สิทธิมนุษยชนศึกษาในประเทศไทย กับปัญหา "ก้าวหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังสองก้าว"

10 มิถุนายน 2565

Amnesty International

 

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้จัดงานเสวนา “HRE that matters: สิทธิมนุษยชนศึกษาสำคัญไฉน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานครบรอบ 61 ปี แอมเนสตี้ ณ Palette Artspace ทองหล่อ โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ รตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai Civic Education Center) ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ตัวแทนกลุ่มครูขอสอน และภัคจิรา ทรงศิริภัทร ครูอนุบาล และตัวแทนเครือข่ายเยาวชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ดำเนินรายการโดย นาริฐา โภไคยอนันต์ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายนักกิจกรรมและสิทธิมนุษยชนศึกษา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดยในการเสวนารอบแรกเป็นการทบทวนถึงสิทธิมนุษยชนศึกษาในประเทศไทย ผ่านมุมมองของผู้ร่วมเสวนาทั้ง 4 ท่าน ซึ่งมีความเห็นน่าสนใจดังนี้

 

อรรถพลกล่าวว่า สิทธิมนุษยชนศึกษาเริ่มเป็นที่พูดถึงในประเทศไทยหลังปี 2540 ที่เริ่มมีการบรรจุเรื่องสิทธิเด็กลงไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เริ่มมีเอกสารการสอนเรื่องสิทธิเด็กที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศ และมีองค์กรอย่าง UNICEF ที่ออกมาผลักดันเรื่องการทำให้สถานศึกษาเป็นมิตรต่อเด็ก หรือ child-friendly school และมีแนวปฏิบัติที่สอดรับกับหลักการสิทธิเด็ก แม้ในช่วงนี้จะเริ่มมีการสอนเรื่องปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน แต่ก็ยังเป็นในลักษณะการท่องจำ อีกทั้งการใช้ชีวิตในโรงเรียนและกฎระเบียบต่าง ๆ ก็ยังขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนอยู่ อรรถพลชี้ว่าสิทธิมนุษยชนศึกษาไม่สามารถทำได้ผ่านการท่องตำรา แต่ต้องเกิดจากการแลกเปลี่ยน ถกเถียงอยากลึกซึ้ง และการปฏิบัติจริง

 

สิทธิมนุษยชนศึกษาในยุคปัจจุบันเริ่มเป็นที่พูดถึงอีกครั้งโดยการผลักดันของอาจารย์รุ่นใหม่ที่สอนอยู่ในเรียนเรียนจริง ๆ สิทธิมนุษยชนศึกษาในยุคปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นการท่องตำราที่เอามาจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของครูและนักเรียนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมไทยจริง ๆ ในขณะเดียวกัน เด็กนักเรียนเองก็มีความตื่นตัวในเรื่องสิทธิมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเมือง

 

อรรถพลกล่าวต่อว่า สิทธิมนุษยชนศึกษายังเป็นภาพสะท้อนของความเป็นไปในสังคมภาพใหญ่ มันจึงไม่ได้ก้าวไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นกับจังหวะของสังคมบางช่วงก็มีการพูดถึงเป็นวงกว้าง แต่บางช่วงสิทธิมนุษยชนศึกษาก็กลายเป็นคำต้องห้าม จนบางครั้งเราจำเป็นต้องเลี่ยงไปใช้คำอื่น เช่นความหลากหลาย หรือความเป็นธรรม เพื่อให้แนวคิดนี้ได้รับการโอบรับจากโรงเรียนมากขึ้น ฉะนั้น โจทย์สำคัญคือเราต้องพยายามทำให้ครู หรือบุคลากรทางการศึกษาที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาไม่รู้สึกโดดเดียว หรือสู้อยู่เพียงลำพัง อีกทั้ง ยังต้องทำให้สิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นเพียงแค่เนื้อหาในหลักสูตรการสอน แต่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในโรงเรียน เพราะหากเราสอนเด็กเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย แต่คุณครูยังคงมีอำนาจในการตัดผมนักเรียนอยู่ มันก็จะย้อนแย้งกันเองในท้ายที่สุด

 

