60 ปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ผ่านสายตาเหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในไทย

31 พฤษภาคม 2564

Amnesty International Thailand

วันที่ 28 พฤษภาคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานเสวนา TOAST TO FREEDOM: ร่วมเฉลิมฉลอง 60 ปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อยืนหยัดเจตนารมณ์อันแน่วแน่ว่าคนไม่ควรถูกจำคุกเพราะความเชื่อที่แตกต่าง และได้ขยับขยายเป็นขบวนการสิทธิมนุษยชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและทรงพลังที่สุดจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ภายในงานมีผู้เข้าร่วมเสวนาคือ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้สูญหายในประเทศกัมพูชา, ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมทางการเมือง แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, สมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย ดำเนินรายการโดย พชร สูงเด่น

 

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลก่อกำเนิดขึ้นในปี 1961 ภายหลังจากทนายความชาวอังกฤษ ปีเตอร์ เบเนสัน เขียนบทความเรียกร้องความยุติธรรมให้นักศึกษาชาวโปรตุเกสสองรายที่ชูแก้วฉลองเสรีภาพในยุคเผด็จการจนถูกตัดสินจำคุกเจ็ดปีลงหนังสือพิมพ์ The Observer ในชื่อ “นักโทษที่ถูกลืม” (The Forgotten Prisoners) และเชิญชวนให้ผู้อ่านเขียนจดหมายให้กำลังใจนักโทษทางความคิดซึ่งได้รับกระแสตอบรับอย่างมหาศาล จนเป็นจุดเริ่มต้นของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรที่รณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพประจำปี 2520 จนปัจจุบันนี้ก็เป็นขวบปีที่ 60 ของการยืนหยัดเรื่องสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้

 

จุดกำเนิด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยในสายตาของคน 6 ตุลา

สมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตนเป็นคนรุ่น 14 ตุลา 2516 และได้เข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษาฝ่ายซ้ายเรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกควบคุมตัวร่วมกันกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ อีกหลายพันคน และถูกตั้งข้อหาว่ามีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ กบฏ ก่อความวุ่นวายต่างๆ จนในที่สุด ก็ถูกกักขังควบคุมตัวอยู่สิบเดือนก่อนจะได้รับการปล่อยตัวออกมาพร้อมเพื่อนๆ อีกสิบคน หนึ่งในนั้นคือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการที่ถูกออกหมายจับในคดี 112 และ ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา

 

"ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ มีองค์กรเพื่อสังคมให้ความช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากการสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ และได้ทราบมาว่ามีองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรรณรงค์ให้ปล่อยพวกเรา หนึ่งในนั้นคือองค์กรแอมเนสตี้ ผมทำกิจกรรมการเมืองมาหลายปีก่อนถูกจับ แต่ไม่เคยให้ความสนใจกับองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้เลย และเพิ่งมาสนใจหลังถูกจับในคดี 6 ตุลา" สมชายกล่าว และว่า หลังจากนั้นเมื่อตนเริ่มทำงาน ก็ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรแอมเนสตี้อีกหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่แอมเนสตี้ส่งนักวิจัยมาตรวจสอบการซ้อมทรมานผู้ลี้ภัยในค่ายผู้อพยพกัมพูชาที่สระแก้วตนก็ได้อำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือ จนพบว่ามีการทรมานผู้ลี้ภัยรายนี้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าขโมยทรัพย์สินของคนอื่น ผู้ที่ทรมานคือกลุ่มนายทหาร ใช้เตารีดนาบหลังให้สารภาพ แอมเนสตี้จึงเปิดเผยรายงานเรื่องนี้ต่อสาธารณะ ตนซึ่งให้ความร่วมมือกับแอมเนสตี้ก็ถูกข่มขู่นานนับเดือน ทั้งยังพยายามดำเนินการจับกุมด้วย จึงต้องลี้ภัยไปฮ่องกงและได้ทุนฝึกงาน ซึ่งระหว่างนั้นองค์กรแอมเนสตี้ก็ให้ความช่วยเหลืออย่างมาก จนอีกสองปีให้หลังตนก็กลับมายังประเทศไทยและมีความพยายามก่อตั้งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยขึ้นมา แล้วจึงได้เป็นประธานของแอมเนสตี้

