เรื่องของ "อันนา" จาก "นักเรียนเลว" สู่ตัวแทนเยาวชนไทยบนเวทีระดับโลกด้านสิทธิมนุษยชน

2 เมษายน 2567

Amnesty International Thailand

“ถ้าเราเชื่อว่าเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อโลกใบนี้ได้ เราต้องทำได้แน่นอน”

คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงเลยเพราะแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคือขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความเชื่อนี้ และได้ร่วมแรงร่วมใจ สนับสนุน อาสาสมัคร ส่งเสียง เป็นสมาชิก หรือบริจาคจากทั่วโลกร่วมกัน

สิ่งที่แอมเนสตี้ ประเทศไทยได้ทำในปีที่ผ่านมาบอกว่า เราร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับปัจเจก เช่นสร้างกำลังใจให้กับเคสต่างๆ คนที่ได้รับผลกระทบ สร้างการตระหนักรู้ เพิ่มองค์ความรู้ เปิดพื้นที่และโอกาสให้คนหลากหลายกลุ่มโดยและเด็กและเยาวชน จนถึงส่งเสียงให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายกับพรรคการเมือง ภาครัฐและเวทีโลก

นอกจากนี้ ก้าวสำคัญของแอมเนสตี้ในปีนี้คือการทำงานด้านระดมทุนและตั้งเป้าให้มีผู้สนับสนุนรายย่อยในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นกำลังสำคัญให้เราได้ทำงานรณรงค์และสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป

ลองมาค้นหาร่วมกันในรายงานการทำงานของแอมเนสตี้ ประเทศไทยปีที่ผ่านมานี้ด้วยกันว่าเราสร้างแรงกระเพื่อมจากพลังคนธรรมดาได้อย่างไรบ้าง

 

เรื่องของ “อันนา”

จากนักเรียนเลวสู่ตัวแทนเยาวชนไทยบนเวทีระดับโลกด้านสิทธิมนุษยชน

นับแต่ปี 2563 ที่เยาวชนไทยออกมาชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ ซึ่งนักกิจกรรมเยาวชนที่เข้าร่วมมีเป็นจำนวนสูงมากอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ได้เก็บข้อมูล บันทึกการชุมนุมโดยสงบที่เกิดขึ้น และหนึ่งในนั้นรวมถึงกรณีของนักเรียนอายุต่ำกว่า 18 ปี (ในขณะนั้น) อย่าง อันนาอันนานนท์ ที่ถูกเจ้าหน้าที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำตัวไปกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ทั้งที่ยังไม่ได้กระทำผิดใด ๆ

กรณีของอันนาถูกกล่าวถึง รวมกับเพื่อนเด็กเยาวชนอื่นอีกหลายรายที่รัฐละเมิดสิทธิ เป็นส่วนหนึ่งในรายงานเรื่อง Child and Young Human Rights Defenders Leading Human Rights Change ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งถึงผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (UN Special Rapporteur on Human Rights Defenders) เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (UN Human Rights Council) ในเดือนมีนาคม 2567 ทั้งนี้ข้อมูลส่วนใหญ่รวบรวมจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์แล้วของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

เรื่องราวของอันนาเป็นตัวอย่างหนึ่งของนักกิจกรรมเยาวชนอีกนับไม่ถ้วน ที่มาจากครอบครัวคนธรรมดาชั้นกลาง ต้องแบกความหวังของครอบครัว และตั้งคำถามกับกฎระเบียบอันเข้มงวดและไร้สาระจากระบบการศึกษาที่เป็นอยู่  พวกเขาและเธอทั้งต้องอยู่และสู้กับโครงสร้างระบบที่ละเมิดสิทธิของตนไปพร้อม ๆ กัน

ลองมาย้อนดูเรื่องราวเส้นทางการต่อสู้และบางแง่มุมความคิดของเธอไปด้วยกัน

 

เติบโตในยุคเผด็จการทหาร

อันนา อันนานนท์นักกิจกรรมเยาวชนด้านสิทธิมนุษยชน วัย 18 ปี เกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางในเมือง ในวัยเด็กต้องเผชิญกับระบบการศึกษาที่เข้มงวดของประเทศไทย ที่บังคับให้นักเรียนต้องไว้ผมยาวตามที่กำหนด ห้ามทำสีผม ส่วนถุงเท้าก็ต้องยาวตามที่กำหนด 

กฎระเบียบเรื่องเครื่องแบบเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการพัฒนาสติปัญญา แต่กลับถูกใช้มาเป็นเวลานานปี ตั้งแต่ก่อนที่อันนาจะเกิด มันเป็นการแสดงอำนาจเหนือร่างกายของเด็ก ที่ต้องทำให้เชื่อง เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง

การใช้ชีวิตในครอบครัวคนชั้นกลางนั้นมีความคาดหวังสูง เธอต้องเรียน 7 วันต่อสัปดาห์เพื่อจะได้เข้าโรงเรียนดี ๆ และสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้

