สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง ใครเล่าจะหยุดได้? 'เก็ท-ตะวัน' ความทรงจำเมื่อครั้งถูกละเมิดสิทธิ และจดหมายพลังของการเขียน

17 สิงหาคม 2565

Amnesty International

ในช่วงปี 2563 เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ขึ้น ทั้งจากนักศึกษา นักเรียน และประชาชนทั่วไป การลุกขึ้นยืนหยัดของประชาชนในครั้งนี้ได้ผลิดอกออกผลไปทั่วทุกหัวระแหง เกิดเป็นชุมนุมครั้งใหญ่ทั้งในพื้นที่ใจกลางเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร กระจายออกไปในหลายจังหวัด และมีนักกิจกรรมหลายคนถูกถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นการถูกควบคุมตัว ถูกจับ หรือถูกคุกคาม ซึ่งนั่นจึงทำใหแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกปฏิบัติการด่วน (Urgent Action) เพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้กับพวกเขา รวมไปถึงแคมเปญรณรงค์ #ปล่อยเพื่อนเรา #FREERATSADON เขียนจดหมายให้กับเพื่อนของเราที่อยู่ในเรือนจำ แม้ในที่สุดพวกเขาจะได้ออกจากเรือนจำ แต่ทุกคนก็ยังมีเงื่อนไขของการประกันตัวติดมาด้วย เช่น ต้องสวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) การห้ามออกนอกเคหสถาน ห้ามโพสต์ข้อความที่เป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น หรือเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เป็นต้น 

ในปี 2565 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะสิทธิในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมยังคงเกิดขึ้นและไม่ได้มีทีท่าลดน้อยลงไป จากการเก็บข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เราพบว่าการคุกคามนักกิจกรรมที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีรูปแบบของการคุกคามที่หลากหลายมากขึ้น 

เดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงได้ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่อดอาหารประท้วง รวมไปถึงให้ยกเลิกเงื่อนไขการประกันตัวที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้แคมเปญรณรงค์เขียนจดหมายถึงราษฎรครั้งที่ 2 ก็ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง นักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนถูกจับอยู่ในเรือนจำเพียงเพราะพวกเขาออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของตนเอง และนั่นจึงทำให้เราได้พูดคุยกับ ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ เก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านประสบการณ์การถูกละเมิดสิทธิในเรือนจำ โดยทั้งสองคนได้อดอาหารเพื่อประท้วงและไม่สยบยอมต่อการถูกขังเสรีภาพ จึงเกิดเป็นบทสนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องราว ทั้งจุดเริ่มต้นของการออกมาเคลื่อนไหว ชีวิตหลังกรงขัง และพลังของการเขียน ที่ทั้งตะวันและเก็ทยืนยันว่า จดหมายเป็นกำลังใจที่สำคัญในการใช้ชีวิตในเรือนจำและทำให้ทั้งสองคนรับรู้ถึงพลังที่อยู่นอกกรงขังที่มีต่อพวกเขาว่าพวกเขานั้นไม่ได้ต่อสู้อย่างเดียวดายลำพัง

 

ทั้งสองคนได้เข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 หลังจากนั้นได้ออกมาเคลื่อนไหวในนามของกลุ่มและนักกิจกรรมอิสระ โดยจุดเริ่มต้นที่คล้ายกันคือเริ่มจากการเป็นการ์ดวีโว่ หรือ We Volunteer สำหรับตะวันเธอบอกกับเราว่าก่อนหน้านี้ตัวเธอเองไม่ได้สนใจในเรื่องของการเมืองเลย  จนกระทั่งในปี 2563 ที่เธอเริ่มเห็นว่าประเด็นทางการเมืองนั้นสำคัญ เห็นคนหลากหลายออกมาชุมนุมประท้วง สำหรับเก็ท เขาเริ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่มหาวิทยาลัยในประเด็นเรื่องสิทธิต่าง ๆ จนกระทั่งการออกแถลงการณ์แสดงความเห็นเรื่องการยุบพรรคอนาคตใหม่ หลังจากนั้นทั้งสองคนจึงได้เริ่มเป็นนักเคลื่อนไหวเต็มตัว ตะวันบอกกับเราว่าปัจจุบันเธอคือนักกิจกรรมอิสระ สำหรับเก็ทเขาขับเคลื่อนในนามกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ตะวันและเก็ท ถูกจับเข้าไปในเรือนจำ จากการออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม ทั้งสองคนได้อดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว ปลายเดือนพฤษภาคม 2565 ทั้งสองคนได้รับการประกันตัวพร้อมเงื่อนไขที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ แทบจะไม่ต่างจากการถูกกักขังในเรือนจำ

