ใจแผ่นดิน.. แผ่นดินกลางใจปกาเกอะญอ

20 เมษายน 2565

Amnesty International

เช้าวันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเดินทางออกจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย จนกระทั่งในอีกแปดปีถัดมา 17 เมษายน 2565.. เขายังคงไม่ได้กลับบ้านอีกเลย 

พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและเป็นหลานชายของ “ปู่คออี้” ที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี บิลลี่ได้เรียกร้องในสิทธิชุมชน ซึ่งในหลายกรณีเป็นความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงกับเจ้าหน้าที่รัฐในประเด็นที่อยู่อาศัยและการไล่รื้อที่อยู่ของชาวบ้าน และเขาเป็นหนึ่งแกนนำในการเตรียมฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ กรณีการเข้ารื้อทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวที่ใจแผ่นดิน เมื่อปี 2554 ภายใต้ชื่อ “ยุทธการตะนาวศรี” 

เดือนกรกฎาคม 2554 ปู่คออี้รวมกับชาวบ้านบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน จ.เพชรบุรี รวม 6 คน ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช คดีนำกำลังเข้ารื้อทำลายเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัว หลังจากใช้เวลาการต่อสู้ในกระบวนการเกือบ 3 ปี ศาลปกครองกลางได้เรียก “พยาน” เข้าให้ข้อมูลในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม 2557 

ทว่า 1 เดือน ก่อนถึงวันนัดหมายที่ศาลปกครองกลางจะเรียก “พยาน” เข้าให้ข้อมูล วันที่ 17 เมษายน 2557 “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นพยานปากเอกของคดีกลับหายตัวไปอย่างลึกลับ โดยที่เช้าวันนั้นเขาเดินทางออกจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อไปตัวอำเภอแก่งกระจาน พยานที่พบเห็นบิลลี่เป็นครั้งสุดท้าย ระบุว่า เขาเห็นบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานจับกุมตัวที่ด่านมะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 18 เม.ย.2557 เวลา 06.00 น. คนในครอบครัวยืนยันว่า บิลลี่ยังไม่ได้กลับบ้านจนถึงเวลา 08.00 น.จากนั้นชาวบ้านได้ออกค้นหาจนถึงเวลา 20.00 น. ผู้ใหญ่บ้านบางกลอยเข้าแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน… จนถึงปัจจุบัน ความยุติธรรมยังไม่หวนคืนสู่บิลลี่ 

และจนถึงทุกวันนี้ ชาวบางกลอยยังคงเผชิญหน้ากับการถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าและถูกจับกุม รวมถึงการบังคับโยกย้ายลงมาจากบางกลอยบน และไม่มีที่ดินทำกินมากเพียงพอ โดยได้รับการจัดสรรพื้นที่อยู่ที่ 7 ไร่ 3 งาน สิ่งนี้ส่งผลให้ความมั่นคงทางอาหารจากการทำไร่หมุนเวียนและวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอในพื้นที่บางกลอยหายไป ประชาชนชาวบางกลอยต้องออกมารับจ้างและเผชิญกับผลกระทบในช่วงโควิด บ้างต้องบริโภคอาหารแห้งจากการบริจาค จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 

ปัจจุบัน ชาวบางกลอยยังมุ่งหน้าต่อสู้เพื่อที่วันหนึ่งจะได้คืนสู่ใจแผ่นดินอีกครั้ง ในนาม “บางกลอยคืนถิ่น”

วันที่ 17 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงได้จัดทวิตเตอร์สเปซซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ #ทะลุด่าน ในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจปกาเกอะญอ” พร้อมจับมือ เกรียงไกร ชีช่วง ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ  ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ พชร คำชำนาญ ภาคี Saveบางกลอย มาร่วมพูดคุย

 

น้ำนมหยดแรก หวนคืนกลับบ้าน
เติบโต-เจ็บ-ตาย กับลมหายใจของวิถีชาติพันธุ์

“ในประเทศไทย มีกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์อยู่ อย่างในพื้นที่ป่าตามแนวสันขวาน ตั้งแต่ถนนธงชัย เทือกเขาตะนาวศรียาวลงมา จะเป็นพี่น้องกะเหรี่ยง จากข้อมูลเราจะมี 15 จังหวัดชัดเจน รวมถึงในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน”  เกรียงไกร ชีช่วง ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี เริ่มต้นชี้ให้เห็นภาพรวมของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอในประเทศไทย โดยมีพชร คำชำนาญ เสริมว่า ประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีกลุ่มชาติพันธุ์หรือมีชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ไม่ต่ำกว่า 40 กลุ่ม เป็นประชากรไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน กระจายอยู่ในประมาณ 64 จังหวัดทั่วไทย 

เกรียงไกรเสริมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่บางกลอยสามารถเล่าผ่านตัวละครหลักคือ บิลลี่กับครอบครัว  ปู่คออี้ และ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ “ในวันนี้เราก็เริ่มเห็นชัดขึ้นว่า ทุกคนสามารถลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิได้ แน่นอนว่าในสังคมประเทศเรา คนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อสังคมชุมชนหรือเพื่อการเปลี่ยนแปลง มักจะมีความเสี่ยง.. ที่ผ่านมาบิลลี่พยายามออกมาเรียนรู้มากเลย ผมคิดว่าเขาต้องเสียสละ ต้องห่างไกลจากครอบครัวกับลูกเล็ก ๆ เขาต้องอยู่กับความเสี่ยงจนออกมาเรียนรู้ มาเจอพี่น้องเครือข่ายต่าง ๆ และบิลลี่พยายามจะทะลุบางอย่างออกมา โดยแบกความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ออกมาด้วย.. ในผืนป่าแก่งกระจาน

