
นี่คือครั้งที่สามแล้วที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิก คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council – UNHRC) ด้วยวาระการทำงาน 3 ปี (พ.ศ. 2568-2570) ซึ่งหมายถึงบทบาทสำคัญของไทยในการสะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระดับสากล พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางแก้ไขและขับเคลื่อนความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการเจรจา ความร่วมมือ และกลไกระหว่างประเทศ บนเวทีที่จับตามองจากทั่วโลก
ความท้าทายของไทยในเวทีโลก
ท่ามกลางเสียงชื่นชม ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชน ทั้งในและต่างประเทศ ที่ตั้งคำถามว่า ไทยสมควรหรือไม่กับตำแหน่งนี้? เมื่อพิจารณาจากปัญหาภายในประเทศที่ยังฝังลึก ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม การดำเนินคดีต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะการใช้กฎหมายมาตรา 112 รวมไปถึงการละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย และกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง
ขณะเดียวกัน โลกในปัจจุบันกำลังเผชิญกับสภาวะปั่นป่วนจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่สั่นคลอนระเบียบโลกเดิมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และทำให้เวทีระหว่างประเทศเต็มไปด้วยความซับซ้อนและความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ทางสายกลาง สไตล์ “ไทยเฉย” ยังตอบโจทย์หรือไม่?
ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างดูจะไม่แน่นอน หนึ่งในคำถามสำคัญคือ ประเทศไทยควรมีบทบาทอย่างไรในเวที UNHRC? แล้วทางสายกลางหรือ “ความเป็นกลางแบบไทย” ที่เคยช่วยให้ไทยรอดพ้นในยุคสงครามเย็น ยังเพียงพอต่อโลกที่เปลี่ยนไปหรือไม่?
คำถามเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นในเวทีเสวนา “ไทยในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน: ภารกิจสิทธิมนุษยชนบนเวทีโลกกับสัมพันธภาพระหว่างประเทศ” จัดขึ้นโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นจากสังคมถึงบทบาทของไทยบนเวทีโลก โดยมี กัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเป็นธรรม และ ชัญญา บุญญวรรณ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและนำเสนอแนวทางที่ไทย “ควรจะเป็น” อย่างเข้มเข้น
เมื่อโลกเปลี่ยน… สิทธิมนุษยชนยังมีพลังอยู่ไหม?
อาจารย์ชัญญาให้ภาพชัดถึงความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายระหว่างประเทศในโลกปัจจุบันว่า เดิมทีถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันสงครามระหว่างรัฐ แต่วันนี้ โลกไม่เพียงเผชิญการสู้รบระหว่างรัฐกับรัฐเท่านั้น หากแต่เป็น “รัฐกับประชาชนของตนเอง” กลไกแบบเดิมจึงเริ่มไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป
“วิกฤตโลกในปัจจุบัน มีปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เป็นกลางไม่ได้แล้ว… ประเทศไทยคลุมเครือ เราจะไม่ไปยุ่งกับกิจการของประเทศอื่น เราจะอยู่ตรงกลาง เรามีความเป็นมิตร แต่นั่นกลับขัดแย้งกับความคาดหวังของประเทศที่เลือกให้ไทยเข้าไปอยู่ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน” อ.ชัญญา บุญญวรรณ
จุดยืนที่ชัดเจน คือพลังที่ไทยควรเลือก

อาจารย์ชัญญาเห็นว่า การเลือก “ไม่แตะ ไม่วิจารณ์” ไม่ใช่ทางรอด แต่คือการทำลายโอกาสของไทยเองบนเวทีโลก พร้อมเสนอว่าหากไทยต้องการเป็นประเทศที่มีน้ำหนักในเวทีนานาชาติ ควรใช้สิทธิมนุษยชนเป็นหลักนำทาง สร้างความเที่ยงธรรมและความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่เอนเอียงไปตามนโยบายของประเทศมหาอำนาจ
“เราควรใช้โอกาสนี้สร้างจุดยืน เพราะเมื่อเรามีหลักการที่ชัดเจน ใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ใช้หลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งมันเป็นจารีตประเพณีระดับสากล มันจะสร้างความน่าเชื่อถือ และนี่คือพลังต่อรองของไทย” อ.ชัญญา บุญญวรรณ
อาจารย์ยังย้ำว่า ประเทศไทยควรแสดงให้เห็นว่าเราไม่โอบอุ้มแค่คนในชาติ แต่โอบอุ้มเพื่อนบ้านและผู้เห็นต่างด้วย เพราะประเทศที่เคารพในความหลากหลาย จะได้รับความเคารพกลับจากนานาชาติ
สิทธิมนุษยชน: พลังต่อรองใหม่ในศตวรรษที่ 21?