 

จุดเริ่มต้นของการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง  

 

เส้นทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตะวันเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนที่เธอคิดว่า “การเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เราไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปยุ่ง” แต่กาลเวลาได้ทำให้เธอผันแปรความเชื่อเหล่านั้นกลายเป็นความมุ่งมั่นที่จะสู้เพื่ออนาคตที่อยากเห็นคนเท่ากัน อยากเห็นกระบวนการยุติธรรมที่มันเป็นธรรมกับทุกคนและไม่เลือกปฏิบัติ เพราะเธอไม่ได้เชื่อกับระบบยุติธรรม แต่เชื่อในความเป็นพลเมืองที่จะสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบที่มันไม่ยุติธรรมได้

 

ตอนแรกไม่ได้สนใจการเมืองเลยจนกระทั่งคนเริ่มพูดถึงการเมืองมากขึ้นในช่วงปี 2563 เราก็เริ่มเอ๊ะว่ามันหมายถึงอะไร ตอนแรกก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ พอเราอ่านและเริ่มศึกษาไปเรื่อย ๆ จึงเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการบริหารงานของรัฐบาลค่ะ ประกอบกับตอนนั้นเป็นช่วงที่กลับมาอยู่ที่ไทยเพราะว่าปิดเทอม แล้วมีสถานการณ์โควิดเกิดขึ้น เราก็เลยต้องเรียนออนไลน์ที่ไทย ก็เลยได้ออกไปม็อบด้วย ตอนนั้นออกไปในฐานะมวลชนเฉย ๆ จนกระทั่งช่วงเดือนตุลาคม 2563 มันมีเหตุการณ์ที่พี่ไมค์กับเพนกวินจะโดนอายัดตัวต่อ แล้วก็โดนทำร้าย มีเหตุการณ์ทุบรถเกิดขึ้น[1] ตอนนั้นทำได้แค่ดูไลฟ์อยู่บ้าน แล้วก็รู้สึกโกรธที่ว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้เลย รู้สึกแบบอยากจะออกไป แต่ว่าก็ออกไปไม่ได้ เพราะว่าตอนนั้นเรายังขับรถไม่เป็นแล้วก็ดึกมากแล้วด้วย ก็เลยทำได้แค่ดูไลฟ์อยู่บ้าน” 

 

เพราะความรู้สึกที่ว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้เลย และเมื่อเธอไปชุมนุมเธอได้เห็นว่าการเป็นการ์ดนั้นสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้เป็นอย่างมาก และนั่นจึงทำให้เธอสมัครไปเป็นการ์ดของการชุมนุม หลังจากนั้นเราเลยไปนั่งหาดูว่ามีการ์ดที่ไหนเปิดรับสมัครบ้าง แล้วก็ไปเจอของ WeVo ก็เลยสมัคร งานแรกที่ทำถ้าจำไม่ผิดจะเป็นวันที่ 8 พฤศจิกายน ก็คืออบรมวันนั้นแล้วก็ลงมือทำวันนั้นเลย” และเธอยังได้เสริมถึงความสำคัญของการเป็นการ์ดไว้ว่า ที่เราอยากเป็นการ์ด เพราะเราเห็นการ์ดคนอื่น ๆ เขาสามารถยืนเป็นแนวกั้นและคอยช่วยเหลือคนอื่นได้ แล้วเราก็รู้สึกแบบว่า ทำไมเราช่วยได้แค่นี้ ดังนั้นเราจึงอยากจะช่วยได้มากกว่านี้

 

สำหรับเก็ทเขาเริ่มตั้งคำถามจากสิ่งที่อยู่รอบตัว และมันนำเขาไปสู่การเห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำที่มันเกิดอยู่รอบ ๆ ตัวเขา  

 