 

"ตลอดเวลา 20-30 ปีของการทำกิจกรรมมา แอมเนสตี้ได้ช่วยเหลือผมอีกหลายครั้ง ที่สำคัญคือได้เรียนรู้ ได้ทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและการทำกิจกรรมกับแอมเนสตี้ และค่อยๆ เปลี่ยนความคิดของผมจากนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายที่ค่อนข้างจะสุดโต่ง ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ทั้งเรื่องหลักการและการทำกิจกรรม แอมเนสตี้ได้สอนว่าการรวมตัวกันในการทำกิจกรรมของคนตัวเล็กตัวน้อยได้สร้างพลังอย่างมหาศาลในการจะปกป้องสิทธิมนุษยชน อย่างเช่นเหตุการณ์เรียกร้องการปล่อยนักโทษทางความคิดเมื่อ 6 ตุลา 19 ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทั่วโลกส่งจดหมายมายังรัฐบาลไทยในเวลานั้น จนมีผลทำให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมในเวลาต่อมา กล่าวกันว่ามีจดหมายเข็นใส่รถมายังที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีราวๆ แสนฉบับ ผมคิดว่าคนที่เขียนจดหมายและลงชื่อจริงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยนักโทษทางความคิดได้นั้น ต้องเป็นผู้มีจิตใจแน่วแน่ในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ทำให้รู้ได้ว่าเสียงของคนตัวเล็กๆ เหล่านี้มีพลังอย่างมาก และเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังของคนที่ไม่ได้มีอำนาจในทางการเมืองเหมือนกับนักการเมือง หรือไม่ได้มีปืนเหมือนทหาร หรือไม่ได้มีเงินเป็นอำนาจเหมือนนายทุน แต่มีจิตใจและความแน่วแน่ในการรวมพลังกันของคนในขบวน" สมชายกล่าว และว่า จุดแข็งของแอมเนสตี้คือมีสมาชิกตัวโลกและไม่ฝักใฝ่กลุ่มการเมืองใดโดยเฉพาะ ไม่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลใดเลย เว้นแต่กิจกรรมบางด้านที่แอมเนสตี้ในบางประเทศรับทุนจากรัฐบาลในด้านการศึกษา นับเป็นการรวมพลังกันของคนที่มีจิตใจจะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ 

 

แอมเนสตี้ และการต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับนักศึกษา

รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า กิจกรรมทางการเมืองแรกๆ ที่เข้าไปทำคือรณรงค์ปล่อยนักโทษทางการเมือง ในเวลานั้นคือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำจากมาตรา 112 ตนได้ไปรณรงค์เพื่อให้คุณสมยศได้ประกันตัว เป็นครั้งแรกๆ ที่ได้รู้จักประเด็นสิทธิมนุษยชนและได้ตระหนักว่าสิทธิมนุษยชนนั้นสำคัญ นับจากนั้นก็ได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะภายหลังการรัฐประหารปี 2557 ซึ่งทำให้เกิดการควบคุมตัวคนจำนวนมาก มีการสร้างความกลัวในสังคม ตนยังเป็นนักศึกษาอยู่ก็จัดกิจกรรมตามหานกพิราบ เพื่อยืนยันว่าสิทธิประชาชนในการเลือกคนที่จะเข้าไปเป็นตัวแทนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการรัฐประหารจะนำมาซึ่งสังคมที่รุนแรงและปราศจากการไว้เนื้อเชื่อใจ โดยหลังจตากนั้นก็พบว่า นักการเมือง นักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นการเมืองถูกควบคุมตัวและจับตา ทำให้นักศึกษาอย่างพวกตนกลายเป็นแถวหน้าในการเรียกร้องวประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และทำให้ถูกควบคุมตัวในท้ายที่สุด

