องค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกร่วมประณามจีน ครบรอบ 5 ปีคุมขัง “จาง จ่าน” นักข่าวอิสระอย่างไม่เป็นธรรม เรียกร้องปล่อยตัวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

กลุ่มองค์กรด้านเสรีภาพสื่อและสิทธิมนุษยชนนานาชาติได้ออกแถลงการณ์ร่วมประณามรัฐบาลจีน กรณียังคงควบคุมตัว “จาง จ่าน” นักข่าวอิสระ อดีตทนายความ และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างพลการ เนื่องในวาระครบรอบ 5 ปีของการจับกุมตัวเธอครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 

จาง จ่านเป็นหนึ่งในนักข่าวจีนเพียงไม่กี่คนที่รายงานสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จากเมืองอู่ฮั่นในช่วงต้นปี 2563 เธอเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยผู้ป่วย ร้านค้าปิดร้าง และการคุกคามครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งนักข่าวคนอื่น ๆ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เธอถูกจับกุมในข้อหา “ก่อการทะเลาะวิวาทและยั่วยุก่อความวุ่นวาย” ซึ่งมักถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปราบปรามนักเคลื่อนไหวและสื่ออิสระ 

หลังรับโทษจำคุกสี่ปีครบในปี 2567 จางจ่านถูกจับกุมอีกครั้งเพียงสามเดือนต่อมา ระหว่างเดินทางกลับบ้านเกิดที่มณฑลซานซี โดยในช่วงก่อนหน้านั้น เธอยังคงรายงานการคุกคามนักเคลื่อนไหวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ล่าสุดในเดือนมีนาคม 2568 มีรายงานว่าเธอกำลังจะถูกนำตัวขึ้นศาลอีกครั้งในข้อหาเดิม ซึ่งอาจนำไปสู่โทษจำคุกเพิ่มอีกห้าปี 

ระหว่างถูกควบคุมตัว จาง จ่านได้อดอาหารประท้วงหลายครั้ง ส่งผลให้สุขภาพทรุดโทรมจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเดือนมกราคม 2568 เธออดอาหารอีกครั้งจนเจ้าหน้าที่ต้องใช้สายยางให้อาหาร ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่าอาจเข้าข่ายการทรมาน และขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่จีนให้สัตยาบันไว้ตั้งแต่ปี 2531 

แม้กลไกของสหประชาชาติ 9 หน่วยงานจะเคยออกจดหมายถึงรัฐบาลจีนในเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อแสดงความกังวลต่อการคุมขังจางจ่านและนักปกป้องสิทธิฯ อีก 17 คน รวมถึงเรียกร้องให้หยุดการละเมิดสิทธิที่ไม่อาจเยียวยาได้ แต่ทางการจีนกลับตอบกลับเพียงสั้นๆ โดยระบุว่า “สิทธิและผลประโยชน์ของเธอได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่” 

ข้อมูลจากองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ระบุว่า จีนอยู่ในอันดับที่ 178 จาก 180 ประเทศทั่วโลกด้านเสรีภาพสื่อในปี 2568 และยังเป็นประเทศที่มีการควบคุมตัวนักข่าวมากที่สุด โดยเฉพาะการใช้ข้อหา “ก่อการทะเลาะวิวาท” กับผู้สื่อข่าวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากกว่า 100 รายระหว่างปี 2562-2567 สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นที่มาของการออกแถลงการณ์ร่วมจากองค์กรภาคประชาสังคมทั่วโลก 


แถลงการณ์ร่วมจากองค์กรภาคประชาสังคม 

ประณามการควบคุมตัว “จางจ่าน” นักข่าวจีนโดยพลการ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวทันที 

พวกเราผู้ลงนามท้ายจดหมายนี้ ซึ่งเป็นองค์กรด้านเสรีภาพสื่อและสิทธิมนุษยชน ขอแสดงการประณามอย่างรุนแรงต่อการที่รัฐบาลจีนยังคงควบคุมตัว “จาง จ่าน” นักข่าวอิสระ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และอดีตทนายความ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในวาระครบรอบ 5 ปีของการจับกุมตัวเธอ 

จาง จ่านเป็นหนึ่งในนักข่าวอิสระที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในการรายงานข่าวที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน เธอถูกควบคุมตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 หลังเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เพื่อรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น รายงานของเธอได้เปิดเผยภาพของโรงพยาบาลที่แออัด ร้านค้าที่ปิดตัว และครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม รวมถึงนักข่าวอิสระที่รายงานเหตุการณ์ดังกล่าวก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน ปัจจุบัน จางจ่านยังคงเผชิญการคุกคามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการที่เธอแสดงจุดยืนสนับสนุน “จางพันเฉิง” นักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน 