ต่อมา เขาพาเราไปรู้จักกับปู่คออี้ หรือนายโคอิ มิมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณปกาเกอะญอ ผู้เพิ่งได้รับสัญชาติไทยไม่กี่เดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต 

“ปู่คออี้เกิดในช่วงปี 2454 หรือร้อยกว่าปีที่แล้ว ถัดมาในปี 2456 ประเทศไทยมีการประกาศพ.ร.บ. สัญชาติ จากนั้นปี 2499 มีพ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทย โดยมีการประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2524 

“เขาอยู่มาก่อน.. อยู่มาหลายชั่วคน ปู่คออี้ได้พูดในชั้นศาล พูดเป็นภาษาปกาเกอะญอเลยแล้วก็มีล่ามช่วยแปลว่า เราเกิดมาเราก็อยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว เรากินนมแม่เราก็ตรงนั้นอยู่แล้ว เท้าก้าวแรกของเราก็ตรงนั้นอยู่แล้ว เราไม่ได้ไปแย่งของใคร อยากให้เข้าใจว่าพี่น้องเขาอยู่ตรงนั้นก่อนจะประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ และอยากให้นักอนุรักษ์ได้เข้าใจ ผมก็คิดว่าเขาเข้าใจแล้วแหละ แต่บางทีด้วยกรอบหรือด้วยมุมคิดบางอย่าง ความเชื่อบางอย่างที่สังคมตรงกลางกำหนดไว้ เขียนให้ เขาก็จะคิดไปตามนั้น

 “ช่วงที่สองคือช่วงเกิดเหตุการณ์ประกาศอุทยาน มีการเจรจาจากหัวหน้าอุทยานแก่งกระจานในยุคแรก นั่นคือหัวหน้าสามารถ ที่พยายามไปเจรจาให้ชาวบ้านลงมาจากใจแผ่นดิน โดยยืนยันว่าถ้าลงมาแล้วอยู่ไม่ได้ หรือลงมาแล้วรัฐไม่สามารถอำนวยหรือการจัดการได้ก็ให้กลับขึ้นไปได้ จากนั้นเขาก็พาพี่น้องลงมา แล้วพบว่าชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้จริงๆ บางส่วนก็พยายามอยู่ บางส่วนอยู่ไม่ได้ก็กลับขึ้นไป

“ตัวปัญหาที่เกิดขึ้นมันเกิดเมื่อช่วงปี 39-40 มาจนถึงปี 2554-2554 มียุทธการใหม่จากหัวหน้าที่เป็นประเด็นกับบิลลี่กับพี่น้องกับปู่คออี้ พี่น้องบางกลอย นั่นคือยุทธการตะนาวศรี มีการเผาข้าวเผาบ้าน มีการผลักดันใหญ่ แล้วก็มีวาทะกรรมหลักก็คือ ชาวบ้านเป็นกองกำลังติดอาวุธของประเทศเพื่อนบ้าน ปลูกกัญชา ล่าสัตว์ ซึ่งถือเป็นวาทะกรรมหลักที่ศูนย์กลางอำนาจพยายามใช้กับกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศเลย คนที่เข้ามาช่วยอย่างอาจารย์ป๊อด (นายทัศน์กมล โอบอ้อม) ก็ถูกฆาตกรรม บิลลี่ถูกอุ้มหาย คนที่เข้ามาช่วยขนาดที่ว่าเป็นทนายความหรือเป็นนักปกป้องสิทธิอื่น ๆ อย่าง กสม. ทั้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และทั้งที่ไม่ได้เป็น ก็ถูกฟ้องคดี ถูกกล่าวหาคดีปิดปากอีกหลายคน ก็ต้องไปสู้คดีกันไป

“คนกะเหรี่ยงถ้าไม่หนักสุดก็จะไม่พูด ก็จะหลบจะหลีก จะหนีจะเก็บตัว แต่กรณีของบิลลี่ และกรณีเผาบ้านยุ้งข้าวของพี่น้องปกาเกอะญอ ผมคิดว่ามันสะท้อนให้เห็นอคติอย่างแรงมากและอคตินั้นนำไปสู่การสูญเสียมาก และยังมีวาทกรรมเรื่องตัดไม้ทำลายป่า เรื่องทำไร่เลื่อนลอย ที่อยากจะบอกคือ มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่พื้นที่หนึ่ง แต่มันคือประเด็นร่วม”

ไร่หมุนเวียนคือวิถีชีวิตดั้งเดิม และต่อยอดมาสู่ความมั่นคงทางอาหารของพี่น้องปกาเกอะญอในหลากหลายพื้นที่ รวมถึงเป็นการทำการเกษตรที่ยึดโยงไว้กับวิถีทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมพื้นที่ ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ส่งต่อเป็นเมล็ดพันธุ์จากรุ่นสู่รุ่น สอดคล้องกับวิถีชีวิตและลักษณะร่วมของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก คือการที่ชนเผ่าพื้นเมืองนั้นมีความสัมพันธ์พิเศษกับดินแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่มาหลายชั่วอายุคน  อย่างไรก็ตาม การถูกเลือกปฏิบัติกลับกลายเป็นเหตุผลหลักว่าทำไมชนเผ่าพื้นเมืองกว่าร้อยละ 15 ของโลก มีสถานะที่ยากจนที่สุด อีกทั้งชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกยังต้องเผชิญกับกับสภาพที่ไม่มีดินแดนสำหรับที่พักอาศัย ขาดสารอาหาร และเกิดการพลัดถิ่นภายในประเทศที่สูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ 

