เปิดคลัง! เส้นทางการดำเนินคดีอาญาเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่นี่!

3 มีนาคม 2566

Amnesty International

เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นของทุกคนเสมอ ✊

ดังนั้นหากถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะคดีอะไรก็ตาม ไม่ต้องตกใจ ก่อนที่คดีจะถึงที่สิ้นสุดนั้นต้องผ่านขั้นตอนหลาย ๆ ขั้นตอน และตราบใดที่คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด ผู้ต้องหาจะยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสิน และต้องมีสิทธิในการประกันตัวอยู่เสมอ

และที่สำคัญ “สิทธิ” จะอยู่กับคุณเสมอไม่ว่าจะขั้นตอนไหน มาล้วงลึกในขั้นตอนการดำเนินคดีไปด้วยกันได้ในโพสต์นี้เลย (เซฟเก็บไว้ก็ได้นะ)

 

Note: ก่อนอื่น อย่าลืมท่องเอาไว้ให้ขึ้นใจว่า คุณมีสิทธิพบทนาย! คุณมีสิทธิพบทนาย! คุณมีสิทธิพบทนาย! ไม่ว่าจะเป็นคดีอะไร หรืออยู่ในชั้นไหนก็ตาม

 

 

ชั้นแรก - ชั้นตำรวจ 

หากถูกดำเนินคดี สิ่งแรกที่คุณจะได้รับคือ “หมายเรียก” โดยที่ตำรวจจะต้องส่งหมายเรียกผู้ต้องหาให้กับบุคคลที่ตำรวจจะดำเนินคดี โดยจะส่งไปที่บ้านของคนนั้นตามทะเบียนราษฎร ตำรวจจะส่งมากที่สุดสองครั้ง ถ้าไม่ไปตามนัด ตำรวจจะขอศาลออกหมายจับ

“หมายจับ” เมื่อตำรวจทำการจับกุม ตำรวจต้องแสดงหมายจับที่ออกด้วยศาลให้ผู้ถูกจับกุมเห็นพร้อมแจ้งสิทธิด้วย หลังจากการจับกุมจะต้องพาไปสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการจับกุม สิ่งนี้ระบุไว้ในประมวลกฎหมาย วิ.อาญา ด้วยเช่นเดียวกัน

 

มาตราไหนบ้าง?

  • มาตรา 57 วรรคหนึ่ง ระบุว่าการจับ ขัง จำคุก ค้นตัวหรือสิ่งของต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล
  • มาตรา 78 พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ ทำผิดซึ่งหน้า น่าก่อเหตุร้ายเกิดภยันตราย เร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายและผู้ต้องหาหรือจำเลยขะหลบหนีระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว
  • มาตรา 66 ออกหมายจับจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน หรือการไม่มาตามหมายเรียกหรือนัดมีเหตุให้สันนิษฐานว่าจะหลบหนี


นอกจากนี้ ในการจับกุม ตำรวจต้องแจ้งเหตุที่จับพร้อมแจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับทราบและแจ้งว่าจะพาไปสถานีตำรวจที่ไหน 


ในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บจากการจับกุมจะต้องได้รับการเก็บบันทึกว่าได้รับการบาดเจ็บและถูกพาไปตรวจที่โรงพยาบาล 

 

ตลอดขั้นตอนเหล่านี้ คุณมีสิทธิที่จะ:

1. พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
2. ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน
3. ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร
4. ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
5. สิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้
6. สิทธิพบและปรึกษาทนายเป็นการส่วนตัว ไม่ให้เจ้าหน้าที่สอบสวนฟังได้ 

 

ต่อมา หลังจากได้รับหมาย ขั้นต่อมาคือ การรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นกระบวนการเข้ารับฟังข้อกล่าวหาที่ถูกบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้ง ทั้งนี้จะต้องมีทนายอยู่ด้วยเสมอ และสิ่งนี้ระบุชัดเจนในประมวลกฎหมาย วิ.อาญา มาตรา 134/4 และมาตรา 135

 

ตลอดขั้นตอนเหล่านี้ คุณมีสิทธิที่จะ:

1. ในการถามคำให้การผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนต้องแจ้งสิทธิต่อผู้หาก่อน และในกรณีที่ไม่แจ้งก่อน คำให้การของผู้ต้องหาจะไม่สามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ได้ และพนักงานสอบสวนต้องไม่ทำการใดๆ ที่เป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบ ประการใดๆ เพื่อจูงใจให้ผู้ต้องหากให้การอย่างใดๆ

2. ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตน 

 

หลังจากนั้น พนักงานสอบสวน สืบสวนและทำความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง แล้วจึงส่งเรื่องไปยังอัยการ

 

**ในชั้นนี้สอบสวน อาจมีการฝากขัง โดยมีรายละเอียดตามวิ.อาญา มาตรา 87  ดังนี้

1. ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกิน 7 วัน

2. ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า6 เดือน แต่ไม่ถึง 10 ปี หรือปรับเกินกว่า 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกัน ทั้งหมดต้องไม่เกิน 48 วัน

3. ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 84 วัน 

 

 


 

 

