"เลือน แต่ไม่ลืม" ชัดเจนในทรงจำ กับยุติธรรมที่สูญหาย

30 พฤษภาคม 2565

Amnesty International

จากพฤษภาคม 2535 ครบรอบ 30 ปีที่ประชาชนนับแสนคนออกมาชุมนุมประท้วงคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. และเรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลับกลายเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นโดยรัฐ เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง รวมถึงใช้กระสุนจริงเพื่อสลายการชุมนุม ภายหลังเหตุการณ์คลี่คลาย กระทรวงมหาดไทยรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 44 ราย บาดเจ็บ 1,728 ราย (สาหัส 47 ราย) และสูญหายอีก 48 ราย กระนั้น ในความเป็นจริงกลับมีผู้สูญหายที่ไม่พบศพอีกจำนวนมาก พวกเขาเหล่านั้นอยู่ที่ไหน เป็นคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบ และยังคงก้องดังอยู่กับครอบครัวและญาติของผู้สูญหายตลอด 30 ปี

วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมเปิดนิทรรศการ “เลือน แต่ไม่ลืม (Lost, and life goes on) ที่ Palette Artspace ทองหล่อ กิจกรรมเริ่มด้วยการพาทุกคนไปพบกับชีวิตและเรื่องราวของญาติผู้สูญหาย ผ่านสารคดีเลือนแต่ไม่ลืม (Lost, and life goes on) สารคดีที่ชวนตั้งคำถามว่า หากคนที่คุณรักถูกบังคับให้สูญหาย คุณจะรอเค้ากลับบ้านและตามหาเขานานแค่ไหน และหากเวลาล่วงเลยไป 30 ปี สิ่งที่คุณต้องการมากที่สุดคืออะไร

หลังการฉายสารคดี เป็นวงเสวนาในหัวข้อ พฤษภา 35: ความรุนแรง คนหาย และความยุติธรรมที่ยังไม่สิ้นสุด โดยมีผู้ร่วมเสวนา 4 ท่าน ได้แก่ อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหาย องค์การสหประชาชาติ

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รังสิมา วิสารทานนท์ น้องสาวของผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภา 35

และศตพัฒน์ ศิลป์สว่าง เจ้าหน้าที่รณรงค์เชิงนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

บังคับให้.. ลืม

 

 

“อยากจะเรียนว่าเวลาที่พูดถึงเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว มันเหมือนกับเป็นการตอกย้ำ การผลิตซ้ำ ความรุนแรง ความกระทบกระเทือนต่อจิตใจ แต่ว่าการพูดซ้ำ การพูดแล้วพูดอีก มันทำให้เราไม่ลืม และมันก็ทำให้สังคมไม่ลืมไปด้วย” อังคณา นีละไพจิตร กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากชมสารคดีเลือนแต่ไม่ลืม (Lost, and life goes on)

แม้ผ่านเวลามาแล้ว 30 ปี แต่เป็นเพราะอะไร และทำไม รัฐบาลยังไม่เปิดเผยข้อมูลผู้สูญหาย และยังปล่อยให้เป็นความคลุมเครือ?

“ถ้าถามว่าทำไมรัฐบาลไม่เปิดเผย ก็อยากจะถามกลับว่ารัฐบาลได้มีการบันทึกข้อมูลของคนที่สูญหาย หรือคนที่ถูกทำให้หายตัวไปหรือไม่ ถ้าเราไปถามรัฐบาลว่ามีคนในประเทศไทยหายไปกี่คน ผู้นำประเทศก็อาจตอบได้แค่คนที่มีชื่อเสียงไม่กี่คน แต่ว่าคนธรรมดา คนที่ไม่มีใครรู้จัก อยู่ในซอกหลืบของสังคม คนเหล่านี้ไม่เคยมีใครพูดถึง และปัญหาคือในเมื่อไม่มีการบันทึก ก็ทำให้คนเหล่านี้ถูกลืมไป” คุณอังคณากล่าวตอบ และย้ำว่า “สำหรับญาติ สิ่งสำคัญที่สุด และมีคุณค่ามากที่สุดก็คือเรื่องของความจริง ทุกคนอยากรู้ความจริง ใครเป็นคนทำ และคนทำต้องรับผิดชอบอย่างไร”

