปรากฏตัวในที่สาธารณะและไม่สวมใส่ฮิญาบ” และรวมทั้ง “ยุยงให้เกิดการทุจริตและการค้าประเวณี” และข้อหาอื่น ๆ

 

นักกิจกรรม อย่างเช่น คาโรลา รักเกเต กัปตันเรือซีว็อชต์ 3 ถูกดูหมิ่นโดยรัฐมนตรีมหาดไทยของอิตาลี และมีเสียงจากคนในวงการเมืองและสังคม เรียกร้องให้กระทำความรุนแรงทางเพศต่อเธอ หลังจากเธอได้นำเรือไปช่วยชีวิตผู้ลี้ภัยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นอกจากนั้น เธอยังถูกโจมตีในฐานะเป็นผู้หญิงและเนื่องจากรูปร่างหน้าตาของเธอ นักกิจกรรมผู้หญิงชาวโปแลนด์ 14 คน ต้องเผชิญกับชะตากรรมเดียวกัน หลังจากถือป้ายผ้าต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ระหว่างการประท้วง ซึ่งทำให้พวกเธอต้องเผชิญกับคนที่แสดงสัญลักษณ์ทั้งเหยียดเชื้อชาติและเผด็จการ มีเสียงตะโกนด่าพวกเธอว่า “นางแพศยา” “พวกซากเดนฝ่ายซ้าย” “กะเหรี่” และมีการทำร้ายพวกเธอด้วย สุดท้ายพวกเธอยังต้องขึ้นศาลในข้อหาขัดขวางการชุมนุมอย่างสงบ อย่างไรก็ดี จากการประท้วงของประชาชน เป็นเหตุให้มีการยกฟ้องพวกเธอจากข้อหาเหล่านี้ 

 

ผู้หญิงซึ่งเข้าร่วมในการเดินรณรงค์กรีนมาร์ช เพื่อเรียกร้องให้ออกกฎหมายรับรองการทำแท้งในอาร์เจนตินา ตกเป็นเป้าหมายการคุกคามผ่านโซเชียลมีเดียเช่นกัน หนึ่งในสามของผู้หญิงอาร์เจนตินาตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรงผ่านโซเชียลมีเดีย และถูกกล่าวหาว่า “เป็นฆาตกร” “ผู้สังหารลูก” และเป็น “นาซีสตรีนิยม” (feminazis) ที่อินเดีย หนึ่งในห้าของสมาชิกรัฐสภาและนักการเมืองหญิง ถูกโจมตีเนื่องจากการทำงานของตน ทั้งถูกด่าทอด้วยอคติทางเพศ อันเนื่องมาจากการแสดงออกของตน อันเนื่องมาจากสถานะสมรสของตน ไม่ว่าจะเป็นผู้ซึ่งมีบุตรหรือไม่ก็ตาม หรือด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความเป็นมาด้านชาติพันธุ์และศาสนาของตนเอง 

 

ความเข้มแข็งของขบวนการสตรีนิยม                 

อย่างไรก็ดี เราไม่อาจประเมินแรงกดดันของขบวนการสตรีต่ำเกินไป เมื่อประเทศต่าง ๆ อย่างซาอุดีอาระเบียยังพยายามจะล้างและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับตนเอง หลังจากภาพลักษณ์ตกต่ำเนื่องจากรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ซาอุดีอาระเบียพยายามเผยแพร่ข่าวที่แสดงถึง ความก้าวหน้าด้านสิทธิสตรี รวมทั้งการที่ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ขับรถ แม้ในความเป็นจริงจะยังคงมีการคุมขังนักกิจกรรม อย่างเช่น เลาเจน อัล-ฮัตลูล ซึ่งถูกศาลจำคุกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 จากการโพสต์วีดิโอขณะที่ตนเองขับรถ และอ้างว่าเป็นสิทธิของผู้หญิงในประเทศนี้ 

 

เสียงเพลงต่อต้านการทำร้ายทางเพศของผู้หญิงชิลี ในเพลง A Rapist in Your Path ดังก้องไปทั่วทั้งห้าทวีป และได้ยินไปถึงแม้กระทั่งในรัฐสภา อย่างเช่นในตุรกี เมื่อสมาชิกรัฐสภาหญิงพรรคฝ่ายค้านฝ่ายฆราวาสนิยม ได้นำเพลงนี้ไปร้อง เพื่อประท้วงการจับกุมผู้หญิงเจ็ดคน ซึ่งได้ร้องเพลงนี้ระหว่างการรณรงค์ในท้องถนนของกรุงอิสตันบุล จากการวิเคราะห์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีเพียง 9 จาก31 ประเทศในยุโรป ซึ่งมีกฎหมายที่นิยามว่าการข่มขืนหมายถึงการกระทำที่ปราศจากความยินยอม แต่ผู้หญิงที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ผู้เสียหาย และนักกิจกรรมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศแล้วประเทศเล่า เฉพาะในปี 2561 ไอซ์แลนด์และสวีเดนกลายเป็นประเทศที่เจ็ดและแปดในยุโรป ที่ออกกฎหมายใหม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ตามมาด้วยกรีซในปี 2562 สเปนอาจเป็นประเทศที่ 10 ในยุโรปที่นิยามอย่างชัดเจนว่า การข่มขืนหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากความยินยอม หลังจากรัฐบาลประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าจะผลักดันพระราชบัญญัติใหม่ เพื่อหาทางแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศอย่างรอบด้าน 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะเข้าร่วมการรณรงค์ในวันที่ 8 มีนาคม วันสตรีสากล ในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีเจตจำนงเพื่อแสดงความสนับสนุนต่อขบวนการสตรี และสะท้อนเสียงของพวกเขาที่จะสนับสนุนความหลากหลาย และการต่อสู้ให้เกิดการยอมรับสิทธิทั้งปวงของตน