ขั้นที่สอง - ชั้นอัยการ

ตำรวจมีความเห็นว่าจะสั่งฟ้อง ชั้นต่อมาที่จะต้องเจอ คือชั้นอัยการ ที่คุณจะต้อง: 

รายงานตัว ตำรวจจะนัดผู้ต้องหาไปที่สำนักงานอัยการประจำท้องที่ ทั้งนี้กระบวนการนี้ต้องมีทนายไปด้วยทุกครั้ง แต่ที่ผ่านมาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก มีหลายครั้งที่ถูกอัยการเลื่อน

ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ที่ผ่านมาในคดีการเมือง มีการยื่นขอให้สอบสวนพยานเพิ่มเติมและการสั่งฟ้องจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ในขั้นนี้ อัยการอาจสั่งฟ้องคดี หรือไม่ฟ้องคดีก็ได้ แต่ถ้าหากสั่งฟ้อง ขั้นตอนต่อไปที่คุณจะพบเจอ คือขั้นตอนของศาล 

 

 


 

เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กจนโต ว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญานั้นมีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา แต่รู้หรือไม่ ไม่ใช่ทุกคดีจะสิ้นสุดลงที่ชั้นศาลฎีกา แต่อาจจบลงที่ศาลอุทธรณ์ก็ได้ เช่นคดีของอัญชัญ ปรีเลิศ 

และก่อนจะไปถึงขั้นตอนที่สาม เราข้อแนะนำคำสองคำให้คุณได้เตรียมความพร้อมที่จะรู้จักกันก่อน 

“โจทก์” คือผู้ที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาล หรือผู้กล่าวหา

“จำเลย” คือผู้ที่ถูกฟ้องต่อศาล หรือผู้ต้องหา 

* ผู้ต้องหาหรือจำเลย ถือเป็น “ประธานแห่งคดี” ที่ต้องทำหน้าที่พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์กับฝ่ายศาลซึ่งถือเป็นอำนาจรัฐ การที่ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ตัวผู้ต้องสงสัยหรือจำเลย นับว่าเป็นการมอบความเท่าเทียมให้ประชาชนมีอำนาจเท่ากับรัฐ เพื่อไม่ให้เกิดการฟังความฝ่ายเดียว ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้ 

.

กับอีก 11 สิทธิ ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง. International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ข้อที่ 14 และข้อวินิจฉัยทั่วไปข้อที่ 32 นั่นคือ:

1. สิทธิในการพิจารณาอย่างเปิดเผย

2. สิทธิในการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม

3. สิทธิในการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์

4. สิทธิที่จะได้รับแจ้งโดยพลันซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพและเหตุแห่งความผิดที่ถูกกล่าวหา ในภาษาซึ่งบุคคลนั้นเข้าใจได้

5. สิทธิที่จะมีเวลา และได้รับความสะดวกเพียงพอแก่การเตรียมการเพื่อต่อสู้คดี และติดต่อกับทนายความที่ตนเลือกได้

6. ปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว

7. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้าเกินความจาเป็น

8. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าบุคคลนั้น และสิทธิที่จะต่อสู้คดีด้วยตนเอง หรือโดยผ่านผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายที่ตนเลือก

9. สิทธิที่จะซักถามพยานซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อตน และขอให้เรียกพยานฝ่ายตนมาซักถามภายใต้เงื่อนไขเดียวกับพยานซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อตน

10.สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากล่ามโดยไม่คิดมูลค่า หากไม่สามารถเข้าใจหรือพูดภาษาที่ใช้ในศาลได้

11. สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้เบิกความเป็นปรปักษ์ต่อตนเอง หรือให้รับสารภาพผิด

.

ถ้าพร้อมแล้ว ไปต่อกันเลย

 

——

 

ขั้นที่สาม - ชั้นศาลชั้นต้น

ขั้นตอนแรก คุณจะต้อง “นัดคุ้มครองสิทธิ” ก่อน เพื่อให้ผู้พิพากษาได้สอบถามข้อเท็จจริง  อธิบายข้อกฎหมาย  รูปเรื่องความเป็นมาแห่งคดีให้กับจำเลยได้เข้าใจ  ก่อนที่จำเลยจะตัดสินใจรับสารภาพหรือประสงค์จะต่อสู้คดี

ขั้นตอนที่สอง นัดพร้อมและสอบคำให้การตรวจพยานหลักฐาน โดยศาลจะนัดให้จำเลยและโจทก์มาพร้อมกันที่ศาลเพื่อแถลงพยานเอกสารและบุคคลเพื่อทำการนัดสืบพยานต่อไป

ขั้นตอนที่สาม สืบพยานโจทก์และจำเลย ขั้นตอนนี้คือการสืบพยานบุคคลของโจทก์และจำเลย โดยที่ทั้งสองฝ่ายสามารถถามค้านได้ 

อาจมีนัดไต่สวน ในกรณีที่มีการไต่สวนเรื่องอื่นๆ เช่น ไต่สวนขอปล่อยตัวชั่วคราว ไต่สวนขอถอนประกัน เป็นต้น 

ขั้นตอนสุดท้ายของศาลชั้นนี้ คือการมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