“มีคนหายจำนวนมากในช่วงสงครามกลางเมือง ในประเทศอาร์เจนตินา หลังจากมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากเลือกตั้ง รัฐบาลทหารหมดอำนาจไป ศาลสูงของอาร์เจนตินามีคำพิพากษาว่าการนิรโทษกรรมในช่วงรัฐบาลทหารถือเป็นโมฆะ หลังจากจึงสามารถนำคนผิดมาลงโทษ มีการเปิดเผยความจริง มีการขุดหาศพ และคืนกระดูก คืนร่างของผู้สูญหายให้กับครอบครัว”

คุณอังคณา แสดงความเห็นต่อว่า ในต่างประเทศพอเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ก็จะมีการรื้อฟื้นคดี พอคนที่เกี่ยวข้องกับการทำให้คนสูญหายหมดอำนาจ ก็จะมีคนที่กล้าออกมาให้ข้อมูลมากขึ้น นำไปสู่การค้นหาศพ และการตรวจพิสูจน์ในรูปแบบต่าง ๆ

“แต่ส่วนในประเทศไทย ถ้าพูดถึงประสบการณ์ส่วนตัว ถึงแม้เราจะเปลี่ยนรัฐบาลมาหลายรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลพลเรือน แต่เราก็มีสถาบันตำรวจ สถาบันทหาร ซึ่งเป็นสถาบันที่หยั่งรากลึกในสังคม อย่างที่นักวิชาการบางท่านใช้คำว่ารัฐพันลึก คือไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่รัฐบาล แต่ว่าโครงสร้างอำนาจยังอยู่กับคนกลุ่มเดิม”

คุณอังคณาเสริมว่า สำหรับญาติของผู้เสียชีวิตและผู้สูญหาย การยกโทษให้เป็นเรื่องยาก ถ้ายังไม่มีการเปิดเผยความจริง ยังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กระทำ ใครเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบ และรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน หรือว่าจะปล่อยให้คลุมเครือต่อไป ให้ญาติยกโทษให้ฟรี ๆ และรอให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เมื่อทำแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะไม่มีศพก็ไม่มีความผิด

 

ความทรงจำไม่เลือน

 

 

คุณรังสิมา น้องสาวของผู้สูญหาย ที่เคยได้รับการบอกให้เลิกแล้วต่อกัน หากเธอยังคงยืนหยัดท่ามกลางการต่อสู้และการเรียกร้องต่าง ๆ ด้วยความหวัง ร่วมกับญาติของผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายคนอื่น ๆ แม้ไม่รู้ว่ามันจะเป็นไปได้แค่ไหน

“ความหวังมันลางเลือน พอพูดกันทีไร ก็เหมือนตอกย้ำแผลที่มันไม่หาย เจ็บทุกครั้ง แต่มนุษย์ถ้าไม่มีความหวังเลย แล้วชีวิตที่เหลืออยู่จะดำเนินต่อไปยังไง แล้วข้อสองก็คือมันเป็นคำสั่งสุดท้ายที่คุณพ่อให้ไว้ ว่าไปตามนะ จำไว้ว่าคนตายต้องได้ศพ”

ถ้าย้อนเวลากลับไปแล้วรัฐบาลในวันนั้นเปิดเผยความจริงเรื่องคนหาย คุณรังสิมากล่าวว่าก็คงไม่มีความสุขหรอก แต่อย่างน้อยก็รู้ว่าคนในครอบครัวหายไปไหน เป็น ตาย เจ็บ อยู่ตรงไหน อย่างน้อยก็ได้รับคำตอบ หากสิ่งที่เกิดขึ้นมีเพียงความคลุมเครือ ทุกคนเลยต้องออกตามหา ทั้งร่างของผู้สูญหาย และความจริงที่ยังไม่ปรากฏ

