“อันตรายเกินไปที่จะเป็นตัวเอง” ความรุนแรงในโลกดิจิทัล การปิดปากนักปกป้องสิทธิฯ ผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

“ไม่มีที่ไหนปลอดภัยแล้ว ทุกที่อันตรายเกินไปที่จะเป็นตัวของตัวเองแม้กระทั่งในเรือนจำ”

สิ้นเสียงของปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่ได้กล่าวเปิดงาน “อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง: BEING OURSELVES IS TOO DANGEROUS” ทั้งห้องเงียบสงบลง เป็นความเงียบงันที่ทุกคนต่างไว้อาลัยให้กับการสูญเสียของเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง”  นักกิจกรรมทางการเมืองที่ได้อดอาหารประท้วงสิทธิการประกันตัวและเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา

“เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นถึงอีกหน้าหนึ่งของความโหดร้ายของโลกดิจิทัล” ปิยนุชกล่าว “วันที่มีการรายงานข่าวการเสียชีวิต มีการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์หลายรูปแบบ มีคนบางกลุ่มพูดถึงความตายของบุ้งอย่างเย้ยหยัน เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ”

บุ้งเป็นตัวแทนของผู้หญิงคนหนึ่งในอีกหลายล้านคนบนโลกใบนี้ที่ถูกคุกคามทางโลกออนไลน์ ตามรายงานของแอมเนสตี้ที่มีชื่อว่า ‘อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง ความรุนแรงในโลกดิจิทัลและการปิดปากนักกิจกรรมหญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย’ ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า นักปกป้องสิทธิฯ ที่เป็นผู้หญิงและ LGBTI ในประเทศไทย ต้องเผชิญกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยี TfGBV ( Technology-Facilitated Gender-Based Violence Program) หลักๆ อยู่ 2 รูปแบบได้แก่ การพุ่งเป้าสอดแนมทางดิจิทัลและการคุกคามในโลกออนไลน์

ไอรีน ข่าน (Irene Khan) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ได้ให้ความเห็นต่อรายงานฉบับดังกล่าวว่า

“เสรีภาพในการแสดงออกนั้นสัมพันธ์อย่างแยกไม่ได้กับเรื่องของความยุติธรรมทางเพศ เทคโนโลยีช่วยทำให้เกิดความรุนแรง การคุกคามข่มขู่และการป้ายสีต่างๆ นำไปสู่ความเสี่ยงต่อผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่เป็นนักการเมือง นักข่าว รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

ไอรีนชี้ให้เห็นว่า แม้กลุ่มผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ จะพยายามใช้เทคโนโลยีในการสร้างเครือข่ายในการทำงาน แต่บรรทัดฐานของปิตาธิปไตยหรือระบบชายเป็นใหญ่ ที่กีดกันเพศหญิงและเพศทางเลือก ถูกนำจากโลกแห่งความจริงมาสู่โลกออนไลน์ด้วย ทำให้มีจำนวนการคุกคามมากขึ้น เพราะมันสามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ตลอดเวลา

“วัตถุประสงค์ของความรุนแรงทางเพศผ่านเทคโนโลยีเพื่อที่จะทำให้ผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหนีหายไปจากโลกออนไลน์หรือพื้นที่ในการแสดงออก” ไอรีนกล่าว “มันจึงเป็นสิ่งอันตรายไม่ใช่แค่ระดับปัจเจกบุคคล แต่ส่งผลอันตรายต่อบุคคลและสังคมโดยภาพรวม”

ไอรีนทิ้งท้ายในการกล่าวปาฐกถาเปิดงานว่า  กฎหมายระหว่างประเทศระบุไว้ชัดเจนว่า ความรุนแรงทางเพศต่อบุคคลทั้งออนไลน์และออฟไลน์เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิ่งนี้เป็นความท้าทายและแต่ละรัฐยังไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างเพียงพอ จึงเป็นโอกาสของรัฐบาลไทยที่จะพิจารณาเรื่องนี้และแสดงความมุ่งมั่นในการทำให้เกิดความเสมอภาคทางเพศทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อสำหรับผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยยังคงอันตรายเกินไปสำหรับพวกเขาที่จะเป็นตัวของตัวเองได้โดยปราศจากการถูกคุกคาม ต่อจากนี้เป็นเรื่องราวของผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ได้ออกมาส่งเสียงการถูกคุกคามและการถูกสอดส่องผ่านทางโลกออนไลน์

