อยากขับเคลื่อนสังคม เราทำได้หลายวิธี! พร้อมการสนับสนุนจาก Amnesty Seed Fund

25 กุมภาพันธ์ 2563

Amnesty International Thailand

อยากขับเคลื่อนสังคม เราทำได้หลายวิธี ! – บันทึก Amnesty Seed Fund เงินทุนสนับสนุนโครงการเพื่อการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน

ละครเวที นิทรรศการศิลปะ เวิร์กชอป เสวนา ค่าย การชุมนุมอย่างสันติ หรือปาร์ตี้ – เราเชื่อว่ามีหลายวิธีที่จะขับเคลื่อนเพื่อความเปลี่ยนแปลงสังคมได้

 

ในปี 2562 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ได้ก่อตั้งโครงการ Seed Fund หรือเงินทุนแรกเริ่มสำหรับนักกิจกรรมในประเด็นต่างๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาส สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อความตระหนักรู้ เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนอันปลอดภัย เพื่อชุมชนนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน


ในปีที่แล้ว แอมเนสตี้ ประเทศไทยได้สนับสนุนโครงการทั้งหมด 14 โครงการรณรงค์เพื่อผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ความรุนแรงในสถานศึกษา ละครเวทีชวนให้ใคร่ครวญความแตกต่างระหว่างรุ่น การอบรมและบรรยายให้ความรู้พื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน ค่ายอบรมสำหรับสร้างนักกิจกรรมรุ่นใหม่ๆ เสวนาเพื่อย้อนระลึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่สำคัญ จนถึงกิจกรรมที่สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนในกลุ่มชุมชนนักกิจกรรม

 

โครงการเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นแล้ว มีรูปแบบการจัดที่หลากหลายและสร้างสรรค์ เราจึงบันทึกรวบรวมไว้เพื่อเป็นกรณีศึกษา แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักกิจกรรมและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่สนใจขอทุน Seed Fund สนับสนุน

 

สร้างความเข้าใจประเด็นอันอ่อนไหวของสังคมผ่านงานศิลปะ

โรงเรียนสตรีคลุมเข่า.jpg 

ภาพ : matichon.co.th

 

เพราะศิลปะเป็นตัวกลางอันสำคัญสำหรับสื่อสาร ช่วยพลิกมุมมอง ช่วยส่งเสียงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นที่สำคัญเล่าผ่านสื่อและการแสดงที่สร้างสรรค์ Seed Fund ได้สนับสนุนงานศิลปะเพื่อประเด็นทางสังคม ได้แก่

  • นิทรรศการ #การศึกษาฆ่าฉัน จัดโดย กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เพื่อผลักดันประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน เพราะโรงเรียนควรเป็นสถานที่ให้การศึกษาและเปิดโอกาส มิใช่เป็นผู้ตัดสินและทำร้ายนักเรียนเสียเอง นิทรรศการนี้จัดที่บริเวณหอศิลป์ BACC มีนักแสดงสวมเครื่องแบบโรงเรียนมัธยม แสดงนักเรียนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นนักเรียนไม่ดี ถูกแต่งให้สภาพร่างกายให้มีสภาพเป็นร่างไร้วิญญาณ กิจกรรมนี้ถูกกล่าวถึงแพร่หลายในวงกว้างในจนติดอันดับ Trending Hashtag ยอดนิยม #การศึกษาฆ่าฉัน ในทวิตเตอร์
  • การแสดง คืนนั้นฉันรักโจชัวหว่อง โดย Qrious Theatre สร้างความตระหนักรู้และให้ผู้ชมได้สำรวจวิธีคิดอันแตกต่างของคนต่างรุ่น การปะทะทางความคิดกันในครอบครัว เลือกเล่าผ่านการแสดงละครแนวตลกร้ายอย่างแยบคายและมีอารมณ์ขัน โดยเล่าผ่านตัวละครคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ โดยมี ‘โจชัว หว่อง’วัยรุ่นชาวฮ่องกงผู้เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่เป็นอิสระจากระบบของคนรุ่นเก่า
  • การแสดง In The Queer การแสดงเดี่ยวโดยปฏิพล อัศวมหาพงษ์ โดย กลุ่มการแสดง Miss Theatre ละครเล็กที่ชวนคนดูมาสำรวจเรื่องเพศวิถี คำว่า ‘Queer’ เคยมีความหมายว่า ‘ประหลาด’ แต่บัดนี้แสดงถึงความหลากหลายทางเพศและตัวตน โดยอ้างอิงแนวคิดแบบฟรอยด์ และลากอง ชวนให้ผู้ชมเข้าใจว่ามนุษย์แต่ละคนนั้นต่างหลากหลายเฉพาะตัว และเราไม่ต้องเหมือนกัน