“ผมเริ่มอยากตั้งคำถามถึงสังคมว่าทำไมความเลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติมันถึงเกิดขึ้นอย่างมาก” เก็ทเป็นหนึ่งคนที่เคยมีวิธีคิดว่า คนเราแค่พยายามอย่างเดียวนั้นน่าจะพอแล้ว คนที่ไม่ประสบความสำเร็จคือคนที่พยายามไม่มากพอหรือวางแผนไม่ดีพอ แต่วันหนึ่งเมื่อเขาได้เริ่มรู้จักสังคมที่กว้างขึ้น ที่มันสร้างจุดเปลี่ยนในชีวิตให้กับเขา เขาเล่าว่า “ผมลองเลิกนั่งรถพ่อรถแม่ และลองมาใช้รถสาธารณะ ลองใช้ชีวิตด้วยตัวเอง เราจึงรู้สึกว่าในสังคมนี้ การประสบความสำเร็จได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพยายามอย่างเดียว แต่เกิดจากการมีต้นทุนที่ต่างกัน และต้นทุนนี้มันมีความเหลื่อมล้ำมาก เหลื่อมล้ำจนถึงขนาดที่ว่าบางคนพยายามมากกว่าเราด้วยซ้ำแต่เขาก็ประสบความสำเร็จได้ไม่เท่าเรา” และความเหลื่อมล้ำตรงนี้ไม่ใช่แค่เหลื่อมล้ำในเรื่องของสวัสดิการหรือสาธารณูปโภคอย่างเดียว แต่รวมไปถึงทรัพยากรทางด้านการเข้าถึงสิทธิ ซึ่งบางเรื่องไม่จำเป็นต้องเรียกร้องด้วยซ้ำเพราะมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราควรได้รับ เก็ทเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราควรจะออกมาทำอะไรสักอย่างไหม”  

 

เก็ทได้เจอกับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยมากขึ้น เขาเริ่มสงสัยว่าเพื่อนๆ อายุเท่าไหร่กัน ทำไมเขาทำอะไรได้มากกว่าเราเยอะเลย “ถ้าเปรียบเทียบกับการเล่นเกมส์ก็เหมือนกับว่าเราต้องฟอร์มเลเวลมาก่อนถึงจะไปจุดนั้นได้  เพื่อนเราที่เขาไม่มีทรัพยากรเชิงอำนาจเขายังสู้เลย เราก็เลยรู้สึกว่าเราควรสู้ด้วย”  เก็ทกล่าวทิ้งท้ายก่อนจะเล่าต่อว่าตนทำงานกิจกรรมอะไรผ่านมาบ้าง จุดเริ่มต้นเขาได้เริ่มจากในพื้นที่มหาวิทยาลัยโดยเริ่มทำประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศในมหาวิทยาลัย

 

“พอเราเริ่มขับเคลื่อนเรื่องเพศในมหาวิทยาลัย เราถึงได้รู้ว่าความคิดเราไม่เหมือนกับความคิดแบบอนุรักษ์นิยมของมหาวิทยาลัย เราคิดว่าการคุกคามทางเพศ นิยามมันไม่ใช่แค่การข่มขืน เราจึงพยายามสร้างมาตราการ (Protocol)  ว่าดูแลทุกคนก่อนที่จะเกิดเหตุ รวมถึงหลังเกิดเหตุต้องมีมาตรการสำนึกผิดและมาตรการเยียวยาต่อผู้ก่อเหตุและผู้เสียหาย”  ภายหลังที่เก็ทเริ่มขับเคลื่อนกิจกรรมนี้ก็มีเสียงสะท้อนจากฝ่ายกิจการนักศึกษาเริ่มพูดว่า “มหาวิทยาลัยเราเป็นมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ แพทย์ก็เรียนหนักอยู่แล้ว จะเอาเวลาไหนไปคุกคามทางเพศ” เก็ทมองว่ามันสะท้อนถึงแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา  

 

ชีวิตหลังกำแพงสูง... ในฐานะนักโทษทางความคิด

 

“ขนาดในเรือนจำก็โดนปรับทัศนคติ โดนจับแยกสัมภาษณ์เดี่ยว”   คำพูดจากเก็ทที่เล่าให้เราฟัง ช่วงที่เข้าไปเจอการตรวจร่างกาย และเก็ทโดนแยกไปสัมภาษณ์เดี่ยวตอนตรวจร่างกาย เก็ทเล่าว่า “นั่นคือการกันไปปรับทัศนคติ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถามคำถามที่กดดันมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นอายุเท่าไหร่ อ่านหนังสือมากเท่าไหร่ คุณอายุเท่านี้ คุณรู้อะไรมากแค่ไหน และก็เริ่มถามว่าคนไทยมาจากไหน และเริ่มเล่าประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเราก็ยอมรับว่าเราไม่ได้รู้ทุกอย่าง และถามต่อว่าการที่คุณทำอย่างนี้ คุณคิดว่าคุณเจ๋งมากหรอ คิดว่าที่ทำอยู่มันถูกต้องหรอ” 

กระบวนการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในเรือนจำที่มีต่อผู้ต้องขัง ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ เหมือนที่เก็ทได้บอกกับเราถึงความรู้สึกกดดันจากการถูกตั้งคำถามดังกล่าว สำหรับตะวันเธอเล่าว่าการถูกละเมิดสิทธิเกิดขึ้นเป็นปกติดังเช่นเรื่องพื้นฐานอย่างปัจจัย 4 ที่ผู้ต้องขังไม่ได้รับสิทธิเหล่านั้นอย่างสมควร 

 

เรื่องการรักษาพยาบาลเท่าที่เราดูก็คือบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้มีเพียงพอกับจำนวนผู้ต้องขัง เคยคุยกับทางเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานเขาบอกประมาณว่า นาน ๆ ทีจะมีผู้ต้องขังที่เป็นหมอหรือเป็นพยาบาลเข้ามา เพราะว่าเขาจะให้ผู้ต้องขังที่เป็นหมอหรือเป็นพยาบาลมาคอยจดยา แจกจ่ายยา ซึ่งตอนนั้นเราเกิดคำถามขึ้นในหัวว่าทำไมเราถึงต้องรอผู้ต้องขังที่เป็นหมอหรือเป็นพยาบาล แต่ทำไมไม่เพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ข้างในเรือนจำแทน” 

สำหรับเก็ทเขามองเห็นความเหลื่อมล้ำต่อการปฏิบัติระหว่างนักโทษทางความคิดและนักโทษคดีอื่น เก็ทเล่าว่า “ถ้าเราเป็นนักโทษการเมืองหรือนักโทษทางความคิด เราก็จะได้อภิสิทธิ์ เหนือกว่าคนอื่น ได้รับการดูแลที่มากกว่าคนอื่น หรืออย่างกรณีทะลุแก๊สที่โดนคดีการเมือง ก็ต้องดูอีกว่าเป็นคดีอะไร อย่างทะลุแก๊สก็จะถูกมองว่าเป็นคนใช้ความรุนแรง ทั้งในมุมมองของคนภายนอกและภายในเรือนจำ ก็จะไม่ได้รับการดูแลที่ไม่ได้ดีเท่านักโทษการเมืองที่โดน 112”  ซึ่งนั่นปฏิเสธไม่ได้เลยว่า         เพราะบรรทัดฐานการดูแลคนในเรือนจำที่มีความแตกต่างกันจึงนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ซึ่งบางครั้งความรู้สึกแบบนี้ถูกผลักไปให้กับผู้ต้องขังที่ต้องเป็นผู้รู้สึกผิดไปเสียเอง

 

Hunger Strikes, Strikes for Justice 

อดอาหารประท้วง เพื่อทวงยุติธรรม

 

ความไม่เป็นธรรมจากใช้กฎหมายเพื่อควบคุมสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกนั้น ส่งผลให้นักกิจกรรมหลายคนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ชีวิตหลังกรงขังที่ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ ทำให้นักกิจกรรมทางการเมืองไทยหลายคนจำเป็นต้องใช้ร่างกายของตัวเองในการเรียกร้องความไม่เป็นธรรมดังกล่าวผ่านการอดอาหารประท้วง (Hunger Strikesเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว เฉกเช่นเดียวกับบริบทก่อนหน้าในยุคของ คสช. นักกิจกรรมทางการเมืองและชาวบ้านไม่น้อยกว่า 71 คนต้องใช้วิธีการอดอาหารเพื่อเรียกร้องต่อ คสช. เพื่อแลกกับการให้ คสช. สนใจและรับฟังพวกเขาบ้าง[2] หลังจากนั้นนักกิจกรรมทางการเมืองไทยได้ใช้วิธีการนี้ในการเรียกร้องความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น นับแต่ปี 2559 เรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็น“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และอีกหลายคนมากมาย จนถึงนักกิจกรรมทางการเมืองล่าสุดที่เลือกใช้วิธีนี้ในการต่อสู้คือ บุ้งและใบปอ[3]นอกจากนี้ยังรวมถึงมวลชนข้างนอกที่ใช้วิธีอดอาหารเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำอีกด้วย[4]

 