ไม่ใช่เพียงคนหายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์จนกลายเป็นคนพิการ พวกเขาเหล่านี้ต้องบอบช้ำทางจิตใจเป็นอย่างมาก หลายคนร่วมต่อสู้เรียกร้องกันมายาวนาน จนกระทั่งเสียชีวิตไป กระนั้นช่วงเวลาที่เขายังมีชีวิตก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก จากผลกระทบของร่างกายที่ไม่สามารถทำงานหรือช่วยเหลือตัวเองได้ ขณะที่ทางภาครัฐกลับขอให้ทางญาติถอนชื่อของผู้สูญหายออก โดยไม่มีการเปิดเผยความจริง

“ขอก็ไม่ให้ คุณพูดอย่างนั้นเพราะมันไม่ใช่ญาติคุณ ไม่ใช่พี่น้องคุณ คุณจะมาบอกให้เลิกแล้วต่อกัน มันไม่ใช่ เพราะว่าการเลิกแล้วต่อกัน การขอโทษ การให้อภัย มันพูดได้ แต่ใจมันไม่เคยให้เลย แม้แต่ตอนที่เขาบอกให้อโหสิกรรมเถอะ จะไปอโหสิกรรมให้ใคร ก็ยังไม่รู้เลย”

 

 

ด้านคุณศตพัฒน์ ตัวแทนคนรุ่นใหม่อีกคนที่พยายามรักษาความทรงจำของเหตุการณ์ที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว กล่าวว่าส่วนตัวสนใจปัญหาสังคม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว แม้ตอนแรกอาจยังไม่ได้รู้เรื่องราวของพฤษภา 35 แต่ได้เริ่มค้นหาข้อมูลของผู้สูญหายจากการเข้ามาทำแคมเปญกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย

“การทำงานเรื่องคนหายเดือนพฤษภา ไม่ใช่การตามหาคนหาย แต่มันเป็นการช่วยตามหาความยุติธรรมมากกว่า เราไม่ได้ตามหาว่าคนหายอยู่ที่ไหนด้วยซ้ำ แต่หาว่าความยุติธรรมอยู่ที่ไหน มันคือการยืดหยัดเคียงข้างกับญาติของผู้สูญหาย ญาติแต่ละคนฐานะทางบ้านก็ไม่เหมือนกัน การตามหาญาติของเขา อย่างเช่นวันนี้อยากไปสถานีตำรวจ อยากไปเรียกร้องรัฐบาล มันไม่ใช่อยู่ดี ๆ เขาจะทำได้เลย และเวลา 30 ปี มันเป็นเวลาที่นาน คนที่จะตามหาอยู่เรื่อย ๆ ผมก็รู้ว่าเขาท้อ เราก็เลยรู้สึกว่าการทำเรื่องคนหายเดือนพฤษภาเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เพราะว่าพอเรื่องผ่านไปเรื่อย ๆ มันก็จะเงียบ สิ่งที่เราทำได้คือหนึ่งทำให้เรื่องไม่เงียบ สองคือไม่ว่ารัฐบาลไหนเขาทำได้คือให้ความช่วยเหลือ สามคือให้กำลังใจญาติ”

คุณศตพัฒน์กล่าวว่า ส่วนมากเวลาเรารับรู้ข่าวคนหาย เราก็จะให้ความสนใจเฉพาะตัวคนหาย แต่การเข้ามาทำงานนี้ ทำให้ได้มองไปถึงมุมของญาติ ซึ่งสังคมควรหันมามองว่าคนหายไม่ใช่แค่คนหาย แต่ว่ามีครอบครัวของเขาที่ยังรออยู่ที่บ้าน และฐานะของพวกเขาก็แตกต่างกัน หลายครอบครัวไม่มีกำลังพอที่จะออกตามหา