ข้อเสนอของ อ.ชัญญา ยังสอดคล้องกับมุมมองของ กัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเป็นธรรม ผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานด้านมนุษยธรรมมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในพื้นที่ความขัดแย้งและประเด็นผู้ลี้ภัย ในวงเสวนา กัณวีร์ออกตัวว่าเขาเป็น ‘นักสิทธิมนุษยธรรม’ ไม่ใช่นักสิทธิมนุษยชน พร้อมย้ำว่า ไทยไม่ควรนิ่งเฉย หรือวางตัวเป็นกลางในเวทีสิทธิมนุษยชนโลก
แม้ในอดีตช่วงสงครามเย็น หรือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศมหาอำนาจจะประชันกันด้วย “กำลังทหาร” แต่ในศตวรรษที่ 21 กัณวีร์เชื่อว่า พลังที่แท้จริงคือ “สิทธิมนุษยชน” เพราะโลกวันนี้ไม่ได้ต้องการการเผชิญหน้า หากแต่ต้องการความร่วมมือ ความเห็นอกเห็นใจ และการพูดคุยที่มากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องต่อสู้กันโดยใช้กำลังทหารหรือเศรษฐกิจเสมอไป แม้หลายประเทศจะไม่ได้มีระบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย แต่ในสถานการณ์โลกตอนนี้ สำหรับกัญวีร์มองว่าเราไม่ได้ต้องการเผชิญหน้ากัน เราเพียงแต่ต้องการความร่วมมือ และการพูดคุยกันให้มากขึ้น
และการที่ไทยได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กัณวีร์เชื่อว่าจะเป็นพื้นที่และโอกาสที่ดี ส่วนไทยจะใช้โอากาสนี้ได้ดีแค่ไหนนั้น ต้องเริ่มจากการกล้าเผชิญความจริงก่อน ต้องกล้าแสดงจุดยืน และกล้าร้องหาความช่วยเหลือและความร่วมมือจากนานาประเทศ
“เราต้องกล้าเผชิญความจริง ต้องกล้าไปบอกว่าในปัจจุบันประเทศไทยเรามีปัญหาอะไรบ้าง แต่ละประเทศต้องกล้าบอกว่าประเทศเขามีปัญหาอะไรบ้าง เอาปัญหาระหว่างประเทศตรงนั้นมาปรึกษาหารือ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน อันนี้ต่างหากที่จะทำให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนมีบทบาทมากกว่านี้ได้” กัณวีร์ สืบแสง
หลักการฟังดูดี แต่ทำได้จริงหรือ?