ขณะที่เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2568 แหล่งข่าวจากภาคประชาสังคมหรือ NGOs ระบุว่า จาง จ่านจะถูกนำตัวขึ้นศาลในข้อหา “ก่อการทะเลาะวิวาทและยั่วยุก่อความวุ่นวาย” ซึ่งเป็นข้อหาที่ทางการจีนนำมาใช้ปราบปรามผู้สื่อข่าว นักเขียน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดวันพิจารณาคดี เธอยังคงถูกฝากขังที่สถานกักตัวผู่ถงในนครเซี่ยงไฮ้ และหากศาลตัดสินว่ามีความผิด เธออาจได้รับโทษจำคุกเพิ่มอีก 5 ปี ย้อนกลับไปปีที่ผ่านมา จาง จ่านได้ถูกจับอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ซึ่งการจับกุมในครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังเธอถูกปล่อยตัวมาได้เพียง 3 เดือนหลังพ้นโทษจำคุก 4 ปีในคดีเดียวกัน โดยขณะนั้นเธอกำลังเดินทางกลับบ้านเกิดที่มณฑลซานซี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งช่วงเวลาก่อนถูกจับ เธอได้รายงานผ่านโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการคุกคามนักกิจกรรมในประเทศ 

การจับกุมครั้งแรกของเธอในปี 2563 ถูกคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการแห่งสหประชาชาติ (UNWGAD) พิจารณาว่าเป็นการคุมขังโดยพลการ และในเดือนพฤศจิกายน 2567 กลไกพิเศษของสหประชาชาติ 9 หน่วยงานได้ร่วมกันส่งจดหมายถึงรัฐบาลจีน แสดงความกังวลต่อการปราบปรามจางจ่าน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีก 17 คน พร้อมทั้งเรียกร้องให้หยุดการละเมิดสิทธิที่ไม่อาจเยียวยาได้ และคุ้มครองชีวิตและความปลอดภัยของเธอ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนตอบกลับเพียงสั้นๆ ว่า “สิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของเธอได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่” 

ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่าจีนยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่กดขี่เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อมากที่สุดในโลก โดยปี 2568 ถูกจัดอยู่อันดับที่ 178 จาก 180 ประเทศ ตามดัชนีเสรีภาพสื่อโลกขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ทั้งยังเป็นประเทศที่ควบคุมตัวผู้สื่อข่าวและนักเขียนมากที่สุดในโลก 

ข้อมูลจาก RSF และสมาคมนักเขียนแห่งสหรัฐอเมริกา (PEN America) ระบุว่า ระหว่างปี 2562–2567 ทางการจีนใช้ข้อหา “ก่อการทะเลาะวิวาทและยั่วยุก่อความวุ่นวาย” กับบุคคลกว่า 100 รายที่ใช้สิทธิมนุษยชนโดยสันติ หรือทำหน้าที่ปกป้องสิทธิฯ การใช้ข้อหาดังกล่าวถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปราบปรามนักสู้เพื่อความเป็นธรรม ในเดือนมีนาคม 2567 โวลเตอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนแก้ไขความผิดตามข้อหาดังกล่าว และปล่อยตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทนายความ และผู้ที่ถูกคุมขังโดยพลการด้วยข้อหานี้ 

ระหว่างถูกคุมขัง จาง จ่านได้อดอาหารประท้วงหลายครั้งเพื่อคัดค้านการคุมขังโดยพลการ จนในปี 2564 ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลถึงสองครั้งด้วยอาการขาดสารอาหารอย่างรุนแรง และในเดือนมกราคม 2568 เธออดอาหารประท้วงอีกครั้งหลังถูกจับกุมรอบที่สอง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องให้อาหารทางสายยาง การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่จีนให้สัตยาบันมาตั้งแต่ปี 2531 แต่ก็พบว่าถึงแม้ทนายความจะได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมเธอ แต่ก็ถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้เปิดเผยข้อมูลคดีต่อสาธารณะ 

แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องให้ปล่อยตัวจาง จ่านทันที รัฐบาลจีนยังคงเพิกเฉย และกลับเพิ่มการควบคุมผู้สื่อข่าวหรือบุคคลใดก็ตามที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์การกระทำผิดของรัฐ ทั้งที่สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการสื่อสารได้รับการรับรองตามมาตรา 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญจีน การดำเนินคดีต่อจาง จ่านจึงไม่ใช่แค่การลงโทษบุคคล แต่เป็นเครื่องมือเพื่อข่มขู่ผู้ที่กล้าท้าทายกลไกโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล 