ภาพจาก Facebook Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม

 

"สุดท้ายก็โดนดำเนินคดีหลังทำกิจกรรมครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร จากกิจกรรมมองนาฬิกา 15 นาที แต่กลับโดนทำร้ายและโดนควบคุมตัว จนเกิดความรุนแรงต่อเนื้อตัวร่างกาย และถูกพาไปยังสถานีตำรวจปทุมวัน โดนคดีมาตรา 116 ผมถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตอย่างที่สุด หากไม่มีเหตุการณ์วันนั้นตั้งใจจะไปเป็นทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่ปรากฏว่าเมื่อโดนดำเนินคดี ก็เปลี่ยนสถานะเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเองและเพื่อนที่โดนทำร้ายร่างกาย จนทำกิจกรรมมาเรื่อยๆ" รังสิมันต์กล่าว และว่า หนึ่งในกิจกรรมที่ได้ทำหลังจากนั้นคือเหตุการณ์ 14 นักศึกษา ตนถูกกักขังในเรือนจำพร้อมเพื่อนๆ ที่เรียกร้องสิทธิต่างๆ ด้วยกัน ถูกสั่งให้ถอดเสื้อผ้าอาบน้ำและโดนถ่ายวิดีโอด้วย เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้กลับมาทบทวนตัวเอง ว่าเรากล้าหาญมากขึ้น ทำให้ออกมาแล้วรณรงค์ต่อไป เช่น รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เกิดขึ้นคือถูกดำเนินคดีและโดนขังในเรือนจำอีก

 

"ภายใต้รัฐประหาร ในมุมหนึ่งจะเห็นปรากฏการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ก็ทำให้ได้เรียนรู้ความเจ็บปวดของตัวเอง ทำให้เข้าใจความเจ็บปวดที่คนอื่นได้รับ ทำให้รู้ว่าเราอยู่เฉยไม่ได้ ต้องไม่เป็นผู้ถูกกระทำอย่างเดียว แต่จะเปลี่ยนมาเป็นพลังในการทำงานเพื่อสังคม ต้องขอบคุณแอมเนสตี้และองค์กรสิทธิต่างๆ คิดว่าสิ่งที่แอมเนสตี้ทำมีความหมายต่อคนที่ถูกดำเนินคดี ในแง่การกดดันต่อรัฐบาล ทำให้ต้องปล่อยนักโทษทางการเมือง และทำให้เรามีความหวังว่าไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ว่ามีคนถือเทียนร่วมกันกับเราส่องสว่างให้โลกไม่มืดมิด" รังสิมันต์กล่าว และว่า สมัยที่ยังถูกกักขังในเรือนจำ เคยได้รับโปสการ์ดจากผู้ที่เป็นสมาชิกของแอมเนสตี้ เมื่อได้อ่านแล้วก็ชื่นใจ คิดว่าบทบาทสำคัญของแอมเนสตี้คือทำให้เสียงของคนตัวเล็กๆ ไม่หายไป และสร้างความรับรู้ให้คนทั่วโลก ตนคิดว่าการจะสร้างโลกที่ดีได้นั้น  ไม่ใช่แค่เรากำลังทำให้ประเทศใประเทศหนึ่งเคารพสิทธิมนุษยชน เพราะตราบใดที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอยู่ เราก็ไม่มีทางสร้างโลกที่ดีได้ เราจึงต้องเป็นพลเมืองโลก ช่วยเหลือคนอื่น ประเทศอื่นได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ถูกรับรู้ร่วมกัน เข้าใจร่วมกัน เพื่อให้พื้นที่การสิทธิมนุษยชนเหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมและมีเสรีภาพในการแสดงออก หากทำสำเร็จเราก็กำลังสร้างโลกที่มีความหมายและเป็นของทุกคนจริงๆ