ท่ามกลางเรื่องราวของผู้สูญหาย เราอาจพูดได้ว่าพอจะมีเรื่องน่ายินดี ที่ผู้คนในยุคสมัยปัจจุบันมีความตื่นตัวต่อเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนกันมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเรื่องของผู้สูญหาย และผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งคุณศตพัฒน์กล่าวว่า สิ่งที่คนรุ่นใหม่สามารถช่วยกันทำได้คือการพูดถึงอยู่เรื่อย ๆ พร้อมไปกับการออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับสังคม

 

พฤษภา 2535

 

 

อ.ปริญญา กล่าวว่า หากมองในแง่ของตัวเลขผู้เสียชีวิต 44 ศพ อาจดูเท่า ๆ กับเหตุการณ์ 6 ตุลาที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิต 41 ศพ ทว่าตัวเลขที่แท้จริงนั้นไม่ใช่ 44 ศพอย่างแน่นอน 44 คือตัวเลขคือศพที่อยู่โรงพยาบาลและที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ส่วนศพที่ถูกเก็บออกไปในคืนวันที่ 18 พฤษภาคม เป็นจำนวนเท่าไหร่ ทุกวันนี้ยังไม่ทราบ ขณะที่ตัวเลขผู้สูญหายที่แท้จริงมีมากถึงกว่า 700 คน

“พฤษภา 35 เป็นเหตุการณ์ที่น่าจะมีคนตายมากที่สุด ประเด็นคือ 30 ปีผ่านไป ทำไมยังไม่คืนศพ เอาง่าย ๆ ถ้าท่านเป็นคนปราบ วิธีการคือต้องให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด จึงเป็นเรื่องที่เขาทำให้ศพเหลือน้อยที่สุด นี่คือสาเหตุว่าทำไมคนหายถึงมีหลายร้อยคน”

ปัจจุบัน แม้ภาครัฐได้ออกมาขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งร้องขอให้ทางญาติให้อภัย ทว่ากลับไม่มีการคืนศพ ขณะที่บันทึกของกระทรวงกลาโหม รายงานการสอบสวนว่ามีการขนย้ายกำลังทหารเข้ามาในพื้นที่ในคืนวันที่ 18 พฤษภาคม บันทึกเหล่านั้นยังคงถูกคาดเป็นสีดำ

“เหตุการณ์พฤษภา 35 ครบ 30 ปีในปีนี้ เราควรจะเรียนรู้ให้การสูญเสียไม่ต้องเกิดขึ้นอีก ในเบื้องต้นเพื่อให้ได้ข้อยุติในข้อเท็จจริง คนสูญหายจริง ๆ แล้วเป็นคนตายกี่คน เอาศพคืนให้ญาติเขาเถอะ แล้วหลักฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายงานการสอบสวนของกระทรวงกลาโหม ถึงเวลาแล้วครับ ต้องเปิดเผย แต่พอดีตอนนี้แน่นอนว่าเราอยู่ภายใต้อำนาจของการปฏิวัติที่ยังไม่จบ สืบทอดมาโดยมีรัฐธรรมนูญผ่านทางสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากลำบากมาก เพราะถ้ามีการเปิดเผยขึ้นมาว่าทหารผิด ทหารเป็นคนเอาศพไปซุกซ่อนไว้ มันก็กระทบไปถึงทหารและการปฏิวัติในปัจจุบันนี้ แต่เราก็หยุดไม่ได้ที่จะเรียกร้อง”

ช่วงท้ายของการเสวนา คุณอังคณาได้กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องของการเยียวยาว่า เรื่องการบังคับสูญหายตามนิยามสากลถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ยิ่งการบังคับสูญหายที่กระทำอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนซ่อนเร้นล่วงหน้า ซึ่งถือว่าเข้าเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ ทว่าไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย

“ปัจจุบันพลเอกสุจินดา ก็ยังมีชีวิตอยู่ หลายคนที่เกี่ยวข้องยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นถ้าถามญาติ สิ่งเดียวที่ญาติต้องการก็คือ อย่างน้อยคืนศพให้เขาก็ยังดี เปิดเผยความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้น การเยียวยามีหลายประเภทเช่น การเยียวยาด้วยความยุติธรรม คือการนำเรื่องขึ้นสู่ศาล จริง ๆ แล้วตามกระบวนการขอโทษจะตามมาภายหลังการเปิดเผยความจริง และจึงเป็นการขอโทษสาธารณะ การรักษาความทรงจำของญาติ นอกจากนั้นก็เป็นการชดเชยด้วยตัวเงิน และยังมีการเยียวยาจิตใจ ดูแลสภาพจิตใจให้ครอบครัวของผู้สูญเสียใช้ชีวิตในสังคมต่อไปได้ตามปกติ”

หลังจบการเสวนาเป็นการพาผู้ร่วมงานชมนิทรรศการศิลปะ จัดแสดงโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และพิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยมีศิลปินที่มาร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะ ได้แก่ Thai Political Tarot, PrachathipaType, Thisismjtp, Setthasiri Chanjaradpong, Atom Pavarit และ Chainad ซึ่งร่วมกันตีความ “ความทรงจำ” ถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสู่ผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ  อาทิเช่น

 

 

ปนัดดา ภัณฑารักษ์ (Curator) ของงานได้นำเสนอความเป็นจริง ผ่านการจัดวางรูปแบบความจริงในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ในวันเกิดเหตุ ภาพถ่าย โปสเตอร์ หนังสือเรียน สิ่งของและข้อมูลต่าง ๆ สะท้อนภาพความจริงที่ถูกนำเสนอแก่ประชาชนในเวลานั้น

 

 

PrachathipaType ฉายภาพความทรงจำใน พ.ศ. 2535 ของวัยรุ่นที่อาจยังไม่ประสีประสาทางการเมือง ผ่านภาพยนตร์ ละคร เพลง ที่เป็นที่นิยมในขณะนั้น ซึ่งจัดวางด้วยลักษณะของเลข 35 และหากเข้ามามองภาพเหล่านั้นใกล้ขึ้น จะพบภาพเหตุการณ์ความรุนแรงของเดือนพฤษภาซ่อนอยู่ด้านหลัง ในจุดที่ลึกที่สุด

 

 

Thisismjtp สรรค์สร้างงานศิลปะที่การสะท้อนภาพความรู้สึกของญาติผู้สูญเสียใน 3 ขั้น ขั้นแรกคือความไม่คาดคิดว่าเหตุการณ์จะเกดขึ้น ขั้นที่สองคือการตามหาญาติไม่พบ ขั้นที่สามคือความคลุมเครือและค่อย ๆ เลือนราง

 

 

Setthasiri Chanjaradpong วีดีโออินสตอลเลชันที่บอกเล่าของคนที่เกิดในปี 2535 ด้วยโทรทัศน์ที่มีอายุ 35 ปีเท่ากับเจ้าของผลงาน เรื่องราวในวีดีโอฉายภาพญาติของผู้สูญหายที่ตามหาคนในครอบครัวที่หายไปไม่รู้จบ

 

 

Thai Political Tarot เล่าถึงความทรงจำทั้งในมุมของญาติ และการรับรู้ของสังคม ผ่านภาพถ่ายของผู้สูญหายในหนังสือครบรอบ 5 ปี ที่นำไปถ่ายเอกสารจนกระทั่งค่อย ๆ เลือนจางจนแทบมองไม่เห็น และอีกผลงานคือการเชิญศิลปินคนอื่น ๆ มาวาดภาพของผู้สูญหายขึ้นมาใหม่จากความทรงจำของญาติ

นิทรรศการ “เลือน แต่ไม่ลืม” (Lost, and life goes on) ได้จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 21 - 29 พฤษภาคม เวลา 11.00-19.00 น. ที่ Palette Artspace - BTS ทองหล่อ โดยในวันที่ 23, 25 และ 27 พฤษภาคม ยังมีกิจกรรมพิเศษ ฉายภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายเรื่อง The Purple Kingdom, A Day Will Come และ Eternal Void ให้รับชมในเวลา 17.30-18.30 น.