มุมมองเยาวชนกับความหลากหลาย: โลกแบบไหนที่พวกเขาอยากเห็น?

บรรยากาศของเดือน Pride กำลังอบอวลไปด้วยกลิ่นไอของความรัก กำลังใจ และการส่งเสริมพลังให้กันและกันของผู้คนในชุมชน LGBTI หากแต่เมื่อเราสำรวจดู เหลือสิ่งที่ต้องร่วมกันลงมือทำอีกพอสมควร และยังมีผู้คนหลากหลายกลุ่มที่กำลังส่งเสียงเรียกร้องในอีกหลายประเด็นด้วยเช่นกัน วันนี้เราจึงได้ชวนตัวแทนจากกลุ่มเยาวชน มาส่งเสียงของพวกเขากันดูว่า ในขณะที่โลกกำลังเริ่มต้นที่จะโอบรับความหลากหลาย แต่ก็ยังเผชิญกับภัยคุกคามสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะแนวโน้มของการเมืองโลกที่หันไปสู่หลักการอำนาจนิยมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เมื่อคลื่นอำนาจนิยมฉุดรั้งสิทธิ LGBTI: จาก “ทรัมป์ 2.0” ถึงยุคสมรสเท่าเทียมในไทย ดังนั้น การรับฟังเสียงจากเยาวชน จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ซึ่งพวกเขา จะต้องเป็นผู้ที่มารับช่วงต่อไปในอนาคต

ให้สมรสเท่าเทียมเป็นจุดเริ่มต้น : แล้วส่งฉันให้ถึงฝันในสังคมที่เท่าเทียม

โดย มีมี่ ณิชกานต์, มีมี่-พัทธ์ สมาชิกเฟมสามย่าน

คนเรามีทางเลือกในการแต่งงานฉันใด เยาวชนเพศหลากหลายก็ควรมีสิทธิในการกำหนดชีวิตตนเองฉันนั้น

การขับเคลื่อนสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีหลายมิติ หนึ่งในด้านที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ ‘สิทธิในการสมรส’ ที่ยึดโยงกับรสนิยมทางเพศแบบชอบเพศเดียวกัน ‘การแต่งงาน’ หรือ ‘ความรัก’ เป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วไปเชื่อมโยงได้ง่ายเพราะความตรงไปตรงมา ถ้าชายและหญิงมีความรักกันได้ ชายชายหรือหญิงหญิงก็มีความรักได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม สมรสเท่าเทียมเป็นจุดเริ่มต้น ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของสังคมที่เป็นธรรมทางเพศ

คุณตัดสินใจหรือยังว่าเป้าหมายในชีวิตที่อยากจะทุ่มเทเพื่อทำให้สำเร็จคืออะไร บางคนต้องการที่จะแต่งงาน มีลูก ครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา ดูแลสายใยความสัมพันธ์ไม่ให้โดดเดี่ยว บางคนอยากจะประสบความสำเร็จในชีวิต บรรลุเป้าหมายในหน้าที่การงาน เลี้ยงดูครอบครัวให้หลุดพ้นจากความลำบาก หรือบางคนอยากรู้จักการปล่อยวาง หาจุดที่สมดุลในการใช้ชีวิต ทุกเป้าหมายล้วนแล้วแต่เป็นการตัดสินใจภายใต้สังคมที่มีข้อจำกัด ทำได้มากน้อยแตกต่างกันไป

การเลือกปฏิบัติของสังคมต่อคนเพศหลากหลายเป็นหนึ่งในข้อจำกัดที่ไม่ได้เกิดจากตัวบุคคล แต่เกิดจากสังคมที่ขาดความเข้าใจ อาจทำให้ความฝันของเยาวชนหลายคนไกลเกินเอื้อม เมื่ออคติเข้าประชิดตัวก่อนจะได้ลงมือทำ

คุยกับพัทธ์

“อยากเป็นทูตกะเทย” ประโยคที่พัทธ์พูดอย่างทะเยอทะยานถึงความฝันในเส้นทางการเมืองตั้งแต่เรารู้จักกันวันแรกในมหาวิทยาลัย แต่หลังจากรู้จักกันสักพัก พัทธ์พบว่ายังมีอาชีพอื่นที่น่าสนใจนอกเหนือจากการเป็นทูต งานในแวดวงสื่อคือหนึ่งในนั้น เธออยากสร้างแรงบันดาลให้กับกะเทยที่มีความฝันเหมือนกับตัวเอง