 

แอมเนสตี้ องค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยเผยแพร่เรื่องสิทธิมนุษยชน

ชลธิชา แจ้งเร็ว ระบุว่า คสช. เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ตนได้เข้ามาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยหลังจากมีการทำรัฐประหาร ตนกับเพื่อนก็คุยกันว่าไม่ได้แล้ว ต้องปกป้องสิทธิในการเลือกตั้งของเรา เพราะเรารู้สึกว่า ทุกคนควรมีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตทิศทางของประเทศผ่านหนึ่งคะแนนเสียงเท่ากัน ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นให้หันมาสนใจงานด้านสิทธิมนุษยชน แต่ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวหลังรัฐประหารปี 2557 นั้นไม่ง่ายเลย เพราะจัดการชุมนุม ประท้วงท่ามกลางเสียงยินดีของคนไทยจำนวนมากที่สนับสนุนรัฐประหาร ตนถูกคุกคามค่อนข้างเยอะมาก ไม่ใช่แค่จากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่รวมถึงการคุกคามจากคนที่เห็นต่างจากเรา

 

"บรรยากาศบ้านเมืองปี 2557 มีปรากฏการณ์ที่ทหารนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร หรือจับพลเรือน ควบคุมตัวไว้โดยมิชอบ เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นค่อนข้างเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าสังคมไม่ปลอดภัยเลย จึงตัดสินใจว่าถ้าอย่างนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการเรียกร้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้ได้รับคดีความต่างๆ ตามมาด้วย ช่วงนั้นก็ได้เจอกับโรมและเพื่อนนักกิจกรรมอีกหลายคน งานหลักๆ ที่ได้ทำคือรณรงค์โหวตโนร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 และแคมเปญเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในครั้งนั้นถูกดำเนินคดีอีก ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามจะมีคดีความตามมาเสมอ" ชลธิชากล่าว และว่า หลังรัฐประหารจนก่อนเลือกตั้ง ตนเจอการคุกคามหลายรูปแบบ เช่น เหตุการณ์ครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารเพราะถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะถูกใช้กำลังและถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบ ถูกฝากขังโดยศาลทหาร ทำให้ตนมีปัญหาเรื่องสภาพร่างกายซีกซ้ายจนถึงปัจจุบันจากการโดนกระแสไฟฟ้าช็อตและถูกกระชากโดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ทั้งยังถูกควบคุมตัวและพาไปศาลทหารตอนเที่ยงคืน ไม่เคยคิดว่าถึงจุดที่กระบวนการยุติธรรมบ้านเราพังทลายจนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง 

 

"และหลังจากนั้น ประสบการณ์ในเรือนจำหญิงกรุงเทพ ต้องยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนในกระบวนการยุติธรรม ตนถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้าต่อหน้าผู้คุม แล้วเข้ามาลูบคลำร่างกายโดยไม่ถามความยินยอมสมัครใจ แล้วบังคับให้ไปขึ้นขาหยั่งเป็นครั้งแรก เวลานั้นตนอายุราวๆ 20-21 ปี และถูกเจ้าหน้าที่สอดนิ้วเข้ามาในอวัยวะเพศ ตนตกใจจนร้องไห้ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ด่ากลับว่าทำไมสำออย" ชลธิชาเล่า ทั้งยังอธิบายว่าเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นถึงปัญหากระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ จากการตั้งข้อกล่าวหาโดยมิชอบคือมาตรา 116 จากตำรวจ จนถึงศาลทหารที่เปิดทำการตอนเที่ยงคืน และข้างในเรือนจำที่มีการคุกคามทางเพศ และสุขอนามัยด้านในเรือนจำ ดังนั้น จึงตัดสินใจจะเดือนหน้าเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนต่อ ยอมรับว่าตอนนั้นค่อนข้างใหม่ในวงการนี้ แต่โชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งแอมเนสตี้ ที่ทำแคมเปญให้ตนมาตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ มีจดหมายส่งมาให้กำลังใจจากทั่วโลก จดหมายบางฉบับเข้าใจว่ามาจากฮ่องกง ไต้หวัน พม่าหรือยุโรป รวมทั้งแอมเนสตี้เคยจัดแคมเปญปล่อยตัวกลุ่มคนอยากเลือกตั้งด้วย และแคมเปญ brave ช่วยทำให้ประเทศต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับปัญหาการละเมิดสิทธิโดยรัฐบาลทหารของบ้านเรา เป็นแคมเปญที่ดีมาก และได้กำลังใจหลายๆ อย่าง เห็นมุมมองการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในอีกหลายมิติ ในวาระครบรอบ 60 ปีก็อยากขอบคุณที่ช่วยเหลือตนในฐานะปัจเจก และบทบาทในฐานะการจับตาการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

