แรงงานทาส-ค้ามนุษย์-ทรมาน: เปิด “ศูนย์สแกมเมอร์” กัมพูชา ฟังเสียงหลายสิทธิที่ถูกละเมิด

ย้อนไปเมื่อราวปี 2553 การพนันเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศกัมพูชา คาสิโนและโรงแรมที่ผุดขึ้นเป็นจำนวนมากกลายเป็นแหล่งการพนันยอดนิยมของนักเสี่ยงโชค เช่นเดียวกับกลุ่มอาชญากร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ที่สามารถทำเงินได้อย่างมหาศาลจากธุรกิจสีเทานี้ อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2562 รัฐบาลกัมพูชาสั่งห้ามการพนันออนไลน์ ธุรกิจบ่อนการพนันจึงแปรรูปไปสู่ธุรกิจอย่าง “สแกมเมอร์” หรือการหลอกลวงทางออนไลน์ ซึ่งสร้างเม็ดเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐเข้ากระเป๋าอาชญากรเหล่านี้ อาคารคาสิโนและโรงแรมถูกปรับเปลี่ยนเป็น “ศูนย์สแกมเมอร์” (scamming compounds) ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน รวมไปถึงเป็นพื้นที่ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง 

ใครจะรู้ว่า บรรดาข้อความสแกมที่พวกเราได้รับและสร้างความรำคาญใจอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มาจาก “เหยื่อ” ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายรูปแบบ ทั้งการกักขัง ทรมาน แรงงานทาส ไปจนถึงการค้ามนุษย์

“ฉันคือทรัพย์สินของคนอื่น”

26 มิถุนายน 2568 ซึ่งตรงกับ “วันต่อต้านการทรมานสากล” (International Day in Support of Victims of Torture) ที่องค์การสหประชาชาติประกาศไว้เพื่อรำลึกถึงความเจ็บปวดของเหยื่อที่เคยถูกทรมาน และเพื่อย้ำเตือนว่า “ไม่มีข้ออ้างใดที่ทำให้การทรมานเป็นเรื่องยอมรับได้” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดตัวรายงานฉบับล่าสุด ที่มีชื่อว่า “ฉันคือทรัพย์สินของคนอื่น: การเป็นทาส การค้ามนุษย์ และการทรมานในศูนย์สแกมเมอร์ของกัมพูชา” (I Was Someone Else’s Property: Slavery, Human Trafficking and Torture in Cambodia’s Scamming Compounds) ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยศูนย์สแกมเมอร์ในกัมพูชา ที่เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายรูปแบบ โดยที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่สามารถรับมือได้ ขณะที่รัฐบาลกัมพูชายังเพิกเฉยต่อความโหดร้ายเหล่านี้ ที่เกิดขึ้นในศูนย์สแกมเมอร์กว่า 50 แห่งทั่วกัมพูชา

แอมเนสตี้ใช้เวลากว่า 18 เดือน ในการลงพื้นที่ และสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากศูนย์สแกมเมอร์ จำนวน 58 คน ประกอบด้วยชาวไทย 24 คน ชาวจีน 20 คน และประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย บังกลาเทศ เวียดนาม อินโดนีเซีย ไต้หวัน และเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นผู้ที่หลบหนีออกมา ได้รับการช่วยเหลือ หรือครอบครัวจ่ายค่าไถ่ให้ปล่อยตัว และเข้าถึงเอกสารกว่า 300 ฉบับ เกี่ยวกับผู้ที่ถูกกักขังในศูนย์สแกมเมอร์และหนีออกมาเพื่อขอความช่วยเหลือ รวมถึงได้รับความร่วมมือจากองค์กรท้องถิ่นและองค์กรระหว่างประเทศ 20 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ และพูดคุยกับพยานที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ใกล้ศูนย์สแกมเมอร์ ก่อนจะตีพิมพ์เป็นรายงานความยาว 240 หน้า 

มอนต์เซ เฟอร์เรอร์ ผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในการเปิดตัวรายงานว่า รายงานฉบับนี้ประกอบด้วยข้อค้นพบที่น่าสนใจ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ขนาดของวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน (2) การละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในศูนย์สแกมเมอร์ และ (3) บทบาทของรัฐที่ไม่ได้จัดการแก้ไขปัญหาอย่างเพียงพอ

ขนาดของวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน

ข้อค้นพบนี้หมายถึงการ “ปักหมุด” สถานที่ตั้งของศูนย์สแกมเมอร์ และลักษณะของศูนย์เหล่านี้ ซึ่งมีองค์ประกอบที่เห็นได้ชัด 2 ประการ ได้แก่ การเป็นสถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวกันเพื่อทำงานออนไลน์สแกมมิง และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนปรากฏในสถานที่ดังกล่าว ทั้งแรงงานทาส การค้ามนุษย์เพื่อเป็นทาส การใช้แรงงานเด็ก การทรมาน และอื่นๆ โดยนักวิจัยของแอมเนสตี้ได้ลงพื้นที่ศูนย์สแกมเมอร์ทั้งหมด 53 แห่งใน 16 เมือง ทั่วประเทศกัมพูชา รวมทั้งตรวจสอบสถานที่คล้ายกันอีก 45 แห่งที่ต้องสงสัยว่าเป็นศูนย์สแกมเมอร์

“อาคารเหล่านี้แบ่งออกอย่างกว้างๆ ได้ 2 แบบ คือแบบที่นำอาคารเก่ามาปรับใช้ ดังนั้นอาคารดังกล่าวจะเคยเป็นอย่างอื่นมาก่อนที่จะกลายเป็นศูนย์สแกมเมอร์ และถูกนำมาปรับโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งระบบความปลอดภัยเพิ่มเติม เช่น ลวดหนาม กล้องวงจรปิด และกลุ่มอาคารอีกแบบหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์บางอย่างที่ไม่ชัดเจนว่าข้างในใช้ทำอะไร แต่ที่แน่ๆ คือมีไว้กักขังคน”

ที่ตั้งของศูนย์สแกมเมอร์ที่ทีมวิจัยสามารถระบุได้มักจะเป็นที่ตั้งที่เห็นได้อย่างเด่นชัด ตัวอาคารประกอบไปด้วยรูปแบบที่เรียกว่า “ลักษณะของความปลอดภัยในเชิงกายภาพและเชิงองค์กร” กล่าวคือ ศูนย์สแกมเมอร์เกือบทุกแห่งจะปรากฏลักษณะด้านความปลอดภัยทางกายภาพที่ชี้ให้เห็นถึงเจตนาในการกักขังผู้คน ไม่ว่าจะเป็นกำแพง ลวดหนาม ลวดไฟฟ้า และกล้องวงจรปิดที่หันเข้าด้านใน รวมทั้งลูกกรงที่สูงกว่าระดับถนน นอกจากนี้ยังมีหอสังเกตการณ์ที่ออกแบบมาให้เหมือนกับโครงสร้างของเรือนจำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันคนข้างในหนีออกมา รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือ “ผู้คุม” ประจำการอยู่ที่ประตูใหญ่ และในจุดอื่นๆ แน่นอนว่า ไม่ใช่เพื่อคอยระวังผู้บุกรุกจากภายนอก แต่ดูเหมือนว่าจะทำหน้าที่ควบคุมและสอดส่องผู้ที่อยู่ข้างในมากกว่า

“สาเหตุที่เราต้องระบุลักษณะของโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มี 2 ประการ คือ หนึ่ง ลักษณะของอาคารจะให้ ‘พิมพ์เขียว’ หรือแบบแผนเพื่อให้เราและคนอื่นๆ สามารถดำเนินการสืบสวนต่อ แต่เหตุผลที่สอง และเป็นจุดที่เราจะเข้าสู่ข้อค้นพบที่สอง เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ลองจินตนาการถึงสถานที่เหล่านี้ คุณออกไปไหนไม่ได้ กำแพงสูงเกินกว่าคุณจะปีนไหว และมีผู้คุมกระจายตัวอยู่ ในบางกรณี ผู้คุมกว่าร้อยคนที่เราสังเกตได้และได้ข้อมูลจากผู้รอดชีวิต มักจะคอยจับตาดูคุณในทุกอิริยาบถ นี่คือสถานที่ที่ผู้ให้สัมภาษณ์บอกเราว่าพวกเขาถูกกักขัง” มอนต์เซอธิบาย

