นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง “บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ” ที่ยังอยู่ในความทรงจำของทุกคน

17 เมษายน 2564

Amnesty International Thailand

พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยบน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี บิลลี่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมาเรียกร้องพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้ชาวบ้านบางกลอยบน  บนผืนป่าแก่งกระจานหรือที่ชาวบ้านรู้จักกันว่า “ใจแผ่นดิน”  

ชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวปกาเกอะญอที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มาก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปี 2524 ถิ่นฐานของพวกเขาตั้งอยู่ใจกลางป่าต้นน้ำในเขตอุทยานฯ ดำรงวิถีชีวิตแบบชาวกะเหรี่ยง ทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวพื้นเมืองและพืชผัก  

หลังจากการประกาศให้บางกลอยบนเป็นเขตอุทยานแห่งชาติในปี 2524 พวกเขาถูกบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐานโดยรัฐ ซึ่งชาวบ้านได้ใช้เอกสารทางราชการมายืนยันการอยู่ของพวกเขาก่อนการประกาศเป็นเขตป่าอุทยานฯแผนที่ของกรมแผนที่ทหารบก ที่สำรวจในปี พ.ศ. 2455 มีการระบุ "บ้านใจแผ่นดิน" ไว้ในแผนที่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็มีอายุเกิน 100 ปี แล้ว  

ภาพแผนที่ของกรมแผนที่ทหารบก ที่สำรวจในปี พ.ศ. 2455 

 

ภาพแผนที่หมู่บ้านบางกลอย 

 

หากดูตามแผนที่ในรูปภาพเราจะเห็นว่า หมู่บ้านบางกลอย’ โดยเริ่มจากบางกลอยล่างเป็นพื้นที่ที่รัฐจัดสรรไว้ให้ในปี 2539 ซึ่งดูตามแผนที่จะใช้ชื่อเรียกใหม่ว่า ‘บางกลอยล่าง’ ถ้าเดินตามฝีเท้าของชาวกะเหรี่ยงไปอีก 1 วัน จะไปถึงจุดที่เรียกว่า ‘บางกลอยบน’และหากเดินด้วยฝีเท้าของชาวกะเหรี่ยงจาก ‘บางกลอยล่าง’ ผ่าน ‘บางกลอยบน’ ไปถึง ‘ใจแผ่นดิน’ ซึ่งเป็นบ้านของ ‘ปู่คออี้’ จะใช้เวลาเดินทาง 3 วัน  

 

ในปี 2539 เจ้าหน้าที่อุทยานฯให้ชาวกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่บางกลอยบน หรือ "ใจแผ่นดิน" อพยพลงมาจากบ้านที่เขาอาศัยอยู่ตั้งแต่เกิด มาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย แต่ปู่คออี้ละชาวบ้านซึ่งไม่ชินกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไป จึงกลับขึ้นไปอยู่บ้านเกิดของตน ณ บางกลอยบนหรือใจแผ่นดินตามเดิมจนในปี 2554  เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ไล่รื้อถอนและบังคับอพยพชาวบ้านภายใต้โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตามแนวชายแดนไทยพม่า หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า"ปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี" การปฎิบัติการดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้เผาบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านกว่า20ครอบครัวเพื่อบังคับย้ายชาวกะเหรี่ยงออกจากใจแผ่นดินซึ่งสิ่งที่ถูกเผาทำลายไม่ได้มีแต่บ้านและสิ่งปลูกสร้าง เท่านั้น หากแต่ยังมีเสื้อผ้าจากบรรพบุรุษที่ชาวบ้านบอกว่ามีมูลค่านับหมื่นบาท และสิ่งของเครื่องใช้โบราณที่ประเมินค่าไม่ได้อีกด้วย ในขณะนั้น"ปู่คออี้" ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง กลายเป็นที่รู้จัก เพราะเขาเป็นผู้ฟ้องคดีที่กรมอุทยานฯ เผาบ้านและยุ้งฉางชาบ้านที่บางกลอยบนและบิลลี่เป็นคนช่วยพาปู่คออี้ มีมิ ไปฟ้องศาลปกครองกลางในวันที่ 4 พ.ค. 2555 หมายเลขคดีดำที่ ส.58/2555  โดยได้รับความช่วยเหลือจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์สินถูกทำลายบิลลี่ซึ่งเป็นคนที่อ่านภาษาไทยได้จึงเป็นคนกลางในการสื่อสารกับทนายความ และช่วยเหลือทางด้านคดีกับพี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับความเดือดร้อน โดยบิลลี่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความและเข้าไปเก็บข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไล่ที่เพื่อนำไปใช้ในชั้นศาล ซึ่ศาได้นัดไต่สวนในวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 นอกจากนี้บิลลี่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมถวายฎีกาเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย ทั้งนี้ทางสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเชื่อว่านายบิลลี่มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีและกรณีร้องเรียนดังกล่าวอยู่กับตัวบิลลี่ก่อนที่จะหายตัวไป  