 

เรื่องของสิทธิมนุษยชนและองค์กรที่ไม่ทำให้รู้สึกว่าเราต่อสู้อย่างเดียวดาย

ด้าน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เล่าว่า ช่วงก่อนรัฐประหารตนก็ได้เคลื่อนไหวเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในสิทธิของชุมชน ได้เห็นการละเมิดสิทธิเชิงนโยบายและเชิงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จนเกิดการรัฐประหารปี 2557 ทำให้ปรากฏการณ์ที่เคยเจอก่อนหน้านี้ชัดขึ้น มีการละเมิดสิทธิต่างๆ ตนจึงออกมาเรียกร้อง คัดค้านและร่วมต่อสู้กับเพื่อนๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เป็นนักศึกษาอยู่นั้น การที่สังคมส่วนใหญ่จะมาสนใจเรื่องคนตัวเล็กตัวน้อย เรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ถูกให้ความสนใจ แอมเนสตี้เป็นองค์กรหนึ่งที่ยืนยันหลักการนี้มาโดยตลอด ที่ผ่านมาเมื่อมีพื้นที่น้อยจะรู้สึกไร้ที่พึ่ง แต่แอมเนสตี้ก็ยืนยันเรื่องนี้มาตลอด ความเชื่อของตัวเองจึงไม่ได้ลอยอยู่คนเดียว แต่รู้สึกว่ามีองค์กรที่ใหญ่เห็นด้วยกัน อยู่ในหลักการนี้ด้วยกัน

 

"ตอนอยู่ในเรือนจำก็ได้รับจดหมายด้วย รู้สึกว่าการเขียนจดหมายเป็นการต่อสู้ของคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่รู้จักกัน แต่รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ถูกต้องแต่ยึดในหลักการสิทธิมนุษยชนเดียวกัน การจะเขียนจดหมายมาหาคนคนหนึ่งที่ไม่รู้จักกันนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ก็ช่วยยืนยันว่ามีคนเห็นด้วยในหลักการนี้ ทำให้รู้สึกโลกสวยงาม ที่ผ่านมามีแต่คนด่าผมมาตลอด แต่กลับมีคนอีกซีกโลกหนึ่งที่ให้กำลังใจและเชื่อมั่นเหมือนกันกับเรา" จตุภัทร์ว่า ก่อนเสริมว่า เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มสนใจการเมือง เอาตัวเองไปรับรู้ความรู้สึกของคนต่างๆ ทำให้บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น ทุกคนไม่ได้เงียบเฉยอีกต่อไปแล้ว ทุกคนเข้าใจว่าเรากำลังสู้กับคนที่มีอำนาจ เราจึงต้องรวมตัวกัน สามัคคีร่วมต่อสู้เพื่อเป็นกระบอกเสียง เป็นพลัง และที่ผ่านมาก็รู้สึกว่าแอมเนสตี้ยืนหยัดในประเด็นสิทธิมนุษยชนและการต่อสู้ของประชาชนมาก ตอนที่ติดคุกเป็นระยะเวลาสองปีก็มีจดหมายมาส่งให้ทุกเดือน ทำให้วันที่ธรรมดาในคุกเป็นวันที่มีสีสันขึ้น มีนักเรียนวาดรูปส่งมา แม้จะพูดคนละภาษา แม้สถานการณ์ทางการเมืองที่ได้เจอจะเป็นคนละแบบ แต่จุดเชื่อมโยงของทุกคนคือความรักในมนุษย์และความเห็นอกเห็นใจกัน 

