ทำความรู้จักกับ I ใน LGBTQI

หากพูดถึงสัญลักษณ์ของเหล่าผู้หลากหลายทางเพศ ทุกคนอาจจะพอคุ้นเคยกับ LGBTQ กันบ้าง แต่คุณรู้รึเปล่าว่าแปลว่าอะไร

แล้วคุณรู้หรือไม่ว่ามันมีอักษรอีกตัว

L = Lesbian     ผู้หญิงรักผู้หญิง

G = Gay          ผู้ชายรักผู้ชาย

B = Bisexual    คนที่รักทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

T = Transgender         คนข้ามเพศ(ทอม,กะเทย,และกลุ่มคนข้ามเพศอื่นๆ)

Q = Queer       คนที่ยังไม่แน่ใจในเพศ แต่รู้ว่าไม่ตรงตามสังคมกำหนด

I = Intersex?    

ถึงจุดๆ นี้ย่อมมีคนเกาหัวกันบ้างแล้ว ว่านี่ยังมีอีกกลุ่มหรือเนี่ย หรือกระทั่งงงด้วยซ้ำว่าคนกลุ่มนี้เป็นใคร วันนี้เราจึงขอยกบทสัมภาษณ์จาก คิตตี้ แอนเดอสัน นักรณรงค์สิทธิอินเตอร์เซ็กส์เพื่ออธิบายให้คุณได้เข้าใจ

อินเตอร์เซ็กส์คืออะไร

อินเตอร์เซ็กส์ หมายถึง คนที่เกิดมามีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากปกติ จนไม่สามารถระบุเพศชัดเจนได้ โดยมีทั้งการเกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งสองเพศ ปริมาณฮอร์โมนหรือโครโมโซมเพศที่ผิดปกติ หรือแม้กระทั่งลักษณะด้านอื่นๆ ที่ค่อยๆ ปรากฎเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์

การเป็นอินเตอร์เซ็กส์มักจะหมายถึงลักษณะทางกายภาพ ไม่ได้หมายถึงเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศ ซึ่งชาวอินเตอร์เซ็กส์ก็สามารถมีได้หลากหลายเช่นบุคคลทั่วไป

คุณพบว่าตัวเองเป็นอินเตอร์เซ็กส์ได้อย่างไร

ฉันพบอาการตอนอายุ 13 ปี และมันทำให้ฉันตกใจมาก ความจริงแล้วมันมีความลับและอคติเกี่ยวกับอินเตอร์เซ็กส์มากมายที่ครอบครัวปิดบังจากฉัน แต่เมื่อลูกพี่ลูกน้องของฉัน — ซึ่งเป็นอินเตอร์เซ็กส์เช่นกัน — เกิดมาสองสามปีให้หลัง ครอบครัวของฉันก็ปกปิดไม่ได้อีกต่อไปและพวกเราก็ต้องพยายามปรับตัวไปด้วยกัน

ฉันใช้เวลานานมากกว่าที่ฉันจะบอกตัวเองให้เลิกปิดบังอาการของตัวเองได้ ซึ่งมันมีผลกระทบมากกับการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เวลาคนเริ่มคุยกันเรื่องประจำเดือนหรือการมีลูก ฉันได้แต่พยักหน้าแล้วตามน้ำไปเรื่อยๆเพราะฉันถูกสอนมาอย่างนั้น แต่ความจริงแล้วฉันไม่ได้อยากทำแบบนั้น

ฉันเริ่มพูดถึงอินเตอร์เซ็กส์ครั้งแรกตอนที่ฉันแลกเปลี่ยนไปที่ออสเตรเรีย ฉันบอกกับตัวเองว่า “เราอยู่คนละประเทศแล้ว เริ่มต้นที่นี่ละกัน” ดังนั้นพอฉันเจอคนใหม่ๆฉันก็กล้าพูดถึงความเป็นอินเตอร์เซ็กส์ของฉันเวลาที่บทสนทนามันพาไปและฉันพบว่ามันไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย — มีอยู่แค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่พูดอะไรแปลกๆหรือไม่เหมาะสมแต่มันก็ไม่ใช่เรื่องปกติ

การที่เด็กจะเป็นอินเตอร์เซ็กส์หรือไม่มันไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย เพราะเด็กทุกคนสมควรที่จะได้อยู่ในสังคมที่ทุกคนเคารพในสิทธิมนุษยชนของพวกเขา

พอฉันกลับมาที่ไอซ์แลนด์ตอนอายุ 19 ฉันก็กล้าที่จะพูดมากขึ้น แน่ล่ะว่าฉันไม่ได้เที่ยวตะโกนบอกชาวบ้านว่า “หวัดดี! ฉันเป็นอินเตอร์เซ็กส์ล่ะ!” แต่ฉันสามารถจะพูดถึงมันได้แล้วไม่รู้สึกผิด เพราะตอนนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของฉันและก็เริ่มโผล่มาในการสนทนามากขึ้นเมื่อฉันเลิกหยุดตัวเอง การเป็นอินเตอร์เซ็กส์มันถูกปกปิดไว้มากจนคนมากมายหมดโอกาศที่จะได้เจออินเตอร์เซ็กส์ด้วยกัน และมันทำให้เรารวมตัวเป็นสังคมไม่ได้