“พี่น้องเลยอยากจะอธิบายเรื่องของที่เราถูกวาทกรรมเรื่องไร่เลื่อนลอย พวกเราอยากอธิบายว่ามันเป็นไร่หมุนเวียนที่เป็นพลวัตของการดำรงวิถีการผลิตรูปแบบคนปกาเกอะญอ ที่มันมีแปลงหมุนเวียนอยู่ที่เขาใช้อยู่ประจำ เขาจะประเมินจากสภาพ สถานการณ์ธรรมชาติในรอบปี ใช้วนไป แล้วก็กลับมาที่เดิมแต่ในแต่ละช่วงเวลา

“ซึ่งมันปล่อยพื้นที่ให้การพัก ให้เกิดการขึ้นเติบโตของต้นไม้ และเชื่อมโยงกับความเชื่อกับวิถีวัฒนธรรม เช่น ความเชื่อในแต่ละช่วงเดือน การเตรียมพื้นที่ แล้วก็มีการรักษาธรรมชาติ รวมถึงมีการพิจารณาว่าบริบทธรรมชาติตรงนั้นเป็นอย่างไร แต่ละช่วงเดือนจะมีการออกแบบไว้แล้วจะใช้อย่างสมดุลในรอบปีหนึ่ง พออยู่พอกิน แล้วก็แบ่งกัน เผื่อแผ่บ้าง ซึ่งเป็นการจัดระบบสวัสดิการในระดับชุมชนตรงนั้น

“พี่น้องกะเหรี่ยงยังคงดำรงวิถีนี้อยู่ แต่รัฐตรงกลางไม่พยายามยอมรับและออกแบบกระบวนการควบคุมจัดการมาผ่านรูปแบบของโครงการ ผ่านนโยบาย ผ่านกฎหมายต่าง ๆ มันยิ่งทำให้เกิดการรัดเข้าไปมากขึ้นจนชาวบ้านรู้สึกอึดอัดจนทนไม่ได้ กรณีบางกลอยเป็นตัวอธิบายที่ชัดเจนมากว่าพี่น้องตายแน่ถ้าอยู่ในสภาพแบบนี้ พี่น้องเลยลุกออกมา และมีภาคีต่าง ๆ ช่วยหนุนเสริมให้”

 

ไร่หมุนเวียน: วัฒนธรรมกับการอนุรักษ์

“ผมคิดว่าวิถีไร่หมุนเวียนคือวิธีอนุรักษ์ชัดเจนเลย” เกรียงไกรกล่าว “เพราะว่าไร่หมุนเวียนมันเป็นรอบผลิตทั้งปี ที่มันยึดโยงจารีตวิถีวัฒนธรรม มันอธิบายผ่านการผลิตข้าว การปลูก ข้าวไร่ ก่อนปลูก ระหว่างปลูกจะมีการคุยกันในชุมชนว่า จุดไร่ จุดยังไง ต้องจุดช่วงไหน ความร้อนถึงจะไม่ลุกลาม กันไฟยังไง โดยบริบทสังคมไม่สามารถมีเงินไปซื้อไปเหมาไปจ้างระบบผลิตแบบกระแสหลักที่เป็นเครื่องจักรปุ๋ยเคมีเข้ามา และมีการใช้หลากหลายเมล็ดพันธุ์ที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่สอดคล้องกับพื้นที่ลงไปในไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นพืชระยะสั้น ระยะกลางร่วมกับข้าว กว่าจะเก็บเกี่ยวได้ จนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ก็จะมีความเชื่อจะมีการเลี้ยงผูกข้อมือแล้วก็เอาข้าวกับเมล็ดพันธุ์ไปแบ่งปัน

“พวกเขาก็ไม่เรียกร้องอะไรก่อนหน้านี้เลย เขาก็ดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของสังคมเมือง พวกเขาก็อยู่แบบนี้แหละ นี่คือสังคมของเขา ที่เขาอยากพึ่งพาดูแลกันระบบต่าง ๆ มันก็คืนไปสู่ธรรมชาติ มีส่วนนึงคืนให้นกหนู และกลายเป็นปุ๋ย ตามความเชื่อคือการคืนกลับไปสู่แผ่นดิน แล้วก็เป็นรอบแบบนี้ แล้วก็พัก พอพักก็เกิดการรักษาเมล็ดพันธุ์ การแลกเปลี่ยนการแบ่งปัน เกิดเป็นเรื่องของการทอผ้า ใช้เมล็ดพันธุ์ปลูกในไร่มาผลิตเป็นฝ้ายและเป็นสีย้อมธรรมชาติ

“พิธีกรรมของชาวปกาเกอะญอนั้นเชื่อมโยงกับการเกิดแก่เจ็บตาย พอเกิดมา สายสะดือของลูกจะถูกตัดใส่กระบอกไม่ไผ่ และผูกเลือกต้นไม้ให้กลายเป็นต้นไม้ประจำตัว โดยจะไม่มีการไปตัดของกันและกัน มันผิดมากถ้าไปตัดต้นไม้ที่เป็นสายสะดือหรือว่าสายสะดือฝังใต้ต้นให้เติบโตและกลายเป็นต้นไม้ใหญ่

“พวกเขาจะดูแล บวชป่า ทำแนวกันไฟ ทำระบบผลิตที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่ามากที่สุดแล้วก็ดูแลป่าในรอบปีไป เก็บหาของป่า เก็บหน่อไม้ แล้วก็ดูแลในแบบที่มีการลาดตะเวนไปในตัว เจออะไรผิดสังเกตพวกเขาก็จะใช้ประชาคมชุมชน บอกว่ามีสถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้นให้รีบดูแลแก้ไข  นี่เป็นการอธิบายว่าหลายสิบปีมานี้ทรัพยากรธรรมชาติและผืนป่ามันก็เลยยังคงอยู่” 