“คนมันไม่ได้ห้ามให้เราทำอาชีพอะไรนะ แต่มันไม่มีโรลโมเดลของคนที่เป็นกะเทย แล้วพอมันไม่มี มันกดดัน เหมือนเราต้องกรุยทางเอง” พัทธ์สะท้อนถึงมุมมองของสังคมที่เหมือนจะเปิดกว้างต่อคนเพศหลากหลาย แต่อุปสรรคไม่ใช่การที่มีคนมาห้ามไม่ให้เป็น แต่เป็นการไม่มีโรลโมเดลกะเทยในสายงานที่อยากทำ ถึงมีก็อาจจะน้อย ทำให้เธอรู้สึกกดดันเหมือนต้องเป็นผู้ ‘กรุยทาง’ ด้วยตนเอง ถึงแม้เพศหลากหลายจะได้รับการยอมรับในที่ทำงานมากขึ้นจากอดีต แต่การนำเสนอในอาชีพที่นอกเหนือไปจากวงการบันเทิงยังมีอยู่อย่างจำกัด

กำแพงอคติทางเพศทำให้ความเป็นไปได้หยุดชะงัก เราตั้งคำถามต่อว่า เวลาพัทธ์อยากลงมือทำอะไร คำถามเรื่องเพศก็มักจะตามมาด้วยหรือเปล่า ไม่ใช่แค่ว่า อยากทำ เราพร้อม แล้วลุย ความพร้อมในสังคมที่ไม่เข้าใจ อาจทำให้ไฟถูกบั่นทอน “ตั้งคำถามตลอดว่าเป็นกะเทยทำได้ไหม ไม่เหมือนในวงการบันเทิง กดดันตัวเองมาก ไม่รู้ว่าคนที่จะรับเข้าไปทำงาน มีอคติแค่ไหน ถ้ายอมรับก็อาจยอมรับแบบมีเงื่อนไข”

แม้แต่การทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่เหมือนจะเปิดกว้าง พัทธ์ยังสะท้อนถึงข้อจำกัดในประเด็นที่กะเทยถูกตีกรอบว่าควรพูดเรื่องอะไร โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองที่เป็นกระแสหลัก (mainstream) “บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเราพูดประเด็นกระแสหลัก เศรษฐกิจการเมืองได้ดีแค่ไหน ต่อให้พูด เสียงเราคงไม่ได้เด่นดังเท่าเพื่อนผู้ชายหรือเปล่า ต่อให้เปนเรื่องเฟมินิสต์ แต่ถ้ามีเฟมไม่เอากะเทยละ เราถูกตีกรอบว่าให้พูดแต่เรื่องเพศ ไม่รู้ว่าคนเค้าจะให้เครดิตไหมถ้าพูดเรื่องกระแสหลัก”

แม้ศักยภาพเท่ากัน แต่กำแพงอคติทางเพศทำให้ชุมชนเพศหลากหลายต้องพิสูจน์ตัวเองอีกชั้น ฝ่าฟันภาพเหมารวมว่าเป็นกะเทยต้องสนุก ตลก ต้องพูดเรื่องเจนเดอร์ แต่พัทธ์ก็มองว่าอุปสรรคนี้ทำให้มีพลัง

“การกดดันมันก็เป็นแรงกระตุ้น เพราะเราต้องพรูฟตัวเอง มันจะทำให้งานเราดีขึ้น การเป็นกะเทยเหมือนจะเขียนได้แค่เรื่องเพศ แต่จริงๆ เราจะเขียนเรื่องอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าไฟต์ได้หรือเปล่า ถ้าทำได้ เราก็จะได้ทั้งเรื่องเมนสตรีม ได้ทั้งเรื่องเพศที่เราเป็นเจ้าของประเด็น”

“ในสายงานที่ไม่มีโรลโมเดล ไม่มีกะเทยเคยทำ อยากพยายามผลักดันตัวเองเป็นคนที่ทำให้เห็นว่ามันเป็นไปได้”

ชีวิตที่ต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลา

“การเป็นทรานส์มันมีความเจ็บปวดบางอย่าง มันเป็นความเครียดที่เพศอื่นๆ อาจจะไม่เข้าใจ บางทีจะรู้สึกว่าอยู่ตรงกลาง มันจะมีช่วงที่ไม่สบายใจในการเข้าห้องน้ำหญิงเลย เวลาที่คนตีกันในเน็ต” การที่คนเพศหลากหลายจะลุกขึ้นมาทำตามความฝันตนเอง แปลว่าต้องก้าวข้ามผ่านความกดดันในชีวิตประจำวันอันเป็นด่านอุปสรรคของเพศหลากหลายทุกคน การต่อสู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องสัมภาษณ์งาน บนเวที หรือพื้นที่การแข่งขัน แต่อยู่ในชีวิตประจำวัน ที่ต้องต่อสู้เพราะแค่อยากเป็นตัวเอง

สุดท้าย ในสังคมที่ยังไม่มีความเป็นธรรมทางเพศ เพศชายขอบ ทั้งผู้หญิงและเพศหลากหลายก็ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคที่กว่าจะฝ่าฟันไปให้ถึงความฝัน กำแพงในชีวิตประจำวันก็อาจบั่นทอนไฟในใจให้เหนื่อยไปก่อน เราจึงอยากเห็นการนำเสนอเพศชายขอบด้วยความเข้าใจและปราศจากอคติมากขึ้น เห็นคนที่มีอัตลักษณ์แบบเราได้ไปอยู่บนเวทีที่เคยถูกครองโดยคนตรงเพศ เห็นความหลากหลายได้ผลิบานในสังคม เพื่อให้กำแพงที่เคยหนามันบางลง เราทำสำเร็จแล้วในชื่อของสมรสเท่าเทียม แต่กำแพงยังไม่หายไป เราจึงยังต้องต่อสู้กันต่อไป


“เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” เด็ก ผู้ใหญ่สื่อ และความหลากหลาย

โดย คาราเหมียว เหมียวคิอาโต้

การเดินขบวนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQI บนท้องถนน การตกแต่งธงสีรุ้งตามอาคารในช่วงเดือนแห่งความภาคภูมิใจหรือเดือนไพร์ด (Pride Month) การเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยกับความหลากหลายทางเพศในสื่อต่าง ๆ ผ่านสิ่งพิมพ์โทรทัศน์หรือสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลถึงมุมมองของผู้คนทั้งเด็ก เยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีต่อความหลากหลายทางเพศ

ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงสื่อหลายประเภทได้ง่ายขึ้น ทำให้หลายครั้งเกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่เหมาะสม โดยกระแสบางอย่างสร้างผลเสียต่อกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การเล่นมุก “ใครขยับเป็นเกย์” ที่เมื่อมีคนพูดประโยคดังกล่าว ผู้ที่ได้ยินจะต้องหยุดนิ่ง ถ้าไม่อยากถูกล้อว่าเป็นเกย์ ที่มาของมุกนี้มาจากสังคมออนไลน์ในต่างประเทศก่อนจะเผยแพร่มายังสังคมออนไลน์ของไทยจนเกิดเป็นกระแสในคนบางกลุ่มที่มองเป็นเรื่องตลก แม้กระทั่งในหมู่เยาวชนเองก็นำมาเล่นเพื่อความบันเทิงโดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสม เนื่องจากเห็นผู้ใหญ่เล่นได้แล้วไม่มีผลกระทบด้านลบตามมา ซึ่งปัญหาของมุกนี้คือการส่งต่อภาพจำของการเป็นเกย์หรือคนรักเพศเดียวกันว่าเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ทำให้ใครๆ ต่างพากันหยุดการเคลื่อนไหวทันทีที่ได้ยินคนพูดว่า “ใครขยับเป็นเกย์” เพราะไม่อยากถูกมองว่าเป็นเกย์

ทั้งนี้ เด็กและเยาวชนหลายคนไม่ได้มีวิจารณญาณในการรับสารเท่าผู้ใหญ่ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องระมัดระวังในการเผยแพร่หรือส่งต่อสิ่งต่างๆ บนโลกออนไลน์ให้มากขึ้น รวมถึงการอบรมสั่งสอนของครอบครัวและครูที่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะหากเยาวชนต้องเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มองความแตกต่างหลากหลายเป็นสิ่งผิดปกติก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ส่งต่อค่านิยมแบบเดียวกันไปยังคนรุ่นถัดไป อีกหน้าที่ของผู้ใหญ่คือต้องปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ของตนให้กว้างไกล ไม่จำกัดอยู่แค่กรอบเพศชายหญิงหรือรักต่างเพศแบบเดิมและเปิดโอกาสให้เยาวชนได้สำรวจและค้นหาตัวตนอย่างไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตำหนิหรือมองเป็นตัวประหลาด

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการยอมรับสิ่งที่เยาวชนเป็นโดยไม่มีการตั้งเงื่อนไขในการยอมรับตัวตนของพวกเขา เช่น เป็นเด็กดีตามค่านิยมหรือมีผลการเรียนเป็นเลิศ เพราะสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการยอมรับในตัวตนที่ไม่ได้ละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นนั้น เป็นสิ่งที่ควรได้รับอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ไม่ใช่รางวัลที่ต้องฝ่าฟันเพื่อให้ได้มา

เมื่อสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง ทัศนคติของผู้ใหญ่จึงจำเป็นต้องปรับไปตามยุคสมัย เพราะเราจะสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อผู้มีความหลากหลายในด้านต่างๆ เช่น เพศ เชื้อชาติหรืออัตลักษณ์อื่นใดก็ตามไม่ได้เลย ถ้าเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังหลักของสังคมในอนาคตไม่สามารถเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เปิดกว้างได้เพราะขาดการบ่มเพาะและตัวอย่างที่เหมาะสมจากผู้ใหญ่ทั้งในจอและนอกจอ

ปกป้องเสรีภาพการแสดงออก

สิทธิของบุคคลทุกคนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิในระดับสากลที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ

สนับสนุนความเท่าเทียม

เราทุกคนต้องได้รับการปกป้องจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการแสดงออกตามอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศและเพศวิธี ภายใต้หลักการด้านสิทธิมนุษยชน