คำถามสำคัญที่ผู้ดำเนินรายการอย่าง ณัฏฐา โกมลวาทิน ไม่พลาดที่จะหยิบมาถามคือ ในความเป็นจริงแล้ว หลักการเหล่านี้ทำได้จริงหรือไม่? เพราะไทยเองก็มีภารกิจมากมาย ต้องดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและพันธกรณีอื่นอีกมาก การที่ประเทศหนึ่งจะมีจุดยืนชัดเจน อาจกลายเป็นการลดพื้นที่แสดงออกของตนหรือไม่? ในประเด็นนี้อาจารย์ชัญญายอมรับว่า นี่คือปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก และนักกฎหมายหลายคนก็กำลังหาทางรับมือกับโลกยุคใหม่ แต่เธอย้ำว่า “แค่เพราะมันยาก ไม่ได้แปลว่าเราควรหยุดพยายาม”
ถ้าอยากให้โลกฟัง ต้องเริ่มจากบ้านเรา

ในช่วงท้ายของเวทีเสวนา กัณวีร์ได้เน้นว่าหากไทยต้องการมีเสียงบนเวทีโลก ต้องเริ่มจากการทำสิ่งต่างๆ ให้ดีในบ้านตัวเองก่อน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณการสนับสนุนงานสิทธิมนุษยชนในประเทศอย่างจริงจังจากภาครัฐ ทั้งในเชิงงบประมาณและนโยบายที่ยั่งยืน โดยไม่ใช่ปล่อยให้องค์กรภาคประชาสังคม หรือ NGOs ต้องพึ่งพาแหล่งทุนจากต่างชาติที่ไม่แน่นอน เหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ สมัยที่ 2 ได้ตัดงบสนับสนุนองค์กรสิทธิที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงไทยด้วยเช่นกัน
แม้จะเข้าใจว่าประเทศไทยยังมีภาระหลายภายในด้านที่ต้องเร่งแก้ไข ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่กัณวีร์ชี้ว่า สิทธิมนุษยชนคือ ‘กระดูกสันหลังของประชาธิปไตย’ (Black Bone) ที่ไม่ควรถูกลดความสำคัญลงเช่นกัน
พร้อมทิ้งท้ายในฐานะนักการเมืองว่า หากต้องการให้การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนเกิดผลจริง จำเป็นต้องมีนักสิทธิมนุษยชนหรือนักสิทธิมนุษยธรรม เข้าไปนั่งในตำแหน่งทางการเมือง ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ย่อมต้องผ่านการออกแบบและการบังคับใช้กฎหมาย เพราะอย่างที่ทราบกันว่ากฎหมายหลายฉบับในประเทศไทยมีปัญหา
“สิทธิมนุษยชนคือกระดูกสันหลังของประชาธิปไตย ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงจริง ก็ต้องมีนักสิทธิฯ อยู่ในสภาฯ ต้องมีคนที่เข้าใจปัญหา เข้าใจความเปราะบาง เข้าไปอยู่ในจุดที่เปลี่ยนแปลงกฎหมายได้”
กัณวีร์ สืบแสง
อาจารย์ชัญญาทิ้งท้ายว่า เมื่อไทยครบวาระ 3 ปีในตำแหน่งสมาชิก UNHRC สิ่งที่จะพิสูจน์ว่าไทยสมควรได้รับความไว้วางใจหรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่ตำแหน่งที่ได้มา แต่คือ “ผลงาน” และ “จุดยืน” ที่ไทยแสดงออกในเวทีโลก
ท้ายที่สุดแล้ว ในโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง และแรงเสียดทานจากประเทศมหาอำนาจ ประเทศไทยจะกล้าพอที่จะแสดงจุดยืน และกล้าส่งเสียงในสิ่งที่ควรสื่อสาร หรือจะนิ่งเฉยกับปัญหาที่ถาโถม เพราะสุดท้ายสิทธิมนุษยชนยังเป็นเรื่องที่คนไทยได้รับผลกระทบเช่นกัน นี่คือบททดสอบสำคัญที่จะเกิดขึ้นตลอด 3 ปีจากนี้ไปหลังไทยเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
นี่คือบททดสอบ… ที่โลกกำลังจับตามอง
ในโลกที่หมุนเร็ว เปราะบาง และเต็มไปด้วยแรงเสียดทานจากประเทศมหาอำนาจ คำถามสำคัญคือ ประเทศไทยจะกล้าพอที่จะยืนหยัดในจุดยืนที่เป็นธรรม และส่งเสียงในเรื่องที่ควรส่งเสียงหรือไม่? หรือเราจะยังคงเลือกนิ่งเฉย ปล่อยให้ปัญหาที่ถาโถมกลืนเราไป — ทั้งที่สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากแต่คือเรื่องของเรา คนไทยทุกคน นี่คือบททดสอบสำคัญตลอด 3 ปีข้างหน้าที่โลกกำลังเฝ้าดู