ทั้งนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกต้องเผชิญกับการถูกปฏิเสธสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง ซึ่งเป็นหลักสำคัญในกฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิในการตัดสินใจเป็นสิทธิของประชาชนในการกำหนดสถานะทางการเมืองของตนได้อย่างอิสระ และสามารถกำหนดรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนได้อย่างอิสระ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการถูกคุกคามจากการเคลื่อนไหว

 

บางกลอย: ไร่หมุนเวียน ที่ดิน และชีวิตที่หายไป

“สมมุติว่า ผมเป็นกะเหรี่ยงในพื้นที่ มีครอบครัวของผมต้องเลี้ยง ผมก็จะสามารถกะประมาณได้ว่าผมจะต้องปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์ผักในพื้นที่ประมาณไหน พื้นที่เท่าไหร่ ซึ่งทั้งหมดคือเมล็ดพื้นถิ่นที่ไม่ได้ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมหรือว่ามีสารเคมีเลย กล่าวคือเป็นเมล็ดพันธุ์ที่พี่น้องเขาเก็บกันมา สะสมจากรุ่นสู่รุ่น ในแปลงนึงมีพืชหลายชนิด มีข้าวมีผัก มีดอกไม้ มีเดือย ที่เอามาทำเสื้อผ้า และปล่อยพื้นที่ตรงนั้นให้มันฟื้นฟู ให้มีพื้นที่ลักษณะคล้ายป่าอีกรอบหนึ่ง” พชร คำชำนาญ ตัวแทนจากภาคีเซฟบางกลอยกล่าวเสริม “พื้นที่ที่เราทิ้งไว้ ถ้าเป็นกะเหรี่ยงที่ทางตะวันตกจะเรียกว่าไร่ซาก ก็คือทิ้งไว้เป็นซาก แล้วพอผ่านไป สมมติสักรอบที่เหมาะสมสัก 5-7 ปี เขาก็จะเวียนกลับมาทำที่เดิมอีกรอบ แล้วก็จะกลายเป็นไร่หมุนเวียน ส่วนไร่ซากที่ทิ้งไว้ ก็คือจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าแล้วก็เป็นพื้นที่ต้นไม้ที่กำลังจะกลับขึ้นมาเติบโตในพื้นที่ เป็นแหล่งที่สามารถจะดูดซับคาร์บอนได้ดีมาก”

“ถ้าเป็นพื้นที่ภาคเหนือ ถ้ามีพื้นที่ตรงไหนที่มีชุมชนที่ยังทำไร่หมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ พื้นที่ตรงนั้นจะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ เป็นแหล่งต้นน้ำของคนในเมืองเลย เช่นจังหวัดเชียงใหม่เป็นต้น แหล่งต้นน้ำของแม่น้ำปิง คือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของชุมชนชาติพันธุ์ ที่ยังมีวิถีในการทำไร่หมุนเวียนอยู่ คือพื้นที่ไร่หมุนเวียน มันเป็นรูปแบบการเกษตรที่มันสอดคล้องกับระบบนิเวศป่าในพื้นที่แถบที่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทยเป็นต้น 

“พอไม่ได้มีการทำไร่หมุนเวียนอย่างในพื้นที่บางกลอย หลัก ๆ เลยคืออาหารหายไป ชาวบ้านไม่มีข้าวกิน ไม่มีพืชผักขึ้น จากเดิมที่เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ พึ่งพิงทรัพยากรที่ดิน ใช้องค์ความรู้ภูมิปัญาของเขาที่จะผลิตอาหารเลี้ยงครัวเรือน ไม่ต้องพึ่งเรื่องรายได้ เรื่องเงิน หรืองบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐ พื้นที่ที่ชาวบางกลอยได้รับการจัดสรรในพื้นที่ใหม่ ที่บางกลอยล่าง เป็นลักษณะที่ไม่เหมาะสมทั้งสภาพดิน และสภาพอากาศ คือมันร้อนมาก พอขึ้นไปคือจะรู้เลย ว่าสภาพมันไม่ใช่ชุมชนกะเหรี่ยง 

“สุดท้ายนั้น ชาวบ้านไม่สามารถที่จะปรับตัวอยู่ในพื้นที่ หรือว่าเปลี่ยนวิถีไปปลูกพื้นเชิงเดี่ยวเพื่อขายเอามาซื้อข้าวได้ สุดท้ายเขาต้องไปขายแรงงานในเมือง ถูกกดขี่ถูกกดค่าแรงถูกเหยียดหยามสารพัด บางคนไม่มีสัญชาติ ก็คือสุดท้ายแล้วชาวบ้านก็ตกอยู่ในสภาวะหิวโหยอดอยาก ทุพโภชนาการ ช่วงนี้ชาวบ้านมีภาวะที่เขามีโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งสุดท้ายมันก็อาจจะนำไปสู่การที่เราสามารถคาดการได้ว่าพวกเขาขาดสารอาหาร เพราะเขาต้องกินอาหารที่ได้รับบริจาค กินมาม่าปลากระป๋อง กินข้าวกับมาม่า เป็นสิ่งที่มันเป็นสิ่งที่ไม่ปกติมากๆ ในสังคมชุมชนชาติพันธุ์ เรายืนยันได้เลย ว่าหลังจากการเข้าไปในพื้นที่แล้ว เราได้เห็นเลยว่าสิ่งนี้ไม่ปกติมากๆ 