TfGBV ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยี

“เวลาเราออกมาพูดเรื่องผู้ลี้ภัย เรื่องโทษประหารชีวิต จะมีคนออกมาแสดงความคิดเห็นที่เราไม่สามารถระบุตัวตนพวกเขาได้ ‘มึงก็เอามันไปทำผัวสิ’ ‘เอามันไปอยู่ที่บ้านมึงสัก 100 คน’”

วาทกรรมซ้ำเดิมที่ อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ ต้องพบเจอตลอดการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของเธอ อังคณากล่าวว่าในความเป็นผู้หญิง เรื่องเพศมักถูกหยิบยกมาเพื่อทำลายชื่อเสียง และที่มากไปกว่านั้นคือมันทำลายตัวตนของเธอ และสร้างความเจ็บปวดมาให้เธอโดยตลอด

“การที่เราถูกคุกคามแบบนี้ พวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากทำให้เราเสียเกียรติ” อังคณาเล่า “แม้กระทั่งเวลาที่เราถูกฟ้องและศาลรับฟ้อง เราต้องถูกส่งลงไปในสถานที่ควบคุมตัวของราชทัณฑ์ใต้ถุนศาล เป็นเหมือนคุก ทำให้เข้าใจเลยว่าการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืออะไร เป็นเหมือนชัยชนะของคนที่กลั่นแกล้งเรา”

ในฐานะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อังคณาเป็นทั้งโจทก์ที่ยื่นฟ้องคนที่คุกคามเธอ รวมทั้งเป็นจำเลยในการถูกฟ้องปิดปาก ซึ่งทุกครั้งที่เธอต้องผ่านกระบวนการกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เธอรู้ว่าพวกเขาไม่เข้าใจเรื่องความอ่อนไหวทางเพศแม้แต่น้อย

“ทุกครั้งที่ฉันไปแจ้งความ” อังคณาเล่าย้อนถึงความทรงจำเมื่อครั้งถูกคุกคาม “เขาจะให้ฉันเน้นย้ำถึง ส่วนที่เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เหมือนกันตอกย้ำบาดแผลเราอีกครั้ง”

อังคณายอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาเธอลดบทบาทการเคลื่อนไหวทางโลกออนไลน์ลง เพราะมันให้ความรู้สึกเหมือนมีคนมาจับจ้องเธออยู่ตลอด โดยชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ได้จัดทำรายงาน อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง ความรุนแรงในโลกดิจิทัลและการปิดปากนักกิจกรรมหญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ก็ได้ระบุว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ยังต้องเผชิญกับความรุนแรงด้วยเหตุทางเพศผ่านการใช้เทคโนโลยี (TfGBV)

TfGBV คือความรุนแรงหรือการข่มขู่เพื่อใช้ความรุนแรง ซึ่งกระทำโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการกระทำสนับสนุนส่งเสริม และเพิ่มระดับความรุนแรงหรือการข่มขู่ โดย TfGBV ส่งผลกระทบเกินสัดส่วนต่อผู้หญิง และกลุ่มคนบนพื้นฐานของเพศวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศ โดยทำให้เกิดความเสียหายทางร่างกาย จิตใจ และเศรษฐกิจ ซึ่งความรุนแรงนี้เกิดขึ้นในสภาวะต่อเนื่องระหว่างพื้นที่ทางกายภาพและดิจิทัล

จากรายงานฉบับดังกล่าว  ชนาธิปสามารถสรุปออกมาได้ใน 3 ประเด็นคือ 1. ผู้หญิงและผู้มีความ

หลากหลายทางเพศที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ปลอดภัยในการใช้พื้นที่ทางออนไลน์ เพราะเจอปัญหา TfGBV 2. ไม่มีความยุติธรรมและการเยียวยาให้กับคนที่ตกเป็นเป้าของ TfGBV และ 3.TfGBV เป็นสิ่งที่สร้างให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว จนทำให้ผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่สามารถออกมาแสดงออกได้อย่างเต็มที่

โดยความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยี สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ความรุนแรงที่พุ่งเป้าจัดการไปที่คนคนหนึ่งเพราะเพศของเขา กับสองการไม่ได้มีเจตนาที่จะพุ่งเป้าเรื่องเพศ แต่ว่ามีผลกระทบเฉพาะตัวกับคนที่เป็นผู้หญิงหรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นพิเศษ

ชนาธิปได้ให้ข้อสรุปไว้ในตอนท้ายของการนำเสนอรายงานฉบับนี้ว่า เครื่องมือทางดิจิทัลมีความสำคัญกับนักปกป้องสิทธิที่เป็นผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะพวกเขาใช้มันในการเคลื่อนไหวขับเคลื่อนสังคม แต่เครื่องมือเหล่านี้กำลังถูกพรากไปจากพวกเขา พื้นที่ในการแสดงออกถดถอยลงเรื่อยๆ เพราะพวกเขากำลังตกอยู่ในอันตรายจาก TfGBV รวมทั้งยังไม่มีความยุติธรรมและการเยียวยาซึ่งถือว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐไทยที่ไม่สามารถปกป้องและให้การเยียวยาพวกเขาได้

‘พวกเขาจ้องมองเธออยู่’ เมื่ออัตลักษณ์ทางเพศถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตี

นอกจากความรุนแรงทางเพศจะเกิดขึ้นระดับบุคคลต่อบุคคลแล้ว ในระดับรัฐเองก็มีข้อสันนิษฐานที่ประเมินได้ว่าหน่วยงานรัฐมีการสอดส่องคุกคามนักเคลื่อนไหวฯ ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศผ่านสปายแวร์ที่ชื่อว่าเพกาซัส‘ ของบริษัท NSO Group ผู้ให้บริการด้านความมั่นคงไซเบอร์ จากประเทศอิสราเอล บุศรินทร์ แปแนะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw เป็นหนึ่งใน 35 คนที่ถูกโจมตีโดยเพกาซัสสปายแวร์ ทั้งที่เธอไม่ใช่คนทำงานอยู่แนวหน้า แต่เป็นเพียงคนทำข้อมูลจากทีมที่มีชื่อว่าม็อบดาต้า ไทยแลนด์ (Mob Data Thailand) ในปี 2563

“ช่วงปี 2564 มีนักกิจกรรมได้รับอีเมลจาก Apple ว่า อาจตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีจากสปายแวร์” บุศรินทร์เริ่มต้นเล่าเรื่องราวของเธอ “เรายังไม่ได้คิดอะไรเพราะทำงานเบื้องหลังมาตลอด แต่พอไปค้นดูพบว่าเราก็ได้รับอีเมลดังกล่าว มันทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนอยู่บนพื้นที่ไม่มั่นคง เราไม่รู้ว่ามันทำอะไรกับเราได้บ้าง เราโดนดูดข้อมูลไปกี่ครั้ง เขาเอาข้อมูลส่วนตัวอะไรของเราไปบ้าง”

สองสัปดาห์แรกที่บุศรินทร์ทราบข่าวเธอวิตกกังวลจนถึงขั้นนอนไม่หลับ เธอรู้ดีว่าเป้าหมายในการขโมยข้อมูลของเธอไปก็เพื่อโจมตีและพยายามให้เธอหยุดเคลื่อนไหว แต่ในทางตรงกันข้ามบุศรินทร์ลุกขึ้นมาต่อสู้กับการคุกคามด้วยทักษะที่เธอมี

“เป้าหมายมันไม่มีอะไรมากไปกว่าทำให้เราหยุด ดังนั้นเมื่อเขากดหัวเรา เราต้องพยายามเงยหน้าขึ้นมาให้ได้ เรารู้แล้วว่าศักดิ์ศรีของเราคือการทำงานข้อมูล เราจึงบอกหัวหน้าว่าจะทำอะไรสักอย่างกับเรื่องนี้”

