นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเอ็นจีโอ รวมทั้งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเอง ต่างตกเป็นเป้าหมายของทางการทั่วโลก ที่ใช้แผนการแบบเดียวกันเพื่อปิดปากผู้วิจารณ์
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวโครงการระดมเพื่อสถานการณ์ฉุกเฉินระดับโลกครั้งแรก เรียกร้องผู้สนับสนุนให้ช่วยต่อต้านการโจมตีที่เพิ่มขึ้นต่อผู้สื่อข่าว นักกฎหมาย นักกิจกรรม และองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่ทำงานเพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
ทางองค์กรเน้นให้เห็นการโจมตีของรัฐและที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ต่อเจ้าหน้าที่และสำนักงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพราะมีการทำงานที่ท้าทายมากขึ้นต่อรัฐบาลซึ่งเป็นปรปักษ์กับสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2563 สำนักงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดียถูกสั่งปิด ทางการสั่งระงับบัญชีธนาคารขององค์กร โดยก่อนหน้านั้นมีการบุกเข้ามาตรวจค้นสำนักงานและการรณรงค์เพื่อใส่ร้ายในวงกว้าง ส่วนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไนจีเรียยังคงต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากความรุนแรง เนื่องจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของตน โดยก่อนหน้านั้นมีการคุมขังแกนนำคนสำคัญของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตุรกีในข้อหา “ก่อการร้าย” ที่ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อปี 2560
จูลี เวอร์แฮร์ รักษาการเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การถูกสร้างตราบาปและถูกโจมตี เนื่องจากการออกมาเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและวิจารณ์การใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ความรุนแรงของการโจมตีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นับเป็นสิ่งใหม่และน่ากังวลอย่างยิ่ง
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาคม เอ็นจีโอ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก หลายคนต้องเผชิญความเสี่ยงร้ายแรงโดยไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเพียงพอ และชะตากรรมที่พวกเขากำลังประสบมักไม่ค่อยเป็นข่าวให้ผู้คนได้รับรู้
“สำหรับแอมเนสตี้ การสามารถต้านทานการโจมตีต่างๆ และดำเนินงานที่สำคัญได้อย่างเป็นอิสระเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เสี่ยงภัย ต่างต้องพึ่งพาการสนับสนุนและเงินบริจาคโดยสมัครใจของบุคคลทั่วโลก พวกเราต่างมีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่อยากให้ทุกคนในโลกเข้าถึงสิทธิมนุษยชน เราจึงเริ่มโครงการนี้ขึ้นด้วยความหวังว่า จะสามารถระดมความสนับสนุนได้มากขึ้น
เป้าหมายการรณรงค์ครั้งนี้เพื่อหาทางสนับสนุนบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักข่าว นักกฎหมาย และนักกิจกรรม รวมทั้งผู้ทำงานให้กับเอ็นจีโอที่ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานที่สำคัญต่อไปได้ เพื่อเปิดโปงการปฏิบัติมิชอบที่เลวร้าย โดยไม่ต้องกลัวการตอบโต้ การบริจาคเงินให้กับโครงการระดมเพื่อสถานการณ์ฉุกเฉินของแอมเนสตี้ จะช่วยให้เราสามารถทำงานรณรงค์ ในการเป็นตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสามารถให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีกับผู้ที่ถูกโจมตีทำร้าย รวมไปถึงการให้ทุนสนับสนุนการอพยพโยกย้ายอย่างเร่งด่วนของบุคคลที่เสี่ยงภัย การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกระบวนการยุติธรรมที่เลวร้าย อันเป็นผลมาจากการทำงานที่ชอบธรรมของพวกเขา ทั้งยังใช้เป็นเงินเพื่อรักษาพยาบาลผู้ที่ถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย
สิทธิมนุษยชนภายใต้การคุกคาม
จากงานศึกษาวิจัยของแอมเนสตี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้นำทั่วโลกต่างใช้แผนการแบบเดียวกันอย่างไม่ละอายแก่ใจ เพื่อปิดปากผู้วิจารณ์และเพื่อย่ำยีสิทธิมนุษยชน ยุทธศาสตร์ที่พวกเขามีทั้งการสอดแนมอย่างก้าวร้าว การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม โดยใช้ประโยชน์อย่างมิชอบจากกฎหมายที่คลุมเครือ การบุกเข้าตรวจค้น การข่มขู่ของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งการใช้กฎหมายอย่างมิชอบ
ในปี 2563 ประธานาธิบดีดูเตอร์เตแห่งฟิลิปปินส์ ลงนามในกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลอย่างกว้างขวางและปราศจากการตรวจสอบ โดยให้สามารถกล่าวหานักกิจกรรมและผู้วิจารณ์รัฐว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และดำเนินคดีกับพวกเขาได้
ในทำนองเดียวกัน ประธานาธิบดีโบลโซนาโรแห่งบราซิล ได้เปลี่ยนจากแค่คำพูดที่ก้าวร้าวและต่อต้านสิทธิมนุษยชนนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยการออกมาตรการทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติหลายครั้ง เพื่อควบคุมจำกัดการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคม นับแต่ขึ้นสู่ตำแหน่งเมื่อปี 2562 มีการเพิ่มการข่มขู่และโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้นอย่างน่าตกใจ
