กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มอบ “ความยุติธรรม” แก่ประชาชนเสมอไป เช่นเดียวกับ ฮาคีม อัล-อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน และผู้ลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย 

21 พฤษภาคม 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 “ผมปลอดภัยแล้ว ไม่มีใครตามจับผมได้อีก” 

ฮาคีม แสดงความดีใจทางทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาในวันที่ได้รับสัญชาติออสเตรเลียอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ว่า “ผมรู้สึกปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ไม่มีใครตามจับผมได้อีกแล้ว”  

 

ฮาคีมลี้ภัยจากประเทศบาห์เรน ประเทศบ้านเกิดของเขา ไปยังประเทศออสเตรเลียเมื่อปี 2557 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในปี 2560 และอาศัยอยู่กับภรรยาที่นั่น ฮาคีมยังคงสานต่ออาชีพฟุตบอลของเขาโดยร่วมเตะกับสโมสรฟุตบอลพาสโกเวล (Pascoe Vale Football Club) ในเมืองเมลเบิร์น  

 

 

โทษจำคุก 10 ปี กับข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง 

เมื่อปี 2557 คำตัดสินของศาลบาห์เรนสั่งลงโทษจำคุกสิบปี ในข้อหาทำลายทรัพย์สินของสถานีตำรวจในช่วงเกิดเหตุประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศในปี 2555 ฮาคีมจึงตัดสินใจลี้ภัยไปประเทศออสเตรเลีย  

 

ข้อกล่าวหานั้นเป็นเท็จ ตามเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าฮาคีมทำลายทรัพย์สินสถานีตำรวจอยู่นั้น เขากำลังลงแข่งขันฟุตบอลซึ่งถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฮาคีมถูกกล่าวหาอย่างไรพยานหลักฐาน 

 

ฮาคีมเคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐทรมานระหว่างการกังขังตัวนาน 45 วัน เมื่อปี 2560 จากข้อกล่าวหาที่ว่าน้องหรือพี่ชายของฮาคีมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงรัฐบาลในเหตุการณ์อาหรับสปริงเมื่อปี 2554  

พวกเขาตีหน้าแข้งของผมอย่างรุนแรงนานกว่าสามชั่วโมง พร้อมพูดว่า เราจะทำให้กระดูกของแกหัก เราจะทำลายอนาคตของแก แกจะไม่มีวันได้เล่นฟุตบอลด้วยขาทั้งสองข้างนี้อีกต่อไป 

 

ฮาคีมเกือบถูกไทยส่งกลับประเทศบาห์เรน 

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 ฮาคีมและภรรยานั่งเครื่องบินมายังสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อมาฮันนีมูนในประเทศไทย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยกักตัวไว้โดยว่าสำนักงานองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ในประเทศออสเตรเลียแจ้งเตือนหมายแดงมา ซึ่งเป็นไปตามคำร้องขอจากทางการบาห์เรนที่ต้องการตัวฮาคีมกลับไปดำเนินคดี 

 

ฮาคีมถูกนำตัวขึ้นศาลไทยเพื่อดำเนินการส่งตัวกลับประเทศบาห์เรนตามคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของทางการบาห์เรน ฮาคีมถูกกักตัวไว้ที่เรือนจำคลองเปรมเป็นเวลา 76 วัน จนกระทั่งทางการไทยยินยอมปล่อยตัวเขากลับประเทศออสเตรเลียโดยสวัสดิภาพ 

 

กลับประเทศบาห์เรน ก็ต้องเจอกับ “กระบวนการไร้ยุติธรรม “ อยู่ดี 

 

ฮาคีมบอกผ่านทนายความในเรือนจำขณะรอผลการตัดสินศาลไทยว่า “ถ้าผมถูกส่งกลับบาห์เรน ผมต้องโดนทรมานแน่นอน ผมกลัว ผมไม่อยากตาย”  

 

การใช้กระบวนการศาลคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมืองยังเกิดขึ้นกับประชาชนคนอื่น รวมถึงคนใกล้ชิดของฮาคีมอย่างน้องหรือพี่ชายของเขาซึ่งยังคงถูกจำคุกจากการเข้าร่วมชุมนุมประท้วงจนถึงวันนี้ เช่นเดียวกับแม่ยายของเพื่อนฮาคีมซึ่งถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำทำร้ายร่างกายเพียงเพราะสหประชาชาติและสหราชอาณาจักรเข้ามาตรวจสอบการดำเนินคดีของเธอ 

 

 

แอมเนสตี้ ร่วมรณรงค์ให้ปล่อยตัว 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยไม่ส่งตัวฮาคีมกลับประเทศบาห์เรนและปล่อยตัวเขากลับประเทศออสเตรเลีย รวมถึงออก “ปฏิบัติการด่วน” หรือ Urgent Action ให้ประชาชนร่วมลงชื่อกดดันทางการไทยด้วย เพราะฮาคีมระบุไว้ว่าเขาจะถูกทรมานหรืออาจตายได้จากการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อเขา ดังนั้น การส่งตัวฮาคีมกลับประเทศบาห์เรนจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งขัดกับหลักการระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่ผลักดันกลับผู้ลี้ภัย