13 มีนาคม 2568 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย นำโดย บัญชา ลีลาเกื้อกูล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และแอมเนสตี้ทั่วโลก ได้ยื่นจดหมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซาอุดีอาระเบีย ให้ปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดกับ มานาฮีล อัล-โอตัยบี นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิผู้หญิงที่ถูกศาลในซาอุดีอาระเบียตัดสินจำคุก 11 ปี เพียงเพราะเธอใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นเพื่อรณรงค์เรื่องสิทธิผู้หญิง์ในประเทศของเธอผ่านช่องทางออนไลน์
การยื่นจดหมายครั้งนี้เป็นเจตจำนงของผู้คนทั่วโลกผ่าน แคมเปญ Write for Rights “เขียน เปลี่ยน โลก” ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นแคมเปญสิทธิมนุษยชนระดับโลกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยในปีนี้มีผู้คนกว่า 624,152 คนทั่วโลกร่วมกันลงชื่อในข้อเรียกร้อง และในจำนวนนี้มีผู้คนกว่า 7,519 คนจากประเทศไทยที่ร่วมกันเรียกร้องความยุติธรรมให้กับมานาฮีล
“กรณีของมานาฮีล อัล-โอตัยบี เป็นตัวอย่างชัดเจนว่าการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิผู้หญิง ยังคงนำไปสู่การเผชิญการคุกคามและจำคุกในหลายประเทศ ซึ่งเราไม่อาจนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ได้ เสียงจากทั่วโลกรวมถึงจากประเทศไทย เป็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนไปยังรัฐบาลซาอุดีอาระเบียว่า มานาฮีล นักสิทธิผู้หญิงชาวซาอุดีอาระเบียควรได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไขและยุติการปิดกั้นสิทธิผู้หญิงในซาอุดิอาระเบียทันที”
บัญชา ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าว
มานาฮีล อัล-โอตัยบี นักสิทธิผู้หญิงที่ถูกจองจำเพียงเพราะเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิผู้หญิง
มานาฮีล อัล-โอตัยบี เธอมีอายุเพียง 30 ปี เป็นครูสอนออกกำลังกายและเป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิผู้หญิงออนไลน์ในซาอุดีอาระเบีย โดยเธอถูกจับกุมในเดือนพฤศจิกายน 2565 หลังมีการโพสต์ภาพของตัวเองในห้างสรรพสินค้าโดยไม่สวมชุดอาบายา ซึ่งเป็นชุดเสื้อคลุมหลวมแขนยาวแบบดั้งเดิม ลงใน Snapchat พร้อมแสดงความคิดเห็นสนับสนุนสิทธิผู้หญิงทางออนไลน์ ท่ามกลางกระแสที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียอ้างว่าได้มีการปฏิรูปประเทศเพื่อส่งเสริมสิทธิผู้หญิงอยู่เป็นระยะ แต่ในความเป็นจริงนั้นกลับพบว่า มานาฮีลถูกตัดสินโทษจำคุกถึง 11 ปี จากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก
ถูกคุมขังโดยไร้การติดต่อ ครอบครัวกังวลสวัสดิภาพ
ในจดหมายที่ยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซาอุดีอาระเบียมีใจความสำคัญว่า ครั้งสุดท้ายที่มานาฮีลสามารถติดต่อกับครอบครัวได้คือ วันที่ 15 ธันวาคม 2567 หลังจากนั้นครอบครัวพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่เรือนจำและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งซาอุดีอาระเบียหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับข้อมูลใดๆ จากเจ้าหน้าที่ ซึ่งตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลการปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ของมานาฮีล ถือเป็นการบังคับให้บุคคลสูญหาย (Enforced Disappearance) และถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงตามกฎหมายระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ครอบครัวของเธอยังเปิดเผยว่า มานาฮีลป่วยเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis – MS) ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าสุขภาพของมานาฮีล ทรุดลงอย่างมาก หลังจากถูกคุมขังในเดือนพฤศจิกายน 2565 เนื่องจากการถูกละเลยทางการแพทย์และการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมในเรือนจำ
พลังจาก 624,152 เสียงทั่วโลก เรียกร้องให้ปล่อยตัวมานาฮีลโดยทันที
จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นและปัจจุบันมีประชาชนกว่า 624,152 คนทั่วโลก ได้ร่วมสนับสนุนมานา ฮีลผ่านแคมเปญ Write for Rights “เขียน เปลี่ยน โลก” ประจำปี 2567 โดยเฉพาะในประเทศไทยได้มีผู้ลงชื่อสนับสนุนถึง 7,519 คน ที่ร่วมเรียกร้องให้ซาอุดีอาระเบีย ปล่อยตัวมานาฮีล อัล-โอตัยบีโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข นอกจากนี้หากทางการซาอุดีอาระเบียยังไม่สามารถปล่อยตัวเธอได้ในขณะนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงขอเรียกร้องให้เธอได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมและเพียงพอ
“พลังของผู้คนทุกคนมีความหมายอย่างมากในแคมเปญ Write for Rights ที่ผ่านมาเราได้เห็นมาแล้วว่าการเขียนจดหมาย ลงชื่อในคำร้อง และส่งเสียงของเรา สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้จริง และเราจะไม่หยุดจนกว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้น นี่คือความเชื่อของแคมเปญที่ว่าพลังจากปลายปากกา คนธรรมดาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”
บัญชา ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าว
สำหรับแคมเปญ Write for Rights แสดงให้เห็นพลังของคนธรรมดาในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ทุกจดหมายที่ถูกส่งออกไป เป็นแรงกดดันให้รัฐบาลทั่วโลกต้องรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชน โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลกที่ทำงานเพื่อปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคน ไม่เลือกปฏิบัติ องค์กรมีสมาชิกและผู้สนับสนุนมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก และทำงานผ่านการรณรงค์ การวิจัย และการสนับสนุนเชิงนโยบาย ทำขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เป็นเรื่องของทุกคน
เขียน เปลี่ยน โลก
ในวันที่10 ธันวาคม ของทุก ๆ ปี คือวันสิทธิมนุษยชนสากล ผู้คนหลายแสนคนทั่วโลกร่วมกันเขียนจดหมายมากมายเพื่อผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จดหมายหลายฉบับถูกส่งถึงผู้ถูกละเมิดสิทธิโดยตรง ขณะที่จดหมายอีกจำนวนมากก็ถูกส่งไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องนั้น ๆ จดหมายเพียงฉบับเดียวที่ถูกส่งถึงผู้มีอำนาจอาจไม่ได้รับความสนใจ แต่หากมีจดหมายนับหมื่นนับแสนฉบับที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนนั้นก็ยากที่จะมองข้ามได้ การรณรงค์กว่า 60 ปีที่ผ่านมาของแอมเนสตี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเขียนเปลี่ยนชีวิตคนได้จริงๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ เขียน เปลี่ยน โลก จากการเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดอยู่ใกล้กับคุณ หรือดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการเขียนเปลี่ยนโลกของคุณได้ที่นี่!
