The Value of Life - ทำความรู้จัก "โทชิ คาซามะ"

11 มิถุนายน 2558

เรื่อง: ทรรศน หาญเรืองเกียรติ
ภาพ: กฤตธกร สุทธิกิตติบุตร
ขอบคุณข้อมูลจาก:  A day BULLETIN ฉบับที่ 284 (27 ธันวาคม-2 มกราคม 2557)

 

การลงโทษผู้ต้องหาด้วยการประหารชีวิต แม้แต่ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันว่าควรยกเลิกหรือมีต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็นของความผิดพลาดในระบบการลงโทษประหารชีวิตซึ่งยังคงมีอยู่ ดังนั้น โทชิ คาซามะ ช่างภาพมืออาชีพเชื้อสายญี่ปุ่น จึงใช้ภาพถ่ายที่ทรงพลังของเขาโน้มน้าวให้คนดูตระหนักถึงระดับของความรุนแรงที่ไม่อาจรับได้ของโทษประหารชีวิต โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 และผลงานของเขาก็ถูกนำไปขยายผลสู่การปล่อยตัวผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนกว่า 100 คน หลังพบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

 

ผมมาทำอาชีพช่างภาพในตอนแรกด้วยเหตุผลว่า… อาชีพนี้ให้ค่าตอบแทนที่สูง ซึ่งตอนแรกที่ทำก็ไม่มีใจรักในงานด้านนี้ จนกระทั่งผมได้เห็นรูปถ่ายของ โรเบิร์ต แฟรงก์ (ช่างภาพชาวอเมริกันชื่อดัง) ที่แม้แต่รูปภาพใบไม้บนถนนเขาก็สามารถแสดงความรู้สึกบางอย่างออกมาผ่านภาพถ่ายได้ เลยคิดว่าผมก็น่าจะทำอย่างนั้นได้เช่นกัน

 

สิ่งที่ได้เจอเมื่อเดินทางไปถ่ายรูปที่แอฟริกานานถึง 6 เดือน คือ… ผมเดินทางด้วยการโบกรถจากประเทศโมร็อกโกไปจนถึงประเทศเคนยา ผ่านทะเลทรายซาฮารา ดวงดาวบนท้องฟ้าของทะเลทรายซาฮาราสวยงามมากจนผมถึงกับน้ำตาไหลออกมา

 

ระหว่างอยู่แอฟริกาผมถูกจับเข้าคุกด้วยเหตุผลเพราะ…ผมเข้าไปอยู่ในแคว้น Kisangani ซึ่งตอนนั้นมีการเลือกตั้งอยู่ในบริเวณนั้น และมีข่าวออกมาว่าคนต่างชาติจะมาก่อกวนการเลือกตั้ง ทางการจึงห้ามคนต่างชาติเข้ามาในแคว้น แต่ผมไม่รู้เพราะอาศัยการเดินทางด้วยเรือโดยสาร ต่อมาผมก็ถูกปล่อยตัว โดยผู้คุมบอกให้กลับไปตามเส้นทางที่เขาบอก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าถ้าไปทางนั้นชะตาชีวิตจะเป็นอย่างไร และไหนๆก็ต้องเผชิญกับความเป็นความตายทั้งสองทางอยู่แล้ว ผมจึงตัดสินใจเดินหน้าไปต่อ

 

ผมเดินทางผ่านเขตเมืองเข้ามาเรื่อยๆ จากความช่วยเหลือของคนในพื้นที่ จนกระทั่ง…ทหารของทางการเจอตัวผม และถูกนำตัวไปที่สำนักงานแห่งหนึ่ง แต่ก็มีผู้หญิงที่เดินทางมาด้วยกันที่เพิ่งรู้จักได้ไม่กี่วันเข้าไปพูดภาษาที่ผมฟังไม่ออกกับหัวหน้าของพวกเขา จากนั้นผมถูกปล่อยตัว แต่สีหน้าของผู้หญิงคนนั้นกลับเศร้าโศกมาก ผมเชื่อว่าเธอต้องยอมเสียสละตัวเองเพื่อช่วยเหลือผม และคำพูดสุดท้ายก่อนที่เธอจะจากไปก็คือ ‘ขอเบียร์ให้ฉันสักขวด’ ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส และเบียร์ในแอฟริกาก็ถือเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างมาก ไม่สามารถหาดื่มได้ง่ายๆ

 