แต่เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เวลาประมาณบ่ายโมงบิลลี่ขับรถจักรยานยนต์ลงมาจากบ้านบางกลอยบนในขณะเดินทางลงมายังตัวอำเภอแก่งกระจาน เพื่อเตรียมนำข้อมูลที่ได้จากชาวบ้านไปยื่นให้ศาลปกครอง กรณีที่ชาวบ้านฟ้องหัวหน้าอุทยานฯจากการใช้ปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี เผาบ้านเรือนของชาวบ้านที่บางกลอยบน บิลลี่ได้ถูกจับกุมที่บริเวณด่านตรวจเขามะเร็วโดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯอ้างว่าควบคุมตัวไปฐานพกพาน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง่อมานายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้นยอมรับว่าจับตัวบิลลี่ไปจริง แต่ปล่อยตัวไปที่แยกหนองมะข้าซึ่งได้ปล่อยตัวไปในช่วงเวลาหลังห้าโมงเย็นเล็กน้อยในวันเดียวกันหลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นบิลลี่อีกเลยตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 เป็นต้นมาเมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมามีการพบเจอชิ้นส่วนกระดูกที่บริเวณสะพานแขวนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นกระดูกของบิลลี่จริง และกระบวนการพิสูจน์หลักฐานยังไม่มีความชัดเจนทางอำเภอจึงยังไม่ออกใบมรณะบัตรให้กับทางครอบครัว ซึ่งในขณะนั้นคาดการว่าบิลลี่ถูกฆาตกรรมอำพรางศพด้วยการเผาในถังน้ำมัน 200 ลิตร จึงนำไปสู่การออกหมายจับชัยวัฒน์และพวกรวมสี่คนฐานร่วมกันฆ่า ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่คนในข้อหาร่วมกันฆ่าบิลลี่โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมเพียงพอที่จะเชื่อมโยงว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำความผิด แต่ถูกสั่งฟ้องในข้อหาเจ้าพนักงานที่ปฎิบัติหน้าที่โดยมิอบ(ตามมาตรา157 ประมวลกฎหมายอาญา)  

สุดท้ายนี้ถึงแม้ว่าบิลลี่จะไม่ได้อยู่กับครอบครัวแล้ว แต่เขาก็ยังมีตัวตนอยู่ในความทรงจำของทุกคนที่จดจำได้ดีว่าบิลลี่เป็นคนดีมีจิตใจบริสุทธิ์และชอบช่วยเหลือผู้อื่นมาตลอดในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้ที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านบางกลอย  

จนมาถึงวันที่ 17 เมษายน อีกครั้งเจ็ดปีผ่านไปบิลลี่และครอบครัวก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ทิ้งไว้เพียงคำพูดของบิลลี่ที่ฝากไว้กับ มึนอผู้เป็นภรรยาว่า "ทำความดี ถึงแม้จะต้องแลกมาด้วยชีวิตก็จะทำต่อ 

เนื่องในโอกาสครบรอบเจ็ดปีการหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องอีกครั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดในกระบวนการพิสูจน์หลักฐานอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ โดยต้องให้ญาติหรือครอบครัวสามารถเข้าถึงความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และควรมีผู้ถูกลงโทษจากการถูกบังคับให้สูญหายครั้งนี้ ดังนั้นต้องมีการนำตัวผู้ต้องสงสัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของบิลลี่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ความเป็นธรรมและเยียวยาครอบครัวผู้สูญหายและชุมชนที่เกี่ยวข้องโดยยึดหลักตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก BBC- ไทย  / bbc-thai