“ปัจจัยเรื่องบรรยากาศทางสังคม การล๊อคดาวน์ของหน่วยงานภาครัฐมีผลอย่างมาก ผมคุยเรื่องนี้มาตั้งแต่สามสิบปีแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังต้องมาคุยอยู่เลย มันเป็นการยื้อกันไปมาระหว่างหน่วยงานรัฐ งานพวกนี้มันจึงต้องต่อเนื่อง หยุดไม่ได้ เราต้องทำให้ครูที่ทำงานด้านนี้เขามีเพื่อนร่วมทาง มีเครือข่ายที่ทำงานด้วยกัน และเราต้องไม่ได้อยู่ในทฤษฎีอย่างเดียว มันต้องมีการปฏิบัติด้วย” อรรถพลเสนอ “เรื่องพวกนี้มันจึงไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงหลักสูตร บังคับให้สอน แล้วจบ มันไม่ใช่ แต่มันต้องสร้างวิธีคิด (mindset) ใหม่ด้วย”

 

รตญากล่าวว่า การผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาในประเทศไทยมีอุปสรรคตลอดเวลา อยู่ในสภาวะที่ “เดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังสองก้าว” ที่ผ่านมา กสม. ได้มีการทำเนื้อหาการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ระดับประถมต้นไปจนมัธยมปลาย และมีการแปลเนื้อหาดังกล่าวเป็นภาษายาวี แต่ก็เคยมี สว. ท่านหนึ่งพูดทำนองว่า “กสม. ทำอะไร ทำไมสอนให้เด็กรู้จักแต่สิทธิ ไม่รู้จักหน้าที่ เด็กเป็นแบบนี้ทุกวันนี้เพราะ กสม.” แต่โดยส่วนตัว คิดว่ามันคงไม่ได้เป็นเพราะ กสม. ทั้งหมด มันเป็นเพราะสังคมด้วย สว. ท่านนั้นก็เลยอยากหาแพะซักคน 

 

นอกจากสิทธิมนุษยชนศึกษาในห้องเรียนแล้ว กสม. ยังให้ความสำคัญกับการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับบุคลากรภาครัฐ เช่นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ศาล นายร้อย จปร. แต่ในระหว่างที่ตนกำลังผลักดันเรื่องนี้ ก็กลับถูกย้ายไปทำตำแหน่งอื่น และคนที่เข้ามาแทนก็ไม่ได้สานต่องานดังกล่าวมากเท่าที่ควร การอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนในหมู่ราชการเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากข้าราชการเป็นเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ และในหลาย ๆ ครั้ง ข้าราชการก็มักเป็นฝ่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง 

 

ธนวรรธน์ กล่าวว่าในฐานะที่ตนเป็นครูวิชาสังคมศึกษา ซึ่งเป็นวิชาที่ใกล้เคียงกับสิทธิมนุษยชนศึกษามากที่สุด เมื่อเราสอนเรื่องสิทธิฯ เรามักจะพูดถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ว่ามันมีกี่ข้อ มีเรื่องอะไรบ้าง แต่พอตนได้เริ่มเข้ามาเป็นครูจริง ๆ จึงได้เริ่มเห็นความหลากหลายของปัญหา เช่นความยากจน ความเหลื่อมล้ำกลางเมืองหลวง ซึ่งมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างภายในตัวเอง จนตระหนักได้ว่า การสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนมันไม่ใช่แค่เพียงตัวชี้วัดผลสำฤทธิ์ทางการศึกษาเพียงอย่างเดียว โดยปกติ สิทธิมนุษยชนจะถูกสอนในวิชาหน้าที่พลเมือง แต่ในความเป็นจริง เราจะคุยเรื่องนี้ผ่านวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่สุขศึกษา พลศึกษาก็ได้ 

 

“ผมได้มีโอกาสไปสอนชั้น ม. 1 โดยผมถามนักเรียนว่า เห็นด้วยหรือไม่กับประโยคที่ว่า ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี เด็กส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกันหมด แต่มีเด็กคนนึงบอกว่าไม่เห็นด้วย ผมก็เลยถามเขาว่าทำไม คำตอบของเขามันไม่คาดคิด คำตอบของเขาคือ หนู เป็นเฟมมินิสต์  แล้วในหลายศาสนา คำสอนหรือข้อปฏิบัติมันก็เหยียดเพศหญิง หนูเลยรู้สึกว่ามันไม่โอเค มันไม่แฟร์ ไม่ได้มองว่าคำสอนเหล่านี้จะทำให้คนเป็นคนดี โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว”

 