ตะวันและเก็ทก็เป็นหนึ่งในคนที่ต้องใช้ทางเลือกนี้ในต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว เขาทั้งสองต่างทราบดีของความเสี่ยงที่ร่างกายและสภาพจิตใจต้องพบหากเลือกการอดอาหาร ซึ่งไม่มีใครอยากจะใช้วิธีนี้ในการต่อสู้ แต่เพราะการใช้ร่างกายอาจจะเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่จะทำให้ผู้มีอำนาจเห็นว่า ไม่ว่าอะไรก็ตามทั้งกรงขัง อาณาเขต หรือข้อจำกัดอื่น ๆ ก็ไม่สามารถปิดกั้นความคิดและเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขาได้  

            

วิธีการอดอาหารคือสิ่งที่แกนนำหรือนักกิจกรรมคนอื่น ๆ เคยทำมาก่อน เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นหนทางสู้ทางหนึ่งที่จะสามารถต่อสู้ได้จากการอยู่ข้างใน และทำให้เขาเห็นด้วยว่าต่อให้คุณจะจับเรามาขัง แต่สุดท้ายแล้วเราก็เลือกที่จะสู้อยู่ดี ที่เราเลือกอดอาหารแน่นอนว่าเราไม่ได้อยากตาย แต่ว่าเราอยากได้อิสรภาพ และสร้างแรงกดดันต่อระบบยุติธรรมด้วย ว่าสิ่งที่คุณทำมันไม่ใช่ความยุติธรรมจริง ๆ อีกมุมหนึ่งเราก็เข้าใจที่บอกว่าข้างบนเขาก็ไม่ได้สนใจอะไรขนาดนั้น ต่อให้เราอดอาหารจนตายเขาก็ไม่สนใจเราอยู่ดี ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเขาอาจจะไม่ได้สนใจ แต่ว่าอย่างน้อยเราก็ได้แสดงออกให้เขาเห็นว่าเรายังสู้ ต่อให้คุณจะทำยังไงก็ตาม ไม่ว่าคุณจะจับเรามาขังหรือจะทำให้เรากลัว เราก็ยังจะสู้อยู่ดี” 

สำหรับเก็ท เขาได้สะท้อนถึงช่วงเวลาที่เลือกอดอาหารถึงความกดดันที่เขาได้รับจากในเรือนจำ ไม่ว่าจะทำให้เพื่อนผู้ต้องขังได้รับความเดือดร้อนไปด้วย หรือความวุ่นวายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหากเขาเลือกที่จะอดอาหาร “ช่วงการอดอาหารสัปดาห์ที่  2 - 3 (ประมาณ 20 วัน) อาจจะเกิดผลกระทบกับราชทัณฑ์ได้ หากเก็ทป่วยตายในคุก อาจจะเกิดการจลาจลของนักโทษในเรือนจำ บางครั้งก็มีการเรียกเราไปคุยว่าให้กินข้าว

 

เงื่อนไขการประกันตัวที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

เงื่อนไขการประกันตัวของคดีนักโทษทางการเมืองเริ่มมีข้อจำกัดที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตะวันและเก็ทในกรณีของทั้งสองคนนั้นนอกจากจะมีเงื่อนไขที่เหมือนกับผู้ต้องขังทั่วไปแล้ว ยังโดนห้ามออกนอกเคหะสถานเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ยกเว้นในกรณีเจ็บป่วยมามากกว่า 1 เดือนแล้ว ซึ่งการถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบริเวณที่พักนั้นก็แทบไม่ต่างอะไรไปจากการกักขังนอกเรือนจำ และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นการพรากสิทธิและเสรีภาพ 

 

จริงๆ ไม่คิดว่าจะโดนห้ามออกจากบ้าน 24 ชั่วโมง เพราะตอนอยู่ข้างในยังคิดอยู่เลยว่าถ้าได้ออกมาจะไปดูหนังไปทำในสิ่งที่อยากทำ แต่พอมันทำไม่ได้ก็ค่อนข้างเสียใจ ตอนนั้นหลาย ๆ คนก็บอกไว้ว่าไม่ว่าเงื่อนไขอะไรให้รับ ๆ ไปก่อน อย่างน้อยให้ได้ออกไปซึ่งเราก็โอเค แต่ว่าอีกใจหนึ่งมันก็คิดว่าทำไมเราต้องรับเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก จริงอยู่ที่ว่าเราไม่ต้องอาบน้ำ 10 ขันแล้ว เราไม่ต้องอดอาหาร กินแต่นมหรือน้ำ หรือว่าเราไม่ต้องอยู่ข้างในคุกแล้ว แต่สุดท้ายการออกมาและต้องรับเงื่อนไข 24 ชั่วโมงอย่างนี้ ต้องมาโดนพรากชีวิต ไม่ใช่แค่เรื่องเสรีภาพในแสดงออกเท่านั้น แต่เป็นชีวิตทั่วไปของเรา ซึ่งเราก็ถามตัวเองว่าทำไมถึงต้องมาโดนอะไรอย่างนี้ด้วย” 