การต้องทำตามกฎเกณฑ์มากมายตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นสิ่งที่น่าหงุดหงิด เลยทำให้อยากเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ พอตอนอายุ 11 ปี มีข่าวนักกิจกรรมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งตอนนั้นเราอยู่ใต้คณะรัฐประหาร ก็สงสัยว่าทำไมเราถึงจัดการเลือกตั้งที่ยุติธรรมไม่ได้ อันนาเขียนในบทความเราถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงเพราะกล้าที่จะส่งเสียง

เมื่อเธอเรียนมัธยมปลาย ได้เห็นการใช้อำนาจของรัฐบาลทหารมากขึ้นและการเซ็นเซอร์มากมายตามมา ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างความแตกต่าง จึงเข้าร่วมกลุ่มเยาวชน นักเรียนเลว ที่เริ่มต้นในปี 2563 ให้เป็นที่พูดคุยเกี่ยวกับสิทธิของนักเรียนและสนับสนุนเด็ก ๆ ที่ประสบปัญหา

กิจกรรมของกลุ่ม นักเรียนเลวเป็นการรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการศึกษาและตั้งคำถามกับการที่ครูใช้อำนาจนิยมในโรงเรียน มีการจัดทำหนังสือ “คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน” ที่ยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานของนักเรียน และเรียกร้องให้รวมการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนไว้ในหลักสูตรของโรงเรียน ทางกลุ่มยังมีพื้นที่ปลอดภัยในการแบ่งปันความรู้สึกทั้งแบบมาด้วยตนเองหรือทางออนไลน์ จากนั้นจะแนะนำว่าสามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ไหน

การทำกิจกรรมทำให้อันนาได้รับทราบถึงข่าวร้ายและการสร้างความอับอายที่ครูกระทำต่อเด็ก จนเด็กบางคนได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจมากจนต้องฆ่าตัวตาย บางคนถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะตัดสินใจต่อสู้และย้อมผมของตนเพื่อรำลึกถึงเพื่อนนักเรียนอีกคนที่ฆ่าตัวตายหลังจากถูกโรงเรียนทำให้อับอายและลงโทษเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบเกี่ยวกับทรงผมของโรงเรียน

อันนาคิดว่าตนเป็นหนึ่งในผู้โชคดี ที่ความเป็นนักกิจกรรมและการออกมาพูดถึงสถานการณ์ แล้วครูไม่เข้ามายุ่ง แม้ครูบางคนจะกลัวงานของเธอ แต่หลายคนก็สนับสนุน และให้กำลังใจเด็ก 

แต่โชคดีไม่ได้อยู่กับเธอตลอดเวลา ก็ด้วยความเป็นนักกิจกรรมด้านการศึกษาที่หลายปัญหาเธอได้ประสบกับมันด้วยตัวเอง อันนาตกเป็นเป้าหมายของทางการและถูกตำรวจคุกคาม เคยถูกจับกุม ควบคุมตัว และอยู่ในรายชื่อเฝ้าระวัง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตามไปที่โรงเรียนและรออยู่นอกอพาร์ตเมนต์

มีอยู่ครั้งหนึ่งอันนา นัดกับเพื่อนที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งเพื่อไปนั่งอ่านและติวหนังสือเตรียมสอบ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำตัวไปกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ทั้งที่ยังไม่ได้กระทำผิดใด ๆ

เราถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงเพราะกล้าที่จะส่งเสียงพวกเขายังมีแม้กระทั่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราและครอบครัวด้วยสุดท้ายแล้วเรายังเป็นแค่เด็กวัยรุ่นและมันน่ากลัวที่ต้องใช้ชีวิตแบบนี้อันนาเปิดเผยความรู้สึกลึก ๆ

 

ถ้อยแถลงบนเวทีระดับโลก

 

 

กลางปี 2566 อันนาได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมในการสนทนาระดับนานาชาติ ในโอกาสครบรอบ 75 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 30 ปีและปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ ณ กรุงเวียนนาประเทศออสเตรีย และนครเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์

กิจกรรมในประเทศออสเตรียเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เด็กและเยาวชนนักปกป้องสิทธิทั่วโลกและข้อเสนอแนะต่อการปฏิบัติต่อนักปกป้องสิทธิพวกเขาซึ่งจัดโดยผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแมรีลอว์เลอร์ เพื่อรวบรวมจัดทำรายงานเสนอต่อการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติสมัยประชุมที่ 55 รายงานนี้ถูกเผยแพร่ในเดือนมกราคม 2567 และถูกรายงานต่อหน้าคณะมนตรีวันที่ 12 มีนาคม 2567 ในรายงาน“พวกเราไม่ได้เป็นแค่อนาคต”: ปัญหาท้าทายที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนพูดถึงสถานการณ์ในประเทศไทยและยกตัวอย่างของอันนาและเยาวชนหลาย ๆ คนต่อรัฐ