บุศรินทร์เริ่มต้นการสืบสวนโดยทำการช่วยตรวจสอบมือถือของนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในช่วงเวลาดังกล่าว ความแตกต่างหนึ่งที่เธอค้นพบของผู้เสียหายที่ถูกโจมตีระหว่างเพศชายกับเพศอื่นๆ คือ บรรยากาศแห่งความหวาดกลัวแตกต่างกัน เพราะหากถูกนำข้อมูลส่วนตัวออกมาเผยแพร่ เพศหญิงมักถูกประณามจากสังคม ดั่งเช่นตัวอย่างที่บุศรินทร์กล่าวไว้ในตอนท้ายว่า

“เราเป็นคนชอบควบคุมน้ำหนักและถ่ายรูปดูความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ถ้าข้อมูลเหล่านี้หลุดออกไปและเราอยู่ในสังคมมุสลิม เรานึกออกเลยว่าชุมชนมุสลิมจะต้องหันมาสาปเราแน่นอน”

ไม่ต่างจากนาดา ไชยจิตต์ อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นักปกป้องสิทธิเพื่อกลุ่มคนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศรวมทั้งสิทธิของคนมุสลิม นาดานับถือศาสนาอิสลาม แต่อัตลักษณ์ที่ทับซ้อนอยู่ในตัวของนาดา ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกคุกคามจากทั้งสองฝั่ง

“เราถูกเกลียดชังทั้งในโลกของอิสลามและโลกของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เราเคยถูกเกลียดถึงขั้นมีคนมาบอกเราว่า ‘มึงออกจากอิสลามไปซะ’ ‘มึงโง่รึเปล่าศาสนามึงจะฆ่ามึงตายอยู่แล้ว ยังจะมีศรัทธาต่อพระเจ้าอีก พระเจ้าเขาเกลียดมึง’”

นาดาเป็นอีกหนึ่งเสียงที่บอกว่าพื้นที่การแสดงออกของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศกำลังหดตัวลง เพราะการที่ผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อสภาพจิตใจและการคุกคามที่บั่นทอนนักปกป้องสิทธิฯ ได้อย่างแยบยลที่สุดก็คือการถูกฟ้องปิดปาก จากการที่นาดาไปช่วยเหยื่อคดีการคุกคามทางเพศที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง เหตุการณ์นี้ทำให้นาดาเห็นว่า กฎหมายไทยแทบไม่มีกฎหมายข้อไหนที่จะคุ้มครองผู้เสียหายที่ถูกคุกคามทางเพศเลย

ซึ่งในประเด็นดังกล่าวอังคณาได้กล่าวเสริมว่า แม้ในรัฐธรรมนูญมีการกำหนดว่าผู้ใดที่ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับการเยียวยา แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายลูกที่พูดถึงการเยียวยาในกรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

อังคณาให้ข้อเสนอเพิ่มเติมว่าประเทศไทยควรปรับปรุง พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มาตรา 17 วรรค 2  โดยให้ตัดคำว่าอนุญาตให้เลือกปฏิบัติได้ด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ศาสนา และเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพ

“การคุกคามทางออนไลน์เป็นการกระทำที่น่าละอายที่กระทำต่อคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน รัฐต้องยุติการกระทำแบบนี้ และให้การเยียวยากับผู้เสียหายทุกคนอย่างเท่าเทียม”

อังคณาได้อ้างคำกล่าวของ คณะกรรมการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติ ที่ได้บอกว่า

การคุกคามทางเพศ การด้อยค่าและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการทรมาน

ปิตาธิปไตยและการคุกคามทางเพศ ในสังคมที่นิยามตัวเองว่าประชาธิปไตย

“เราถูกโจมตีครั้งแรก จากการพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศและประชาธิปไตยพร้อมกัน สิ่งที่วันนั้นเราเจอในพื้นที่ออนไลน์คือ คำพูดที่แสดงถึงการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน หรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ถ้าเจอจะถีบลงข้างทางและเอาไปนั่งยางเผา”