ประเด็นต่อมาคือเรื่องของวัฒนธรรม เมื่อเราพูดถึงสิทธิมนุษยชน มันก็ต้องมาควบคู่กับประชาธิปไตย ซึ่งกิจกรรมที่ส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียนก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง เช่นการเลือกตั้งประธานนักเรียน แต่พอเลือกตั้งเสร็จก็ไม่ได้ทำอะไร ทำตามที่อาจารย์สั่งอย่างเดียว การสอนเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มันต้องเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ในชั้นเรียนที่มีวัฒนธรรมอำนาจนิยมสูง ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนภายในชั้นเรียนก็มักจะถูกมองข้ามตามไปด้วย ตนจึงพยายามจะสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจเชิงระนาบกับนักเรียน และพยายามแชร์อำนาจกับผู้เรียนให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นภายในห้องเรียน ไม่ว่าจะจากเพื่อนร่วมชั้น หรือครู นักเรียนควรต้องรู้ว่าเขามีสิทธิในการยกมือเพื่อบอกว่าตนรู้สึกไม่โอเคกับสิ่งที่เกิดขึ้น 

 

“เราต้องทำให้เขาตระหนักได้ว่าเขามีพลัง มีสิทธิที่จะเปล่งเสียงออกมาและ มีคนรับฟัง มีนักเรียนเคยบอกผมว่าครูเป็นคนแรกเลยนะที่รับฟังผมแบบนี้ คนอื่นเขาก็ด่าแล้วก็จบ แล้วเขาก็ไป สิ่งเหล่านี้มันควรทำให้เป็นเรื่องปกติ ครูต้องไม่มองตัวเองเป็นแค่คนถ่ายทอด แต่เป็นผู้ทำงานทางวัฒนธรรมและทำงานทางการเมือง ว่าเราจะสร้างสังคมแบบไหน” ธนวรรธ์ทิ้งท้าย 

 

ภัคจิรากล่าวว่าในช่วงชีวิตนักเรียน เธอเป็นเหยื่อของการละเมิดแทบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามทางเพศ (sexual harassment) การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (cyber bullying) หรือการวิจารณ์รูปร่างหน้าตา (body shaming) ซึ่งทางออกเดียวของเธอในขณะนั้นก็คือการฟ้องครู แต่ด้วยความที่เธอไม่ได้มีปากมีเสียงมากนักในโรงเรียน จึงมักไม่ได้รับความสนใจ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เธอเริ่มสนใจสิทธิมนุษยชน เริ่มศึกษา หาความรู้ และแลกเปลี่ยนกับผู้ที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน จนมาถึงช่วง ม.ปลาย เธอจึงตัดสินใจที่จะเป็นครูอนุบาล เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ตั้งแต่อายุยังน้อย

 

สำหรับชีวิตในมหาวิทยาลัย เธอทำงานเคลื่อนไหวมาโดยตลอด โดยเริ่มจากการทำสโมสรนักศึกษาภายในคณะ จนได้เป็นรองนายกฯ สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปจนถึงการทำม๊อบ โดยความเปลี่ยนแปลงที่เธอรู้สึกภาคภูมิใจคือช่วงที่เธอฝึกงานเป็นครู แต่กลับไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัยทั้ง ๆ ที่เธอต้องเสียเงินไปกับการเตรียมสื่อการเรียนการสอนเป็นจำนวนมาก จึงนำเรื่องนี้ไปคุยกับคณบดีจนได้ข้อสรุปว่า คณะจะมีการให้เงินสนับสนุนค่าสื่อการเรียนการสอนเทอมละ 1500 บาท ซึ่งอาจจะไม่ใช่จำนวนเงินที่เยอะ แต่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี เมื่อเรากล้าที่จะออกมาเปล่งเสียงเรียกร้อง

 

ธนวรรธน์กล่าวเสริมประเด็นของภัคจิราว่า ในเรื่องของการละเมิดภายในชั้นเรียน เช่นการกลั่นแกล้ง หรือการวิจารณ์รูปร่างหน้าตา หลายครั้งเรามักจะมองเห็นแค่ระดับปัจเจกหรือตัวคนที่ทำผิด จนลืมปัญหาเชิงโครงสร้างไป

 