อะไรคือปัญหาสิทธิมนุษยชนที่อินเตอร์เซ็กส์ต้องเจอ

ความพยายามที่จะทำให้เด็กอินเตอร์เซ็กส์เป็นคน “ปกติ”ด้วยการดัดแปลงทางการแพทย์เพื่อให้พวกเขากลายเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงตั้งแต่ตอนที่พวกเขายังเด็กมาก

การดัดแปลงส่วนใหญ่มักจะเป็นการผ่าตัดอวัยวะเพศเพื่อเสริมความงามหรือให้ตรงตามจารีตของสังคม อย่างเช่นการตัดคลิตอริสให้สั้นลง(แม้ว่าส่วนที่ยาวออกมาจะยังคงเป็นศูนย์รวมเส้นประสาท) การผ่าอวัยวะสืบพันธุ์ภายในออก การผ่าตัดเพื่อใส่ช่องคลอดหรือกระทั่งการตัดแต่งองคชาติให้มีรูปลักษณ์เหมือนปกติ

การดัดแปลงที่ล่วงเกินและส่งผลทั้งชีวิตเหล่านี้มักจะถูกกระทำตั้งแต่ก่อนที่เด็กจะตัดสินใจได้เอง

ปกติการดัดแปลงเหล่านี้จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง แต่ข้อมูลที่ผู้ปกครองได้รับก่อนการตัดสินใจนั้นมักจะขาดความน่าเชื่อถือ เพราะการดัดแปลงเหล่านี้มักจะมีผลกระทบทางสุขภาพระยะยาว รวมไปถึงการต้องรับประทานยาปรับฮอร์โมนตลอดชีวิต แต่ความจริงแล้วการดัดแปลงเหล่านี้ควรจะเด็กคนนั้นโตขึ้นมาตัดสินใจด้วยตัวเอง

คุณอยากจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

เป้าหมายของเราคือการยุติการการดัดแปลงทางการแพทย์ทั้งหมดที่ไม่จำเป็นต่อสุขภาพของเด็ก นอกจากนี้เราต้องการให้ความรู้ประชาชนเพื่อทำลายอคติต่ออินเตอร์เซ็กส์ รวมถึงให้ความช่วยเหลือทางจิตวิทยาสำหรับครอบครัวด้วย เพื่อให้เด็กๆที่เป็นอินเตอร์เซ็กส์ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือถูกกีดกัน รวมถึงให้พวกเขาเข้าถึงความช่วยเหลือและเพื่อนร่วมอินเตอร์เซ็กส์ด้วยกันได้ด้วย

เราจะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่โครงสร้างทางวังคมและจิตวิทยาแบบใหม่ เพราะคนที่ต้องเปลี่ยนแปลงไม่ใช่คนที่เกิดมาเป็นอินเตอร์เซ็กส์ แต่เป็นสังคมที่พยายามจะบังคับให้พวกเขาตรงตามมโนภาพของสังคม การที่เด็กจะเป็นอินเตอร์เซ็กส์หรือไม่มันไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย เพราะเด็กทุกคนสมควรที่จะได้อยู่ในสังคมที่ทุกคนเคารพในสิทธิมนุษยชนของพวกเขา

แต่เราก็ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในปี 2015 ประเทศมอลตาได้ประกาศให้การผ่าตัดเด็กอินเตอร์เซ็กส์ด้วยสาเหตุทางสังคมเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (ประกาศดังกล่าวออกมาในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งทำให้พวกเราแอบเสียวมากๆเลยว่ามันจะเป็นมุกเมษาหน้าโง่)

ประเทศโคลัมเบียก็ได้เปลี่ยนระบบให้การผ่าตัดในลักษณะนี้ต้องผ่านการอนุญาติจากศาล คณะกรรมการต่อต้านการทรมาณและคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติเองก็ออกคำแนะนำแก่หลายๆประเทศให้ยุติการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นต่อสุขภาพกับเด็กอินเตอร์เซ็กส์

เด็กๆ เหล่านี้ควรจะมีสิทธิที่จะตัดสินใจเรื่องสำคัญกับร่างกายของพวกเขาด้วยตนเอง

แต่เราก็ยังมีงานต้องทำ เพราะถ้าเราไม่ทำให้ความรู้เรื่องนี้กว้างขวาง ก็จะยังคงมีการกระทำแบบนี้ต่อไป ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเราสนใจแต่จะทำให้เทคนิคการผ่าตัดด้านนี้สมบูรณ์ขึ้น แทนที่จะสนใจการปกป้องสิทธิเหนือเรือนร่างของเด็กๆเหล่านี้มากกว่า

สังคมคือผู้ที่ทำให้เกิดระบอบนี้ขึ้น และถ้าไม่ใช่สังคมที่บังคับให้ทุกคนเคารพสิทธิของเด็กๆเหล่านี้ เรื่องพวกนี้ก็พร้อมที่จะถูกปัดทิ้งกลับไปซ่อนไว้อย่างเดิม

จนกว่าเหล่าผู้ที่กลัวที่จะพูดได้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมและพร้อมที่จะสนับสนุนเขา มันก็เป็นเรื่องที่ยากอีกมากที่คนเหล่านี้จะกล้าลุกขึ้นมาพูดและรวมตัวกับกลุ่มเคลื่อนไหวที่ต้องการพวกเขาเหลือเกิน

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้