ที่ผมยอมเอาชีวิตไปเสี่ยงแบบนี้ไม่ใช่เรื่องของค่าตอบแทน แต่เพราะ…ความท้าทายให้กับชีวิตของตัวเอง เพราะผมเกิดที่โตเกียว และไปเติบโตอยู่ที่นิวยอร์ก ไม่เคยมีประสบการณ์ในสถานที่แบบนี้ และเป็นการพิสูจน์ว่าผมจะสามารถทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อการเป็นช่างภาพได้หรือเปล่า

 

ผมมองเส้นแบ่งของความเป็นกับความตายว่า… ถึงแม้จะต้องตายแต่ได้เลือกทางเดินของตัวเอง ผมมองว่าชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าและเปราะบาง ไม่สามารถสร้างใหม่เหมือนสิ่งของได้ เพราะชีวิตมีค่าขนาดนี้ ผมจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เสียดายเวลาที่ผ่านมา แม้สิ่งนั้นจากยากเย็นแค่ไหนก็ตาม

 

เหตุผลที่ทำให้ผมเริ่มมาถ่ายรูปนักโทษประหาร เพราะ…ผมมีโอกาสได้เข้าไปถ่ายรูปเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งในเรือนจำเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ตอนแรกผมกลัวมาก เพราะนักโทษในนั้นคือนักโทษคดีร้ายแรง ภาพในหัวของผมคือต้องไปเจอกับปีศาจร้ายที่เคยฆ่าคนตายมาแล้ว แต่เด็กคนนี้ทำให้อคติที่มีหายไปหมด ผมได้จับมือและกอดเขาไว้ ซึ่งเขาบอกกับผมว่าเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร โดยคณะลูกขุนตัดสินให้เขาจำคุกตลอดชีวิต แต่ผู้พิพากษาตัดสินว่าเขาต้องถูกประหารชีวิต ผมจึงอุทิศตนที่จะใช้การถ่ายภาพช่วยเหลือคนเหล่านี้ และต่อมาผมไม่แน่ใจว่าเพราะรูปของผมหรือเปล่า แต่การยกเลิกโทษประหารชีวิตก็เริ่มเกิดขึ้นในหลายๆรัฐของสหรัฐอเมริกา

 

งานส่วนตัวของผมจะเป็นรูปขาวดำเพราะ… เมื่อคุณมองรูปถ่ายที่เป็นภาพสี คุณจะหยุดใช้จินตนาการของตัวเอง แต่รูปขาวดำจะทำให้คุณมองลึกไปกว่าสีสองสีที่เห็น อย่างรูปเก้าอี้ไฟฟ้า เราจะรู้สึกถึงความน่ากลัวได้มากกว่าการเห็นเป็นภาพสี ซึ่งคุณจะมองเพียงแค่เก้าอี้ธรรมดาสีเหลืองเท่านั้น

 

ผมเคยได้รับจดหมายฉบับหนึ่งจากเด็กที่ผมไปถ่ายรูป ข้างในเขียนว่า… เขาอยากให้ผมไปเป็นพยานในวันที่ถูกประหารชีวิตในฐานะเพื่อน ซึ่งกลายเป็นภาพสะท้อนกลับมาว่า ถ้าผมปิดหูปิดตา ไม่เดินหน้าทำการเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารต่อ แล้วความเป็นคนของผมจะยังมีเหลืออยู่ไหม ผมจึงตัดสินใจทำโปรเจกต์นี้เพื่อช่วยเหลือนักโทษประหารต่อไปแม้จะต้องขายบ้านก็ตาม และตอนนี้ผมไม่สามารถรับงานถ่ายภาพเพื่อการพาณิชย์ได้อีกแล้ว เพราะเป็นการเสียเวลาในการที่จะช่วยเหลือนักโทษเหล่านี้

 

แม้แต่ตัวเพชฌฆาตเองก็เคยบอกกับผมว่า…ให้ช่วยบอกเขาที่ว่านักโทษคนนี้สติไม่ดีหรืออะไรก็ได้ เพื่อให้เขาไม่ต้องรู้สึกผิดเมื่อต้องพาตัวไปประหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครอยากให้มีการประหารชีวิตหรอก มันไม่ได้มีความสุขหรือความสนุกแม้แต่น้อย แล้วทำไมถึงต้องมีโทษประหารชีวิตกันอยู่

 