“ถ้าเด็กบูลลี่กัน แล้วครูขำด้วย ทั้ง ๆ ที่ครูคือผู้มีอำนาจในการดูแลเด็กในห้อง ถ้าคุณไม่ว่าอะไรก็เท่ากับคุณส่งเสริม หรือเลวร้ายกว่าคืออำนาจนั้นเป็นคนกระทำเสียเอง ถ้าเราสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่าสิ่งเหล่านี้มันจะยอมรับไม่ได้อีกต่อไป มันก็จะเกิดวัฒนธรรมใหม่ อย่างในห้องเรียนผม พอเราเริ่มสร้างไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเขาก็จะเริ่มเตือนกันเอง มันก็จะเป็นกระบวนการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ รวมไปถึงระดับรัฐบาล หลายคนบอกว่าครูไม่ควรจะยุ่งกับการเมือง แต่ในขณะเดียวกันถ้าหากว่าระบบ ระเบียบ กฎต่าง ๆ มันกำลังรังแกนักเรียน ละเมิดนักเรียน และตัวครู จนเราชินชากับมัน แล้วเราจะคาดหวังให้นักเรียนของเราต่อสู้อยู่เพียงลำพังได้อย่างไร” ธนวรรธ์กล่าว

 

ในช่วงท้ายของการเสวนา วิทยากรถูกถามเรื่องความคาดหวังของตนกับอนาคตสิทธิมนุษยชนศึกษาในประเทศไทย โดยอรรถพลได้กล่าวว่า ตนคิดว่าสิทธิมนุษยชนศึกษาเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ อีกหนึ่งคำที่สำคัญ และฟังดูเบากว่าคือคำว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเป็นแก่นของสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ (empathy) ซึ่งการจะสอนเรื่องพวกนี้ได้ ห้องเรียนจะต้องมีการเปิดพื้นที่พูดคุยตามหลัก 7D 

 

“3 D แรก ห้องเรียนต้องเป็นพื้นที่เปิดของการแลกเปลี่ยน (discuss) การถกเถียง (debate) และการสนทนา (dialogue) การจะพูดถึงเรื่องห้องเรียนสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความหลากหลายต้องมี 3 D นี้เป็นฐาน เมื่อทำได้แล้วมันต้องไปอีก 4 D อย่างแรกคือการถอดรหัส (decoding) อ่านปรากฎการณ์สังคมให้ออก เช่นการบูลลี่ในสังคมหลาย ๆ ครั้งมันมีเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจอยู่ เมื่อเราถอดรหัสได้แล้วเราก็ค้นพบ (discover) ประสบการณ์ใหม่ ๆ ค้นพบว่าอะไรคือบรรทัดฐานใหม่ที่คนในสังคมควรอยู่ร่วมกัน พอค้นพบแล้วก็ต้องรื้อถอน (deconstruct) ว่ามันเกิดอะไรขึ้น และสุดท้ายคือลงมือทำ (do something) ผมเชื่อว่าห้องเรียนที่ทำเรื่องสิทธิมนุษยชนต้องครอบคลุมเรื่องเหล่านี้”

 

อรรถพลเน้นย้ำว่า สังคมจะฝากอนาคตสิทธิมนุษยชนศึกษาไว้กับโรงเรียนอย่างเดียวไม่ได้ นักเรียนบางคนอาจจะโชคดีเจอครูที่มีความคิดก้าวหน้า แต่หากเขากลับมาสู่สังคมที่ไม่ได้ก้าวหน้าตาม หรือเจอสังคมที่เจ้าหน้าที่รัฐรังแกประชาชน สิทธิมนุษยชนศึกษาก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในสังคมไทย

 

ธนวรรธ์กล่าวว่า ส่งที่ตนอยากเห็นในอนาคตคือ ครูทุกคนควรจะยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว ครูที่ผลักดันเรื่องเหล่านี้มักจะถูกโดดเดี่ยว หรือถูกมองว่าไม่เข้ากับระบบการศึกษาของไทย ตนจึงอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ครูมีบทบาทสำคัญในการกระบวนการดูแลเด็ก สร้างสรรค์และ เปลี่ยนแปลงสังคม

 

“อยากเห็นเขายืนหยัด อย่ารู้สึกว่าเขาโดดเดี่ยว ในประเทศที่ดูเหมือนจะสิ้นหวังยังมีแสงสว่างอีกจำนวนมากที่ถูกจุดในห้องเรียนทั่วประเทศ และถ้าเรารวมกัน เราจะสามารถส่องสว่างในสังคมนี้ได้” ธนวรรธ์กล่าว