การละเมิดสิทธิมนุษยชน: ทรมาน แรงงานทาส ค้ามนุษย์ ฯลฯ

“ผู้จัดการศูนย์บอกผมว่า ผมไม่มีทางออกจากที่นี่ไปได้ ไม่ใช่ภายในหนึ่งหรือสองปี” ชายชาวจีนคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับทีมวิจัย คำพูดของเขาสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า “บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว” (Climate of Fear) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่กล้าหนีออกมาจากศูนย์เหล่านั้น

“บรรยากาศแห่งความกลัวนี้จะถูกป้อนให้กับผู้เสียหายตั้งแต่วันแรก อาจจะเป็นช่วงเวลาที่พวกเขามาถึงศูนย์สแกมเมอร์ หรืออาจจะเริ่มตั้งแต่พวกเขาถูกพาขึ้นรถมาจากประเทศบ้านเกิดด้วยความคิดว่าจะไปทำงานในโรงงาน ไปจนกระทั่งช่วงที่พวกเขาหลบหนีหรือได้รับการช่วยเหลือ ผู้คนเหล่านี้จะอยู่กับความกลัวตลอดเวลา”

ทันทีที่มาถึง ทุกคนที่เราสัมภาษณ์ต้องทำงานส่วนใหญ่เป็นออนไลน์สแกมมิง แต่มีบางคนที่มีหน้าที่ไม่ชัดเจน เช่น ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งต้องใช้ใบหน้าในการเปิดบัญชี อย่างไรก็ตาม ทุกคนถูกบังคับให้ทำงาน ไม่มีใครได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม และส่วนมากไม่ได้รับค่าจ้าง

สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดคือ ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถปฏิเสธได้ พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธงานที่ถูกสั่งให้ทำ หลายคนไม่มีพาสปอร์ตหรือบัตรประชาชน ส่วนผู้ที่มีพาสปอร์ต พาสปอร์ตจะถูกยึด ทำให้พวกเขาต้องเข้าสู่บรรยากาศแห่งความกลัว การสอดส่อง และรู้สึกว่าตัวเองหนีไปไหนไม่ได้

การละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในศูนย์สแกมเมอร์มีหลายรูปแบบ และมีความทับซ้อนกัน ผู้เสียหายแต่ละคนจะต้องทนทุกข์กับการถูกละเมิดสิทธิมากกว่า 1 อย่าง นับตั้งแต่การกักขัง ซึ่งถือเป็นการลดทอนเสรีภาพของบุคคล ผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนและผู้เสียหายทุกคนต่างให้การว่าพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ออกมาข้างนอก ประตูของศูนย์มักจะมีผู้คุมคอยดูแลอยู่ 

  • การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย

ผู้เสียหาย 40 คนจาก 58 คนถูกการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ซึ่งเกือบทั้งหมดกระทำโดยผู้จัดการศูนย์ บางคนถูกตีด้วยดัมเบล บางคนถูกตีด้วยกระบองไฟฟ้า ศูนย์บางแห่งจะมีห้องที่เรียกว่า “ห้องมืด” สำหรับทรมานผู้ที่ไม่ยอมทำงาน ไม่สามารถทำงาน ทำงานไม่ได้ตามเป้า หรือพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่

ลิซา (นามสมมติ) หนึ่งในผู้เสียหายชาวไทย เล่าว่าเธอเคยพยายามหนีออกจากศูนย์สองครั้ง และครั้งที่สองที่เธอถูกจับได้ เธอถูกนำตัวเข้าไปในห้องมืด และถูกทุบส้นเท้าด้วยแท่งเหล็กเป็นเวลานานหลายชั่วโมง เธอขยับตัวไม่ได้ และต้องนอนติดเตียงนานถึง 3 สัปดาห์

  • การค้ามนุษย์

ผู้เสียหายจำนวนมากถูกล่อลวงจากโฆษณารับสมัครงาน ซึ่งระบุว่าเป็นงานที่ค่าตอบแทนสูง มีตำแหน่งว่างที่ต้องการรับคนด่วน หรือเป็นงานที่ทำในต่างประเทศ ที่โพสต์ในโซเชียลมีเดียอย่าง Telegram, Facebook, Tiktok เป็นต้น คำโฆษณาเหล่านี้ดึงดูดผู้คนที่ต้องการหารายได้มาจุนเจือครอบครัว หรือมองหาโอกาสในการทำงานที่ดีกว่าในชุมชนหรือในเมืองของตัวเอง

