บังกลาเทศผลักดันผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับ ในขณะที่พวกเขาถูกกระทำความด้วยรุนแรงในเมียนมา

26 พฤศจิกายน 2559

Amnesty International

 

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในขณะนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่ามีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญาถูกกักตัวและถูกบังคับส่งกลับไปยังพื้นที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง ทั้งยังขาดแคลนน้ำ อาหาร และยารักษาโรค โดยรัฐบาลบังกลาเทศและเมียนมาขัดขวางไม่ให้ประชาชนหลายพันคนเข้าถึงความช่วยเหลือ และยังพบข้อมูลที่น่าสะพรึงกลัวของการโจมตีหมู่บ้านต่าง ๆ โดยทหารเมียนมาอีกด้วย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ท่ามกลางความรุนแรงจากการปราบปรามชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยโดยทหารเมียนมา ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยหลายพันคนต้องหลบหนีข้ามฝั่งไปยังบังกลาเทศ และต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน แต่พวกเขากำลังถูกผลักดันกลับไปยังพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง

แชมพา พาเทล (Champa Patel) ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า ทางการบังกลาเทศได้ปราบปรามการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญาจากเมียนมา ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกองกำลังปกป้องชายแดนของบังกลาเทศได้กักตัวและบังคับส่งกลับพวกเขาหลายร้อยคน การปฏิบัติเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ (principle of non-refoulement) ซึ่งเป็นข้อห้ามเด็ดขาดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ให้มีการบังคับส่งกลับบุคคลไปยังประเทศหรือสถานที่ ซึ่งมีความเสี่ยงว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับถูกการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

“ชาวโรฮิงญาถูกบีบจากมาตรการที่ทารุณทั้งจากฝั่งทางการเมียนมาและบังกลาเทศ หลังจากหลบหนีการปราบปรามในเมียนมา ในขณะนี้พวกเขากำลังถูกผลักดันกลับโดยทางการบังกลาเทศ เหมือนหนีเสือปะจระเข้ และยังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนทั้งด้านอาหาร น้ำ และการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข” 

ชาวโรฮิงญาหลบหนีจากนโยบายการปราบปรามในรัฐยะไข่ของเมียนมา โดยกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลได้ปฏิบัติการโจมตีอย่างไม่เลือกหน้าเพื่อตอบโต้หลังเกิดเหตุการณ์โจมตีฐานที่มั่นบริเวณพรมแดนสามแห่งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมและส่งผลให้ตำรวจชายแดนเสียชีวิต 9 นาย

“การพุ่งเป้าโจมตีบุคคลซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีป้อมตำรวจเลย การโจมตีทั้งครอบครัวและทั้งหมู่บ้าน ส่งผลให้ปฏิบัติการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อมุ่งโจมตีกลุ่มชาวโรฮิงญาโดยรวม ทั้งนี้ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับชาติพันธุ์และศาสนาของพวกเขา”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวโรฮิงญาระหว่างอยู่ในบังกลาเทศ และสัมภาษณ์พวกเขาบางส่วนที่ยังคงอยู่ในเมียนมา ได้รับฟังเรื่องราวการปฏิบัติของกองกำลังความมั่นคงของเมียนมาที่นำโดยทหาร ซึ่งยิงทำร้ายชาวบ้านจากเฮลิคอปเตอร์ มีการจุดไฟเผาบ้านหลายร้อยหลัง ทั้งยังจับกุมบุคคลโดยพลการ รวมทั้งข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

ชายอายุ 38 ปี เล่าให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟัง หลังจากเดินทางมาถึงบังกลาเทศเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนว่า “น้องสาวและน้องชายของผมต่างถูกทหารลักพาตัวไป ผมเห็นกับตาว่าทหารเผาหมู่บ้านของเรา และทหารยังได้ข่มขืนผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอีกด้วย”

หญิงอายุ 44 ปี เล่าว่า เธอเห็นทหารจับกุมและใส่กุญแจมือชายหนุ่มหลายคนในหมู่บ้าน แล้วนำพวกเขาไปยิงทิ้ง และผลักให้ลงไปในหลุมศพขนาดใหญ่ เธอยังเล่าต่อว่าทหารยังใช้จรวดมือถือ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับประจักษ์พยานคนอื่น ๆ ที่เห็นว่ามีการใช้อาวุธและปฏิบัติการณ์ดังกล่าว

รัฐบาลเมียนมาออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหาร แต่ในเวลาเดียวกันก็ปิดกั้นไม่ให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวอิสระและหน่วยงานตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปในพื้นที่ได้เลย

“ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ต้องได้รับการสอบสวนโดยทันที อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ ถ้ารัฐบาลไม่ต้องการปิดบังความจริงใดๆ ควรปล่อยให้นักสังเกตการณ์อิสระ หน่วยงานตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ทำงานด้านมนุษยธรรมและผู้สื่อข่าวเข้าไปในพื้นที่ได้ สำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่แท้จริงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา การเลือกปฏิบัติที่มีมาอย่างยาวนานและทำการอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮิงญาต้องยุติลง” แชมพา พาเทลกล่าว