“นี่เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจไปที่บางกลอยบน ถึงแม้ว่าการกลับไปครั้งนี้เราจะรู้อยู่แก่ใจว่าชาวบ้านจะต้องถูกดำเนินคดีแน่ ๆ หรือว่าถูกกระทำความรุนแรงที่คนที่เคยลุกขึ้นมาต่อสู้ เพราะในพื้นที่นั้นพวกเขาต้องเผชิญกับความรุนแรงมาตลอด คนเสียชีวิตในพื้นที่นี้มีมากกว่าหนึ่ง มีทั้งบิลลี่ ทั้งทนายป๊อด ทนายกมล ที่ตอนนั้นมาช่วยคดีศาลปกครองในกรณีที่ปู่คออี้โดนเผาบ้าน พวกเขาถูกลอบสังหาร ทุกวันนี้มือยิงยังลอยนวลอยู่โดยไม่สามารถทวงคืนความยุติธรรมให้ทนายป๊อดได้ เช่นเดียวกับบิลลี่ ซึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้แบบนั้นก็ต้องถูกอุ้มหาย สุดท้ายถูกพบว่า เขาเสียชีวิตอยู่ในถังน้ำมันสีแดงที่ถูกถ่วงไว้ในเขื่อนแก่งกระจานแถวนั้น

“ชาวบ้านเองก็ทนความหิวโหยไม่ได้ หลังเผชิญหน้ากับโควิด พวกเขาถูกเลิกจ้างงาน ไม่มีข้าวกิน ทำให้เขาต้องกลับมาคิด แล้วก็โหยหาวิถีชีวิตแบบเดิมที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยเล่าให้ฟัง ทำให้พวกเขาตัดสินใจลุกขึ้นมาต่อสู้”

ด้วยเหตุนี้ บางกลอยจึงกลายเป็นภาพสะท้อนของกรณีที่แย่ที่สุดของการที่ชาวกะเหรี่ยงต้องสูญเสียที่ดินทำกิน และวิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ผนวกกับการบีบของภาครัฐผ่านนโยบายการอนุรักษ์และกฎหมายที่ประกาศใช้ในพื้นที่

“มีการประกาศป่าสงวนทับ ประกาศอุทยานทับ ห้ามล่าสัตว์ป่า โดยที่รัฐพยายามใช้ยุทธวิธี ใช้ยุทธการที่จะทวงคืนพื้นที่ตรงนั้นและบีบให้เหลือพื้นที่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพื่อที่จะทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทำให้พวกเขาสูญเสียความมั่นคงทางอาหารไปเลย 

“การที่เรามีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ หมายถึงว่าอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ แต่วันดีคืนดีมันมีการออกเอกสารสิทธิ คำถามก็คือว่าคนที่อยู่ในพื้นที่หรือในพื้นที่ป่า เขาไม่สามารถออกมาแสดงตัวเป็นเจ้าของเอกสารสิทธิได้ หรือถึงแม้ว่าเขาจะออกมาได้ เขาก็ไม่คิดว่าเขาจะจำเป็นต้องมี เพราะที่ดินมันเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเขา มันก็ควรจะเป็นของเขา แต่กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมได้ปิดกั้นเขาไว้ มันก็ไม่ควรจะใหญ่กว่าสิทธิโดยธรรมชาติของเขา คราวนี้วันดีคืนดีพอเขาไม่มีเอกสารสิทธิเขาก็ถูกประกาศพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าไม้ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ 2484 ทับลงไป ซึ่งพ.ร.บ.นี้เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อการทำสัมปทาป่าไม้ และระบุว่าพื้นที่ป่าคือที่ดินที่ยังไม่มีใครได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย

“ไร่หมุนเวียนที่เป็นสวน เป็นหลุมศพ เป็นป่าสะดือ พื้นที่ตรงนั้นจะกลายเป็นพื้นที่ของรัฐไปตั้งแต่ 2484 โดยที่เราไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงหรือว่าคัดค้านอะไรเลย หลังจากนั้นมันก็ยกระดับสถานะเป็นพื้นที่สวงนแห่งชาติ และยกระดับเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งชาติ” 

พชรย้ำว่า บางกลอยคือภาพแสดงของกรณีที่แย่ที่สุดที่เกิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศนี้ จากการที่ชาวบ้านกำลังถูกกดทับด้วยมายาคติสามอย่าง

“หนึ่งคือ มายาคติว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านบางกลอย ไม่ได้เกิดในไทย เขาอพยพมาจากพม่า เป็นต่างด้าว ฉะนั้นคนพวกนี้ไม่มีสิทธิที่จะต้องมีบัตรประชาชน ไม่ต้องมีสัญชาติ ไม่มีสิทธิได้เข้าถึงสวัสดิการรัฐใด ๆ ก็ตาม 

สองคือ พี่น้องถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติด ปลูกฝิ่น ปลูกกัญชา ปีที่แล้วก็มีเหตุการณ์ช่วงนึงที่มีทางสำนักนายกรัฐมนตรีท่านนึงลงพื้นที่ไปชี้ว่าชาวบ้านปลูกกัญชา สุดท้ายคือกลับไปทำกินบนพื้นที่นั้นไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ คือพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองถูกทำแบบนี้ คือโดยเฉพาะกะเหรี่ยง ม้งหรือแม้ทั่งชาวลาหู่ นี่คือเหตุผลในการที่เขาถูกวิสามัญฆาตกรรม การเสียชีวิตของจะอุ๊ก็อ้างเรื่องยาเสพติดเหมือนกัน นี่คือการพยายามกดทับด้วยเรื่องของมายาคติเรื่องค้ายา 

สุดท้ายคือเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมันเป็นเรื่องที่ผูกโยงกับเรื่องโครงสร้างการจัดการทรัพยากรและที่ดินในประเทศนี้ที่มันเป็นการผูกขาด ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์คือการมีอยู่ของคนที่ควบคู่ไป กับการมีอยู่ของธรรมชาติในพื้นที่นั้นด้วย”