 

"อยากขอบคุณแอมเนสตี้ที่ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนมาโดยตลอด แอมเนสตี้เองก็เป็นช่องทางหนึ่งให้คนได้ร่วมต่อสู้ ทั้งนี้ คนเราสามารถเลือกช่องทางการต่อสู้ของตัวเองได้ การที่องค์กรแต่ละกลุ่มสร้างช่องทางก็นับเป็นสีสัน เปลี่ยนแปลงจิตสำนึกภายในและส่งต่อถึงกันในการรับรู้เล็กๆ ได้ เพราะหลังรัฐประหาร องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศมีบทบาทน้อยลงเรื่อยๆ แต่แอมเนสตี้ก็ยังยืนยันจุดยืนและเป็นพนักพิงให้คนที่เรียกร้องด้านนี้" จตุภัทร์ปิดท้าย

 

การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นมนุษย์ให้ผู้ถูกบังคับสูญหาย

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า หลังจาก วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ น้องชายของตนต้องออกนอกประเทศหลังรัฐประหาร ก็มีทหารมาที่บ้านทุกสัปดาห์เพื่อถามหาน้องชายจากคุณแม่ ตนเพิ่งมารู้ว่านี่คือการคุกคามและละเมิดสิทธิ ซึ่งการผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ต้องขอขอบคุณองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรสิทธิมนุษยชนและแอมเนสตี้ที่เข้ามาช่วย หากไม่มีก็คงไม่รู้แล้วว่าตอนนี้จะทำอะไรอยู่

 

"หลังน้องชายหายไปนัลเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสที่สุดในชีวิต สิ่งที่ไม่เคยทำก็ต้องลุกมาทำ เพราะรัฐไทยไม่ช่วยเหลืออะไรในเรื่องคดีหรือการตามหา แต่เป็นเรากับกลุ่มศูนย์ทนายที่เดินทางไปยังกัมพูชา เพราะการเรียกร้องหน่วยงานต่างๆ ของรัฐในไทยนั้นไม่เคยได้คำตอบ อยากถามว่าหน่วยงานรัฐทำอะไรอยู่ เพราะนี่คือมีคนถูกบังคับให้สูญหายแต่กลับออกมาปฏิเสธทุกช่องทางว่าไม่รู้ ไม่เกี่ยวข้อง ตอนนั้นเรารู้สึกว่าหากไม่ลุกมาสู้ ใครจะมาสู้แทนเรา ความโชคดีคือเมื่อน้องชายหายไปก็มีน้องๆ ทั้งเกด-ชลธิชา, เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์ -แกนนำกลุ่มราษฎร), ทนายอานนท์ นำภา (นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย) ออกมายืนเคียงข้างและเรียกร้องความเป็นคนให้วันเฉลิม รู้สึกว่าน้องๆ เหล่านี้เป็นแรงสนับสนุนให้เราลุกขึ้นยืนได้ จึงรู้สึกโชคดีที่มีแนวร่วม ออกมาเรียกร้องด้วยกัน" สิตานันกล่าว และว่า ทั้งตนยังพบว่าแอมเนสตี้ทุกประเทศร่วมส่งแรงใจให้ด้วย เพราะที่ผ่านมาตนก็ได้รับข้อความที่หลายๆ คนเขียนถึงผู้สูญหาย รู้สึกว่าเป็นหนึ่งในกำลังใจให้ยืนหยัดมาได้ทุกวันนี้ 