 

สร้างการตระหนักรู้ จุดประกายนักกิจกรรมรุ่นใหม่ ผ่านกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจ

thumbnail.jpg

เพื่อเพาะพันธุ์นักกิจกรรมรุ่นใหม่ๆ ในประเด็นต่างๆ จุดเริ่มต้นของการตระหนักรู้ในประเด็นทางสังคมอาจมาจากพลังของ ‘การเล่าเรื่อง’ และ ‘การให้ความรู้’ ผ่านโครงการการอบรม บรรยาย การเสวนา เวิร์กชอป ค่าย ได้แก่

 

  • กลุ่ม Non-binary Thailand จัดกิจกรรม All Gender Restroom ให้ความรู้ด้าน Queer Universal Design โดยชูประเด็นห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศที่เปิดกว้าง ไม่กีดกัน เล่าผ่านแนวคิดงานออกแบบเพื่อสังคม งานนี้จัดในวาระ International Non-binary People’s Day วันแห่งความภาคภูมิใจของชาวนอนไบนารี่ รวมทั้งยังสอนการใช้เครื่องมือเพื่อค้นหาตัวตนทางเพศหรือ The Unicorn Gender Tool อีกด้วย
  • โครงการ CU See Your Rights โดย สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนกับนิสิตและบุคคลทั่วไป โดยมีวิทยากรได้แก่ คุณพรรณิการ์ วานิช จากพรรคอนาคตใหม่, คุณณัฏฐา มหัทธนา และ ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์มาให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน ในงานมีบูธกิจกรรมจากกลุ่มนักกิจกรรมหลากหลายประเด็น เช่น MAYDAY, ThaiConsent มีผู้ร่วมฟังจำนวนมาก
  • งานเสวนา อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของรัฐธรรมนูญไทย: จาก 14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุลา 19 กับวิกฤติรัฐธรรมนูญไทย จัดโดย กลุ่มเครือข่ายองค์กรนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 บอกเล่าเรื่องราวความรุนแรงที่ไม่ควรถูกลืมและทำให้หายไปจากสังคม กิจกรรมนี้มีนักศึกษาสนใจล้นหลาม ร่วมฟังบรรยายถึง 357 คน
  • โครงการ Law Learning เตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และระบอบประชาธิปไตย จัดโดย กลุ่มนักกฎหมายอาสา – Law Long Beach จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่นักกฎหมายจิตอาสารุ่นใหม่ๆ เพื่อให้ได้ใช้กฎหมายปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อบริการแก่ประชาชนและชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง (ผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงความยุติธรรม)
  • "ค่ายคนรุ่นใหม่ หัวใจเพื่อผืนป่า” โดย กลุ่ม Caladenia มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จัดค่ายอบรมนักเรียนมัธยมปลายกว่า 33 คนให้ตระหนักเห็นถึงสาเหตุของปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มองเห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม การบริหารประเทศของรัฐบาล และปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ของป่าไม้ เรียนรู้ผ่านการทำ เวิร์คชอปทำกิจกรรมร่วมกันในค่าย ลงพื้นที่สำรวจป่าไม้ ทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อวิเคราะห์สาเหตุปัญหา ร่วมออกแบบ ร่วมชมหนังสั้นและพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมอง
  • Human Rights Camp โครงการสิทธิมนุษยชน คน Gen Z โดยนิสิตรายวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยนเรศวร เน้นสร้างความตระหนักรู้ให้กับนิสิตถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน หน้าที่ของตัวเอง เคารพและไม่ละเมิด ผ่านฐานกิจกรรมร่วมกัน ฟังบรรยาย เรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาเพื่อเข้าใจประเด็นนี้ในบริบทปัจจุบัน
  • TEDxKhonkaen U แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปรับฟังเท็ดทอล์กเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยมีผู้ร่วมพูดให้แรงบันดาลใจจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน นักศึกษาเอง และนักกิจกรรมในพื้นที่