คำกล่าวที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่อย่างในสังคมไทย สิรภพ อัตโตหิ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ คือหนึ่งในนักเคลื่อนไหวที่ต้องเผชิญกับวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ผ่านการถูกคุกคาม ไม่เพียงแต่เฉพาะคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันเท่านั้น แม้แต่กลุ่มที่นิยามตัวเองว่าฝักใฝ่ประชาธิปไตย ก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ได้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ

“ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศหรอก เอาเรื่องประชาธิปไตยให้ได้ก่อน”

คือคำกล่าวที่สิรภพมักได้ยิน สิรภพมักถูกด้อยค่าหรือมองข้ามประเด็นที่กำลังสื่อสารด้วยการถูกตีตราว่าอัตลักษณ์ของสิรภพนั้นดูไม่จริงจัง ทั้งยังถูกใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือในการโจมตี ทั้งเรื่องน้ำหนัก หน้าตาที่ไม่ได้เป็นไปตามค่านิยมความสวยของสังคม และการเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้คุกคามมักใช้สิ่งเหล่านี้ในการบั่นทอนจิตใจของนักปกป้องสิทธิผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

และในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมากลุ่มที่ต่อต้านแนวคิดเฟมินิสต์และความหลากหลายทางเพศ ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการรวมตัวและแสดงออกถึงการต่อต้านอย่างชัดเจนทั่วโลก สิรภพมองว่าผู้คนเริ่มพูดถึงสิทธิความเท่าเทียมทางเพศกันมากขึ้น ในขณะเดียวกันแรงต่อต้านก็สูงขึ้นมากเช่นกัน

“แม้แต่ในกระบวนการประชาธิปไตยในวันนี้เอง ยังไม่ใช่พื้นที่ที่ปลอดภัยของผู้หญิงและ LGBT” สิรภพกล่าว “การคุกคามไม่ได้เกิดจากคนที่ต่อต้านประชาธิปไตยเท่านั้น แม้แต่กับคนที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตยก็ด้วย”

โดยอังคณามีความเห็นต่อประเด็นข้างต้นว่า นักกิจกรรมทางการเมืองไม่เท่ากับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ต้องยอมรับทุกสิทธิตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ข้อมูลจากรายงาน ‘อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง ความรุนแรงในโลกดิจิทัลและการปิดปากนักกิจกรรมหญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย’ ที่ทางแอมเนสตี้ทำการสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิฯ 40 คน ซึ่งเป็นผู้หญิง 14 คน และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 26 คน พบว่านักปกป้องสิทธิแต่ละคนล้วนเผชิญกับการถูกคุกคามและสอดส่องหลากหลายรูปแบบ ทั้งจากศาสนาที่นับถือ การสอดส่องโดยรัฐจากสปายแวร์ การใช้กฎหมายในการฟ้องปิดปาก การขู่แบล็กเมลด้วยเรื่องส่วนตัวและการคุกคามทางเพศ เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายของการคุกคามเหล่านี้เพื่อต้องการให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว (chilling effect) และทำให้พวกเขาหยุดเคลื่อนไหวไปในที่สุด

ท้ายที่สุดแล้วแม้ว่าประเทศไทยได้จัดวางตำแหน่งตัวเองต่อประชาคมโลกว่า เป็นผู้นำด้านความเท่าเทียมทางเพศ แต่ความจริงที่ปรากฏชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของการให้ความคุ้มครองนักปกป้องสิทธิที่เป็นผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ จากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับรองไว้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี อันได้แก่ กติกา ICCPR อนุสัญญา CAT และอนุสัญญา CEDAW

นอกจากนี้ความรุนแรงทางเพศยังถือเป็นวัฒนธรรมที่ถูกผลิตซ้ำกันมาในสังคมไทย เป็นประเด็นเชิงวัฒนธรรมที่เป็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของเราทุกคนในสังคม ตามที่สิรภพนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้กล่าวไว้ รวมทั้งคำกล่าวของปิยนุช ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่กล่าวว่า

“เราจำเป็นต้องยืนหยัดเคียงข้างนักปกป้องสิทธิฯ ผู้หญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้มีโอกาสสื่อสารข้อเสนอแนะของตัวเองด้วยความเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะโดนทำร้ายอีกต่อไป”

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้