 

หลังจากครบรอบ 1 เดือนในครั้งแรก การต่อสัญญาขอปล่อยตัวชั่วคราวยังคงเงื่อนไขเดิมไว้ คือห้ามออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าจะครบกำหนดก่อน ซึ่งในเงื่อนไขดังกล่าวนั้นสำหรับตะวันและเก็ทถือว่ายาวนานที่สุด  ก่อนหน้านั้นคือ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ได้รับเงื่อนไขการประกันตัวห้ามออกนอกเคหสถาน 24 ชั่วโมงเช่นกัน นอกจากนี้ตะวันยังบอกกับเราอีกว่าเงื่อนไขการประกันตัวนี้พรากเสรีภาพของเธอในการใช้ชีวิตไปอย่างมาก ไม่ว่าการอยากจะออกไปร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ หรือการไปเที่ยวกับครอบครัว เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่เราถูกพรากไป แต่มันเป็นเรื่องของการชีวิตทั่ว ๆ ไปของเราด้วย การที่จะเอ็นจอยกับชีวิตตรงนี้มันถูกพรากไปด้วยเหมือนกัน

 

สำหรับเก็ทนั้นกำไล EM รบกวนเครื่องมือทางการแพทย์ในวิชาที่เขาเรียน ทำให้มีความจำเป็นต้องถอดกำไล EM ออก ซึ่งนั่นทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งคนมาติดตามแทบจะตลอดเวลาซึ่งแต่เดิมนั้นเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามมาโดยตลอดและเก็ทรู้สึกว่านั่นเป็นการคุกคามอย่างหนึ่ง การส่งตำรวจมาตามเป็นปกติ แม้จะมีเงื่อนไขการต้องอยู่ที่บ้าน 24 ชั่วโมงและไม่ได้ติดกำไล EM เพราะว่าเราเรียนรังสีและมันรบกวนเครื่องมือทางการแพทย์ พอไม่ใส่กำไล EM เจ้าหน้าที่ก็มาติดตามเราที่บ้าน 24 ชั่วโมง หลัง ๆ เจ้าหน้าที่คิดว่าเก็ทน่าจะรู้ว่าถูกเฝ้า บางครั้งเลยถามคนในครอบครัวว่าวันนี้เก็ทเป็นยังไงบ้าง” ดังนั้นเราจะเห็นว่าความไม่สมเหตุสมผลของการใช้กฏหมายในการเป็นเงื่อนไขของการประกันตัว ซึ่งนั่นเป็นการละเมิดสิทธิและไม่ใช่หลักการขั้นพื้นฐานของการปฏิบัติต่อผู้ต้องหานั่นเอง

 

 

จดหมาย” การทำงานของตัวอักษร

พลังจากข้างนอกสู่ในเรือนจำ  

 

สายธารแห่งการเขียนเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้คนในเรือนจำและคนข้างนอกสื่อสารหากันได้ จดหมายจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากให้กับคนที่อยู่ในเรือนจำ เก็ท เล่าให้เราฟังว่าเมื่อตัวเขาได้รับจดหมาย เขานึกถึงโครงการหนึ่งของแอมเนสตี้ที่เชื่อในพลังของการเขียน ซึ่งโครงการนั้นคือ Write For Rights หรือ เขียน เปลี่ยน โลก “ผมรู้ว่าการต่อสู้นั้นกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ ตอนนั้นก็นึกถึงโครงการเขียน เปลี่ยน โลก และเราก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมการเขียนจดหมายให้กับเพื่อนของเรา ซึ่งพอเรามาได้จดหมายเอง มันส่งพลังบวกให้มากกว่าที่เราคิดไว้เสียอีก” 

 

จดหมายที่ส่งมาจากข้างนอกสามารถเยียวยาจิตใจของเก็ทได้เป็นอย่างดี เมื่อเขาเกิดความเครียดขึ้นจากความกดดันต่าง ๆ ที่อยู่ข้างใน “แต่เชื่อไหมว่าการเยียวยาจิตใจของเก็ทในระหว่างอยู่ในเรือนจำมาจากจดหมายที่ข้างนอกส่งไปให้เรื่อยๆ”  เก็ทยังเล่าต่อว่า ในช่วง 3 วันแรกเขานอนผวาจากการโดนปรับทัศนคติในเรือนจำ เขากลัวมากถึงขนาดจิกเล็บตัวเอง และระบายกับทนายว่าเอาผมออกจากคุกได้ไหม ผมอยู่ไม่ได้  ทนายก็บอกว่าอดทนหน่อยนะ ศาลยังไม่ให้ประกันตัว แต่ตัวอักษรในหน้ากระดาษจากคนข้างนอกก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างมากที่อุ้มชูจิตใจของเก็ทให้แข็งแรงขึ้น