 

แสดงพลังผ่านการรวมตัวเพื่อส่งเสียงอย่างสันติวิธี

79674433_134574247973616_5842284540613099520_o.jpg 

นอกเหนือไปจากการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ การนัดรวมตัวมวลชนเพื่อรำลึกว่าเรายังไม่ลืมเหตุการณ์ความไม่เป็นธรรมและความรุนแรงในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของโลก ถือเป็นการแสดงพลังแบบสันติวิธีเพื่อผลักดันความเปลี่ยนแปลง ได้แก่

 

  • บูธกิจกรรมเคลื่อนที่ ร่วมแชะร่วมแชร์ แสดงออกและยืนหยัดท้าทายต่ออำนาจ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสันติ จัดโดย องค์กรมนุษยชาติไร้พรมแดน เพื่อรำลึกเนื่องในวันครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อสาธิตให้ผู้ร่วมได้เห็นวิธีการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี ผู้เข้าร่วมจะได้แสดงบทบาทสมมติเป็น Tank Man ผู้ยืนหยัดท้าทายต่อำนาจความอยุติธรรม ความไม่เป็นประชาธิปไตย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนการพูดถึงการขับเคลื่อนประชาธิปไตยด้วยพลังเยาวชนด้วยต้นแบบจาก ‘โจชัวหว่อง’ และความจริงที่ไม่มีใครพูดถึงกับเหตุการณ์ชาวอุยกูร์ โดยได้มีการจัดกิจกรรมร่วมกับแอมเนสตี้ประเทศไทยในงาน ‘ตามสบาย Be my guest’ และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บริเวณตรงข้าม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย

 

การสร้างพื้นที่ปลอดภัย เปิดวงสนทนา สานสัมพันธ์ในชุมชนนักกิจกรรม

 123.jpg

นอกจากการสร้างให้เกิดนักกิจกรรมใหม่ๆ และการสร้างความตระหนักรู้ในสังคมวงกว้าง การรักษากลุ่มชุมชนนักกิจกรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้แน่นแฟ้นก็สำคัญ กลุ่มนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งจึงได้นำเงินทุน มาสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการสร้างพื้นที่สนทนา เกิดพื้นที่ปลอดภัย เกิดการพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต

 

