“อีก*หรี่”
คำที่ อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักสิทธิมนุษยชนและผู้ก่อตั้งกลุ่มด้วยใจ ได้รับจากโลกออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง หลังจากออกมาเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชนมานานกว่าสิบปี แม้แต่ในวันที่เธอประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายอย่างเธอจึงตัดสินใจวางมือ แล้วส่งไม้ต่อให้กับคนที่ยังมีเรี่ยวแรงต่อสู้กับกำแพงที่รัฐก่อขึ้นอย่างหนาทึบต่อไป
เพราะอัญชนาเองก็เหนื่อยล้าเกินกว่าจะสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็น แม้จะได้รับความไว้วางใจจากแม่ทัพภาค 4 ที่แต่งตั้งให้เธอขึ้นมารับตำแหน่งนี้ก็ตาม ถึงจะเป็นการกระทำที่ดูกล้าหาญ แต่ก็ไม่วายโดนบางกลุ่มเข้ากระแนะกระแหนจนเธอเหนื่อยใจ
ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น อัญชนาเป็นเพียงหญิงสาวธรรมดาคนหนึ่ง เกิดในครอบครัวข้าราชการครู ใช้ชีวิตแสนสุขอยู่ในจังหวัดสงขลาร่วมกับพี่น้องผู้หญิงทั้ง 5 คน โดยเธอเป็นลูกสาวคนที่ 3 ได้รับบทบาททั้งพี่และน้องในเวลาเดียวกัน
ความฝันของอัญชนาอาจแตกต่างจากลูกสาวข้าราชการครูทั่วไป เธออยากเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้หญิง จึงสอบเข้าคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะเป็นอาชีพที่ผู้หญิงไม่ค่อยทำกัน เธออยากจะทลายกรอบของเพศสภาพ แสดงให้สังคมเห็นว่าผู้หญิงอย่างเธอก็สามารถเป็นได้ทุกอย่าง ขอแค่ไม่ยอมแพ้ต่อสิ่งที่หวัง
แต่ความฝันกับความเป็นจริงนั้นช่างห่างไกล เธอจึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ เก็บความปรารถนาของเด็กหญิงอัญชนาเอาไว้ในใจ และเดินหน้าเข้าสู่โลกมนุษย์เงินเดือนอย่างเต็มตัว หลังจากอิ่มตัวจากการเป็นพนักงานบริษัท เธอตัดสินใจเก็บกระเป๋ากลับบ้านในปี 2548 โดยหันมาเปิดร้านล้าง อัด ฉีด ที่มีทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนทั่วไปเป็นลูกค้าชั้นดี

สายตาแห่งความอคติ
ชีวิตแสนธรรมดาดำเนินไปเรื่อยๆ กระทั่งปี 2550 โลกของอัญชนาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล หลังจากทราบข่าวจากน้องสาวคนสนิทว่า สามีของน้องสาวหายตัวไปหลังจากขับรถไปส่งนายตำรวจรายหนึ่ง
“เขาทำทีว่ามาล้างรถ แล้วก็บอกให้น้องเขยขับรถไปส่งที่ไหนสักที่ แต่ไม่ได้บอกว่าไปที่ไหน น้องเขยก็เห็นแล้วว่าในรถมีปืนเยอะมาก หลังจากนั้นเขาก็หายไปเลย ประมาณ 3-4 ชั่วโมง เราตามหากันทั่วอำเภอ จนมาเจออยู่ที่โรงพัก”
น้องเขยตกเป็นผู้ต้องสงสัยฆ่าคนไทยพุทธในคดีความมั่นคง คดีนี้ทำให้ใจเธอสั่นไหว อัญชนาไม่เข้าใจว่าการทำงานคาร์แคร์จะไปข้องเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติได้อย่างไร และนั่นยิ่งทำให้เธอเห็นว่า การถูกตีตราเหมารวมว่าชาวมลายู-มุสลิมในพื้นที่คือ ผู้ก่อการร้าย ไม่เคยจางหายไปจากพื้นที่ที่เธออยู่ แม้จะปวดใจแต่เธอไม่ยอมแพ้ อัญชนาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อทวงคืนอิสรภาพกลับคืนมา
จากคนไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย เสียค่าทนายไปหลายแสนแต่ก็ไม่เกิดผล เมื่อเห็นว่าวิธีการนี้ใช้ไม่ได้ เธอจึงเปลี่ยนมาเดินสายเข้าร่วมงานเสวนาและเวทีสาธารณะ ที่ทำให้เธอสามารถพูดถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเปิดเผย
2 ปี คือระยะเวลาที่อัญชนาและน้องสาวร่วมกันต่อสู้ เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้น้องเขย และสามารถปลดปล่อยพันธนาการต่างๆ พร้อมกับลบข้อครหาทั้งหมดได้อย่างหมดจด แม้ว่าในช่วงแรกครอบครัวของเธอ จะถูกเหมารวมว่าเป็นกลุ่มผู้ไม่หวังดีหรือถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบก็ตาม
สิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลา 2 ปี ทำให้อัญชนาเห็นว่าระบบกฎหมายในประเทศไทยมีการเลือกปฏิบัติต่อชาวมลายู-มุสลิมอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นที่มาของการตั้งกลุ่ม ‘ด้วยใจ’ ขึ้นมาในปี 2553 เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับครอบครัวเธอ ที่กว่าจะปลดเปลื้องข้อครหาต่างๆ ได้ ต้องใช้เวลา ความอดทน ต่อสู้อยู่นานแสนนาน
“2 ปีที่เราอยู่ในระบบกฎหมาย เราเห็นการมาเยี่ยมของคนในเรือนจำที่มีความแตกต่างกับ ชาวมลายู-มุสลิมทั่วไป กว่าเขาจะไปเยี่ยมคนในครอบครัวเขาได้ เขาต้องรอเวลา ต้องรวบรวมเงินเพื่อที่จะไปเยี่ยม แต่พอไปถึงแล้ว เขาก็ไม่รู้ภาษาที่จะประสานกับผู้คุมหรือเรือนจำ หรือว่าศาล”

อัญชนา เล่าว่าขณะที่เราได้รับการช่วยเหลือจากคนอื่นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรม นักวิชาการ เพราะเธอสามารถพูดภาษาไทยได้ สื่อสารกับทุกคนได้ เธอจึงคิดว่าเราควรจะส่งต่อสิ่งนี้ให้กับคนอื่นๆ ให้กับชาวมลายู-มุสลิม ที่ไม่ได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแบบเรา อัญชนามองว่า “ภาษาเป็นสะพานสำคัญที่ทำให้เกิดความยุติธรรมและสันติภาพในชายแดนใต้ได้”
“หลังจากที่สิ้นสุดคดีในปี 2553 เราก็เลยตั้งกลุ่มด้วยใจขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แล้วก็การเข้าถึงสิทธิในกระบวนยุติธรรม รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะเราเชื่อมั่นว่าทุกคนมีความเท่าเทียม ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน”
กลุ่มด้วยใจ คือสถานที่ที่อัญชนาและน้องสาวเปิดขึ้นมา เพื่อทำให้เสียงของคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนดังขึ้นทีละน้อย ผ่านการรณรงค์ จัดทำรายงาน และออกแบบโปรแกรมการเยียวยาเรื่องการฟื้นฟูจิตใจ ให้กับผู้เสียหายจากการถูกทรมานในทุกรูปแบบ เพราะเธอเข้าใจดีว่าการถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐนั้น ทำให้จิตใจแหลกสลายได้มากเพียงใด
“ช่วงปี 2550 – 2557 มีการร้องเรียนเรื่องการทรมานเกิดขึ้นเยอะมาก เราก็เลยจัดโปรแกรมการเยียวยาเรื่องการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กับผู้เสียหายจากการถูกทรมานในรูปแบบต่างๆ ขึ้นมา นอกจากนี้เราจะทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้าน ช่วยฟื้นฟูความเข้มแข็งให้กับผู้ถูกละเมิดทั้งหมด เปลี่ยนจากเหยื่อเป็นผู้ที่สร้างสันติภาพ นี่คือความตั้งใจของเรา”
หญิงสาวผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน
ความเป็นผู้หญิงสร้างอุปสรรคในการทำงานให้กับคุณไหม ? (เราถาม) เธอนิ่งคิดครู่หนึ่ง ก่อนจะตอบว่าไม่ได้คิดว่าการทำหน้าที่ตรงนี้จะเป็นชายหรือหญิง แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถกระทำได้ โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ
“คนอื่นที่มองอาจจะไม่เข้าใจว่าผู้หญิงที่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชน จะปกป้องเขาได้หรือเปล่า ผู้หญิงจะปกป้องผู้ชายได้ไหม แต่เรามองในแง่ของผู้หญิงที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ปกป้องผู้ชาย ไม่ได้ปกป้องในเรื่องของเพศ แต่เรายึดถือการทำงานอยู่บนหลักการ”

อัญชนาเปิดใจว่า อีกหนึ่งความท้าทายคือบทบาทผู้หญิง ที่จะก้าวข้ามไปสู่การเป็นผู้นำ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกละเมิดในพื้นที่ความขัดแย้งจะเป็นผู้ชาย พวกเขาจะตกเป็นเป้าในการถูกโจมตีทางด้านกฎหมาย แล้วก็มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น ทำให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาเป็นด่านหน้าในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ เพื่อรักษาสันติภาพให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาอยู่รอดของทุกคน ปรากฎการณ์เหล่านี้เริ่มเห็นเด่นชัดช่วงปี 2547
“แต่ก็เป็นผู้หญิงอีกที่ออกมาเรียกร้องในเรื่องของการฟื้นฟูเยียวยาเหยื่อ ตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มขึ้นในปี 2547 เป็นต้นมา เหมือนกับว่าผู้หญิงเป็นแนวหน้าในการที่ลุกขึ้นมาว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคม เพราะว่าชาวมลายู-มุสลิมในพื้นที่ ถูกกดทับเรื่องของสิทธิมนุษยชน ทั้งเรื่องของกระบวนการยุติธรรม การเข้าถึงสิทธิ เรื่องภาษา เรื่องอัตลักษณ์ และก็เรื่องของการถูกเหมารวมตีตรา”
แต่ถ้าถามว่าการเป็นนักปกป้องสิทธิที่มีเพศสภาพหญิง จะถูกจับตามองมากกว่านักเคลื่อนไหวผู้ชายหรือไม่นั้น อัญชนาตอบกลับทันทีว่า ผู้หญิงจะถูกเพ่งเล็งน้อยกว่า ขณะที่ผู้ชายจะถูกจับดำเนินคดีตามกฎหมายได้ง่ายกว่ามาก โชคไม่ดีที่อัญชนาเป็นผู้หญิงที่ได้รับข้อยกเว้น เธอถูก กอ.รมน. และสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งความดำเนินคดี เมื่อปี 2559 หลังจากจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายประจำปี 2557-2558 โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
จากรายงานชิ้นนี้เอง เธอจึงพบว่าภาพลักษณ์ที่ประเทศไทยพยายามแสดงออกให้สังคมโลกเห็น ช่างสวนทางกับความเป็นจริง
“ประเทศไทยเก่งมากในการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีต่อโลก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ในความเป็นจริง พื้นที่ส่วนกลาง แล้วก็พื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง”
ในรายงานดังกล่าวรวบรวมข้อมูลจากเหยื่อมากกว่า 50 ราย เล่าถึงความทุกข์ทรมานของผู้ถูกละเมิดสิทธิในค่ายทหารอย่างละเอียด และนั่นทำให้เธอถูกต่อต้านรวมถึงถูกคุกคามจากทหารอยู่บ่อยครั้ง
“หลังจากเราเผยแพร่รายงานในเรื่องของเคสการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องซ้อมทรมาน เรื่องของผู้ที่ถูกอุ้มหาย วันรุ่งขึ้นจะมีโทรศัพท์โทรมาเลยว่า คุณเขียนคำว่าทรมานไม่ได้นะในเฟซบุ๊กของคุณ เราจะฟ้องคุณ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ไปหาที่บ้านเลย”