การลุกขึ้นมาต่อสู้ของพี่น้องบางกลอยในปัจจุบัน ยังต้องเผชิญหน้ากับคดีความ ตั้งแต่ความผิดตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติปี 2562  ซึ่งมีโทษขั้นต่ำคือการจำคุก 4 ปี สูงสุด 20 ปี นอกจากนี้ในพื้นที่ยังถูกทับด้วยกฎหมายป่าไม้อย่างน้อยสามฉบับ 

“ชาวบ้านเขาไม่มีอะไรเลย เขาไม่มีทุนทรัพย์ในการสู้คดี มีแต่มือเปล่าพอออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหา ก็ถูกดำเนิดคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยจันทร ต้นน้ำเพชร เยาวชนอายุ 17 ปี ที่ออกไปม็อบที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ก็ถูกแจ้งความดำเนินคดี”

 

บิลลี่ 

ความยุติธรรมที่ยังคงไม่หวนคืน

“มีรายงานว่า มีการจับกุมบิลลี่ ซึ่งเท่ากับว่าคนสุดท้ายที่อยู่กับบิลลี่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นการเรียกร้องของเราก็คือทำอย่างไรให้กลไกการค้นหาความจริงโดยเฉพาะในชั้นตำรวจ อัยการศาล เร่งรัดดำเนินการในระยะแรกที่บิลลี่ถูกทำให้หายไป เพราะว่ามีหลักฐาน มีพยานที่เชื่อได้ว่าคนสุดท้ายที่อยู่กับบิลลี่คือ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติที่ชื่อชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ถ้าประเทศเราเป็นปกติ กลไกรัฐควรจะสามารถค้นหาความจริงได้ตั้งแต่ในระยะแรกของการหายตัวไปของบิลลี่” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ  ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าถึงคดีของการถูกบังคับให้สูญหายของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ เขาคือหนึ่งในอาสาสมัครที่ช่วยเหลือทนายความในเรื่องคดีการเผายุ้งข้าวและบ้านเรือนของชาวบ้านบางกลอย และมีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิในที่ดินของปู่คออี้และชุมชน 

“ตอนนี้มันแปดปีมาแล้ว ก็เลยเห็นได้ชัดว่า กลไกของรัฐล้มเหลว ในเรื่องการค้นหาความจริงและปล่อยให้คนผิดลอยนวล มันไม่มีความจริงใจในเรื่องของการดำเนินคดี แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดก็มีเจ้าหน้าที่บางส่วนที่พยายามที่จะผลักดันที่จะพยายามให้เกิดการค้นหาความจริง ล่าสุดก็คือบทบาทของดีเอสไอที่ค้นพบชิ้นส่วนกระดูกหูซ้ายของบิลลี่ ที่เทียบแล้วเป็นบุตรของแม่บิลลี่ ทางดีเอสไอก็ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาสืบสวน สอบสวนและทำสำนวน ให้กับอัยการสูงสุดไปแล้วเพื่อจะสั่งฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการที่เชื่อได้ว่าเขาน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ทำให้บิลลี่หายไป ส่งมาสองปีแล้ว ทางอัยการอ้างว่าไม่เชื่อหลักฐานที่เป็นกระดูกท่อนหูของบิลลี่เลยไม่สามารถที่จะตั้งข้อหาคดีฆ่าได้ เพราะว่าการไม่พบศพในคดีคนหายในประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินคดีทางอาญาได้ ที่สำคัญก็คือการอุ้มหายก็ยังไม่เป็นความผิดทางอาญา” 

“ล่าสุดจึงได้มีความพยายามผลักดันการปราบปรามการบังคับให้สูญหาย เพื่อทลายข้อจำกัดของการนำคนผิดมาลงโทษ และนำบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และให้เขาได้รับโทษตามสมควรหรือตามเหมาะสมกับสิ่งที่ได้ทำไป”

พรเพ็ญสริมว่า “ใจความสำคัญของกฎหมายของประเทศไทย คือกฎหมายของไทยทำร้ายประชาชน แต่พอไปถึงชุมชนหรือกลุ่มคนที่เปราะบาง กฎหมายก็ได้ทำร้ายเขาหนักมาก โดยประชาชนในพื้นที่บางกลอยเป็นกลุ่มเปราะบางและเป็นกลุ่มประชากรที่ควรจะได้รับการปกป้องมากที่สุด แต่กลับถูกละเมิดสิทธิมากที่สุดและทุก ๆ มิติ โดยที่รัฐทั้งหมด ที่ผ่านมาเกิดการลอยนวลพ้นผิดมาตลอด เวลามีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ มันไม่เป็นความผิดทางอาญา แต่มันคือทัศนคติที่ส่งผลต่อนโยบายต่าง ๆ มากมายต่อกลุ่มชาติพันธุ์ 

“อีกอย่างที่สำคัญคือ ด้านการปกป้องชุมชน ที่ชุมชนเปราะบางอย่างกลุ่มชาวกะเหรี่ยงที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ กลับถูกมองเป็นเพียงงานสงเคราะห์หรือสังคมสงเคราะห์ ไม่ใช่งานด้านสิทธิมนุษยชน แต่สิ่งที่สำคัญคือการตัดสินใจด้วยตัวเอง ว่าเขาอยากที่จะการพัฒนาเรื่องการปกครอง กฎหมายประเพณีหรือการดำเนินชีวิตของเขา ทว่าสิ่งเหล่านี้กลับถูกจำกัด แต่ว่าก็ต้องขอบคุณชาวบางกลอย และขอบคุณคนรุ่นใหม่ที่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่กับชาวกะเหรี่ยงทางภาคเหนือ จนกระทั่งมีความเข้าใจและสามารถช่วยเหลือและสื่อสารเรื่องบางกลอยได้ชัดเจนมากขึ้นในสังคมไทย ว่าสังคมเราทำร้ายกลุ่มชาติพันธุ์”