  • Be Proud of Diversity ภูมิใจในความหลากหลาย​​​โดยกลุ่ม ไทPride โดยได้จัดงานอีเวนต์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เยาวชนและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) ผู้พิการ กลุ่มคนชายขอบที่ถูกสังคมเพิกเฉย ทอดทิ้ง เล่าพูดคุยถึงประเด็นที่สำคัญ เช่น ชี้ปัญหาของพรบ.คู่ชีวิต ละครเวทีและเกมเพื่อจำลองประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ ประเด็นคน Intersex พลังชุมชนเควียร์ไร้พรมแดนพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถูกบูลลี่ในวัยเด็ก และประเด็น Queer Universal Design ทำให้เกิดความเข้าใจ การยอมรับ และโอกาสแสดงตัวตนและได้รับความปลอดภัยตามหลักสิทธิมนุษยชน
  • กลุ่มพะยูนพยุง ผู้ผลักดันประเด็นสุขภาวะหรือ Well being ของนักกิจกรรมผู้หญิง จัดงานอบรมวิธีรับมือกับความเครียด และภาวะซึมเศร้า ของนักกิจกรรมเยาวชนทางการเมือง เนื่องด้วยนักกิจกรรมเยาวชนมักเกิดความเครียด เกิดภาวะซึมเศร้า ภาวะหมดไฟในการทำงาน (burn out) มีการฆ่าตัวตาย มีการก่ออาชญากรรมและการล่วงละเมิดทางเพศขึ้นในหมู่นักกิจกรรม จนทำให้บางคนล้มเลิกการทำกิจกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม งานอบรมนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยน เยียวยา รับคำปรึกษาเพื่อให้นักกิจกรรมได้ดูแลจิตใจร่างกายตนเอง สำรวจความเครียด สังเกตร่างกายและจิตใจ และฝึกทักษะการรับฟังและทักษะความเข้าอกเข้าใจ
  • ปาร์ตี้รักไร้พรมแดน…Love Without Borders Party จัดโดยกลุ่มทำงาน 1448 for All Marriage Equality จัดปาร์ตี้สังสรรค์เพื่อขยายขอบเขตการรับรู้ของผู้คนในสังคมผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การแสดง Drag Queen, Drag Kingและ Speed Dating เพื่อทำความรู้จักและผูกมิตร พูดเพื่อรณรงค์แก้ไขกฏหมาย ปพพ 1448 แลกเปลี่ยนประสบการณ์คนหลากเพศกันอย่างเป็นมิตร เล่าประสบการณ์ความรักในแบบฉบับตนเอง กิจกรรมนี้เลยขยายขอบเขตกิจกรรมทางสังคมให้สนุกแปลกใหม่ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในชุมชนความหลากหลายทางเพศ

 

 

เพื่อจุดประกายไฟแห่งความเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดโอกาส เกิดพื้นที่ใหม่ๆ ผลักดันเสริมพลังเพื่อความก้าวหน้าในสังคม และการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไม่หยุดนิ่ง โครงการ Amnesty Seed Fund จึงเกิดขึ้นมาเพื่อ ‘เป็นบันไดขั้นแรกเริ่ม’ ให้กับนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศไทย โดยองค์กรจะสนับสนุนเงินสูงสุดจำนวน 10,000 บาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อริเริ่มโครงการ และสนับสนุน ให้ข้อมูลสถานการณ์ทางสิทธิมนุษยชน ให้ความรู้ด้านแนวทางปฏิบัติสำหรับโครงการรณรงค์ ตลอดจนสื่อการเรียนการสอน ของที่ระลึก และเครือข่ายนักกิจกรรมอีกมากมาย

หากคุณเป็นส่วนที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเป็นนักกิจกรรม กลุ่มเยาวชน หรือใครผู้สนใจและเห็นความสำคัญในสิทธิมนุษยชน เปลี่ยนพลังเป็นการรณรงค์อย่างสร้างสรรค์

เพราะเราเชื่อว่า ‘การขับด้านสิทธิมนุษยชน’ ยังมีความเป็นไปได้อีกมากมายที่จะเกิดขึ้นได้ เพียงบอกเล่าให้เราฟัง แอมเนสตี้ ประเทศไทย พร้อมช่วยผลักดันและสนับสนุน เพื่อร่วมสร้างพลังความเปลี่ยนแปลง และเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เราเชื่อมั่นและหวงแหน

 

รายละเอียดการสมัคร


หมายเหตุ

หากเป็นสมาชิกแอมเนสตี้ ประเทศไทยจะสามารถสมัครเพื่อขอเข้ารับทุน Seed Fund ปี 2020 ได้และสามารถเข้าร่วมเวิร์กชอปต่างๆ ได้ฟรี รับข่าวสารด้านสิทธิมนุษยชน เลือกตั้งคณะกรรมการการทำงาน มีส่วนร่วมในการผลักดันประเด็นในการทำงาน และเงินจำนวนนี้ยังถูกนำมาใช้เพื่อส่งเสริมกิจกรรมเพื่อความเปลี่ยนแปลงแบบนี้อีก

 

ค่าสมัครสมาชิก

  • นักเรียน นักศึกษา 200 บาท
  • บุคคลทั่วไป 500 บาท