นอกจากจะกังวลเรื่องถูกคุกคามไม่หยุดหย่อน แถมยังต้องดูแลสภาพจิตใจแม่และคนในครอบครัว แต่อัญชนาก็ไม่เคยย่อท้อ เธอยืนหยัดขอทำในสิ่งที่ตัวเองยึดมั่นต่อไป เพราะนี่คืออุดมการณ์และปณิธานอันแรงกล้าที่เธอจะไม่ทรยศต่อความตั้งใจของตัวเองเป็นอันขาด อัญชนาย้ำจุดยืนตรงนี้กับเรา
จากผู้พิทักษ์ สู่เหยื่อไซเบอร์บูลลี่
“โลกออนไลน์เป็นเหมือนดาบสองคม มันทำให้คนเข้าใจเราผิดได้ บางคำพูดก็รุนแรงเสียจนทำให้เราทุกข์ทรมาน”
ตลอดเวลาสิบปีที่ผ่านมา เธอถูกคำพูดอาฆาตถาโถมเข้าใส่ไม่หยุดหย่อน ทั้ง อีก*หรี่ อีป้า ไปจนถึงคำด้อยค่ารูปร่างภาพนอกอย่างคำว่า ‘หมู’ แม้ในช่วงแรกจะพยายามปล่อยผ่าน ปล่อยให้คนที่ผ่านมาระบายความโกรธแค้นใส่ตัวตนของเธอบนโลกออนไลน์ แต่ยิ่งนานวันเข้า หัวใจของอัญชนาที่เคยเข้มแข็ง กลับยิ่งโรยรา และจนถึงทุกวันนี้ อัญชนายอมรับว่าเธอเองก็ท้อใจอยู่ไม่น้อย
“ในโลกออนไลน์มันเป็นเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชนด้วยนะ ก็คือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม ถ้าเรามีหลักสิทธิมนุษยชนอยู่ในหัวใจของคนทุกคนแล้ว เขาก็จะเข้าใจในสิ่งที่นำเสนอของเรา การรายงาน การสื่อสาร เพราะว่าสิ่งที่เราทำ เรามีเป้าหมายเพื่อทำให้ทุกคนได้รับสิทธิต่าง ๆ อย่างครบถ้วน และเท่าเทียม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ”

การสื่อสารทางออนไลน์ทุกคนจึงควรได้รับการเคารพ อัญชนาย้ำคำพูดนี้ขึ้น ขณะเดียวกันการที่เธอไม่ไปตอบโต้กลับในสิ่งที่เขากระทำกับตัวเอง เพราะเธอเคารพในสิ่งที่คนอื่นๆ แสดงความคิดเห็นเหมือนกัน ฉะนั้นอย่างแรกที่อัญชนาอยากส่งเสียงออกไปถึงทุกคน คือการชวนให้สังคมเกิดการเคารพในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนในโลกออนไลน์
“เรารู้ดีว่า มันเป็นไปได้ว่ามีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบในงานของเรา แต่เราไม่สามารถที่จะหยุดงานของเราได้ เพราะว่าเป้าหมายของเรามันใหญ่กว่าการที่เราจะยุติมัน”
สิ่งสุดท้ายที่อัญชนาอยากจะฝากให้กับเหล่านักสู้ทุกที่มีเพศสภาพหญิงทุกคนคือ เธออยากบอกว่าไม่ว่าผู้หญิงที่มีใจมุ่งมั่นคนนั้น จะแอบซ่อนอยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของโลก ขอให้เชื่อมั่นในพลังของตัวเอง เชื่อว่าเสียง และการกระทำของตนจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ และอย่าเพิ่งท้อตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ
“ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ คุณไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง แต่มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่ยืนเคียงข้างคุณ เป็นกำลังใจให้คุณก้าวต่อไป เพื่อที่จะบรรลุความมุ่งมั่นของคุณ”
อ่านข่าวฉบับเต็มและอ่านรายงาน: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1260/
รับชมวิดิโอ ประเทศไทย: ความรุนแรงบนโลกออนไลน์ที่ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ และสปายแวร์เพกาซัส” https://youtu.be/EPhVd0qTcCk?
#makeitsafeonline#ทำโลกออนไลน์ให้ปลอดภัย#Amnesty#AmnestyThailand