ทุกวันที่ชีวิตอยู่นี้ เราไม่รู้หรอกว่าจะตายเมื่อไหร่ แต่…โทษประหารเป็นเรื่องเดียวที่เรารู้ว่ากำลังจะถูกฆ่าโดยเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งถูกควบคุมได้ด้วยว่าจะให้เราตายแบบไหน ตายด้วยวิธีใด ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ มันเหมือนอะไรจากโลกอื่นที่เข้ามาแล้วก็ดึงหัวใจของเราออกไป

 

ผมรู้ว่ามีคนสนับสนุน และต่อต้านโทษประหาร แต่… ถ้าคุณมีโอกาสได้ไปเห็นสถานที่จริง ได้เจอกับนักโทษจริงๆ แล้ว ผมอยากรู้ว่าคุณจะมีความกล้าที่จะประหารชีวิตคนไหม ไม่ว่าจะในนามของความยุติธรรม หรือในนามที่เป็นเหยื่อที่ถูกเขากระทำมาก็ตาม คุณจะทำได้ลงหรือเปล่า จากที่ผมได้ไปพบกับครอบครัวของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ผมพบว่าไม่มีใครมีความสุขขึ้นหลังจากคนที่เขาคิดว่ากระทำความผิดได้เสียชีวิตไปแล้ว

 

จริงอยู่ที่นักโทษส่วนใหญ่จะบอกว่าตัวเองบริสุทธิ์ แต่ผมมองว่า… การที่ผมช่วยเหลือคนเหล่านี้ ก็เหมือนกับได้ช่วยเหลือตัวเอง เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงมีการฆ่ากันเกิดขึ้นตลอดเวลา เราก็อ้างกันว่าเพราะศาสนา เพราะความโกรธ ความเกลียดชัง หรือเรื่องยาเสพติด ซึ่งก็มีหลายเหตุผล แล้วถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไป อนาคตก็จะยิ่งค่อยๆแย่ลง ผมทำเรื่องนี้ก็เพราะผมมีครอบครัว มีลูก และผมอยากให้ครอบครัวได้อยู่ในสังคมที่ดีกว่านี้ ผมไม่สามารถเก็บสมาชิกไว้ในบ้านเพื่อให้ปลอดภัยได้ตลอดเวลา ในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าครอบครัว ผมจะต้องทำให้โลกนี้ปลอดภัยขึ้น ซึ่งจริงๆก็เป็น หน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องช่วยกันทำให้โลกนี้ดียิ่งขึ้น

 

 

เพิ่มเติม

HIS WAY

 

โทชิ คาซามะ ในอดีตทำงานเป็นช่างภาพอาชีพประจำอยู่ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยผลงานเด่นๆ ของเขาคือการถ่ายภาพให้กับนิตยาสารหัวดังๆ อย่าง Vogue, Time, Newsweek รวมถึงภาพปกซีดีให้กับศิลปินต่างๆ 
เขาเคยถูกทำร้ายร่างกายจนแพทย์ลงความเห็นว่าต้องพิการตลอดชีวิต แต่สุดท้ายเขาก็ฟื้นฟูร่างกายจนเป็นปกติ และบอกกับสมาชิกในครอบครัวว่าอย่าไปโกรธคนที่มาทำร้ายเขา พร้อมทั้งหวังว่าคนร้ายที่ยังจับตัวไม่ได้จะได้พบกับความรักที่จะทำให้เห็นคุณค่าของชีวิต ทั้งของตนเอง และผู้อื่น
ปัจจุบันโทชิ คาซามะ เป็นผู้อำนวยการแผนกเอเชีย องค์กร Murder Victims’ Families for Human Rights หรือเครือข่ายญาติและครอบครัวของเหยื่ออาชญากรรมที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน (www.mvfhr.org) เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับความยุติธรรมหรือต้องรับผิดในคดีที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้ก่อ

 

********

 toshi_website_2.jpg

 

โทชิ ได้เดินทางมาเมืองไทยอีกครั้ง เพื่อเดินสายพบปะผู้คนแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต

 

โดยในวันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน 2558 เวลา 13.00-15.00 น. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดปาฐกถาพร้อมนิทรรศการภาพถ่าย เรื่อง “เยาวชนแดนประหาร” โดย โทชิ คาซามะ

 

ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 8 กระทรวงยุติธรรม ศูนย์ราชการตึก A ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

 

สำรองที่นั่งได้ที่ 089-922-9585 *ปาฐกถาภาษาอังกฤษ มีล่ามแปลสำหรับภาษาไทย