“นอกจากนี้ยังมีการจับกุมชาวบ้าน 18 คน ในช่วงเดือนมีนาคม ปีที่แล้วที่เขาได้ตัดสินใจ ขึ้นไปทำไร่หมุนเวียน ตามวิถีของชาวกะเหรี่ยง ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่อัยการ กำลังรวบรวมหลักฐาน คดีเหล่านี้เป็นคดีที่มีลักษณะกลั่นแกล้งคดีทางการเมือง กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ที่ดินป่าไม้และเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชนก็เป็นกฎหมายที่ทำร้ายประชาชนมาโดยตลอด 

8 ปี ของการหายไปของบิลลี่ ก็คือ 8 ปี ของรัฐประหาร และเป็น 8 ปีของนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาติพันธ์ุทั้งหมด นโยบายทวงคืนผืนป่าออกมาเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งรัฐประหารเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม และเป็นนโยบายที่ไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชน เท่ากับว่าประชาชนเกือบทั่วทั้งประเทศเดือดร้อน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง (hate speech) และการพูดถึงในแง่ลบซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายมิติ มีความคิดว่าถ้าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แบบนี้ จะทำความผิดทางกฎหมายประเภทนี้ ถ้าเป็นศาสนานี้ก็จะทำความผิดประเภทนี้ ซึ่งเป็นการทำให้พวกเขาไม่สามารถที่จะยืนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม”

นโยบายทวงคืนผืนป่านั้นเกิดขึ้นหลังจากรัฐประหารโดยคณะคสช. ในปี 2557 โดยมีการใช้อำนาจตามมาตรา44 

“ในช่วงแรก ๆ ของการมีนโยบายฉบับนี้ คือเจ้าหน้าที่อุทยานป่าไม้ เห็นว่าพื้นที่ในที่จะต้องมีการทวงคืนให้ได้ เขาก็จะเอากองกำลังเข้าไปเลย แล้วก็จัดการพื้นที่ตรงนั้น แล้วก็ไม่มีการตรวจสอบหรืออะไรเลย” พชรเสริม “นโยบายทวงคืนผืนป่า ได้ต่อยอดกับแผนแม่บทป่าไม้ ในเดือนสิงหาคม ซึ่งกำหนดไว้ ว่าประเทศไทยต้องทวงคืนพื้นที่ป่าไม้ 40% เหมือนว่านี่คือพื้นที่ป่าของรัฐ  และกำหนดไว้ว่าจะต้องมีพื้นที่ป่า 15% ที่อุทยานเขตห้ามล่าสัตว์ ส่วนอีก 15% คือ ป่าสงวน

“วิธีการในช่วงนั้นได้ใช้วิธีการเข้าไปตรวจยึด และดำเนินคดี โดยข้อมูลจากกรรมการสิทธิมนุษยชนระบุว่าการใช้นโยบายทวงคืนผืนป่าที่เกิดขึ้นมันนั้นมีลักษณะการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ดังนี้ หนึ่งคือ การยึดพื้นที่ ห้ามเข้าทำกิน หรือว่าถูกไม่ให้ออกจากพื้นที่เลย หรือว่าสองคือทำลายพืชผล ดักฟันพืชผลที่อยู่ในพื้นที่เขาแล้วก็ห้ามเข้าทำกิน ข้อสามคือห้ามชาวบ้านเข้าไปเก็บเกี่ยวพืชผักที่ปลูกไว้ หากเข้าไปจะดำเนินคดี สี่คือการดำเนินการจับกุมดำเนินคดีเลย ห้าคือข่มขู่ กดดันบังคับ

“สุดท้ายแค่ช่วงเวลาประมาณห้าถึงหกปีของการมีอยู่ของนโยบายนี้ มันทำให้มีคดีความที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้นแค่ในช่วงเวลาแค่สี่ห้าปี ถึง 46,000 กว่าคดี โดยที่พื้นที่ป่าของประเทศไทยแทบจะไม่เพิ่มขึ้น”

 

ป่า-คน-วัฒนธรรม

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพื้นที่แก่งกระจานได้เกิดขึ้นอีกครั้งจากการที่ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ ในปีพ.ศ. 2564

“ผมอยากจะย้อนนิดนึงว่าการขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก มันไม่ใช่เพิ่งจะขึ้นเมื่อปีที่แล้ว มันถูกการเสนอมาหลายรอบแล้ว” เกรียงไกรเล่า “ก่อนหน้านั้นหลายปีจะเห็นได้ว่ากลุ่มป่าแก่งกระจาน ถูกกลุ่มสายอนุรักษ์หลายองค์กรลงมาทำงานศึกษาวิจัย โดยพลาดอย่างหนึ่ง คือการที่พี่น้องชาวกะเหรี่ยง ไม่ได้รู้เรื่องเหล่านี้ คือพวกเขาทำกันเอง เสนอ แล้วก็สรุปข้อมูลกันเอง เเล้วก็มีตัวชี้วัดอะไรบางอย่าง เช่นกรณีจระเข้น้ำจืด ความสมบูรณ์ของนิเวศวิทยา ความหลากหลาย จึงเสนอเป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติ ทั้งๆจริงๆ แล้วยูเนสโก ก็มีกรอบเรื่องของสามารถเสนอพื้นที่ทางวัฒนธรรมด้วยก็ได้ แต่การทำข้อมูลตรงนั้น สายวัฒนธรรมและสายสังคมวิทยาไม่ได้อยู่ในกระบวนการเลย