ในช่วงไม่กี่วันก่อนสิ้นปี 2563 รัฐสภาตุรกีเร่งออกกฎหมายใหม่ ซึ่งดูจากภายนอกมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการสะสมและการให้เงินทุนสนับสนุนการจัดซื้ออาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง แต่ในทางปฏิบัติ กลับเป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคม และขัดขวางการทำงานระดมทุนของพวกเขา
หลายประเทศทั่วโลก ได้อ้างการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเหตุผลเพื่อออกกฎหมายจำกัดสิทธิแบบใหม่ ที่ฮังการี รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีวิกตอร์ ออร์บัน ได้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาของประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาเพิ่มเติมที่คุกคามผู้สื่อข่าวและประชาชน โดยมีโทษจำคุกเป็นเวลาไม่เกินห้าปีเนื่องจาก “การเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง” เกี่ยวกับโรคโควิด-19
ในสหรัฐฯ ประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นผู้นำรัฐบาลที่พุ่งเป้าโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้เข้าเมือง โดยใช้กฎหมายเพื่อคุกคาม เพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และตัดความสัมพันธ์กับสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับโลก รวมทั้งการงดเว้นไม่เป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
การโจมตีเจ้าหน้าที่และกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
เจ้าหน้าที่และสำนักงานของแอมเนสตี้ตกเป็นเป้าการโจมตีของทางการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียสั่งระงับบัญชีธนาคารของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดียในเดือนกันยายน 2563 บีบให้องค์กรต้องเลิกจ้างพนักงานและต้องยุติการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในอินเดีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แอมเนสตี้เปิดตัวการรณรงค์ออนไลน์เพื่อเรียกร้องรัฐบาลอินเดีย ให้ยกเลิกการระงับบัญชีธนาคารขององค์กร
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไน จีเรียตกเป็นเหยื่อการรณรงค์ใส่ร้ายป้ายสีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขู่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ สืบเนื่องจากการเรียกร้องขององค์กรให้มีความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์กราดยิงที่ด่านเก็บเงินทางด่วนเลกกีในเดือนตุลาคม 2563
ในปี 2560 ผู้อำนวยการและประธานในขณะนั้นของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตุรกี ถูกคุมขังด้วยข้อหาก่อการร้ายที่ไร้ความจริง พร้อมกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกสองคนได้แก่ อีดิล เอสเซอร์ และทาเนอร์ คีลิช พวกเขาถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในเดือนกรกฎาคม 2563 ในกระบวนการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่าพยานหลักฐานของทางการเองชี้ว่า พวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งหมดเป็นการตอบโต้กับการรายงานข้อมูลและการรณรงค์ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“นอกจากการรณรงค์ต่อต้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ยังทำให้เกิดปัญหาท้าทายใหม่ ๆ ที่ซับซ้อนสำหรับพวกเราที่รณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ในหลายประเทศทั่วโลกนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้วิพากษ์วิจารณ์ที่กล้าพูดต่อต้านการจัดการวิกฤตด้านสุขภาพของรัฐต่างตกเป็นเป้าหมาย ส่งผลให้ในหลายส่วนของโลก ทางการได้ใช้มาตรการที่ประกาศใช้เพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 และกฎหมายอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว เพื่อปิดปากผู้ที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน เราต้องใช้แนวทางใหม่เพื่อแก้ปัญหาแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นนี้ เราต้องร่วมมือกันทำงานที่ยิ่งใหญ่ เพื่อกดดันให้ผู้นำทั่วโลกต้องรับผิดชอบ กล่าวโดยรวมคือ พวกเราต้องรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนและให้ทรัพยากรที่จำเป็นต่อการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาที่ท้าทายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้” จูลี เวอร์แฮร์กล่าว
หากต้องการบริจาคหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรณรงค์ครั้งนี้ โปรดคลิกที่นี่
แอมเนสตี้อินเดีย:
ในวันที่ 26 มกราคม 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวการรณรงค์ออนไลน์ระดับโลก เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกการระงับบัญชีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลอินเดีย เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อไปได้ โปรดดูจดหมายรณรงค์ ที่นี่