ลิซาก็เป็นผู้หนึ่งที่ถูกล่อลวงมาทำงาน เธอเล่าว่า ผู้ค้ามนุษย์เหล่านี้บอกว่าเธอจะได้ทำงานธุรการ เงินเดือนสูง และส่งรูปโรงแรมที่มีสระว่ายน้ำมาให้ ทว่าเมื่อมาทำงานจริง เธอกลับไม่เคยเห็นสระว่ายน้ำที่ว่า เธอถูกลักลอบพาข้ามแดนในตอนกลางคืน พาสปอร์ตถูกยึด จากนั้นเธอถูกกักขังนาน 11 เดือน และถูกบังคับให้ทำงานสแกมเมอร์ รวมทั้งถูกบังคับส่งตัวไปยังศูนย์สแกมเมอร์อื่นๆ อีก 7 แห่ง ก่อนที่จะถูกนำมาทิ้งไว้กลางทุ่งนา

นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้เสียหายที่ให้สัมภาษณ์ มีเด็กรวมอยู่ด้วย 9 คน เด็กหญิงชาวจีนวัย 14 ปี 2 คน ให้การว่า พวกเธอถูกบังคับให้ดูวิดีโอคนถูกทรมาน และถูกข่มขู่ให้ทำงาน นอกจากนี้ ผู้ค้ามนุษย์คนแรกที่รู้อายุของพวกเธอยังบอกให้พวกเธอโกหกเรื่องอายุของตัวเองในวันแรกที่มาถึงศูนย์ และหากมีคนรู้อายุจริงของพวกเธอ พวกเธอจะไม่ได้กลับบ้าน

  • แรงงานทาส

มอนต์เซกล่าวว่า การบังคับเป็นทาสถือเป็นอาชญากรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ทีมวิจัยของแอมเนสตี้มั่นใจว่าผู้เสียหายที่ให้สัมภาษณ์นั้นถูกบังคับให้เป็นแรงงานทาส มีผู้เสียหายจำนวนมากที่รู้ตัวว่าถูกขาย หรือได้ยินว่าตัวเองถูกขาย ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่อาจกำหนดอนาคตหรือแม้กระทั่งร่างกายของตัวเองได้เลย

“ประเด็นหนึ่งที่เราได้บันทึกไว้ คือหนี้สินผูกมัด (debt bondage) มีผู้ที่เดินทางไปถึงที่ตั้งของศูนย์และได้รับแจ้งตั้งแต่เริ่มต้นว่า ‘เราเพิ่งจ่ายเงิน 5,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับการพาแกมาที่นี่จากจีน ไทย หรือเวียดนาม ตอนนี้หนี้ของแกคือ 5,000 เหรียญสหรัฐ และแกจะออกไปจากที่นี่ไม่ได้จนกว่าจะใช้หนี้หมด’” 

“ในหลายกรณี เมื่อผู้เสียหายถูกย้ายไปยังศูนย์อื่นๆ หนี้ก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากคุณมีหนี้อยู่ 4,000 เหรียญสหรัฐ และถูกขายไปยังศูนย์อื่นๆ คุณอาจจะมีหนี้เพิ่มเป็น 10,000 เหรียญ และผู้เสียหายจำนวนมากถูกขายจากศูนย์สแกมเมอร์หนึ่งไปยังศูนย์สแกมเมอร์อื่นๆ” มอนต์เซระบุ

บทบาทของรัฐที่ไม่ได้จัดการแก้ไขปัญหาอย่างเพียงพอ 

ข้อค้นพบประการสุดท้ายที่นับว่าเป็นปัญหา คือความล้มเหลวของรัฐกัมพูชาในการสืบสวนสอบสวนกรณีสแกมเมอร์ และการระบุตัวตนของเหยื่อ เพื่อช่วยเหลือและปกป้องอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

หลายครั้งที่ผู้ที่ถูกกักขังอยู่ภายในศูนย์พยายามขอความช่วยเหลือจากบุคคลหรือองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสถานกงสุล ทว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังไปยังศูนย์สแกมเมอร์เพื่อ “ช่วยเหลือ” กลับไม่ได้เข้าไปภายในศูนย์ มีเพียงการบอกให้ผู้จัดการศูนย์นำตัวผู้เสียหายออกมาส่งให้เจ้าหน้าที่เท่านั้น 

“เจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้าไปภายในศูนย์ และควบคุมการนำกำลังเข้าตรวจค้น สังเกตการณ์สิ่งที่ต้องสังเกต พร้อมทั้งระบุตัวผู้เสียหายจำนวนเป็นร้อยเป็นพัน และปฏิบัติการต่างๆ ไม่เลย ไม่มีการจับกุมตัวใดๆ” มอนต์เซกล่าว

ผู้รอดชีวิตบางรายระบุว่าถูกลงโทษและถูกซ้อมหลังผู้จัดการรู้ว่าพวกเขาพยายามติดต่อตำรวจเพื่อขอความช่วยเหลืออย่างลับๆ ผู้รอดชีวิตชาวเวียดนามคนหนึ่งบอกแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ตำรวจ “ทำงานให้ศูนย์และจะรายงานคำขอความช่วยเหลือให้หัวหน้าศูนย์”

จารุวัฒน์ จิณห์มรรคา ตัวแทนจากองค์กรต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิอิมมานูเอล ที่มุ่งช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ กล่าวถึงอุปสรรคในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากศูนย์สแกมเมอร์ว่า ก่อนหน้านี้ ทางมูลนิธิเคยประสานงานกับเจ้าหน้าที่กัมพูชา ทว่าเจ้าหน้าที่ทำได้เพียงติดต่อผู้จัดการศูนย์สแกมเมอร์ให้พาตัวผู้เสียหายออกมา เมื่อผู้จัดการนำตัวผู้เสียหายมาส่งให้เจ้าหน้าที่ และถ่ายวิดีโอขณะผู้เสียหายออกจากตึกและส่งตัวให้ตำรวจ จากนั้นผู้จัดการก็นำตัวผู้เสียหายกลับเข้าไปในศูนย์ เพื่อทำร้ายร่างกายในห้องมืด

“เราเห็นแล้วว่ากระบวนการแบบนี้มันไม่ใช่การช่วยเหลือ มันคือการเพิ่มอันตรายให้เขามากขึ้น เราก็เลยตัดสินใจไม่ขอความช่วยเหลือจากทางการกัมพูชา แต่กระบวนการช่วยเหลือของเราก็คือ ใครที่หนีออกมาได้ หรือใครที่เขาปล่อยทิ้งตามที่ต่างๆ ตามทุ่งนาหรือแหล่งชุมชน ใครที่ปล่อยให้นอนอยู่ข้างถนน ใครที่เดินมาชนด่าน เราช่วยเหลือ นำมาคัดกรอง สอบถาม เพื่อให้เขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้” จารุวัฒน์เล่า

มอนต์เซระบุว่า ในจำนวนศูนย์สแกมเมอร์ทั้ง 53 แห่ง มีอยู่อย่างน้อย 21 แห่ง ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าตรวจค้น และทุกแห่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังจากที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น ยิ่งกว่านั้น ในบรรดาศูนย์สแกมเมอร์ 53 แห่งนี้ มีเพียง 2 แห่ง ที่ถูกสั่งปิด

แม้รัฐบาลกัมพูชาจะอ้างว่ามีความพยายามแก้ปัญหาสแกมเมอร์ผ่านคณะกรรมการต่อต้านการค้ามนุษย์กัมพูชา (National Committee to Combat Human Trafficking – NCCT) และคณะทำงานระดับกระทรวงหลายชุดที่ควบคุมตำรวจในการ “ช่วยเหลือ” เหยื่อจากศูนย์สแกมเมอร์หลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ศูนย์สแกมเมอร์กว่า 2 ใน 3 ที่ระบุในรายงานยังคงดำเนินการอยู่

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลส่งข้อค้นพบไปยัง NCCT ทว่ากลับได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจนไม่มีการชี้แจงว่ารัฐได้ระบุข้อมูล สืบสวน หรือดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นใด นอกจากการลิดรอนเสรีภาพ ทั้งยังไม่อธิบายชี้แจงข้อมูลรายชื่อศูนย์สแกมเมอร์หรือสถานที่น่าสงสัยที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลส่งให้ เช่นเดียวกับรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งระบุว่า กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีการค้นพบและรับทราบคือการกักขังเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลกัมพูชายังปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่การค้ามนุษย์ เป็นเพียงการฉ้อโกงทางออนไลน์เท่านั้น