 

 คำพูดเล็ก ๆ น้อย ๆ จากหลาย ๆ คนมันมีพลังมาก มันทำให้เรานอนอมยิ้ม ทำให้เรานอนหลับลงได้ ส่วนหนึ่งเราคิดว่าคนข้างนอกยังไม่ลืมเรา และส่วนหนึ่งเราก็คิดว่าเราไม่ได้อยู่เดียวดาย บางครั้ง เราได้จดหมายว่าคนข้างนอกยังสู้อยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เก็ทโฟกัสมาก เพราะเคยคุยกับเพื่อนโมกหลวงว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต่อให้โดนจับไปนานแค่ไหน แต่ขออย่าให้หยุดเคลื่อนไหว”

 

สำหรับตะวันเมื่อเราถามถึงเรื่องของจดหมายว่าเธอได้รับบ้างหรือเปล่า และพลังจากจดหมายมีผลต่อใจของเธออย่างไรบ้าง เธอบอกกับเราโดยทันทีถึงความรู้สึกแรกที่เธอได้รับจดหมาย 

 

จำได้ว่าวันที่ได้รับจดหมายยังอยู่ในแดนกักตัว แล้วก็มีจดหมายเข้ามา 2 ฉบับ เป็นของอาจารย์มหาวิทยาลัยและของพี่เวหา ซึ่งพี่เวหาตอนนั้นเขาก็อยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ว่าเขาก็เขียนจดหมายมาหาเรา พอเรานั่งอ่านจดหมายวันนั้นเรารู้สึกใจฟูขึ้นมามาก มันเป็นกำลังใจทำให้เราอยู่ข้างในได้มากขึ้น เพราะว่ามันก็เป็นคำที่ให้กำลังใจเรา แล้วก็รู้สึกว่ามันดีต่อสภาพจิตใจมากค่ะ เพราะว่าการอยู่ข้างในมันจะมีช่วงเวลาที่ยากอยู่เหมือนกัน ช่วงหนึ่งที่จะต้องผ่านตรงนี้ไปได้ แต่มันผ่านไปได้เพราะจากกำลังใจที่เรามีจากข้างนอก ซึ่งเราก็ผ่านตรงนี้ไปได้จริง ๆ เราบอกกับตัวเองว่าที่เราอยู่ตรงนี้ได้เพราะกำลังใจเราดีมากกว่า” 

ในช่วงเวลาที่ยากลำบากของการต้องอดอาหารนั้น ตะวันยังได้รับจดหมายในช่วงที่เธอไปสถานพยาบาล ผู้คุมเป็นคนยื่นซองจดหมายให้กับเธอ เธอจำจดหมายฉบับนั้นได้อย่างขึ้นใจ เพราะถ้อยความในจดหมายทำให้เธอมีแรงสู้อีกครั้งหนึ่ง

 

 “อ่านแล้วมันมีกำลังใจขึ้นมามาก เพราะว่ามันเป็นจดหมายจากน้องคนหนึ่งเป็นคนต่างจังหวัด ในจดหมายเขาแต่งกลอนให้กับเรา เขียนให้กำลังใจ และก็วาดรูปดอกทานตะวันระบายสีมาให้ พออ่านแล้วมันก็มีกำลังใจขึ้นมามากจริง ๆ หลังจากออกมาเราก็ได้เขียนไปขอบคุณเขา ว่าจดหมายของน้องทำให้พี่รู้สึกดีขึ้นมากเลยนะ วันนั้นเราไปสถานพยาบาลแล้วกลับมาในเรือนจำ พออ่านปุ๊ปมันก็แรงขึ้น มีกำลังใจมากขึ้นด้วย เหมือนมันทำให้เราอยู่ต่อไปได้อีก”