 

"ในเวลานี้ เขายิ่งเหยียบยิ่งกด ทำให้เราต้องยิ่งลุกขึ้นสู้ เช่นนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องเพื่ออนาคตของตัวเอง ส่วนตัวมองว่าเราไม่มีอนาคตเพราะอายุมากแล้ว แต่เด็กๆ ที่โดนดำเนินคดีเขายังอายุน้อยอยู่มาก เขาออกมาเรียกร้องอนาคตแต่กลับถูกรัฐไทยทำเช่นนี้ รัฐไทยไม่เห็นคุณค่าเลย กลับไปละเมิดสิทธิ คุกคามเขาทุกทาง เราจึงยืนยันจะยืนหยัดต่อสู้ต่อไป เพราะในวันที่ตนท้อแท้ก็มีน้องๆ ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้วันเฉลิม และต้องขอบคุณแอมเนสตี้ที่ช่วยจัดงานต่างๆ อย่างตั้งแต่วันที่วันเฉลิมหายไปครบรอบหนึ่งเดือน แอมเนสตี้ก็จัดงานรำลึกให้ เมื่อเราต้องเดินทางไปกัมพูชา แอมเนสตี้ก็จัดกิจกรรมและอยู่เคียงข้างเสมอ และอีกไม่กี่วันก็จะครบรอบหนึ่งปีที่วันเฉลิมหายตัวไป แอมเนสตี้ก็ยังทวงถามความยุติธรรมให้วันเฉลิม" สิตานันกล่าวปิดท้าย

 

60 ปีแอมเนสตี้และบทบาทการเคลื่อนไหวต่อไป 

ในช่วงท้ายของงานเสวนา มีประเด็นบทบาทการเคลื่อนไหวตลอด 60 ปีของแอมเนสตี้ และการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยสมชายกล่าวว่า ตนประทับใจที่มีคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมมาก หลังจากทำกิจกรรมมาหลายสิบปี อาจจะกล่าวได้ว่าตายไปอย่างนอนตาหลับ ที่มีคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม อยากฝากว่าท่ามกลางการเคลื่อนไหวและการต่อสู้ อยากให้ยึดหลักสิทธิมนุษยชนไว้ แอมเนสตี้มีบทบาทอย่างมากในการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และสร้างวัฒนธรรมด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นมาในหมู่คนหนุ่มสาว การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ในวาระนี้ขอให้แอมเนสตี้เป็นแกนนำ เป็นองค์กรระดับนำในการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนต่อไป

 

รังสิมันต์เสริมว่า หลายคนที่มายืนอยู่ในจุดนี้ได้เพราะถูกการละเมิดสิทธิมนุษยชนสร้างขึ้นมา หากไม่มีการรัฐประหารก็ไม่มีรังสิมันต์ โรม ถ้าเราไม่ถูกกระทำก็อาจไม่ได้มาอยู่ในบทบาทแบบนี้ อยากตั้งคำถามว่าทำไมต้องรอให้ถูกกระทำก่อน ทำไมไม่เริ่มโดยการเข้าไปสร้างความเข้าใจให้หลักการสิทธิมนุษยชนถูกยอมรับ เป็นหลักการที่อยู่ในมโนธรรมสำนึกของทุกคน เริ่มได้จากการส่งข้อมูล ทำได้หลายๆ อย่างหรือเข้าร่วมกับคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเริ่มได้จากการรู้สึกโกรธทุกครั้งที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเกิดจากใครก็ตาม แต่ละคนมีเครือข่าย มีพื้นที่ของตัวเอง หากทุกคนช่วยกัน เชื่อว่าแสงสว่างจะขจัดความมืดมิดออกไปได้ 

 