และในเจนีวา อันนาได้สื่อสารบนเวทีระดับโลกร่วมกับโวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่ ประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เลขาธิการใหญ่แอมเนสตี้ ผู้รายงานพิเศษ และผู้แทนรัฐในหัวข้อ 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในแห่งนั้น อันนาทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของนักกิจกรรมเยาวชนไทย โดยแถลงว่า สำหรับประเทศไทยนั้น สิทธิมนุษยชนภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) เห็นได้ชัดว่ายังไม่ได้มีการนำมาใช้ในทางปฏิบัติ แม้ว่าไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ประชาชนในประเทศยังคงประสบกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน โรงเรียนยังคงลงโทษนักเรียนด้วยการตี และบังคับให้ตัดผมทรงเดียวกับทหาร

สำหรับประเทศโลกที่หนึ่งหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานได้รับการปฏิบัติจนเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับประเทศไทย การเรียกร้องสิทธิเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นยังเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ การชุมนุมประท้วงโดยสงบอาจทำให้ถูกตั้งข้อหาได้ เราไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะเรียกร้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมถูกปฏิเสธจากทางการอย่างชัดเจน

อันนาถามกับที่ประชุมแห่งนั้นว่าคุณเคยประสบกับเหตุการณ์เหล่านี้บ้างหรือไม่

  • โดนแก๊สน้ำตาอย่างรุนแรงจากพื้นที่ชุมนุม
  • อยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังด้านความมั่นคงของรัฐหรือถูกคุกคามขณะที่คุณอายุต่ำกว่า 18 ปีเนื่องจากกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมือง
  • ถูกตั้งข้อหาหรือควบคุมตัวเนื่องจากใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกขณะที่คุณอายุต่ำกว่า 18 ปี

เหตุการณ์เหล่านั้นคือสิ่งที่อันนาและเพื่อน ๆ ต้องเผชิญ เมื่อออกมาเรียกร้องสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ พร้อมกันนั้นอันนา ยังแสดงความเห็นเปรียบเทียบว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นเหมือนโทรศัพท์เครื่องเก่า ซึ่งใช้งานได้ แต่ไม่สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Tiktok ได้

นั่นหมายถึงว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป การละเมิดสิทธิซับซ้อนขึ้น ดังนั้นวิธีที่จะสร้างและจัดการเพื่อให้หลักสิทธิมนุษยชนปรับตัวเท่าทันและใช้งานได้จริงก็คือ จำเป็นต้องพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนา ผสมผสาน เกิดขึ้นใหม่ และเปลี่ยนรูป เช่น เรื่องเด็กในการชุมนุม ปัญหาสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และการละเมิดทางออนไลน์ จำเป็นต้องระบุความรับผิดชอบของรัฐให้ชัดเจนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ  จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุลที่ดีขึ้น และทำให้แน่ใจว่าพื้นที่ภาคประชาสังคมจะได้รับการปกป้อง

ในตอนท้ายของถ้อยแถลง อันนาเล่าว่าได้รับคำถามมากมายว่ารู้สึกกลัวในสิ่งที่กำลังทำอยู่และผลที่ตามมาหรือไม่? ขอบอกตามตรงว่า

ฉันกลัวแต่ก็บอกตัวเองเสมอว่าไม่ควรมีเด็กคนไหนถูกละเมิดแบบที่ฉันได้เจอมาเด็กคนอื่นๆ ก็ไม่ควรมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวว่าเพื่อนของพวกเขาจะถูกจับเข้าคุกหรือไม่ และเด็กไม่ควรถูกตั้งข้อหาเพียงเพราะการออกมาพูดวิพากษ์วิจารณ์

เด็กไม่ควรมีชีวิตอยู่ภายใต้การสอดแนมโดยรัฐขอให้ฉันเป็นคนสุดท้ายที่พบเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ และต้องเป็นหน้าที่ของพวกเราและหน้าที่ของพวกคุณที่จะช่วยกันปกป้อง ส่งเสริมและเติมเต็มสิทธิมนุษยชนของทุกคน

แม้จะพูดอยู่เสมอว่ารู้สึกกลัวในสิ่งที่กำลังทำอยู่และผลที่ตามมา แต่ปัจจุบันอันนา ในฐานะนิสิต ปี 1 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันนายังคงเข้าร่วมกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ และมีความหวังว่าจะใช้ความรู้ทางกฎหมายที่เรียนมาช่วยผลักดันงานเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป

อันนาเป็นหนึ่งตัวแทนในเยาวชนที่แอมเนสตี้ ประเทศไทยทำงานด้วยเพื่อให้มีพื้นที่ในการส่งเสียงกับภาครัฐและตัวแทนประชาคมโลกเพื่อให้เด็กและเยาวชนอย่างพวกเขาได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการใช้สิทธิในประเด็นเรื่องเสรีภาพการชุมนุม และการแสดงออก

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

- Amnesty International. รายงานเรื่อง Child and Young Human Rights Defenders Leading Human Rights Change. Submission to the UN Special Rapporteur on Human Rights Defenders.

https://www.amnesty.or.th/latest/blog/1183/   อันนา: “เราถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงเพราะกล้าที่จะส่งเสียง”

https://www.amnesty.or.th/latest/blog/1115/ อันนา อันนานนท์: ถ้อยแถลงเสียงเยาวชนไทยในเวทีประชุมระดับโลก ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์