“แล้วชาวบ้านก็ไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งพื้นที่จะถูกเสนอเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติโดยมีตัวแปร คือจระเข้น้ำจืด รวมถึงสัตว์อนุรักษ์หลาย ๆ ตัวที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยที่กระบวนการนั้นมีชาวบ้านก็รวมอยู่บ้าง นั่นคือลูกหาบ หลังจากที่การเสนอครั้งแรก เครือข่ายภาคีด้านกลุ่มชนเผาพื้นเมืองก็ส่งข้อมูลมา พวกเราก็ทำหนังสือร้องไป ครั้งแรกก็ล่มไป หลังจากนั้นก็มีฟีดแบ็คกลับมาจาก IUCN (องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ) ว่าต้องทำประชาพิจารณ์ หรือว่าต้องเปิดการรับรู้จากชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ได้มีการเสนอแนะ แล้วก็สะท้อนไปหลายวง 

“การเสนอครั้งที่สี่เกิดขึ้นโดยที่มีประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ โดยที่พิจารณาไม่มีความพยายามเปิดให้มีการสะท้อนจากประเทศ สมาชิกอื่นๆ ที่เป็นสายสังคมหรือสายสิทธิมนุษยชน”

“จริง ๆ แล้วยูเนสโกเป็นกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่ง” พรเพ็ญเสริม “อยากจะบอกว่ายูเนสโก มันทำงานอยู่สองระดับ คือมันมีประเทศสมาชิกที่เรียกว่าเป็นคณะกรรมการมรดกโลกด้วย ซึ่งประเทศสมาชิกเขาก็จะมีความเป็นอิสระ แล้วก็อย่างเช่นมีประเทศออสเตรเลีย นอร์เวย์ รัสเซีย หลายประเทศมากรวมทั้งประเทศจีน ในวาระนั้นด้วย เขามีบทบาทใน เรื่องของการโหวต ดังนั้นสิ่งที่คุณไก่พูด สะท้อนให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องการเมือง และแสดงให้เห็นได้ชัดว่ากลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองผืนป่ามรดกโลก การคุ้มครองบนโลกทางธรรมชาติในพื้นโลกของโลกเรามันมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย” 

“อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนต่าง ๆ มันจะมีหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งเราก็เห็นความพยายาม สำนักงานของใหญ่ของยูเนสโกเองก็ตอบรับจดหมายของชาวบ้าน ที่เราเวียนส่งนัดทุกครั้ง ทีมผสานวัฒนธรรมก็ร่วมกับชาวบ้านในการทำเอกสารแปลหนังสือ ตอบกันไปมา จนชาวบ้านรับรู้และเข้าใจ ว่าเขาเป็นบุคคลที่สำคัญของยูเนสโกมาก และยูเนสโกก็อยากที่จะเข้ามาช่วยในการปกป้องคุ้มครอง โดยมีเงื่อนไขกับประเทศไทยโดยตลอดมาว่าจะต้องปรึกษาหารือกับชนเผ่าพื้นเมืองของไทย ซึ่งในที่นี้ก็คือชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน ซึ่งไม่ใช่แค่บางกลอย แต่ยังมีอีกหลายชุมชนมาก เหตุผลเบื้องหลังตรงนี้ก็คือว่ายูเนสโกมีหน้าที่ในการคุ้มครองมรดกโลกให้อยู่กับชาวโลกตลอดไปทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรม 

“ดังนั้นกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นั้นมีความพยายามที่จะเข้ามาช่วยเหลือแล้วก็ทำให้คนเข้าถึงสิทธิมากขึ้น และถูกละเมิดน้อยลง แต่ว่าประเทศไทยกลับปิดก็ไม่ให้คนมาทำหน้าที่ มาทำงาน และใช้โอกาสปิดกั้นสื่อ ควบคุมข้าราชการ และข้าราชการก็มีทัศนคติแบบนั้น เพราะฉะนั้นการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเรื่องลำบาก แล้วพวกเราเองคนไทยก็ที่คิดว่าเราไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แต่ตอนนี้เราเองกำลังถูกเลือกปฏิบัติอยู่ โดยเหตุเพราะว่าเราถูกปกครองโดยรัฐที่เป็นเผด็จการ และไม่ให้เราสามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงมีพึงได้ แล้วก็ตรวจสอบก็ไม่ได้ แล้วก็การดำเนินการด้านต่างๆก็จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็นด้วย แล้วก็เป็นเรื่องของโครงสร้างระดับประเทศ ระดับรัฐระดับสถาบันที่ทำให้การกดขี่กลุ่มชาติพันธ์ุยังคงดำรงอยู่” 

 

จนถึงทุกวันนี้ ชนเผ่าพื้นเมือง ยังคงต้องเผชิญหน้ากับอคติทางชาติพันธุ์ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการใช้สิทธิมนุษยชน เช่นนั้นแล้ว การร่วมส่งเสียง ยืนหยัด เรียนรู้ รับฟัง เข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง และตระหนักถึงความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมจึงเป็นหัวใจสำคัญ 

เพราะความแตกต่างไม่ใช่อุปสรรค แต่คือสิ่งที่มนุษย์ต้องโอบรับด้วยความเข้าใจ เพื่อที่จะขับเคลื่อนสังคมให้ไปสู่ก้าวใหม่ข้างหน้า ในโลกที่ดีกว่าเพื่อสิทธิมนุษยชน 

พบกันอีกครั้งในค่ายทะลุด่าน เพื่อเรียนรู้ประเด็นสิทธิมนุษยชนกับชนเผ่าพื้นเมืองปกาเกอะญอ ที่บ้านบางกลอย ในวันที่ 22-24 เมษายน 2565