ขณะที่ชลธิชากล่าวว่า การทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เป็นความรับผิดชอบของเราทุกคนในฐานะพลเมืองโลก ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด ก็มีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งสิ้น ขอแชร์ขั้นตอนง่ายๆ ในการผลักดันสิทธิมนุษยชน นั่นคือช่วยกันเรียนรู้ แลกเปลี่ยนในเชิงหลักการ ถ้าเป็นไปได้ก็แลกเปลี่ยนกับรอบข้าง คนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน สามารถใช่โซเชียลมีเดียในการโปรโมตด้านนี้ ตลอดจนบทบาทของรัฐก็สำคัญอย่างมากในการปกป้อง คุ้มครองด้านสิทธิ แต่วันนี้เห็นแล้วว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน ทุกคนจึงต้องร่วมกันกดดัน จับตามองเพื่อให้รัฐบาลให้ความสำคัญต่อด้านนี้มากขึ้น และอีกขั้นตอนหนึ่งคือ เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น การชุมนุมหรือกิจกรรมของแอมเนสตี้ หรืออาจจะลุกขึ้นมาขัลเคลื่อนโดยตัวเองก็ได้ ทุกคนสามารถเป็นนักปกป้องสิทธิได้ และเมื่อมีการคุกคาม ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นต่อตัวเองหรือคนรอบข้างหรือใครก็ตาม ต้องลุกมาช่วยกันให้ความช่วยเหลืแอซึ่งกันและกัน เพราะสุดท้ายสังคมนี้จะดีขึ้นหรือไม่ก็อยู่ที่เราทุกคน ไม่อยากให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องทนเผชิญกับปัญหาการคุกคามเพียงลำพัง 

 

จตุภัทร์ระบว่า อยากให้ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างที่แอมเนสตี้ทำมาเสมอ คือมีการพยายามนำประเด็นต่างๆ มาถกเถียงและต่อยอดกัน อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนด้วยกัน การยืนยันเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ควรต้องสร้างเสริมในรูปแบบการเรียนรู้ต่อไป ไม่ว่าจะจัดกิจกรรม เสวนา แลกเปลี่ยนอย่างที่เคยทำมาตลอด เพราะสังคมไทยยังต้องการการแลกเปลี่ยนถกเถียง ไม่ควรมีใครโดนจับเพราะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือถูกบังคับให้สูญหาย เรื่องสิทธิมนุษยชนจึงต้อวเป็นเรื่องที่ช่วยกันทำ ต้องร่วมไม้ร่วมมือ สร้างการเรียนรู้ และสร้างแคมเปญร่วมกันต่อไป

 

ปิดท้ายที่สิตานัน ซึ่งกล่าวว่า ตนไม่ใช่ NGO แต่เป็นผู้เสียหาย อยากให้ทุกคนคำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ อยากให้เข้าถึงคำว่าเรามีสิทธิเท่าเทียม เสรีภาพ เสมอภาค อยากให้ทุกคนร่วมผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย เพราะเราเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ต้องต่อสู้กับรัฐที่มีอำนาจทุกทาง อยากให้เห็นความสำคัญของ พ.ร.บ. นี้ด้วย ว่าการอุ้มหาย การทรมานต้องไม่มีอายุความ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มองว่าประเทศไทยกำลังก้าวไปในทิศทางที่ดีแล้ว ทุกคนเริ่มเข้าใจสิทธิและบทบาทของตัวเอง ในวาระ 60 ปีแอมเนสตี้นี้เราจะต่อสู้และยืนหยัดไปด้วยกัน ขอบคุณทุกคนที่ยังต่อสู้ไปด้วยกัน ตนจะต่อสู้ต่อไปจนกว่าจะได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยแท้จริง

 

ช่วงท้ายงาน มีงานมินิคอนเสิร์ตออนไลน์จากวงสะเวินใจ โดย หมอลำแบงค์-ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ ตรี กระจ่าง จากวง Bangkok Busker รวมทั้งมีการ TOAST TO FREEDOM ดื่มฉลอง 60 ปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โดย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยด้วย