เราขอเน้นย้ำว่า การควบคุมตัวจาง จ่านโดยพลการถือเป็นการละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่จีนต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะการประกันว่าสภาพการคุมขังเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม เพราะจาง จ่านไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ ที่ถือเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายสากล แต่กลับถูกลงโทษอย่างรุนแรงเพียงเพราะการทำหน้าที่ของเธอในการรายงานข้อเท็จจริงและการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก 

เราขอเรียกร้องต่อรัฐบาลจีนให้ดำเนินการ ดังนี้ 

  • ปล่อยตัวจางจ่านทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และยุติการคุกคามเธอทุกรูปแบบ 
  • รับประกันความปลอดภัย สวัสดิภาพทางจิตใจ และสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม 
  • อนุญาตให้จางจ่านเข้าถึงสมาชิกในครอบครัวและทนายความที่เธอเลือกโดยไม่มีการแทรกแซง 
  • ส่งรายงานสถานะการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (CAT) ซึ่งจีนค้างส่งมากว่า 5 ปี 
  • เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการคุมขังในเรือนจำลับ และการกักขังในสถานที่พิเศษ (Residential Surveillance at a Designated Location) 
  • ยุติการปราบปรามภาคประชาสังคม รวมถึงการคุกคาม การควบคุมตัวโดยพลการ การบังคับให้สูญหาย และการคุมขังผู้สื่อข่าว นักเขียน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 

เรายังขอเรียกร้องต่อหน่วยงานของสหประชาชาติและรัฐบาลประเทศต่างๆ ดังนี้ 

  • เพิ่มแรงสนับสนุนผู้สื่อข่าว นักเขียน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในและจากประเทศจีน 
  • รณรงค์ให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังโดยพลการ พร้อมระบุชื่อบุคคลอย่างชัดเจนในการประชุมระดับสูง 
  • กำหนดให้ความร่วมมือทางกฎหมายและนิติธรรมกับรัฐบาลจีนต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขของการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการยกเลิกข้อหาที่ใช้ควบคุมผู้แสดงความเห็นอย่างสันติ 

รายชื่อหน่วยงานที่ลงนาม 

ARTICLE 19, Alliance for Citizens Rights, Amnesty International, Association of Taiwan Journalists (ATJ), Cambodian Journalists Alliance Association (CamboJA), China Aid Association (ChinaAid), China Change, China Dissent Network, Chinese Human Rights Defenders (CHRD), Coalition For Women In Journalism, Committee for Freedom in Hong Kong (CFHK) Foundation, Committee to Protect Journalists (CPJ), Den norske Tibet komité, Dialogue China, European Values Center for Security Policy Taiwan Office, Fortify Rights, Front Line Defenders, Georgetown Center for Asian Law, Gerakan Media Merdeka (GERAMM), Global Alliance for Tibet & Persecuted Minorities, Grupo de Apoio ao Tibete-Portugal, Hong Kong Committee in Norway, Hong Kong Watch, Human Rights Watch, Human Rights in China (HRIC), Humanitarian China, Independent Chinese PEN Center, Index on Censorship, International Federation for Human Rights (FIDH), within the framework of the Observatory for the Protection of Human Rights Defenders, International Service for Human Rights (ISHR), International Tibet Network, International Women’s Media Foundation, l’ACAT-France, Legal Initiatives for Vietnam (LIV), No Business With Genocide, PEN America, PEN International, Reporters Without Borders (RSF), Safeguard Defenders, Santa Barbara Friends of Tibet, Scottish Hongkongers, Solidarité Chine, Students for a Free Tibet, Taiwan Association of Human Rights (TAHR), Taiwan Foreign Correspondents Club (TFCC), The Human Rights Foundation, The Rights Practice, The Tibet Support Committee, Denmark, Tibet Action Institute, Tibet Solidarity, Tibet Support Group Ireland, Tibet Watch, Uyghur Human Rights Project (UHRP), Vancouver Activists of Hong Kong (VAHK), Vancouver Society in Support of Democratic Movement (VSSDM), Victoria Hongkongers Association (VHKA), Viet Tan, World Liberty Congress, World Organisation Against Torture (OMCT), within the framework of the Observatory for the Protection of Human Rights Defenders