ดังนั้นเราจะพบว่าการเขียนจดหมายแม้จะดูเป็นเหมือนเรื่องเล็กน้อย แต่ทว่าในหลังกรงขังนั้นจดหมายเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เป็นทั้งกำลังใจให้พวกเขามีชีวิตอยู่ในนั้น และรับรู้ว่าคนข้างนอกยืนหยัดอยู่เคียงข้างกับพวกเขาเช่นเดียวกัน จดหมายสำคัญมากขนาดที่เก็ทนั้นเก็บเอาไว้บนหัวนอนเหมือนเป็นสมบัติล้ำค่าที่มีคุณค่าต่อจิตใจ “ผมเอาจดหมายของทุกคนไปวางไว้ข้างหัวนอนด้วยซ้ำ มันคือสมบัติล้ำค่าของเราแม้ว่าเรือนจำจะยึดของเราไปทุกฉบับเลย” นอกจากนี้ยังย้ำถึงความสำคัญของจดหมายที่ไม่ใช่สำคัญสำหรับเขาเท่านั้น แต่จดหมายยังเป็นการยืนยันให้ผู้มีอำนาจเห็นว่า สายลมของการเปลี่ยนแปลงเมื่อได้พัดแล้วมิอาจหยุดลงได้เพียงเพราะคุณขังคน ๆ หนึ่งเอาไว้ 

อยากย้ำกับทุกคนว่า เขียนจดหมายเถอะ เพราะประโยคไม่กี่ประโยคมันทำให้เรามีกำลังใจในการใช้ชีวิตในคุก บางทีเราโดนกดดันจากข้างในมากๆ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นกำลังใจให้ผมนึกถึงคนที่สั่งขังว่า ขังผมแล้วการเคลื่อนไหวหยุดไหม มันก็ไม่หยุด ผมได้จดหมายว่าคนข้างนอกยังสู้อยู่ คุณขังได้แค่ตัว แต่อุดมการณ์และเจตจำนงมันไม่ได้ถูกขังไปด้วย

 

จากบทสนทนาของทั้งสองคนได้ทำให้เราเห็นว่า เส้นทางของการออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพของการแสดงออก อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์นั้น ต้องพบเจอกับอุปสรรคและความไม่เป็นธรรมอย่างไรบ้าง แม้ว่าพายุลูกใหญ่ในชีวิตของพวกเขาได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการออกข้อกล่าวหาที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่าง ๆ รวมไปทั้งเงื่อนไขการประกันตัวที่ไม่เป็นธรรมและไม่ได้สัดส่วน ซึ่งนั่นได้ทำให้เราเห็นว่า การรวมพลังของประชาชนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้น ยังคงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงกระทำได้และไม่ควรมีใครพรากเสรีภาพเหล่านี้ไป ดังที่เก็ทได้บอกเราไว้ว่า เขาไม่อยากให้คนรุ่นหลังต้องออกมาต่อสู้เช่นเดียวกับเขา การต่อสู้กับความอยุติธรรมไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากส่งต่อ แต่เขาอยากมีความสุขไปพร้อม ๆ กันกับทุกคนและคนในรุ่นต่อไปด้วย

 

หลายคนชอบเขียนจดหมายมาว่าขอโทษ ขอโทษที่สู้ได้ไม่เท่าคุณ เราไม่ได้คาดหวังให้คุณต้องออกมาสู้ให้ได้เท่าเรา เพราะการต่อสู้ของเรา เราสู้เพื่อความสุขที่เราจะได้ใช้ไปพร้อม ๆ กับทุกคน โดยที่ไม่ต้องส่งต่อให้คนรุ่นหลังต้องสู้อีกต่อไป”        



[1] เดือด รุมล้อมรถ ‘เพนกวิน ไมค์’ หวั่นถูกทำร้าย แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ นัดด่วน สน.ประชาชื่น https://www.matichon.co.th/politics/news_2420582

[2] ข้อมูลเพิ่มเติมจาก “อ่านเหตุการณ์การเมืองยุค คสช. ผ่านการอดอาหารประท้วง” https://freedom.ilaw.or.th/node/649

[3] บุ้งกับใบปอ คือนักกิจกรรมทางการเมืองที่ใช้เวลาในการอดอาหารนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยคือ 64 วันก่อนศาลจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมเงื่อนไขในการประกันตัว ในวันที่ 7 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา 

[4] รายละเอียดเพิ่มเติม อ่านได้ใน “จากไผ่ถึงตะวัน: ทบทวนปฏิบัติการ 22 ราษฎร “อดอาหาร” เพื่อประท้วง-เรียกร้อง-ต่อต้าน ให้รัฐและตุลาการมอบความยุติธรรมกลับคืน” https://tlhr2014.com/archives/43053