“ไม่มีใครสมัครใจให้ตัวเองไปถูกค้ามนุษย์”

จารุวัฒน์กล่าวว่า ผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่ได้สมัครใจให้ตัวเองไปถูกค้ามนุษย์ ทว่าเมื่อได้รับการช่วยเหลือออกมา กลับถูกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติราวกับพวกเขาเป็นอาชญากร เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐขาดความเข้าใจในประเด็นการค้ามนุษย์

เช่นเดียวกับมอนต์เซ ที่กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือออกจากศูนย์สแกมเมอร์มักจะมักถูกคุมตัวต่อที่ศูนย์กักกันคนเข้าเมืองในสภาพย่ำแย่นานหลายเดือน เพราะทางการกัมพูชาไม่ยอมรับพวกเขาเป็นเหยื่อค้ามนุษย์และไม่ให้การสนับสนุนตามหลักกฎหมายสากล ขณะเดียวกัน แม้บางประเทศจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ของตัวเอง แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีการนำมาใช้ในกรณีของผู้เสียหายในศูนย์สแกมเมอร์

“หลายกรณี ผู้เสียหายในลักษณะสแกมเมอร์ถูกดำเนินคดีเพราะความไม่เข้าใจ มุมมองการค้ามนุษย์กับมุมมองของศูนย์สแกมเมอร์ เขาไม่ได้มองในมุมกฎหมายการค้ามนุษย์ก่อน เลยทำให้ผู้เสียหายถูกดำเนินคดี เราก็จะประกันตัวผู้เสียหายออกมาก่อน แล้วนำหลักฐานสู้ในชั้นศาล แล้วก็รวมถึงการส่งเสริมอาชีพ ดูแลเรื่องการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ” จารุวัฒน์กล่าว

เพราะฉะนั้น หนึ่งในข้อเสนอแนะของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล  สำหรับประเทศของผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายในศูนย์สแกมเมอร์คือ การระบุตัวของผู้เสียหายอย่างเหมาะสมตั้งแต่วันที่เดินทางถึงประเทศ และให้การสนับสนุนในเรื่องต่างๆ รวมทั้งยังต้องการสร้างความตระหนักในการคัดกรองอาชญากรและผู้เสียหายจากกรณีสแกมเมอร์

“ถ้าเราไม่มองว่าเป็นปัญหาการค้ามนุษย์ เราจะขจัดปัญหานี้ไม่ได้เลย เพราะเขาจะไม่จัดการผู้ค้ามนุษย์ จัดการเฉพาะอาชญากรภาคบังคับ ต้นตอไม่ถูกกำจัด กระบวนการพาข้ามไม่ถูกตัด ธุระจัดหา คนที่หลอกในโซเชียลมีเดียไม่ถูกทำลาย แต่กลายเป็นเหยื่อที่ถูกขัง ในระยะหลังๆ พวกนี้ติดคุกแทนอาชญากรตัวจริง” จารุวัฒน์ระบุ

จากการทำงานของมูลนิธิอิมมานูเอล มีผู้เสียหายที่ถูกจำคุกและได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดีในชั้นศาลจำนวน 42 คน

“ทางการกัมพูชาต้องรับประกันว่าจะไม่มีผู้หางานคนใดถูกค้ามนุษย์เข้าสู่ประเทศเพื่อเผชิญการทรมาน การเป็นทาส หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นใดอีก ทางการต้องเร่งสืบสวนและปิดศูนย์สแกมเมอร์ทั้งหมด พร้อมระบุตัว ช่วยเหลือ และคุ้มครองเหยื่ออย่างเหมาะสม การเป็นทาสจะเติบโตได้เมื่อรัฐบาลเมินเฉย” นี่คือข้อเรียกร้องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ดูรูปประกอบบทความ ได้ที่นี่

ปกป้องเสรีภาพการแสดงออก

สิทธิของบุคคลทุกคนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิในระดับสากลที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ

สนับสนุนความเท่าเทียม

เราทุกคนต้องได้รับการปกป้องจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการแสดงออกตามอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศและเพศวิธี ภายใต้หลักการด้านสิทธิมนุษยชน