ตามประมวลกฎหมาย วิ.อาญา ระบุว่าศาลต้องอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยฟัง จำเลยจึงต้องมาฟังตามวันเวลาที่ศาลนัด ถ้าจำเลยไม่มาฟังและศาลมีเหตุสงสัยว่าจำเลยจงใจหลงหนี หรือจงใจไม่มา ศาลจะออกหมายจับจำเลย ถ้ายังไม่ได้ตัวจำเลยมาภายใน 1 เดือน นับแต่วันออกหมายจับ ศาลอาจอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นลับหลังจำเลยได้ โดยถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว

 

Note

ถึงบางกรณีที่ศาลสั่งพิจารณาโดยลับ เช่นที่ผ่านมาคดีที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  112 ศาลได้สั่งพิจารณาลับหลายคดี โดยเฉพาะในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังการรัฐประหาร หรือช่วงถ่ายโอนคดีไปยังศาลอาญาหลังยุคคสช. โดยอ้างว่า การพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยอาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 

พ.ศ. 2557 คือช่วงปีที่มีการพิจารณาคดีโดยลับในชั้นศาลทหาร โดยให้เหตุผลว่าเพราะมีเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนคดีอื่น ๆ ที่ศาลอนุญาตให้ญาติหรือผู้สังเกตการณ์เข้าห้องพิจารณาคดี ศาลก็ไม่อนุญาตให้มีการจดบันทึก รวมถึงมีระเบียบไม่ให้เขียนภาพบรรยากาศขณะพิจารณาคดีอีกด้วย

จากประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ได้มีการระบุให้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือนในความผิด 4 ฐาน ได้แก่ ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ และความผิดจากการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง

คดีของอัญชัญ ปรีเลิศ ในปี 2563 คือหนึ่งในคดีที่ถูกพิจารณาโดยลับ แม้จะเป็นการพิจารณาโดยศาลอาญา โดยระบุว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการพิจารณาคดีอาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่นเดียวกับศาลทหาร 

ปี 2565 ตัวเลขของการพิจารณาโดยลับคือ 3 คดี โดยเป็นคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ที่อนุญาตให้เฉพาะคู่ความเข้าร่วมในการพิจารณา ไม่อนุญาตให้ญาติของจำเลย, ผู้สังเกตการณ์หรือบุคคลภายนอกเข้าฟังการพิจารณา 

แม้ว่าตั้งแต่ช่วงปี 2563 ตัวเลขของคดีที่ถูกพิจารณาโดยลับจะไม่ได้สูงนัก เมื่อเทียบกับช่วงรัฐประหาร นั่นคือการเข้ามาของ รัฐบาลคสช. ที่มีการสั่งพิจารณาคดีโดยลับโดยการพิจารณาคดีโดยศาลทหาร  แต่ตามหลักสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ วันฟังคำพิพากษา ศาลจะต้องเปิดให้สาธารณะเข้าฟังคำพิพากษาได้ ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

คดี 6 ตุลา คืออีกหนึ่งคดีที่ผู้ต้องหาถูกพิจารณาโดยศาลทหาร และตามธรรมนูญศาลทหารที่บังคับใช้อยู่ ณ ขณะนั้น ในศาลทหาร “ในเวลาไม่ปกติ” ยังมีการพรากสิทธิในการแต่งตั้งทนายอีกด้วย หากถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 107-129 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และคดีที่มีข้อหาว่ากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะมีข้อหาว่าได้กระทำความผิดอย่างอื่นด้วยหรือไม่ รวมทั้งห้ามอุทธรณ์ หรือฎีกาด้วย

โดย “ในเวลาไม่ปกติ” นั้นหมายถึง ในเวลาที่มีการรบหรือสถานะสงครามหรือได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก

.
อ่านต่อ https://doct6.com/archives/2205 

https://www.amnesty.or.th/latest/blog/719/ 

 

 


 

ขั้นที่สี่ - ชั้นศาลอุทธรณ์

Note: การอุทธรณ์คือการยื่นคำร้องต่อศาลสูงคัดค้านคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลชั้นต้น

  • ถ้าเป็นคดีที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา โจทก์และจำเลยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ ภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษา 
  • หากไม่ยื่นอุทธรณ์ นั่นคือคดีถึงที่สิ้นสุดแล้ว 

 

 


 

ขั้นที่ห้า - ชั้นศาลฎีกา

หากต้องการสู้คดีต่อจากศาลอุทธรณ์ คุณต้องการยื่นฎีก

ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุด มีเขตอำนาจทั่วประเทศ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา 

 


 

 

ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://tlhr2014.com/archives/46426 

https://tlhr2014.com/archives/16032

https://tlhr2014.com/archives/11801

 

ติดตามเรื่องราวและข่าวสารเรื่องสิทธิ ๆ ได้ก่อนใคร 

แอด LINE @AmnestyThailand 

สนับสนุนการทำงาน รับจดหมายข่าวผ่านทางอีเมลของเรา ด้วยการเป็นสมาชิกแอมเนสตี้ 

ที่ https://shop.amnesty.or.th

 

#HumanRightsGeeksCommunity